Skip to main content
sharethis

มติ ครม. ให้ กฟผ. ส่งมอบโรงไฟฟ้าพลังดีเซลขนาดรวม 244 เมกะวัตต์ เพื่อนำไปติดตั้งที่ญี่ปุ่นเป็นเวลา 3-5 ปี ตามที่บริษัทผลิตไฟฟ้าโตเกียวขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อแก้ปัญหาขาด แคลนไฟฟ้าหลังวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ โดยเป็นการให้ยืมไม่มีค่าตอบแทน แต่ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย ติดตั้ง บำรุงรักษาเอง และส่งคืนเมื่อเสร็จภารกิจ 

เมื่อวานนี้ (29 มี.ค.) คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟฝ.) ให้บริษัท TEPCO ยืมเครื่องกังหันก๊าซจากโรงไฟฟ้าหนองจอก จำนวน 2 ชุด ในลักษณะความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย โดยไม่มีค่าตอบแทน และให้บริษัท TEPCO เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ขนย้าย ติดตั้ง รวมทั้งค่าบำรุงรักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการนำกลับมาติดตั้งคืนเมื่อเสร็จภารกิจ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่าประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ในภาวะวิกฤตที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าอันเนื่องมาจากภัย พิบัติ จากแผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้น จึงเห็นควรให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม

ขณะที่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยกับผู้สื่่อข่าวภายหลังเป็นประธานส่งมอบโรงไฟฟ้าให้ประเทศญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่งโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซหนองจอกไปติดตั้งที่ญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว 3-5 ปี จำนวน 2 เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 122 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 244 เมกะวัตต์พร้อมอุปกรณ์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 90 ล้านบาท โดยจะนำไปติดตั้งที่ประเทศญี่ปุ่นชั่วคราวประมาณ 3-5 ปี

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่บริษัท ผลิตไฟฟ้าโตเกียว (เทปโป้) ได้ขอความช่วยเหลือมายังไทยและอีกหลายประเทศ เพื่อขอให้ส่งเครื่องผลิตไฟฟ้ามาญี่ปุ่นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเทปโป้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิและแผ่น ดินไหว ทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอกับความต้องการ

อย่างไรก็ตามทางบริษัทเทปโป้จะเป็นผู้รื้อถอนและขนย้ายเครื่องผลิตไฟฟ้า ไปยังญี่ปุ่น รวมถึงการเดินเครื่องทดสอบ บำรุงรักษา จัดหาเชื้อเพลิง ตลอดจนการขนย้ายและนำเครื่องกังหันก๊าซกลับคืนมายังไทยทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการรื้อถอนและขนส่งเครื่องผลิตไฟฟ้าประมาณ 2 เดือน เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทันในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นหรือประมาณเดือน ส.ค. 2554

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สาเหตุที่เลือกโรงไฟฟ้าหนองจอก เนื่องจากไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า และ กฟผ.ได้ปลดอออกจากระบบผลิตไฟฟ้าหลักของประเทศไปแล้ว เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซล เป็นเชื้อเพลิง มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูง ซึ่งจะนำมาใช้งานเฉพาะกรณีกำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอเท่านั้น

โรงไฟฟ้าหนองจอกไม่ได้ผลิตไฟฟ้า แต่เป็นโรงไฟฟ้าสำรองไว้กรณีฉุกเฉินเท่านั้น เนื่องจากใช้ดีเซลมีต้นทุนสูง ดังนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย ขณะเดียวกันทางเทปโป้จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายทั้งหมดเอง ส่วนระยะเวลาที่ให้ยืมนานถึง 3-5 ปีนั้น เพราะเห็นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นได้รับความเสียหายมาก และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนาน ซึ่งความช่วยเหลือของไทยครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับญี่ปุ่นอย่างมาก” นายสุทัศน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโรงไฟฟ้าหนองจอก อยู่ในแผนปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ของประเทศไทย พ.ศ.2551-2564 ซึ่งมีการออกแผนฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มีนาคม โดยในแผนพีดีพี มีการปลดโรงไฟฟ้าเก่าออกจากระบบในปี 2552 อาทิ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ เครื่องที่ 4-5 โรงไฟฟ้าลานกระบือ เครื่องที่ 1-11 โรงไฟฟ้าหนองจอก เครื่องที่ 1-3 และโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี เครื่องที่ 1-2 และโรงไฟฟ้าอื่นๆ ทยอยปลดในอนาคต ทำให้ลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลงไป 7,502 เมกะวัตต์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net