Skip to main content
sharethis
ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นหนังสือค้านพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ถึงสภา เจอรปภ.ห้ามเข้า ขู่มาดีแต่ไม่มีใครต้อนรับ หากมากันมากอย่าหาว่าไม่เตือน
 
วันนี้ (11 มี.ค.54) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่รัฐสภา ตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ประมาณ 15 คน เดินทางมาขอยื่นหนังสือคัดค้านการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ที่สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการในวาระแรกและอยู่ระหว่างการพิจาณาของคณะ กรรมาธิการวิสามัญ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเดินทางมาถึงตัวแทน สรส.ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แต่ได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้ามาในรัฐสภา โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแจ้งว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาไม่ได้อยู่ในรัฐสภา
 
ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลซึ่งดูแลความเรียบร้อยบริเวณถนน อู่ทองในได้ตั้งแถวปิดประตูทางเข้าหน้ารัฐสภา ทำให้ผู้มาเรียกร้องไม่พอใจและแจ้งกับสื่อมวลชนว่า วันนี้ สรส.และ คสรท.มาโดยสงบ ประสานมาว่าจะมายื่นหนังสือ แต่กลับไม่มีใครต้อนรับและไม่ให้เข้าไป โดยยังได้รับแจ้งว่าขบวนของนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการ สรส.ถูกสกัดไม่ให้ผ่านเข้ามาทางลานพระราชวังดุสิต
 
“เมื่อวันนี้พวกผมมาดีแต่ไม่มีใครต้อนรับ วันข้างหน้าหากมากันมากก็อย่าหาว่าไม่เตือนก็แล้วกัน” ตัวแทน สรส. กล่าว
 
 

แถลงการณ์คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
เรื่อง “คัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ”
 
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. ในวันที่ 10 มีนาคม 2554 นั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานศูนย์กลางที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิและสิทธิ ประโยชน์ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานมาอย่างต่อเนื่อง อันประกอบด้วยองค์กรสมาชิกในระดับสหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชน 30 องค์กร มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ มีสาระสำคัญที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ หลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ดังนี้
 
1. การละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุมของประชาชน
 
เนื่องจากการชุมนุมสาธารณะจะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้ บัญชาการ ตำรวจนครบาล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่จัดการชุมนุม ไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง ก่อนเริ่มการชุมนุม หากแจ้งการจัดการชุมนุมน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากบุคคลดังกล่าวเสียก่อน
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความเห็นว่าการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่จำเป็นต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่รัฐ การชุมนุมของประชาชนและเครือข่ายประชาชนที่มีขึ้นเป็นประชาธิปไตยทางตรง ซึ่งเป็นเครื่องมือของประชาชนในการแสดงออกถึงความเรียกร้องต้องการ การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากความพิกลพิการของระบอบรัฐราชการและระบอบ ประชาธิปไตยตัวแทนที่มองไม่เห็นหัวคนจน การแจ้งหรือขออนุญาตเพื่อจัดการชุมนุมจึงไม่เพียงเป็นการสร้างกันชนให้กับ รัฐบาล เพื่อขัดขวางไม่ให้เกิดการชุมนุมเท่านั้น ยังจะเป็นการสั่งสมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้เกิดมากขึ้นไปอีก
 
2. ขาดการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง
 
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นว่า การชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองที่ประชาชนในสังคม ประชาธิปไตยอันพึงจะมีได้ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในร่างกฎหมายการชุมนุมสาธารณะ จึงเป็นข้อตระหนักสำคัญในการระดมความคิดเห็นการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางและ ทั่วถึง แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้กลับขาดการมีส่วนร่วมและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของ ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มประชาชนและเครือข่ายประชาชนต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอแสดงจุดยืนในการคัดค้านต่อการละเมิดสิทธิ เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน หากแต่ไม่ปิดกั้นหากรัฐสภาจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน อย่างกว้างขวางและทั่วถึง
 
3. การฉวยโอกาสควบคุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาลและเครือข่ายประชาชน
 
การที่รัฐบาลออกกฎหมายการชุมนุม เพื่อควบคุมและจัดการกับกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมทางการเมือง โดยอ้างว่าเป็นการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีความเห็นว่า การออกกฎหมายฉบับนี้มีรากฐานจากแนวคิดอำนาจนิยม ฉวยกระแสความไม่พอใจของมวลชนที่สนับสนุนตนเองจัดการกับกลุ่มต่อต้าน รวมไปถึงกลุ่มประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เศรษฐกิจ ทรัพยากร ค่าแรง การเลิกจ้าง ฯลฯ การร่างกฎหมายเพื่อควบคุมกลุ่มประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เป็นการกระทำที่ไม่เพียงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรงเท่านั้น ยังเป็นการกระทำที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง
 
จึงขอเรียนเชิญพี่น้องประชาชน นิสิตนักศึกษา ทุกสาขาอาชีพ ทุกกลุ่มกิจกรรม ทุกองค์กร เข้าร่วมการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะในครั้งนี้ และช่วยกันออกแถลงการณ์ในนามองค์กรและเผยแพร่ในเครือข่ายทางสังคมทุกรูปแบบ
 
แถลงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net