Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ระยะนี้ข่าวลือเรื่องรัฐประหารเริ่มหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้สภาวการณ์ที่ 1) พันธมิตรฯ กดดันให้ทหารทำรัฐประหาร บนหลักการที่ว่า “รัฐบาลจะมาโดยวิธีใดก็ได้ ขอให้ตอบโจทย์ของพันธมิตรฯ เรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาให้ได้” 2) เสื้อแดงขู่ว่าถ้าเกิดรัฐประหารจะต้องถูกต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนจำนวน มาก และ 3) ประชาธิปัตย์เสนอทางออกโดยการยุบสภาภายใต้เงื่อนไข “สังคมสงบ ไม่มีบรรยากาศของความขัดแย้งและความรุนแรง”

ในขณะเดียวกันสภาวการณ์ดังกล่าวก็กำลังถูกท้าทายโดยการอภิปรายไม่ไว้วาง ใจที่กำลังจะมีขึ้นในกลางเดือนนี้ ว่ากันว่าจะเป็นการอภิปรายที่เปลือยให้เห็น “ตัวจริง” ที่สังหารประชาชน เผาเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น

และแน่นอนว่า คนที่ “ออกอาการ” ไม่ใช่เพียงอภิสิทธิ์และสุเทพ หากเป็น ผบ.ทบ.ที่แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวพร้อมกับอ้างว่าตนเองมีหน้าที่ปกป้องศักดิ์ศรี ทหาร ศักดิ์ศรีกองทัพบก อ้างความเป็น “ทหารของพระเจ้าอยู่หัวฯ” และหน้าที่ปกป้องสถาบัน

ผมไม่อาจรู้ได้ว่าจะเกิดรัฐประหารตาม ข่าวลือหรือไม่ รู้เพียงว่าหากเกิดรัฐประหารขึ้นอีก ประเทศของเราคงตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างจากอียิปต์ ลิเบีย หรืออาจจะแย่กว่านั้น หรืออย่างน้อยที่สุด ความรุนแรงนองเลือดที่เราเห็นเมื่อเมษา-พฤษภา 53 คงเทียบไม่ได้กับความรุนแรงนองเลือดที่อาจเกิดขึ้นหากเกิดรัฐประหารขึ้นอีก

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตั้งแต่ 19 กันยา เป็นต้นมา ฝ่ายอำมาตย์และเครือข่ายสนับสนุนเดินหน้าด้วยความเชื่อมั่นว่าวิถีทางแก้ ปัญหาแบบ “อำนาจนิยม” คือวิถีทางที่ถูกต้องหรือวิถีทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรักษาอำนาจของ พวกเขา

อย่าลืมว่าวิถีอำนาจนิยมคือวิถีที่พวกเขาใช้มาโดยตลอด แม้อาจพูดไม่ได้ว่าวิถีนี้ทำให้พวกเขาประสบชัยชนะอย่างปราศจากความรู้สึกไม่ พอใจของประชาชนทุกครั้ง แต่ด้วยการใช้วิถีดังกล่าวนี้พวกเขา “ไม่เคยแพ้อย่างแท้จริง” เลย เพราะประวัติศาสตร์บอกเราว่า ไม่เคยมีผู้สั่งใช้กำลังสังหารประชาชนต้องขึ้นศาลและถูกลงโทษแม้แต่ครั้ง เดียว

โดยประสบการณ์เช่นนี้ จึงทำให้พวกเขาเดินหน้ากระชับอำนาจต่อไปเรื่อยๆ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ตั้งแต่ 19 กันยา เป็นต้นมาฝ่ายอำมาตย์เดินหน้ากระชับอำนาจโดยการออกแบบโครงสร้างอำนาจและจัด ระบบสรรพกำลังที่ส่งผลให้อำนาจของพวกเขาแข็งแกร่งขึ้นในเชิงรูปธรรมอย่าง ยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 50 ตุลาการภิวัตน์ การให้อำนาจมากขึ้นกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน เพิ่มงบประมาณให้กองทัพ จนมาถึงตั้งเพิ่มอีกสองกองพลในภาคเหนือและอีสาน ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนั้น ทำให้ไม่ว่าใครหรือพรรคการเมืองใดก็ตามที่เป็นรัฐบาลในปัจจุบัน หรือที่จะมาเป็นรัฐบาลในอนาคต จำเป็นต้องเป็นพันธมิตรที่ดีกับกองทัพหรือต้องพินอบพิเทาต่อกองทัพและ อำมาตย์ แม้จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ “สั่ง” กองทัพไม่ได้ “อย่างแท้จริง” (ในเรื่องที่อำมาตย์และกองทัพไม่พอใจให้สั่ง)

ในขณะที่คนเสื้อแดงสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงนามธรรม โดยการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง หลักการที่ถูกต้องของประชาธิปไตย ฯลฯ ทำให้สังคม “ตาสว่าง” มากขึ้น แต่ทว่ายังไม่ได้เสนอ “คำตอบเชิงระบบ” อย่างเป็นรูปธรรมว่า โครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีอำมาตย์เข้ามากำกับแทรกแซงรัฐบาลที่ ประชาชนเลือกได้นั้น มีหน้าตาอย่างไร ต้องแก้ปัญหาระบบอำมาตย์ สองมาตรฐาน หรือจัดระบบกองทัพใหม่ให้เป็น “กองทัพของประชาชน” ได้อย่างไร

เสื้อแดงต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ หรือเชิงนามธรรม ขณะที่ฝ่ายอำมาตย์สู้ด้วยการออกแบบโครงสร้างจัดระบบสรรพกำลังอย่างเป็น รูปธรรม และเดินหน้าตลอดเวลา อาศัยทั้งความเก๋าเกมและการมีประสบการณ์ทางการเมือง ประสบการณ์ในการ “จัดการอำนาจ” ที่ยาวนานกว่า

ในสถานการณ์เช่นนี้ ความคิดของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงเป็นเสรีนิยมไปมากแล้ว กับวิถีทางอำนาจนิยมที่เข้มข้นขึ้นอย่างผิดปกติ ต้องเผชิญหน้ากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต่างฝ่ายต่างไม่ลดราวาศอก จึงเป็นการยากที่จะคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีก!

อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ระบบการปกครองแบบใดก็ตามที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ ย่อมเป็นระบบการปกครองที่ถูกท้าทาย และจำเป็นต้องถูกปรับเปลี่ยนหรือเลิกล้มไปในที่สุด

ธรรมชาติของมนุษย์คือเสรีภาพและความเท่าเทียม ระบบการปกครองใดก็ตามที่ขัดแย้งหรือลดทอนเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็น มนุษย์ ย่อมเป็นระบบการปกครองที่ขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์

ปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ และที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในโลกรวมทั้งในสังคมของเราเวลานี้ คือปรากฏการณ์ที่ประชาชนกำลังต่อสู้เพื่อ “ทวงความเป็นมนุษย์” ของตนเองจากระบบการปกครองที่ฉ้อฉลความเป็นมนุษย์ของพวกเขา

ปมปัญหาของการทวงคืนความเป็นมนุษย์ของประชาชนอยู่ที่ชนชั้นนำฝ่ายอำนาจ นิยมที่ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่เข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว ไม่เข้าใจความหมายของ “ความเป็นคน” ที่ต้องมีอยู่ด้วยการมี “เสรีภาพและความเสมอภาค” เพราะพวกเขาอยู่ส่วนบนของโครงสร้างอำนาจที่ได้เปรียบ เสพสุขอยู่บนการสยบยอมของประชาชนมาแสนนาน จนยากที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เท่าทันต่อโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว

การไม่ยอมปรับตัวของ “ฝ่ายอำนาจนิยมตกยุค” จึงกลายเป็นโศกนาฏกรรมของหลายๆ ประเทศในโลก และสังคมไทย!

แต่อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ระบอบอำนาจนิยมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นมนุษย์ไม่ใช่ฝ่ายชนะตลอดไป อำนาจที่แท้จริงไม่ใช่อำนาจที่เชื่อว่าฝ่ายตนเองมี แต่เป็นอำนาจที่ประชาชนให้การยินยอมและเชื่อถือ การเดินหน้าใช้ “อำนาจที่เชื่อว่าตนเองมี” ในที่สุดจะนำมาซึ่งหายนะแก่ฝ่ายที่ใช้อำนาจนั้นเอง

ผมได้แต่หวังว่า ปรากฏการณ์ “ลุแก่อำนาจ” ของฝ่ายอำนาจนิยมจะไม่เกิดขึ้นอีก ผมเชื่อว่าถ้าเพียงแต่ชนชั้นนำฝ่ายอำนาจนิยมเรียนรู้ที่จะเคารพการตัดสินใจ ของประชาชน ยอมให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อตามวิถีทางประชาธิปไตย

ยอมรับ “ความเป็นมนุษย์” ของคนในชาติ และซื่อสัตย์ต่อ “ความเป็นคน” ของตนเองที่มีเท่าๆ กับเพื่อนร่วมชาติ

ในที่สุด “ชนชั้นนำ” ที่มีมโนสำนึกถูกต้องแล้วนั้นเองจะได้รับการปกป้องโดยประชาชน และระบอบประชาธิปไตย!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net