Skip to main content
sharethis

จากกรณีการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.54 ที่ผ่านมา จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ สร้างความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อชาวญี่ปุ่นรวมทั้งประชาคมโลก ในส่วนของประเทศไทยเองกรณีดังกล่าวก็ได้รับการพูดถึงในวงกว้างทั้งในเรื่อง เหตุการณ์เฉพาะหน้า และแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

15 มี.ค.54 กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในประเทศไทย จาก 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี นครสวรรค์ ตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น” ณ สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันพูดคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และแถลงจุดยืนต่อกรณีการผลักดันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 ภาพเหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่่ปุ่น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ญี่ปุ่น
วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กล่าวให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นมีทั้งหมด 17 แห่ง รวมแล้วมีปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมด 55 เครื่อง กำลังการผลิต 49,315 MW สำหรับที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ (Fukushima) มีอยู่ 2 กลุ่ม ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ในส่วนเตาปฏิกรณ์กลุ่มแรก (Fukushima Daiichi) มีเตาปฏิกรณ์ 6 เครื่องที่ถูกใช้งาน ส่วนอีก 2 เครื่องอยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 (400 MW) 2 (700 MW) และ 3 (700 MW) ที่มีการระเบิดอยู่ในกลุ่มนี้ ส่วนอีกกลุ่ม (Fukushima Daini) มีเตาปฏิกรณ์ 4 เครื่อง ทั้งนี้เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 สร้างขึ้นเมื่อกว่า 40 ปีมาแล้ว

วิฑูรย์กล่าวให้ข้อมูลจากข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ในญี่ปุ่นด้วยว่า วิศวกรผู้ออกแบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เกิดปัญหา ได้ตอบคำถามของนักข่าวต่างประเทศเรื่องอายุการใช้งานว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเก่าหรือไม่ เพราะแม้แต่โรงที่ใหม่ที่สุดหากเจอสถานการณ์แบบเดียวกันก็จะเกิดปัญหาเช่น เดียวกันนี้ ความหมายตรงนี้ก็คือว่าทุกเครื่องที่มีอยู่ในญี่ปุ่นได้มีการเช็คความพร้อม แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงก็มีระบบหล่อเย็นรองรับอยู่อีก 2 ระบบหลังจากที่ระบบแรกเกิดขัดข้อง

วิฑูรย์กล่าวอธิบายว่าเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว เป็น “ปฏิกรณ์แบบน้ำเดือด (Boiling Water Reactor: BWR)” โดยในเตาปฏิกรณ์ชั้นในจะมีแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ เมื่อแท่งเชื้อเพลิงทำงาน จะเกิดปฏิกิริยาที่ปล่อยความร้อนและรังสีออกมา ส่วนน้ำที่อยู่โดยรอบแท่งเชื้อเพลิงคือน้ำบริสุทธิ์ ซึ่งเมื่อได้รับความร้อนก็จะกลายเป็นไอน้ำและเกิดแรงดันที่จะไปหมุนกังหัน เพื่อปั่นไฟฟ้า จากนั้นไอน้ำจะถูกส่งไปตามท่อเพื่อเข้าสู่ระบบหล่อเย็นที่นำน้ำจากทะเลมา ช่วยลดอุณหภูมิให้ไอน้ำเกิดการควบแน่นจนกลายเป็นน้ำ เพื่อกลับไปในระบบต่อไป

 

ภาพระบบการทำงานในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

 

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทำให้ “ระบบหยุดทำงานอัตโนมัติ” ทำงานโดยทันทีเพื่อยุติปฏิกิริยานิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์ชั้นใน โดยมีตัวหน่วงปฏิกิริยา (แท่งสีดำระหว่าง แท่งสีชมพูเข้ม) ใส่ลงไป ซึ่งปฏิกิริยาจะไม่ได้หยุดลงทันทีทันใด แต่จะค่อยหยุดๆ ดังนั้นแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องมีน้ำหล่อเย็นอยู่ตลอดเวลาไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงร้อนจน ละลายและทำให้สารกัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายออกมา แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ ระบบหล่อเย็นหยุดทำงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว แม้จะมีระบบหล่อเย็นที่ 2 ทำงานทันทีหลังจากนั้น ด้วยการเดินเครื่องยนต์ดีเซลปั่นกระแสไฟฟ้าให้ระบบทำงานได้ แต่เครื่องยนต์ดีเซลก็ได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิที่โถมเข้าใส่โรง ไฟฟ้าหลังเกิดแผ่นดินไหว จนไม่สามารถทำงานได้

จากนั้น ระบบที่ 3 ซึ่งใช้แบตเตอรี่ก็ทำงานต่อทันที เพื่อให้มีไฟฟ้าเดินเครื่องในระบบหล่อเย็นแต่ก็เกิดความล้มเหลว ในขณะที่แท่งเชื้อเพลิงร้อนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้น้ำระเหยกลายเป็นไอ จนแท่งเชื้อเพลิงโผล่พ้นน้ำซึ่งทำให้แท่งเชื้อเพลิงร้อนเร็วขึ้น วิธีการขั้นต่อมาจึงมีการลดความดันโดยปล่อยไอน้ำออกมา ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดสินใจยอมให้สารปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีโดยตรงหลุดออก ไปในชั้นบรรยากาศ แต่ก็ยังแก้ปัญหาความร้อนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ ต่อมาได้มีการใช้สารบอแร็กซ์ (Borax) ใส่ลงไปเพื่อลดปฏิกิริยาแต่ก็เอาไม่อยู่ สุดท้ายจึงเป็นการตัดสินใจเอาระบบสูบน้ำทะเลเข้าไปท่วมในเตาปฏิกรณ์ 

“การตัดสินใจเลือกที่จะเอาน้ำทะเลไปคุม เขาบอกว่ามันเป็นการตัดสินใจที่หมดหวังแล้ว เพราะหลังจากนี้เครื่องจะใช้ต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องเลิก และก็ไม่รู้ว่าน้ำทะเลที่เอาเข้าไปในขณะนี้จะหยุดได้ไหม เพราะแท่งปฏิกรณ์ก็ยังคงร้อนต่อไป” วิฑูรย์กล่าว 

การระเบิดของไฮโดรเจน  ที่ทำให้กัมมันตภาพรังสี เช่น ไอโอดีน-131 และ ซีเซียม-137 แพร่กระจายออกมา 

 

หากแท่งเชื้อเพลิงร้อนจนหลอมละลาย จะทำให้สารรังสีแพร่กระจายลงมาสู่ดินและปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน

ขณะที่ด้านบนก็มีการแพร่กระจายทางอากาศ

 

แท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว และข้อกังวลที่ยังไม่ถูกอธิบาย
วิฑูรย์กล่าวด้วยว่า จากการแถลงข่าวมีการอธิบายว่าการทำให้น้ำทะเลไหลเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ ต้องฉีดด้วยความเร็วสูงอยู่ตลอดเวลา โดยเชื่อว่าในขณะนี้ถ้ายังฉีดน้ำทะเลให้มีแรงดันสูงไปหล่อเย็นตลอดเวลาได้ น่าจะคุมไม่ให้แท่งเชื้อเพลิงเกิดการหลอมละลายได้ ทั้งนี้ ในเตาปฏิกรณ์ยังมีแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วแช่ไว้อยู่ด้วยเพื่อให้เย็นลง ซึ่งจะต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ก่อนที่จะถูกนำไปเก็บในแคปซูลภายนอก ดังนั้น กัมมันตภาพรังสีที่จะปล่อยออกมาจึงไม่ใช่เฉพาะจากแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้ งานอยู่ และไม่สามารถรู้ได้ว่าในเตาปฏิกรณ์แต่ละเครื่องจะมีแท่งเชื้อเพลิงอยู่กี่ อัน ซึ่งตรงนี้การชี้แจงที่ผ่านมาก็ไม่มีการพูดถึงว่า แท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายจะส่งผลต่อแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วที่ถูกเก็บไว้ ด้านล่างอย่างไร

“ขั้นตอนมันสะท้อนว่า เขาคุมไม่ได้ ปัญหาที่มีการวางไว้ว่าหากเกิดเหตุการณ์ หนึ่ง แก้สอง สาม สี่ มันหลุดไปทีละเปลาะ และก็เกิดตามกัน 3 โรง โรงที่ 1 นำหน้าแล้วโรงที่ 2 ที่ 3 ตามมาเรื่อยๆ แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะฉะนั้นในขณะนี้ ทั้ง 3 โรงมาอยู่ในสถานะที่เกือบใกล้เคียงกันแล้ว คือเอาน้ำทะเลฉีดเลี้ยงไว้ทั้งหมด นี่คือสภาพที่เป็นอยู่”

ส่วนเรื่องที่มีการระเบิด ก็ยังมีคำอธิบายที่ไม่กระจ่างชัดในการแถลงข่าวของบริษัทผู้ก่อสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ว่าไฮโดรเจน(Hydrogen) ที่มารวมตัวกับออกซิเจน (Oxygen) จนทำให้มีการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ทั้ง 3 เครื่อง มาจากไหน และคำถามสำคัญคือ การระเบิดของไฮโดรเจนนั้นมีการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีออกมาหรือไม่ เพราะถือเป็นการระบายออกที่รุนแรง เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ได้มีการปล่อยแรงดันไอน้ำออกมา ซึ่งก็มีการยอมรับแล้วว่ามีการปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกมาด้วย

นอกจากนั้นยังมีคำถามเกี่ยวกับการเอาน้ำทะเลฉีดเข้าไปเพื่อคุมความร้อน ของแท่งเชื้อเพลิงโดยตรง ซึ่งน้ำจำนวนมากเหล่านี้มีจะมีการปนเปื้อนและถูกระบายออกไป ตรงนี้จะทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำในดินและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งอาจจะน่ากลัวกว่าการปนเปื้อนในอากาศ อีกทั้งประสิทธิภาพของการใช้น้ำทะเลเพื่อคุมความร้อนนี้จะทำได้นานหรือประสบ ความสำเร็จมากแค่ไหน

 

ชี้แม้ไม่กระทบโดยตรง แต่ผลทางอ้อมก็ไม่ควรมองข้าม
ส่วนประเด็นเรื่องความเข้มข้นของรังสีที่ว่ามากน้อยแค่ไหน วิฑูรย์แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้สำคัญน้อยกว่าที่ว่าปัญหาที่กำลังแก้นั้นแก้ได้หรือยัง เรื่องกัมมันตภาพรังสีที่หลุดออกมาเชื่อว่าหลังจากนี้ข้อมูล ข้อเท็จจริงคงออกตามมา แต่ข้อสำคัญก็คือว่าการจัดการปัญหา วิธีการแก้ปัญหา และผลจะที่ตามมา โดยเฉพาะเรื่องของการรั่วไหลของรังสีมันจะมีบทเรียนอะไรที่โรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่จะสามารถนำไปใช้ได้ อีกทั้ง เรื่องผลต่อสุขภาพของผู้คนนั้นมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอยู่ด้วย เช่น อยู่ในวัยไหน ได้รับสารปนเปื้อนจากอะไร แต่ที่แน่นอนคือมันได้รั่วไหลแล้ว และไม่ใช่เรื่องเหมือนที่ว่าไปเปื้อนอะไรแล้วล้างออกได้ แล้วก็จบ

“ประเด็นมันอยู่ที่ว่าเมื่อใดที่มีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี รัฐหรือผู้ที่รับผิดชอบควรจะต้องมีกระบวนการติดตามมาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบทเรียนของเชอร์โนบิล (โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในสหภาพโซเวียต ระเบิดเมื่อ ค.ศ.1986) มันไม่ได้เป็นเพียงแค่เกิดเหตุการณ์ตรงนั้นแล้วก็จบ แจกไอโอดีนก็ป้องกันได้แล้ว คนที่โดนรังสีก็เอาเสื้อผ้าออกแล้วอาบน้ำ แล้วก็จบ พูดอย่างนี้มันง่ายเกินไป” วิฑูรย์ให้ความเห็น

วิฑูรย์กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลโดยทั่วไป มีอุบัติเหตุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีความรุนแรง ระดับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (ค.ศ.1979) คือความรุนแรงระดับ 5 เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง นับจากกรณีของเชอร์โนบิลเป็นต้นมา และทุกวันนี้ทั่วโลกต้องใช้เงินกว่า 300 ล้านเหรียญเพื่อจัดการกับเรื่องเหล่านี้ ทั้งนี้สถาบันเทคโนโลยีแมสสาชูเสตต์หรือเอ็มไอที ได้มีการศึกษาและคาดการณ์ว่าหากการเพิ่มของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเป็นเช่นใน ปัจจุบัน คาดว่าภายในปี 2555 จะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในระดับเชอร์โนบิลจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชีย และหลังการแถลงผลการศึกษาไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ขึ้น

เรื่องผลกระทบต่อประเทศไทย เป็นคำถามที่ไม่อาจตอบได้ว่าในขณะนี้ว่ามีหรือไม่มี เพราะเรื่องการปนเปื้อนนั้นจากเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิล มีการห้ามไม่ให้เด็กๆ บริโภคนมที่มาจากเขตนั้นนานอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งหมายถึงว่าขอบเขตของปัญหานี้มันเข้าไปในห่วงโซ่อาหาร เพราะฉะนั้นไม่สามารถบอกได้ด้วยเงื่อนเวลา แต่คำพูดที่คาดการณ์เป็นสิ่งที่มองเห็นในแง่กายภาพ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่มองเห็นยังไม่น่ากลัวเท่ากับสิ่งที่มองไม่เห็น เพราะเราไม่รู้ว่าผลกระทบทางอ้อมของมันจะเป็นอย่างไร

“เพราะฉะนั้นเวลาที่เขาบอกว่าไม่โดนหรอกไทย แล้วเราก็โล่งอกไป ผมว่าคงไม่ใช่ เราจำเป็นที่จะต้องดูในเชิงที่เป็นทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และดูทั้งทางตรง-ทางอ้อม ต้องดูว่าสิ่งที่ไม่ได้ถูกระบุให้ชัด อย่าไปวางใจว่าไม่มีปัญหาอะไร” วิฑูรย์กล่าว

ด้านธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงกรณีการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ว่ามีความน่าสนใจ เพราะเตาปฏิกรณ์ตัวนี้ใช้เชื้อเพลิงผสมระหว่างธาตุพลูโตเนียม และธาตุยูเรเนียม เนื่องจากแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วจะสามารถนำไปผ่านกระบวนการเพื่อให้นำกลับ มาใช้ใหม่ได้ ซึ่งตรงนี้จะมีอันตรายมากกว่าแท่งเชื้อเพลิงยูเรเนียมปกติ พร้อมโชว์ภาพสไลด์แบบจำลองที่คาดการณ์การแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีหาก เกิดการระเบิด เมื่อคำนวณจากทิศทางลมและความรุนแรงของการระเบิด


ภาพแบบจำลองที่แสดงให้เห็นว่าหากเกิดการระเบิดจะส่งผลกระทบถึงโตเกียว


ภาพแบบจำลองอีกแบบจำลองหนึ่งซึ่งทำขึ้นภายหลังเกิดการระเบิดครั้งแรกที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1

ขณะที่ สันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการจากกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต กล่าวว่ากรณีการปล่อยไอน้ำเพื่อลดแรงดันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรทำแต่เป็นสิ่ง ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากแรงดันในแกนปฏิกรณ์เพิ่มมากขึ้นอาจเกิดการระเบิด ดังนั้นจึงต้องลดแรงดัน แต่การปล่อยไอน้ำไปในอากาศ กัมมันตภาพรังสีก็จะถูกปล่อยออกมาด้วย ส่วนคำถามที่ว่าไฮโดรเจนที่เกิดระเบิดนั้นมาจากไหน ความจริงคือมาจากแท่งเชื้อเพลิงปฏิกรณ์ความร้อนสูงที่อยู่ในน้ำ และตัวโครงครอบที่ระเบิดไปแล้วนั้นวัตถุประสงค์คือเพื่อป้องกันไม่ให้ ไฮโดรเจนแพร่กระจายออกไป

สันติกล่าวถึงข้อสังเกตด้วยว่า จากการรายงานข่าวเชื่อได้ว่าการระเบิดหลักจากนั้นมีการแพร่กัมมันตภาพรังสี ออกมาด้วย เพราะหลังจากที่มีการระเบิดมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยมีการอพยพคนหลายหมื่นออกห่างจากพื้นที่ 10 กิโลเมตร และขยับออกมาเป็น 20 กิโลเมตร ระหว่างนั้นเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ก็เกิดระเบิด จึงได้มีการประกาศให้คนหลายร้อยคนที่ยังอพยพออกจากพื้นที่ไม่หมดรีบกลับเข้า ไปในตัวอาคาร

ทั้งนี้ รังสีที่แพร่กระจายออกมามีหลายชนิดมาก แต่ที่ถูกให้ความสำคัญมี 2 ตัว คือ ไอโอดีน-131 กับซีเซียม-137 และวิธีการแก้ปัญหาด้วยการกินไอโอดีนก็คือร่างกายจะได้เอาไอโอดีนที่กินเข้า ไปไปสะสมอยู่ที่ต่อมไทรอยด์ เมื่อร่างกายได้รับสารไอโอดีน-131 ก็จะไม่มีที่สะสมและจะถูกขับออกจากร่างกาย ตรงนี้เป็นวิธีป้องกันแต่ผลกระทบชนิดเดียวคือมะเร็งต่อมไทรอยด์ ส่วนซีเซียม-137 นั้นจะส่งผลกระทบต่อกระดูก และยังมีสารตัวอื่นๆ อีก

สันติแสดงความเห็นด้วยว่า สถานการณ์ขณะนี้อาจไปไกลกว่าการลดแรงดัน เพราะทางบริษัทออกมายอมรับว่าแท่งเชื้อเพลิงบางส่วนอาจกำลังหลอมละลายเพราะ ไม่มีใครรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในเตาปฏิกรณ์ ทั้งนี้การหลอมละลายหมายถึงว่าตัวแท่งเชื้อเพลิงซึ่งมีลักษณะเป็นแท่ง (แท่ง Zircaloy มีจุดหลอมเหลว 2,200 องศาเซลเซียส) ที่บรรจุแคปซูลที่ห่อหุ้มธาตุยูเรเนียมเอาไว้ หากท่อตรงนี้หลอมละลาย แคปซูลยูเรเนียมก็จะหล่นลงมาและหลอมละลายผนังโลหะเตาเผาปฏิกรณ์ ทำให้กัมมันตภาพรังสีรั่วออกมาภายนอก ซึ่งตามความเห็นส่วนตัวมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งถือว่าน่ากลัวมาก

“เรื่องการรั่วไหลของรังสีในญี่ปุ่นนั้นเกิดอยู่เรื่อยๆ ซึ่งอาจจะไม่รุนแรงเท่าครั้งนี้ แล้วแต่ละครั้งทางบริษัทและทางรัฐบาลจะพูดในเสียงเดียวกันในการประกาศต่อ ประชาชน พอปิดไม่ได้ก็จะยอมรับว่ามีการรั่วไหลของรังสี แต่อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ส่วนครั้งนี้ที่น่าสนใจ คือมีคำพูดเพิ่มเติมมานิดหนึ่งว่า อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายในทันใด ก็หมายความว่าต้องรอดูต่อไปในอนาคต นี่คือสิ่งที่พูดตั้งแต่ก่อนเครื่องหมายเลข 1 ระเบิด” สันติกล่าว

 

การคัดค้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น
ทั้งนี้ จากแผนที่รัฐบาลเคยวางที่จะสร้างทั้งหมด 37 โรง (นับตั้งแต่ปี 1960) แต่ถึงปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 17 โรง นอกเหนือจากความล่าช้าในกระบวนการก่อสร้างเองแล้ว ส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการหลายๆ โครงการต้องล้มไปนั้นเป็นผลจากการคัดค้านของประชาชนในญี่ปุ่น ทั้งโดยการทำประชามติของคนในพื้นที่ บางพื้นที่ไม่ยอมให้มีการขายที่ดิน และในบางพื้นที่มีการออกกฎหมายทำประชามติ ซึ่งผลคือการไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

วิฑูรย์กล่าวถึงการเริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นว่า หลังจากญี่ปุ่นถูกทิ้งระเบิดปรมาณูโดยสหรัฐฯ และกลายเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม สหรัฐฯ ได้เข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองในญี่ปุ่น และมีการร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าของนิวเคลียร์ แต่ในอีกทางหนึ่งสหรัฐฯ ก็ต้องการใช้นิวเคลียร์ โดยสร้างภาพในมุมตรงกันข้ามว่าเป็นนิวเคลียร์เพื่อสันติ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ ทำก็คือการไปสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้ญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนั้นไม่มีใครค้านได้เนื่องจากญี่ปุ่นอยู่ในภาวะผู้แพ้สงคราม แต่เมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้เริ่มและเกิดการขยายตัวมากขึ้น คนญี่ปุ่นก็มีการออกมาคัดค้าน

ต่อคำถามที่ว่าทำไมต้องมีนิวเคลียร์ วิฑูรย์กล่าวว่าคำตอบมักมีการอ้างเหตุผลเรื่องความต้องการไฟฟ้า แต่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ.1969-2009 พบว่า ตั้งแต่ปี 1995 ความต้องการไฟฟ้าของญี่ปุ่นไม่ได้เพิ่มขึ้น ขณะที่บางปีกลับลดลง ตรงนี้น่าจะเป็นคำตอบของไทยด้วยต่อการบอกว่าความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นไป อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ความจริงแล้วถึงจุดหนึ่งมันจะไม่เป็นอย่างนั้น ตรงนี้จึงเกิดคำถามอะไรคือเหตุผลของการก่อสร้าง ซึ่งคำตอบก็คือเรื่องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมพลังงานที่ทำให้ต้องมีโรงไฟฟ้า เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่ใช่เรื่องของความต้องการไฟฟ้าจริงๆ

วิฑูรย์ยังได้ตัวอย่างของอุบัติเหตุและเหตุขัดข้องในญี่ปุ่นปี 2009 ว่ามีถึง 360 กรณี ภายในปีเดียว อุบัติเหตุครั้งสำคัญเช่น ปี 1989 ที่ฟุจิยามะ กลุ่มที่ 2 เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เคยเกิดระบบปั๊มน้ำหล่อเย็นมีปัญหา และเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปี 2007 ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับโรงไฟฟ้าคาชิวาซากิ คาริวะ (Kashiwazaki.Kariwa) ก็ทำให้ประชาชนออกแถลงการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

“จริงๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์ทางธรรมชาติที่เราไม่รู้เรื่อง แต่มันมีการทำให้เห็นแล้วว่าอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นกี่ครั้งและเกิดตรงจุดไหน ได้บ้าง” วิฑูรย์กล่าว

 

ท่าทีของรัฐบาลไทยต่อบทเรียนปัญหานิวเคลียร์
วิฑูรย์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันจะไม่ตัดสินและสั่งให้กระทรวงพลังงานไปดูทางเลือกว่าหากไม่มี นิวเคลียร์จะเป็นอย่างไร ซึ่งประเมินได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการเจอปัญหาการคัดค้านเรื่องนี้ใน ตอนเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีการพูดให้เด็ดขาด หลังจากที่เกิดกรณีปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นขึ้นก็ได้มีความเห็นจาก หน่วยงานต่างๆ ซึ่งแตกต่างกันไป โดยในส่วนกระทรวงพลังงานออกมาบอกว่าแม้จะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็จะไม่มีการ ทบทวนนโยบายเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแล้ว เพราะมีการบรรจุลงในแผน PDP 2010 แล้ว ทั้งที่ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล ไม่ถึงขั้นการตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในขณะที่นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาระบุว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นทำให้จะมีการทบทวนเรื่องโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ทำให้เกิดความสับสน

นอกจากนั้นยังมีในเรื่องผลกระทบที่ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญไทยบางส่วนพยายามจะออกมาบอกว่าไม่มีการรั่วไหลของรังสี ทั้งที่มีผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นออกมายอมรับในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการคิดไปว่ากลุ่มผู้ที่ไม่เอานิวเคลียร์จะได้ประโยชน์จาก สถานการณ์นี้ ทั้งนี้โดยส่วนตัวคิดว่าท่าทีดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะสังคมควรที่จะมีการเรียนรู้ประสบการณ์และนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิด ประโยชน์ ไม่ใช่การปิดกั้นข้อมูล ซึ่งเขาพบว่าเว็บไซต์หนึ่งซึ่งติดตามและวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนิวเคลียร์ถูกบ ล็อคซึ่งคาดว่าน่าจะโดยกระทรวงไอซีที เนื่องจากเข้าไม่ได้และขึ้นคำว่า mict.go.th ตรงนี้สอดคล้องกับคำเตือนที่ได้รับก่อนหน้านี้ว่าอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ระดับ โลก มีการเข้าไปบล็อคเว็บไซต์บางแห่ง ซึ่งอาจโยงมาถึงประเทศในเอเชียด้วย

“กระบวนการเรียนรู้ ทำไมเราถึงไปคิดว่าประชาชนโง่ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ต้องมีการกรองและจำกัดการรับรู้ข้อมูล ซึ่งผมติดว่าตรงนี้มันไม่น่าจะถูกต้อง” นายวิฑูรย์แสดงความเห็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net