Skip to main content
sharethis

สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงจัดเวทีดันเอ็มอาร์ซี นำข้อเสนอเลื่อน "โครงการเขื่อนไซยะบุรี" เข้าที่ประชุม เหตุการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนยังไม่ครอบคลุม ด้านตัวแทนเอ็มอาร์ซีเผยกัมพูชา-เวียดนามก็ไม่เอาด้วย แต่การตัดสินใจอยู่ที่คณะกรรมการร่วม ส่วนลาวเตรียมเดินหน้าโครงการเต็มที่

 
 
 
 
วานนี้ (19 มี.ค.54) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง หอการค้าจังหวัดสกลนคร คณะกรรมการลุ่มน้ำโขง-ชี-มูล (ภาคประชาชน) สมาคมส่งเสริมเกษตรกรรมลุ่มน้ำโขง องค์การบริหารส่วนตำบลหลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร และมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติจัดเวทีเสียงประชาชนลุ่มน้ำโขง เรื่อง “พญานาค ปลาแดก คนลุ่มน้ำโขง: กับโครงการเขื่อนไซยะบุรี” ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร โดยมีประชาชนสนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน
 
สืบเนื่องจากข้อกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดนของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่ม น้ำโขง ต่อโครงการ "เขื่อนไซยะบุรี" ในประเทศลาว ซึ่งนับเป็นโครงการแรกที่กำลังเตรียมก่อสร้างในแม่น้ำโขงสายหลัก จากโครงการทั้งหมด 12 แห่ง ทั้งนี้ ตามกระบวนการของสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ที่ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย จะต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในกระบวนการตัดสินใจของภูมิภาค และในระดับประเทศซึ่งตามกำหนดสมาชิก เอ็มอาร์ซี จะส่งผลความเห็นของแต่ละประเทศในวันที่ 22 เม.ย.นี้
 
 
นายชัยพร ศิริไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการของ เอ็มอาร์ซี กล่าวให้ข้อมูลว่า กรณีเขื่อนไซยะบุรี ที่ผ่านมากรมทรัพยากรน้ำ มีกระบวนการนำเสียงภาคส่วนต่างๆ รวบรวมนำเสนอต่อสำนักเลขาธิการเอ็มอาร์ซี โดยได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 3 ครั้ง คือ เวทีที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย, อ.เชียงคาน จ.เลย และที่ จ.นครพนม รวมทั้งเวทีวิชาการที่กรุงเทพฯ ซึ่งทุกเวทีต่างเห็นพ้องกันว่าข้อมูลการศึกษาของโครงการมีไม่เพียงพอ ทั้งเรื่องผลกระทบระหว่างพรมแดน การอพยพของปลา ฯลฯ ข้อสรุปจึงเป็นการขอให้เลื่อนโครงการไปจากกำหนดก่อสร้างเดิมคือวันที่ 22 เม.ย.54 ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวจะถูกนำไปเสนอในการประชุมคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) ของเอ็มอาร์ซี ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้าด้วย
 
นายชัยพร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาได้พยายามเจรจาขอข้อมูลผลกระทบโครงการในหลายๆ ด้านจากประเทศลาว แต่ก็มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูล ส่วนสิ่งที่ไทยยังขาดมากคือเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การขึ้นลงของน้ำในระยะ 10 ปี รวมทั้งคุณภาพน้ำ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหากจะมีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในน้ำโขง ทั้งนี้ จากกรณีของเขื่อนไซยะบุรีจะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ ที่ภาคประชาชนส่งเสียงมันดังขึ้น หากทำข้อมูลให้ดีเสียงอันดังนี้จะไม่หายไป และภาคส่วนต่างๆ ที่เข้ามาช่วยจะทำให้เสียงนี้ดังขึ้นอีก ส่วนทางคณะกรรมการฯ ยืนยันที่จะดำเนินการตามหลักการ อย่างไรก็ตามทั้งหลายทั้งมวลต้องมาพิจารณาถึงผลกระทบที่แท้จริงที่จะเกิด ขึ้นไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์
 
ส่วนนายสาธิต ภิรมย์ชัย คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) กล่าวอธิบายเสริมถึงการทำงานของ เอ็มอาร์ซี กรณีโครงการเขื่อนไซยะบุรีว่า กระบวนการแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) เริ่มต้นเมื่อเดือน ก.ย.53 หลังจากที่ประเทศลาวมีการเสนอ เอ็มอาร์ซี ว่าจะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง และได้ส่งรายงานให้ประเทศสมาชิกเพื่อเสนอความเห็นใน 6 เดือน ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่จะขัดไม่ได้ จากนั้นประเทศสมาชิกจะเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือในระดับประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้นยอมรับว่ามีข้อขัดข้อง จากที่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่ อ.เชียงของ ต้องเปลี่ยนเป็นการให้ข้อมูล เพราะนั่นเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของกระบวนการปรึกษาหารือ อีกทั้ง ยังมีกรอบระยะเวลาจำกัด การส่งข้อมูลจึงไม่ครบถ้วนและทั่วถึง
 
นายสาธิต กล่าวถึงในส่วนข้อสรุปอย่างไม่เป็นทางการจากผลการปรึกษาหารือของประเทศ กัมพูชาและประเทศเวียดนามด้วยว่า มีทิศทางเดียวกัน โดยเห็นว่า 1.ข้อมูลที่มีการศึกษาในปัจจุบันมีความบกพร่อง 2.ควรที่จะมีการขยายระยะเวลาในการตัดสินใจออกไปอีกเพื่อที่จะทำให้ข้อมูล สมบูรณ์ เพื่อตัดสินใจได้ถูกต้องเป็นธรรมมากขึ้น และ 3.ชะลอเรื่องการสร้างเขื่อนออกไป ทั้งนี้ ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมอีกครั้งว่าข้อคิดเห็นจากทั้ง 4 ประเทศเป็นอย่างไร และจะเดินหน้าต่ออย่างไร ซึ่งอาจมีการขยายเวลากระบวนการปรึกษาหารือร่วมออกไปอีก อย่างไรก็ตามตรงนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินของคณะกรรมการร่วม
 
ขณะที่ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวแสดงความเห็นว่า เวทีการรับฟังความเห็นของกรมทรัพยากรน้ำตั้งแต่ที่เชียงของเป็นต้นมานั้น เป็นการให้ข้อมูลการดำเนินการ แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งนี้ จากเวทีทั้ง 4 เวที อยากให้มีการประมวลข้อเสนอออกมา ซึ่งข้อเสนอสำคัญคือการยืดเวลาโครงการออกไป และให้มีการนำไปเสนอต่อในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมจริงๆ นอกจากนั้น เขายังเสนอด้วยว่า ในการจัดทำรายงานผลกระทบควรมีการศึกษาอย่างสมบูรณ์ก่อนที่จะนำมาเสนอต่อเอ็ม อาร์ซี และในส่วนของเอ็มอาร์ซี เองควรมีการทำเผยแพร่โดยการแปลภาษาเพื่อให้ประชาชนในแต่ละประเทศได้รับทราบ ด้วย
 
ส่วนในเรื่องผลกระทบจากเขื่อนนั้น หาญณรงค์ กล่าวว่า จากที่เขาเคยไปรับฟังความคิดเห็นในหลายจังหวัดเกี่ยวกับผลกระทบการสร้าง เขื่อนบนลำน้ำโขงตอนบนของประเทศจีน ผลพบว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ทั้งน้ำขึ้นนำลงผิดปกติ มีการเก็บกับน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าโดยไม่สนใจคนท้ายน้ำ ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นอีกครั้งจะมีผู้เข้าร่วมมาก ขึ้นกว่าเดิม เพราะมีคนห่วงกังวลเรื่องนี้จำนวนมาก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าความกังวลนี้จะไปถึงคนที่มีอำนาจตัดสินใจในระดับนโยบายหรือ ไม่
 
หาญณรงค์ กล่าวด้วยว่าหากมีผลกระทบจากการสร้างเขื่อนนี้ขึ้นในอนาคต จะต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้สร้าง ซึ่งตรงนี้จะมากกว่าการโยกย้ายรายครอบครัวอย่างที่เคยเป็นมา แต่จะต้องคำนึงถึงการเสียโอกาส การสูญเสียรายได้ ผลกระทบต่ออาชีพ และปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตามในตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลพอที่จะนำมาคำนวณความรับผิดชอบเหล่านี้ ทำให้ไม่เห็นตัวผู้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการสำรวจข้อมูลคนที่ใช้พื้นที่ริมน้ำทำเกษตรกรรม หรือจำนวนผู้ประกอบอาชีพประมงก็ยังไม่มีตัวเลขสำรวจข้อมูล แต่กลับมีการผลักภาระทั้งหมด โดยเขียนมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างลอยๆ
 
ด้าน นายเหลาไท นิลนวล ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าการคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ในวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากแม่น้ำสายหลักที่ถูกกระทำคือแม่น้ำโขงที่คนกว่า 60 ล้านคนใช้ประโยชน์ร่วมกัน และโจทย์สำคัญที่ถูกตั้งขึ้นคือแม่น้ำโขงเป็นของใคร เมื่อโครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีถูกประเทศลาวอ้างว่าเป็นสิทธิเหนือ อธิปไตยของประเทศที่จะทำการก่อสร้างไม่ควรที่ประเทศอื่นจะเข้าไปก้าวก่าย แต่หากถามว่าประชาชนลาวคิดอย่างไรเมื่อคนที่ไปลงทุนในการก่อสร้างเป็นนายทุน จากประเทศไทย กรณีนี้ก็อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องของไทย   หรือหากไปถามนายทุน ตามวิธีคิดของเขานี่คือการแย่งชิงฐานทรัพยากร ซึ่งถ้าไทยไม่ทำ จีนก็ทำแทน เมื่อคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศแล้วเราจะเอาอย่างไร
 
นายเหลาไท กล่าวถึงกรณีข้อถกเถียงดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีใครพูดถึงผลกระทบต่อชีวิตของชาวบ้านเลย ทั้งที่จากบทเรียนของชาวบ้านปากมูล และประชาชนที่เชียงแสน จะเห็นได้ว่าผลกระทบจะตามมาอย่างแน่นอน ตรงนี้ต้องเอาให้ชัด เมื่อทุกคนเห็นไม่ต่างกันว่าการพัฒนาแม่น้ำสายหลักของภูมิภาคด้วยเขื่อน ประชาชนไม่เอา ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีปัญหาเหมือนกรณีเขื่อนในประเทศที่มีทั้งกลุ่มคัดค้านและ สนับสนุน รัฐบาลไทยก็ต้องประกาศจุดยืนตรงนี้ให้ชัดเจน
 
นายเหลาไท กล่าวต่อมาว่า ในส่วนชาวบ้านที่คัดค้านโครงการต้องร่วมกันยืนยันการต่อสู้ในแนวทางสันติ วิธี และคิดว่าต่อไปคงต้องคุยมากขึ้นในเรื่องการขยายเครือข่าย สำหรับภาคอีกสานจะมีการนัดหมายพูดคุยกันในเดือนเมษายนนี้ เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา และหากโครงการยังเดินหน้าก่อสร้างต่อ ชาวบ้านจะต้องหาวิธีรับมือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาในอนาคต รวมทั้งความต้องการน้ำที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรได้
 
“นี่เป็นการยกระดับการต่อสู้เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขง เมื่อประชาชนในหลายประเทศพูดไม่ได้ ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม ประชาชนในประเทศไทยจึงต้องก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนเคลื่อนไหวคัดค้าน สู้ให้ถึงที่สุด” นายเหลาไทกล่าว
 
ด้าน สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ตัวแทนกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวถึงผลกระทบจากเขื่อนขนาดใหญ่ 4 เขื่อน บนแม่น้ำโขงตอนบนที่มีการก่อสร้างแล้วในประเทศจีนว่า ได้ส่งผลให้ลำน้ำหลายสายในภาคเหนือเปลี่ยนแปลงไป แม่น้ำโขงไหลอย่างไม่เป็นธรรมชาติ อีกทั้งปริมาณและชนิดของปลาในลำน้ำก็ลดลงไปจำนวนมาก ซึ่งผลกระทบนี้ยังเกิดกับแม่น้ำสาขาอย่างแม่น้ำกก และแม่น้ำอิงด้วย ทั้งนี้ โดยส่วนตัวเขารู้สึกห่วงใยผู้คนในหลายหมู่บ้านซึ่งยังพึงพิงแม่น้ำโขง และอยากแสดงความเห็นเสนอให้ผู้มีอำนาจ จากข้อเรียกร้องที่มีให้ตัวเองว่าอยากมีชีวิตที่รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด โดยให้สังคมไทยและรัฐบาลไทยพูดถึงเรื่องการลดการใช้พลังงาน ไม่ใช่การสำรองพลังงาน ซึ่งนำไปสู้การแสวงหาแหล่งพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความโลภของคนมีไม่สิ้นสุด ถึงเวลาที่จะลดความต้องการใช้ลง เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกัน
 
สมเกียรติ กล่าวถึงข้อเรียกร้องต่อมาว่า ต้องการให้รัฐบาลจีนยุติการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขงตอนบน ส่วนรัฐบาลลาว รัฐบาลไทย ธนาคาร และบริษัทต่างๆ ต้องยุติการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้งนี้เขาคิดว่าเสียงของเขาและพี่น้องในภาคเหนืออาจมีเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจมาสนใจ จึงอยากมาร่วมขอเสียงคนอีสานมาร่วมเรียกร้องไม่ใช่แค่เพื่อคนในประเทศใด ประเทศหนึ่ง แต่ยังรวมถึงพี่น้องกลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลายที่อยู่ในอนุภูมิภาคนี้ด้วย
 
ภายหลังเวทีพูดคุย เครือข่ายที่มาเข้าร่วมได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกรณีการสร้างเขื่อนและให้ ข้อเสนอแนะ อาทิ การเสนอเข้าชื่อคัดค้านโครงการเขื่อนไซยะบุรี และยื่นหนังสือต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งทางสถานทูตลาว และรัฐบาลไทย และทางธนาคารของไทยซึ่งเป็นผู้ให้ทุนในการดำเนินโครงการ
 
“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องหันมาสนใจเสียงเรียกร้องของเรา”
 
“ทรัพยากรของเราถูกช่วงชิง เราเป็นผู้ถูกกระทำ”
 
“ตอนนี้ต้องคิดว่าจะสู้ไม่สู้ ไม่ต้องคิดว่าเขาจะสร้างไม่สร้าง เพราะเขาจะสร้างพันเปอร์เซ็นต์”
 
“การที่เราจะสู้ต้องเปลี่ยนแนวคิดของพี่น้องด้วย คนที่อยู่ทางบ้านรู้หรือยัง โดยเฉพาะคนที่อยู่ริมโขงบางคนยังคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หน้าแล้งมันก็แล้งหนัก น้ำท่วมก็เดือดร้อน แต่เขาไม่ได้คิดเรื่องนี้ ไม่กล้าพูด”
 
“ทำไมรัฐไม่เอาความสุขของประชาชนเป็นตัวตั้งในการพัฒนาประเทศ” ตัวอย่างการแสดงความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเวที
 
 
ย้ำข้อเสนอยุติโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมสุดท้ายของประชุมได้มีการการแสดงเจตนารมณ์และยื่นจดหมายข้อเสนอของ เครือข่ายภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง ให้แก่ นายชัยพร ศิริไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำและมีการออกแถลงการณ์ขอให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนไซ ยะบุรีและเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 5 ข้อ คือ 1.ให้ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้ง 12 แห่ง เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจของชุมชน และประชาชนหลายสิบล้านคนตลอดทั้งลุ่มน้ำโขง 2.รัฐบาลไทยต้องยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอื่นๆ ทั้งหมด 3.ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของโครงการเขื่อนไซยะบุรีทั้งหมด และแปลเป็นภาษาไทย โดยให้ดำเนินการจัดรับฟังความเห็นที่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของไทย
 
4.รัฐบาลต้องยืนยันกับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงอื่นๆ ในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามข้อตกลงการใช้แม่น้ำโขง พ.ศ.2538 รัฐบาลต้องหลีกเลี่ยง ไม่ให้กระบวนการตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นเรื่อง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ 5.ในระหว่างนี้ รัฐบาลไทยต้องดำเนินการให้มีการขยายระยะกระบวนการแจ้งให้ทราบ ปรึกษาหารือและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 22 เมษายน ที่จะถึงนี้ ออกไปก่อน เนื่องจากเป็นโครงการที่สี่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้ใช้กระบวนการนี้ จึงสมควรที่จะสร้างแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน ที่ตั้งอยู่บนความโปร่งใส และรับผิดชอบร่วมกันมากที่สุด
 
ทั้งนี้  โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า มีกำลังผลิต 1,280 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท ช.การช่าง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยมี 4 ธนาคารพาณิชย์ของไทยให้เงินกู้ถึง 95% จากเงินลงทุน 105,000 ล้านบาท ขณะนี้ประเทศลาวกำลังเร่งเดินหน้าโครงการ หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ค.53 ในส่วนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไซยะบุรี คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 เดือน และจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2554 คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และทำการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่ กฟผ.ได้ประมาณไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 โดยทางบริษัท ช.การช่างได้รับสัมปทานในการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นเวลา 30 ปี รวมระยะเวลาการก่อสร้าง
 
แม้ว่า จากรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ของ เอ็มอาร์ซี ที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือน ต.ค.53 โดยมีการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการผลิตไฟฟ้า มาเปรียบเทียบกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนริมแม่น้ำ ตลอดจนเศรษฐกิจท้องถิ่นของชุมชน มีบทสรุปเสนอว่า ควรเลื่อนเวลาการสร้างเขื่อนบนแม่นำโขงสายหลักไปอีก 10 ปี เพื่อให้เกิดการศึกษาอย่างรอบด้านเสียก่อน อีกทั้งมีท่าทีของหลายประเทศแสดงความหวั่นเกรงถึงผลกระทบ แต่เมื่อวันที่ 14 ก.พ.53 รัฐบาลลาวได้ออกแถลงการณ์และจุดยืนที่ชัดเจนในการเดินหน้าโครงการต่อ โดยให้เหตุผลว่าได้จัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว และมีการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งด้านเทคนิค วิศวกรรม โดยยืนยันว่าไม่มีผลกระทบใดๆ อีกทั้งการก่อสร้างโครงการอยู่ในในพื้นที่อธิปไตยของลาว
 
  
 
แถลงการณ์
ขอให้ยุติโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก
 
เนื่องจากในขณะนี้ แม่น้ำโขงกำลังถูกคุกคามทำลายจากโครงการสร้างเขื่อน ทั้งแม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีนซึ่งมีการก่อสร้างเขื่อนไปแล้วถึง 4 เขื่อน และแม่น้ำโขงตอนล่างที่กำลังมีแผนก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักถึง 12 เขื่อน โดยที่การลงทุนส่วนใหญ่นั้นเป็นของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี ใน สปป.ลาว ซึ่งเป็นการลงทุนโดยบริษัท ช. การช่างจากประเทศไทย โดยมีแหล่งเงินกู้มาจากธนาคารของไทย และประเทศไทยจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเกือบทั้งหมด เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อน อื่นๆทั้งหมดนี้จะนำมาซึ่งความสูญเสียของระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการดำรงชีวิตและความมั่นคงทางอาหารของประชาชนหลายสิบล้านคนตลอดลุ่ม น้ำโขง ที่มิใช่เฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงสายหลักเท่านั้น แต่ยังจะรวมไปถึงประชาชนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงในภาคอีสานตอนบนอีกหลายสาย อาทิ แม่น้ำสงคราม ลำห้วยหลวง แม่น้ำก่ำ เป็นต้น
 
ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ปรากฏชัดแล้วว่า การสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนในประเทศจีน ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ การอพยพของปลา และพื้นที่เกษตรริมโขงตลอดพรมแดนไทย-ลาวในเขตภาคอีสานของไทย รวมถึงการขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำสาขาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่าง ชัดเจน เช่น แม่น้ำสงคราม แม่น้ำก่ำ เป็นต้น ชี้ให้เห็นถึงความผลกระทบที่ส่งต่อถึงกันระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา อย่างชัดเจนในลักษณะที่เรียกว่า ผลกระทบข้ามพรมแดน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำทุกสาขาทั้งหมด ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และยังแก้ไขปัญหาไม่แล้วเสร็จอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งพวกเราเป็นผู้ประสบชะตากรรมนั้นได้รับรู้ความทุกข์นั้นเป็นอย่างดี
 
พวกเราในนามของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำภาคอีสาน ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทย, สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดังนี้
 
๑. ให้ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงทั้ง ๑๒ แห่ง เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจของชุมชน และประชาชนหลายสิบล้านคนตลอดทั้งลุ่มน้ำโขง
 
๒. รัฐบาลไทยต้องยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอื่นๆทั้งหมด
 
๓.ให้มีการเปิดเผยข้อมูลของโครงการเขื่อนไซยะบุรีทั้งหมด และแปลเป็นภาษาไทย โดยให้ดำเนินการจัดรับฟังความเห็นที่เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อื่นๆที่เกี่ยวข้องของไทย
 
๔. รัฐบาลต้องยืนยันกับประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงอื่นๆ ในการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่ ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามข้อตกลงการใช้แม่น้ำโขงพ.ศ.๒๕๓๘ รัฐบาลต้องหลีกเลี่ยง ไม่ให้กระบวนการตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นเรื่อง การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศ
 
๕. ในระหว่างนี้ รัฐบาลไทยต้องดำเนินการให้มีการขยายระยะกระบวนการแจ้งให้ทราบ ปรึกษาหารือและข้อตกลง (PNPCA) ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ ๒๒ เมษายน ที่จะถึงนี้ ออกไปก่อน เนื่องจากเป็นโครงการที่สี่ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้ใช้กระบวนการนี้ จึงสมควรที่จะสร้างแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน ที่ตั้งอยู่บนความโปร่งใส และรับผิดชอบร่วมกันมากที่สุด
 
๑๙ มีนาคม ๒๕๕๔
 
รับรองโดย
๑. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลลุ่มน้ำโขง ๖ จังหวัด ภาคอีสาน (คสข.)
๒. คณะกรรมการกลุ่มน้ำโขง (ภาคประชาชน)
๓. เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนลุ่มน้ำโขง
๔. เครือข่ายอินแปง
๕. เครือข่ายลุ่มน้ำพุง
๖. เครือข่ายลุ่มน้ำก่ำ
๗. ประชาสังคม จ.สกลนคร
๘. ประชาสังคม จ.อุดรธานี
๙. กลุ่มคนเชียงคาน จ.เลย
๑๐. ชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำสงคราม
๑๑. สมัชชาคนจนราศีไศล-หัวนา
๑๒. คณะกรรมการชาวบ้านฟื้นฟูลุ่มน้ำมูล
๑๓. เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชิตและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงในเขตล้านนา
๑๔. กลุ่มรักษ์เชียงของ
๑๕. โครงการประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมเพื่อการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำภาคเหนือ
 
--------------------
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net