Skip to main content
sharethis


แม่น้ำสาละวินช่วงที่ไหลผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน เบื้องหน้าคือรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า


ปลาตัวใหญ่ที่ชาวประมงท้องถิ่นจับได้จากแม่น้ำสาละวิน


การแสดงพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอ หรือชาวกะเหรี่ยง ในคืนวันที่ 13 มีนาคม
ที่บ้านท่าตาฝั่ง ก่อนกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลกในวันที่ 14 มีนาคม


พิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน ในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม 2554
ที่บ้านท่าตาฝั่ง ริมฝั่งสาละวินชายแดนไทย - พม่า


เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มีนาคม 2554

 


เมื่อหิมะละลาย กลายเป็นสายธารา จากเขาสูงเสียดฟ้า ไหลลงมาสู่อันดามัน ผ่านแผ่นดินหลากหลาย ผ่านคนมากมายเผ่าพันธุ์ ล้านๆ เม็ดน้ำรวมกัน เป็นหนึ่งเดียวกันใน “สาละวิน”

ส่วนหนึ่งจากบทเพลงสาละวิน ของวงคาราบาว น่าจะบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของสายน้ำที่มีต้นกำเนิดเดียวกับแม่น้ำโขง ซึ่งแม่น้ำสาละวินถือเป็นแม่น้ำนานาชาติ โดยยาว 2,800 กิโลเมตร และยาวเป็นอันดับที่ 26 ของโลก ไหลผ่านมณฑลยูนนาน ในจีน ซึ่งเรียกแม่น้ำนี้ว่า “นู่เจียง” และผ่านรัฐฉาน รัฐคะเรนนี เมื่อผ่านรัฐกะเหรี่ยง แม่น้ำสาละวินจะเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างพม่ากับไทย ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน จนถึงบริเวณที่แม่น้ำเมยไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน เรียกว่าสบเมย หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินจะไหลเข้าสู่ตอนในรัฐกะเหรี่ยง ผ่านไปที่รัฐมอญ ลงสู่อ่าวเมาะตะมะ มหาสมุทรอินเดีย

แม่น้ำสาละวินถือเป็นแม่น้ำนานาชาติสายเดียวที่ไหลไปอย่างธรรมชาติไร้ ปราการจากฝีมือมนุษย์ที่เรียกว่า “เขื่อน” มาขวางกั้นเอาไว้ แต่ด้วยโลกปัจจุบันที่ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนการผลิต ทำให้รัฐบาลไทยโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่า ภายใต้โครงการ “โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า” เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าในแม่น้ำสาละวิน โดย กฟผ. จะสนับสนุนเงินทุนและสำรวจโครงการ โดยมีโครงการหลัก 2 โครงการ คือ เขื่อนสาละวินตอนบน หรือเขื่อนเว่ยจี ขนาด 4,540 - 5,600 เมกะวัตต์ และโครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่างหรือเขื่อนดากวิน ซึ่งจะสร้างที่บ้านท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยพื้นที่การก่อสร้างอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน มีขนาด 900 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังมีเขื่อนท่าซาง ขนาด 7,110 เมกะวัตต์ สร้างในแม่น้ำสาละวิน ช่วงที่ไหลผ่านรัฐฉาน ฝั่งตรงข้าม อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขื่อนยวาติ๊ด ในแม่น้ำสาละวิน ตอนที่ไหลผ่านรัฐคะเรนนี ขนาด 600 เมกะวัตต์ และเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง ขนาด 600 เมกะวัตต์

การสร้างเขื่อนดังกล่าวจะส่งผลกระทบกับชาวบ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำสาละวินอย่างแน่นอน โดยสมศักดิ์ ศรีมาลี พ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านท่าตาฝั่ง เปิดเผยว่า สมัยก่อนชาวบ้านมีอาชีพทำไร่หมุนเวียนสลับกับทำนา แต่ปัจจุบันเริ่มมีอาชีพรับจ้างทำสวน ค้าขาย และทำประมง

“ผมคิดว่าเศรษฐกิจในโลกทุนนิยมบีบบังคับให้วิถีชีวิตชาวบ้านที่นี่ เปลี่ยนแปลงไป เพราะต้องส่งลูกหลานไปเรียนนอกหมู่บ้าน บวกกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าไม้ที่ลดน้อยลง”

พ่อหลวงสมศักดิ์เล่าว่า ถ้ามีเขื่อนพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านจะน้อยลง การดำเนินชีวิตของชาวบ้านจะเปลี่ยนไป ภาครัฐซึ่งเป็นตัวการในการสร้างเขื่อนก็ไม่ได้ให้ความรู้หรือผลกระทบที่ชาว บ้านจะได้รับทำให้เราหวั่นว่า เขื่อนคือทางออกในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ดีจริงๆ เพราะชาวบ้านอาจต้องแลกกับวิถีวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสายลมและสายหมอกยามเช้า ริมแม่น้ำสาละวิน ของวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งตรงกับ “วันหยุดเขื่อนโลก” ชาวบ้านมาช่วยกันเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ให้กับพระแม่คงคาบริเวณริมสายน้ำสาละ วิน ก่อนที่จะทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ ซึ่งจะทำพิธีทางศาสนา คือ พุทธ คริสต์ รวมถึงความเชื่อดั้งเดิม

โดยตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 13 มีนาคม ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือจากจังหวัดใกล้เคียงได้เดินทางมาร่วมงาน ด้วยกว่า 50 คน พร้อมกับร่วมชมและแสดงการแสดงพื้นบ้าน และร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงสถานการณ์ในลุ่มน้ำของตน

อา นัน สาวชาวคะฉิ่น รัฐซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพม่า ผู้รณรงค์ต่อต้านการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำอิระวดี หนึ่งในแม่น้ำสายหลักของพม่า กล่าวว่า เมื่อเธอได้เห็นสาละวินก็รู้สึกดีใจมากเพราะยังไหลเป็นธรรมชาติ ต่างจากแม่น้ำอิระวดีที่แม้ยังไม่มีการสร้างเขื่อนแต่แม่น้ำก็เปลี่ยนสีแล้ว เพราะตอนนี้ชาวบ้านมากมายถูกขับไล่โดยทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง และมีการขุดทอง แร่ต่างๆ ทำให้ฝุ่นลงไปในแม่น้ำ ถ้ามีการสร้างเขื่อนจริงๆ ก็จะมีผลกระทบมากกว่านี้ เช่น กระแสน้ำจะเปลี่ยน ระดับการขึ้นลงของน้ำไม่เหมือนเดิม ตอนนี้หน้าดินเริ่มหายไปเรื่อยๆ

“ชาวพม่ารู้กันดีว่าแม่น้ำอิระวดีเป็นเส้นเลือดใหญ่ในการหล่อเลี้ยงคนใน พม่า เป็นลุ่มแม่น้ำที่ผลิตข้าวได้มากที่สุด การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า ชาวบ้านจะไม่ได้ใช้ไฟเลย แต่จะเป็นบริษัทที่มาลงทุนจะได้ประโยชน์ทั้งหมด ชาวบ้านไม่ได้รับอะไรเลย แต่จะได้รับผลกระทบทั้งหมดมากกว่า”

อา นัน กล่าวอีกว่า เวลาที่ทหารพม่าเข้ามาไล่จะไม่อธิบายว่าจะมีโครงการสร้างเขื่อนหรือบอก เหตุผลล่วงหน้า และผลกระทบที่ชาวบ้านจะได้รับเลย แต่จะสั่งให้ย้ายไป โดยในแม่น้ำอิระวดีจะมีการสร้างเขื่อนทั้งหมด 7 แห่ง โดยเฉพาะเขื่อนมิโซ ที่มีชาวบ้านอยู่ประมาณ 60 หมู่บ้าน เวลาทหารพม่าขับไล่ก็ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย แต่จะบังคับให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่อย่างเดียว วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่อาศัยมาเกือบชั่วชีวิตก็จะเสียไป ตนจึงต้องการให้หยุดการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำทั้งหมด จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า ที่ชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อกำหนดที่แนวทางการใช้ทรัพยากรของเขาเอง

ส่วนนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” จากเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำโขง-ล้านนา ซึ่งผูกพันกับแม่น้ำโขงเล่าถึงความแตกต่างของแม่น้ำโขงกับสาละวินว่า แม่น้ำทั้งสองสายที่มีถิ่นกำเนิดที่เดียวกัน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของแม่น้ำแตกต่างกันมากเพราะในแม่น้ำโขงมีเขื่อน ซึ่งเขื่อนเป็นตัวเร่งทำให้เกิดวิกฤติต่างๆ เช่น น้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างไม่ทราบสาเหตุ แต่แม่น้ำสาละวินยังไม่มีเขื่อน ทำให้ทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ น้ำไหลได้อย่างเป็นธรรมชาติ เห็นได้จากขณะที่นั่งเรือมานั้น ได้พบกับชาวประมงที่สามารถจับปลาขนาดใหญ่หนักถึง 7 กิโลกรัม ได้ 1 ตัวทำให้ชาวบ้านที่เดินทางรู้สึกตื่นเต้นเพราะบ่งบอกให้เห็นว่าแม่น้ำสาละวิ นยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก

“จะทำอะไรกับลำน้ำต้องคิดให้ดี ในอนาคตน่าเป็นห่วงสาละวินเพราะมีกลุ่มทุนจากหลายประเทศต้องการสร้างเขื่อน บนสาละวิน เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ซึ่งเป็นอันตรายมากๆ เพราะมีคนพึ่งพาอาศัยสาละวินมากมายไม่ต่างจากแม่น้ำโขง การที่จะทำอะไรกับน้ำสาละวินต้องดูน้ำโขงเป็นตัวอย่าง เพราะมิเช่นนั้นจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนสาละวินไม่ต่างจากโขง เราพูดว่าถึงเขื่อนไม่ว่าสร้างช่วงใดของลำน้ำ คนบริเวณลำน้ำได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพราะแม่น้ำมีการขับเคลื่อนเป็นธรรมชาติ เช่นการเดินทางของปลา ซึ่งสัมพันธ์กับชีวิตของคน”

ครูตี๋ทิ้งท้ายว่า เขื่อนไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาวของภัยแล้ง หรือน้ำท่วม แต่เป็นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้น การสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบต่อหลายส่วน การแก้ปัญหาจริงๆ ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างว่าปัญหาจริงๆ มาจากอะไร เช่น รักษาป่าต้นน้ำ ต้องมีการจัดการน้ำที่ดีไม่ให้เกิดปัญหากับแม่น้ำ ซึ่งเขื่อนในไทยก็เห็นชัด ชาวบ้านรู้ว่าฤดูแล้งก็เก็บน้ำไม่ได้ โดยหน้าที่ของเขื่อนไม่ได้มีหน้าที่สร้างน้ำแต่ต้องเก็บกักน้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าต้นน้ำไม่มีน้ำ ไม่มีป่า เขื่อนก็ไม่มีประโยชน์ ยิ่งเป็นการซ้ำเติม ด้วยการทำให้ปลาสูญพันธุ์ เกิดวิกฤติต่างๆ เราจึงต้องทบทวนการสร้างเขื่อนแต่ละครั้งให้ดีๆ

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีสืบชะตาแม่น้ำ เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้อ่านแถลงการณ์ “คืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำ เร่งเยียวยาผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลก หยุดการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่” ระบุว่า

14 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสัญลักษณ์ของการหยุดเขื่อนโลก พี่น้องผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนทั่วโลกได้ร่วมกัน ประกาศก้องให้คนทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐบาลทั่วโลก ต้องตระหนักถึงผลกระทบและความเดือดร้องที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พวกเรา เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่รวมตัวกันเพื่อปกป้อง รักษา และฟื้นฟู ดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ได้สรุปบทเรียนและเห็นถึงหายนะภัยที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่ว โลก รวมทั้งเขื่อนในประเทศไทย ได้สร้างปัญหาให้กับดิน น้ำ ป่า ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก บทเรียนจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเอนขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้บอกให้เราเห็นว่า ยุคสมัยของการสร้างเขื่อนได้สิ้นสุดลงแล้ว มนุษยชาติพึงร่วมกันตระหนักถึงภัยของการสร้างเขื่อน และต้องบอกล่าวกับรัฐบาลรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองของตนให้ตระหนักถึงภัยที่ มนุษย์ร่วมกันสร้างขึ้น ในนามเขื่อน ถึงเวลาแล้วที่พี่น้องประชาชนทั่วโลกต้องร่วมมือกันยับยั้งมหัตภัยเขื่อน รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลของตนเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านผู้เดือด ร้อนจากการสร้างเขื่อน

สำหรับประเทศไทย เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมด โดยเฉพาะเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่, เขื่อนแม่วงศ์ จ.นครสวรรค์, เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนท่าแซะ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี เป็นต้น และเราเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย แสดงความรับผิดชอบรวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ผ่าน มา อาทิ เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี, เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีษะเกษ, เป็นต้น เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอสนับสนุนการต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปาก มูล และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เพื่อคืนอิสรภาพให้กับแม่น้ำมูล เยียวยาชาวบ้านผู้เดือดร้อน โดยเฉพาะชาวประมงที่ต้องเป็นหนี้สินจากการหาปลาในแม่น้ำมูลไม่ได้มากว่า 10 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากการปิดกั้นทางอพยพองปลาจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูลจากการ สร้างเขื่อนปากมูล

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ อันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นอย่างมาก บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศท้ายน้ำอย่างประเทศไทย ลาว เขมร เวียดนาม อย่างชัดเจนมาแล้ว รัฐบาลไทยจึงควรยุติการสนับสนุนและหยุดผลักดันเขื่อนในแม่น้ำโขงและแม่น้ำ สาละวินอย่างเด็ดขาด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net