Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ : ชื่อข้อเขียนเดิม "คำถามถึงความเข้าใจเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของฝ่ายยุติธรรม ผลกระทบต่อเสรีภาพประชาชน และข้อสังเกตในการใช้หลักฐานบันทึกการจราจร"

ข้อสังเกตจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ต่อคำพิพากษาของศาลอาญา ในคดีนายธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล ผู้ออกแบบเว็บไซต์ norporchorusa.com ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ลงในเว็บไซต์ดัง กล่าว และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลระบบของเว็บไซต์ดังกล่าว

(16 มี.ค. 2554) คำพิพากษาของศาล กรณีผู้ออกแบบเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ (ข่าว: จำคุก 13 ปี ผู้ออกแบบเว็บ 'นปช.ยูเอสเอ' ผิด ม.112 - พ.ร.บ.คอมฯ) แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ถึงความเป็นไปได้และข้อเท็จจริงทางเทคโนโลยี เช่น:

*การโยงการเข้าถึง FTP ได้ ว่าเท่ากับการเป็นผู้ดูแลระบบ (ข้อเท็จจริง: บริการ FTP เป็นบริการทั่วไปที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถใช้ได้ ทั้งแบบระบุผู้ใช้และไม่ระบุผู้ใช้ รวมถึงลำดับชั้นของสิทธิในการเข้าถึงก็ยังมีหลายระดับ)

*การเข้าใจว่าเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ได้ เท่ากับว่าสามารถแก้ไขเนื้อหาในระบบคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้ (ข้อเท็จจริง: ระบบคอมพิวเตอร์หนึ่งๆ โดยทั่วไป จะมี "ห้อง" หลายห้อง โดยผู้ใช้แต่ละคนอาจเข้าถึงห้องบางห้องได้ ในขณะที่เข้าห้องอื่นๆ ไม่ได้ หรือ ดูได้อย่างเดียว (read-only) แก้ไขหรือเพิ่มเติมไม่ได้ หรือกระทั่งไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีห้องดังกล่าวอยู่)

*ความไม่เข้าใจว่าระบบอินเทอร์เน็ตนั้น ประกอบด้วยหลายบริการ ที่แยกจากกัน เช่น อีเมล, FTP, เว็บ (WWW), แชท, ฯลฯ และทำงานจากการประสานกันของหลายชิ้นส่วน ซึ่งไม่จำเป็นต้องดูแลโดยผู้ดูแลระบบคนเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาที่ใช้คำว่า "ผู้ดูแลระบบ" ซึ่งมิได้มีการอธิบายที่ชัดเจนว่าเป็นผู้ดูแลระบบของระบบย่อยหรือชิ้นส่วน ไหน

*ต่อเนื่องจากประเด็นข้างต้น ยังมีความไม่เข้าใจในระบบคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการเว็บ ว่าสามารถเชื่อมโยงและทำงานร่วมกัน-อย่างเป็นอิสระจากกันอย่างไร ดังจะเห็นได้จากคำพิพากษาที่อ้างถึงการเข้าถึง FTP ได้ ว่าหมายถึงการสามารถแก้ไขเนื้อหาในเว็บได้ (ข้อเท็จจริง 1: แม้ผู้ใช้จะสามารถอัปโหลดและแก้ไขเนื้อหาแฟ้มที่เข้าถึงด้วย FTP ได้ก็ตาม แต่ดังที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่าระบบคอมพิวเตอร์มักประกอบด้วย "ห้อง" หลายห้อง และแฟ้มในห้องเหล่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องดูได้ผ่านเว็บ - นั่นคือต่อให้แก้ไขแฟ้มใน FTP ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าแก้ไขเนื้อหาในเว็บได้; ข้อเท็จจริง 2: ในกรณีของคดีนี้ ระบบเว็บของ norporchorusa.com ใช้ซอฟต์แวร์จัดการเนื้อหาชื่อ Joomla ซึ่งเก็บเนื้อหาข้อความลงในระบบฐานข้อมูล SQL - ซึ่งการเข้าถึง FTP ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิ่มเติมเนื้อหาในระบบฐานข้อมูล SQL ได้)

ความไม่เข้าใจในเทคโนโลยีในประเด็นต่างๆ ดังที่ได้แสดงตัวอย่างไปบ้างแล้วนี้ ได้ส่งผลต่อการพิจารณาคดี ส่งผลกระทบในทางลบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา และยังจะส่งผลกระทบต่อไปถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย

จากการสังเกตการณ์ของผู้สื่อข่าว นักกิจกรรมด้านสิทธิ และตัวแทนจากเครือข่ายพลเมืองเน็ต ได้เกิดข้อคำถามขึ้นว่า การพิจารณาคดีโดยศาลในครั้งนี้ ได้มีความพยายามหยิบยกข้อแก้ต่าง หลักฐานพยาน และข้อเท็จจริงทางเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีมาอย่างครบถ้วนรอบด้านหรือไม่ ทั้งนี้ บนพื้นฐานของหลักฐานพยานจากทั้งฝ่ายโจกท์และจำเลย

อย่างพื้นฐานที่สุด โดยไม่ต้องกล่าวถึงความสลับซับซ้อนของเทคโนโลยีอื่นๆ เลยก็ได้ เรา ขอตั้งข้อสังเกตว่า ในคดีดังกล่าวนี้ บันทึกการจราจร (log file) ซึ่งเป็นหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งผู้สนับสนุน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องเก็บเพื่อประโยชน์ในการควบคุม ดูแลและดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นั้นถูกใช้เพื่อ การระบุและติดตามผู้ต้องหาเท่านั้น และไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่เพื่อการอำนวยความยุติธรรมและพิสูจน์ความ ผิด(หรือไม่ผิด)ของผู้ต้องหา

โดยสรุปแล้ว พยานหลักฐานต่างๆ เท่าที่มีการนำสืบในศาล ไม่สามารถระบุให้สิ้นสงสัยได้ว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้โพสต์เนื้อหาจริงหรือไม่ และเป็นผู้ดูแลระบบ(ของระบบซอฟต์แวร์ของระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับข้อ กล่าวหา)จริงหรือไม่

สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอินเทอร์เน็ต ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับคำพิพากษา ในประเด็นหลักการการพิจารณาความอาญาไว้ว่า:

ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักสำคัญที่สุดในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็คือ

1.ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยหรือผู้ต้องหา เป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าศาลจะพิพากษาว่ามีความผิด
2.สืบเนื่องจากข้อ 1 นั่นหมายความว่า ผู้มีภาระการพิสูจน์ ให้ศาลสิ้นสงสัย คือ "โจทก์" ไม่ใช่ "จำเลย” แต่จากเหตุผลของศาลนี้... เขาเขียนทำนองว่าจำเลยไม่ยอมพิสูจน์ ... แสดงว่าศาลหันมาให้น้ำหนักกับการแก้ต่างของ “จำเลย” มากกว่า การพิสูจน์โดย “โจทก์” ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องตามหลักการ

ปกติคดีความที่เกี่ยวกับเรื่องทางเทคนิคมากๆ แบบนี้ คนที่หนักคือโจทก์อยู่แล้ว ถ้าไม่มีปัญหาอะไร ศาลมักต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คือ ยกฟ้อง... คำถามเรื่องนี้จึงมีว่า

1. โจทก์สืบยังไงหรือ ศาลถึงสิ้นสงสัย ? (ทั้งที่ ในเหตุผล ก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสงสัยอยู่)
2. ฝ่ายจำเลยได้พยายามทำลายน้ำหนักของโจทก์หรือไม่ อย่างไร?

(บันทึกคำพิพากษาอย่างเป็นทางการ จะได้มีการเผยแพร่ต่อไป)
 

 

เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://thainetizen.org/norporchorusa-observations

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net