“การลอบสังหาร” ในการเมืองท้องถิ่นไทย: ในรอบทศวรรษ (พ.ศ.2543- 2552)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ:

  1. ชื่อบทความเดิม - “การลอบสังหาร” ในการเมืองท้องถิ่นไทย: บทสำรวจ ‘ตัวเลข’ ขั้นต้นในรอบทศวรรษ (พ.ศ.2543-พ.ศ.2552)
  2. นำ เสนอครั้งแรกในการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 11 (พ.ศ.2553) วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ด้วยชื่อบทความเดียวกัน

 

บทนำ

แม้สังคมไทยจะยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ ความรุนแรงทางการเมือง (Political Violence) ถึงขั้นลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง (Civil War) กระทั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ รวมถึงในประเทศเพื่อนบ้าน ทว่าสังคมไทยกลับเต็มไปด้วยการใช้ความรุนแรงทางการเมืองในลักษณะที่หลากหลาย และได้อุบัติขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงโดยรัฐ (State Violence), การก่อการจลาจล (Riot), การก่อการร้าย (Terrorism) รวมถึงการลอบสังหาร (Assassination) [1] จนบางเรื่องผู้คนรู้สึกว่าปกติธรรมดาในชีวิตประจำวันไปแล้ว

แต่หากกล่าวถึงภาพเล็กสุดเฉพาะกรณีการ ‘ฆ่า’ ด้วยหวังผลทางการเมือง สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ [2] ภายหลังปี 2475 เป็นต้นมา ไม่เคยปรากฏว่ามีผู้นำสูงสุดในฝ่ายบริหารของประเทศ คือ “นายกรัฐมนตรี” แม้แต่คนเดียว (จากทั้งหมด 27 คน) ที่ต้องถึงแก่อสัญกรรมเนื่องจากถูกลอบสังหาร คงมีแต่เพียงความพยายามที่ล้มเหลวหลายๆ ครั้งเกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีบางท่านเท่านั้น เช่น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น [3]

ถึง กระนั้น หากพิจารณาให้กว้างขวางและย้อนหลังไปมากยิ่งขึ้นก็จะกลับพบเห็นอย่างมากมาย ไม่เคยว่างเว้น โดยเฉพาะในสมัยเผด็จการทหาร ดังที่เกิดในช่วงต้นทศวรรษ 2490 กรณี 4 อดีตรัฐมนตรี คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายจำลอง ดาวเรือง, นายถวิล อุดล และนายทองเปลว ชลภูมิ์ ถูก ‘ยิงทิ้ง’ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกัน ว่ากันว่าการใช้มาตรการรุนแรงในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ลงรอยกับฝ่ายกุม อำนาจเช่นนี้ เป็นผลให้นักการเมืองแถวหน้ายุคนั้นถึงกว่า 20 คน (นอกเหนือจากที่ได้เอ่ยนามมาแล้ว) ต้องจบชีวิตลง ไม่ว่าจะเป็นนายเตียง ศิริขันธ์, นายทวี ตะเวทิกุล, นายบรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข, นายโผน อินทรทัต, นายหะยี สุรง ฯลฯ [4] หรือในห้วงปลายทศวรรษ 2510 (ช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519) ก็ปรากฏการสังหารผู้นำกรรมกร ผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษาหลายสิบคน โดยคดีส่วนใหญ่ไม่สามารถจับคนร้ายได้ [5]

ข้าง ต้นเป็นตัวอย่างความรุนแรงทางการเมืองที่ชัดเจนมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทการเมืองภาพใหญ่แต่ละห้วงเวลา ซึ่งค่อยๆ คลี่คลายบรรเทาเบาบางลงตามบรรยากาศบ้านเมืองที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในห้วง หลัง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย ดังเห็นได้จากการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายต่อหลายคน ตลอดวงศ์วานว่านเครือ รวมถึงหัวคะแนนของท่านๆ เหล่านั้นต้องมาจบชีวิตจากการถูกลอบฆ่านั่นเอง

กระนั้นต้องไม่ลืม ด้วยว่าระบอบประชาธิปไตยมี สอง ระดับ ได้แก่ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แต่มุมมองที่ผ่านมามักเสนอให้พิจารณาระบอบประชาธิปไตยเป็นภาพรวม โดยถือเอาประชาธิปไตยระดับชาติ (National Democracy) เป็นจุดหลักของการศึกษา ให้น้ำหนักน้อยต่อประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น (Local Democracy) และการเมืองท้องถิ่น (Local Politics) [6]

อาจกล่าว ได้ว่าพลวัตรของการกระจายอำนาจ (Decentralization) ในประเทศไทยนั้น ได้เริ่มก่อรูปขึ้นพร้อมๆ กับกระแส ‘ปฏิรูปการเมือง’ (Political Reform) ส่วนบน ภายหลังจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาฯ ปี 2535 โดยเน้นย้ำถึงทิศทางของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในลักษณะที่ให้ความสำคัญ กับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และความเป็นอิสระของท้องถิ่นในทุกๆ มิติมากยิ่งขึ้น ฯลฯ

ความเปลี่ยน แปลงขนานใหญ่ข้างต้นเกิดขึ้นในทศวรรษสำคัญของการเมืองไทย (พ.ศ.2540) ถือเป็นก้าวย่างครั้งใหญ่ที่สุดของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในรอบศตวรรษเลย ก็ว่าได้ และถึงแม้การเมือง ‘ส่วนบน’ จะเกิดความ ‘พลิกผัน’ มหาศาลภายหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ แต่ใช่ว่าจะส่งผลกระทบต่อการเมือง ‘ข้างล่าง’ มากนัก [7]

ขณะ ที่เหตุผลในการ ‘คัดค้าน’ การเร่งรัดการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในสังคมไทยกลับยังคงดำรงอยู่แข็งขัน เป็นต้นว่าอาจจะนำมาซึ่งความแตกแยกรุนแรงในท้องถิ่น ประชาชนยังไม่พร้อม หรือไม่ก็กลัวว่าเจ้าพ่อจะชนะการเลือกตั้ง กอปรกับได้มีข่าวคราวเกี่ยวกับอาชญากรรมรุนแรงที่เกิดกับเหล่านักการเมือง ท้องถิ่นปรากฏอยู่บนหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันอยู่โดยตลอด ชวนให้ผู้คนเห็นคล้อยตามเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เองการเมืองท้องถิ่น ณ เวลานี้จึงเต็มไปด้วย ‘เลือด’ ในสายตาของหลายๆ คน [8]

ตัวอย่างพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ห้วง 4-5 ปีมานี้ อาทิเช่น

  • ยิงนายกอบต.หัวคะแนนชาติไทยหวิดดับ [มติชน, 4 ก.พ. 48]
  • รัวฆ่าคาห้องประชุมนายก-ปลัด [ข่าวสด, 1 ธ.ค. 48]
  • ปธ.สภาคลั่งยิงนายกเล็กคาโต๊ะประชุม [ไทยรัฐ, 25 ม.ค. 49]
  • มือปืนจ่อยิงหัวนายกเทศมนตรีท่าแพดับสยอง [ไทยรัฐ, 8 ต.ค. 49]
  • ยิงหัวนายกไข่ดอ ศพยังกำไมค์คาราโอเกะ [ไทยรัฐ, 9 ส.ค. 49]
  • ตั้งปมสังหารสองสามีภรรยาท้องถิ่น ขัดแย้งการเมืองเลาขวัญ-ครอบครัว [คมชัดลึก, 23 ต.ค. 49]
  • ยิงพรุนนายกเล็กห้วยใหญ่ดับอนาถ ปมขัดแย้งธุรกิจถมที่ดินเมืองชลบุรี [คมชัดลึก, 16 พ.ย. 49]
  • ดักกระหน่ำยิงโหดประธานอบต.ตงฉิน [ไทยรัฐ, 28 ม.ค. 50]
  • ถล่มฆ่าอุกอาจนายกเล็กคนดังศาลายา [ไทยรัฐ, 1 ก.พ. 50]
  • ใต้บึมนายกอบต.ฉีก 2 ท่อน เป็นศพคาปิกอัพ [ไทยรัฐ, 10 เม.ย. 50]
  • นาทีดวลดับ-ตายสยอง 2 ศพ กำนันดัง-นายกอบต.พัทลุงนัดมายิงกันที่ห้างฟิวเจอร์ฯ [ข่าวสด, 17 พ.ค. 50]
  • มือปืน357 ฆ่านายกฯอบต.นคร [ข่าวสด, 19 พ.ค. 50]
  • บุกฆ่าในศาลาวัด นายกอบต.ยิงขึ้นฟ้าขู่-ห้ามตาม [ข่าวสด, 21 พ.ค. 50]
  • ยิงนายกเล็กคาเวที-หลังอวยพรบ่าวสาว [ข่าวสด, 6 มิ.ย. 50]
  • คดียิงนายกอบต.ตาสิทธิ์ ตร.มุ่งการเมืองท้องถิ่น [คมชัดลึก, 4 ส.ค. 50]
  • เอ็ม16 ถล่มคาถนนร่างพรุน ดับนายกเทศมนตรี [ไทยรัฐ, 7 ส.ค. 50]
  • ควงเอ็ม16 ถล่มนายกอ่าวลึก ใจแข็งขับรถถึงร.พ.รอดหวุดหวิด [มติชน, 19 ก.ย. 50]
  • เมืองกำแพงฯดุ คนร้ายบุกยิงนายกฯ-ปลัดอบต.-ขรก.คาเวทีมอบรางวัลกีฬา [ผู้จัดการออนไลน์, 21 ก.ย. 50]
  • อาก้าถล่มนายกอบต.บูกิตดับ เมีย-ญาติบาดเจ็บสาหัส [ไทยรัฐ, 10 ต.ค. 50]
  • การเมืองแปดริ้วร้อนระอุฆ่านายกอบต.-หัวคะแนนพปช. [คมชัดลึก, 28 ต.ค. 50]
  • ล่องเรือหางยาวรัวอาก้าสังหารนายกอบต.เกาะหมากดับ [คมชัดลึก, 29 ต.ค. 50]
  • มือปืนสุพรรณฆ่านายกอบต. ซัดลูกซองทะลุปาก มุ่งขัดแย้งท้องถิ่น [ข่าวสด, 12 ต.ค. 51]
  • คนร้ายยิงถล่มนายกอบต.กรุงเก่าดับหน้าบ้าน [คมชัดลึก, 4 ก.ย. 51]
  • ยิงสนั่นงานศพ ดับนายกอบต. [ข่าวสด, 4 ม.ค. 51]
  • สยองสนง.เทศบาล ยิงดะ5ศพ รองนายกเล็กคลั่ง [ข่าวสด, 4 ก.ย. 51]
  • ยิงนายกอบต.บ่อกรูด ญาติผวาตามเก็บถึงรพ. [คมชัดลึก, 5 เม.ย. 51]
  • โจรใต้ยิงดับนายกฯอบต.ตันหยงมัสคาสนามฟุตบอล [โพสต์ทูเดย์, 5 มิ.ย. 51]
  • รองนายกยิงดับนายกอบต.-รัวแหลก3ศพ [ข่าวสด, 13 ก.พ. 51]
  • โจรใต้ยิงดับนายกอบต.ยะลา [ข่าวสด, 1 พ.ค. 52]
  • หาดใหญ่เดือด รัวถล่มฆ่านายกคลองแห [ข่าวสด, 18 พ.ค. 52]
  • เอ็ม16-เอชเค 100 นัด ฆ่า 5 ศพ นายกเขาหัวช้าง [ข่าวสด, 26 พ.ค. 52]
  • ฯลฯ

แต่เหตุการณ์ที่สำคัญและน่าเศร้าเป็นอย่างยิ่ง นั่นคือ คราวของ นายแพทย์ชาญชัย ศิลปะอวยชัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ถูกมือปืนกระหน่ำยิงจนเสียชีวิต ขณะกำลังวิ่งออกกำลังกายอยู่บริเวณข้างสระว่ายน้ำภายในสนามกีฬากลางเมือง แพร่ เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม 2550 นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่หลวงของแวดวงท้องถิ่น เพราะเขาคนนี้ถือเป็นนายกฯ ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของประเทศในขณะนั้นก็ว่าได้ [9]

 

ที่มา: ไทยรัฐ, (24 ตุลาคม 2550)

อย่าง ไรก็ตาม ปรากฏการณ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ทำนองนี้ ชวนให้ผู้วิจัยเกิดความสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าเอาเข้าจริงแล้ว ‘ความตาย’ เหล่านี้มีมากมายก่ายกองเช่นที่หลายฝ่ายกำลังวิตกหรือไม่ ฤาเป็นแค่จำนวนอันน้อยนิดในจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมดทุกประเภท ในแต่ละปีๆ [10] มีคดีความเหล่านี้มากน้อยเพียงใด แล้วพบเฉพาะบางพื้นที่หรือเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายทั่วทั้งประเทศ ตลอดทั้งที่ผ่านมาแนวโน้มเป็นเช่นไร เพิ่มขึ้นหรือลดลง

การศึกษาถึง เรื่องนี้ย่อมเป็นประโยชน์อย่างมาก เฉกเช่นที่ เกล็น ดี เพจ เจ้าของผลงาน “รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า” ผู้ที่พยายามตั้งคำถามและเพียรหาคำตอบว่า แล้วการเมืองที่ปราศจากความรุนแรงและวิชารัฐศาสตร์ที่ปราศจากความรุนแรงนั้นเป็นไปได้หรือไม่? เห็นว่า การฆ่าคือประเด็นใจกลางในการศึกษาและแก้ปัญหาที่ต้องเอาใจใส่อย่างจริงจัง นัยของการวิจัยทางรัฐศาสตร์ในความหมายนี้จึงได้แก่การทำความเข้าใจสาเหตุของ การฆ่า และทำความเข้าใจลักษณะของสังคมที่ปราศจากการฆ่าอย่างถึงที่สุด [11]

แน่ นอน เหตุผลสำคัญของงานศึกษาเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากความหวั่นเกรงที่ว่าหากขาดแคลนข้อมูลจากการวิจัยแบบจริงจัง สำหรับใช้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลให้ไปเข้าทางฟากฝั่งที่มีทัศนะนิยมส่วนกลาง (Centralism) ซึ่งดูถูกท้องถิ่นอยู่แล้ว ทำให้การกระจายอำนาจล่าช้าดังเดิมก็เป็นได้

นี่ คงเป็นก้าวเดินเล็กๆ หรือจุดเริ่มต้นแรกๆ ของความพยายามที่จะบุกเบิกเข้าไปในโลกของ ‘การเมืองท้องถิ่นไทย’ ซึ่งใครต่อใครหลายคนพากันเชื่อว่า ‘อันตราย’ ยิ่งนัก

 

วัตถุประสงค์การศึกษา

(1) เพื่อทราบตัวเลขจำนวนของนักการเมืองท้องถิ่นซึ่งถูกลอบสังหารระหว่างปี พ.ศ.2543 ถึง พ.ศ.2552

(2) เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในแต่ละปี และในพื้นที่แต่ละภาคโดยเปรียบเทียบกัน

 

วิธีดำเนินการศึกษา

การ ศึกษาครั้งนี้จัดเป็น “การวิจัยเชิงปริมาณ” (Quantitative Research) เนื่องจากเป็นวิธีการวัดระดับ (Measurement) ความรุนแรงของปัญหาที่เป็นรูปธรรมที่สุด ครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2552 โดยจะทำการเก็บข้อมูลรายงานข่าวเหตุการณ์เกี่ยวกับคดีฆาตกรรม “นักการเมืองท้องถิ่น” [12] ทั้งที่บรรลุผลและไม่บรรลุผล (แต่ก็จะมิใช่คดีทำร้ายร่างกาย การข่มขู่ที่ไม่ได้ประสงค์ต่อชีวิต หรือในทำนองอื่นใกล้เคียงกัน) ของพื้นที่ทั่วทั้งประเทศซึ่งถูกนำเสนอใน “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ตั้งแต่ฉบับวันที่ 1 ม.ค. 43 จนถึง 31 ธ.ค. 52 (ซึ่งได้รับการเย็บเล่มรวบรวมไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ) ร่วมกับฐานข้อมูลออนไลน์จากอีก 2 แหล่งสำคัญ ได้แก่ “ห้องสมุดข่าวมติชน” (http://www.matichonelibrary.com) กับ “กฤตภาคข่าว ออนไลน์” (http://www3.iqnewsclip.com) เข้าผ่านหน้าเว็บไซต์ของทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ที่ระบุรายละเอียดเหตุการณ์ บุคคล สถานที่ ลักษณะเรื่องราวที่เกิดในแต่ละกรณี มีรายงานการเสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมทั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุเบื้องต้น

จากนั้นจะนำข้อมูลต่างๆ ที่ได้มาจัดระเบียบพร้อมตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลแล้วจึงแปลงค่า เป็นตัวเลข ก่อนที่จะบันทึกและประมวลผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS for Windows โดยใช้วิธีการทางสถิติ (Statistics) ทั้งแบบตัวแปรเดี่ยว (Univariate) คือ ค่าความถี่ (Frequencies) ดูค่าร้อยละและค่าเฉลี่ย และแบบตัวแปรคู่ (Bivariate) คือ การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย (Crosstab) ด้วยค่า Chi Square ซึ่งกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ 0.05 มาทำการวิเคราะห์

 

ผลการศึกษา

เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทั้งหมดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ระหว่างปี พ.ศ.2543 ถึง 2552 พบเหตุการณ์ความรุนแรงในรูปของ “ลอบสังหาร” [13] เกิดขึ้นกับนักการเมืองท้องถิ่น (นับรวมตำแหน่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และปลัดฯ เข้าไว้ด้วย) รวมทั้งสิ้น 481 ราย หรือคิดเป็น 459 กรณี ด้วยกัน เนื่องด้วยบางกรณีก็เกิดขึ้นกับหลายๆ รายพร้อมกันในคราวเดียว

โดย กรณีที่มีนักการเมืองท้องถิ่นเสียชีวิตพร้อมกันมากที่สุดจากเหตุการณ์เดียว กัน คือ เหตุการณ์ที่นายมีลาภ เทพฉิน ประธานกรรมการบริหาร อบต.ปากแตระ อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งโกรธที่ถูกรุมอภิปรายเรื่องการทุจริตงบประมาณในโครงการจัดซื้อถังขยะและ เสาไฟฟ้าที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ ได้ใช้อาวุธปืนขนาด 11 มม.จ่อยิงประธานสภา และสมาชิกสภา อบต.ทีละคน เสียชีวิตรวม 3 ศพ เหตุเกิดกลางที่ประชุมสภา เมื่อ 13 ก.พ. 2544 [ไทยรัฐ, 15 ก.พ. 44]

แน่ละ มีมากถึง 362 ราย จากทั้งหมด 481 ราย หรือคิดเป็น 75.3% เลยทีเดียวที่ต้องมาจบชีวิตลงด้วยเหตุนี้ ขณะที่ผู้ที่รอดชีวิต แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่บาดเจ็บ-สาหัส 101 ราย (21.0%) กับกลุ่มที่ปลอดภัย-ไม่เป็นอะไรเลยอีก 18 ราย (3.7%)

 


แผนภูมิที่ 1 แสดงผลลัพธ์ของการถูกลอบสังหาร

ในปีหนึ่งๆ จึงมีเหตุเกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 48.1 ราย และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 36.2 คน ต่อปี ซึ่งก็นับว่าน้อยมาก เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับ หนึ่ง จำนวนนักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมดทุกประเภท (ที่มีมากกว่า 160,000 คนขึ้นไป ดังได้แจกแจงไว้แล้ว) และ สอง ค่าเฉลี่ยของคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาที่เกิดขึ้นแต่ละปีทั่วราชอาณาจักร (ซึ่งตัวเลขกลมๆ จะอยู่ที่เกือบ 4,700 คดีต่อปี [14]) เพราะคิดแล้วไม่ถึงร้อยละ 1 ทั้งคู่ด้วยซ้ำ

ข้อมูลสะท้อนชัดว่าผู้ถูกลอบสังหารแทบทั้งหมดเป็น ผู้ชาย จำนวน 467 คน (หรือมากถึง 97%) ขณะที่ผู้หญิงนั้นมีเพียง 14 รายเท่านั้น อายุโดยเฉลี่ย (ค่า Mean) อยู่ที่ 45.23 ปี โดยกลุ่มอายุช่วงระหว่าง 41-59 ปีพบมากที่สุด (ร้อยละ 54.1) รองลงมาคือกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปี (ร้อยละ 28.7) และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 5.4) ตามลำดับ

ส่วนตำแหน่งที่ตกเป็นเป้าหมายมากที่สุด ได้แก่ สมาชิกสภาฯ จำนวน 206 ราย (42.8%) แบ่งเป็นสมาชิกสภา อบจ. (หรือที่เรียกจนติดปากว่า ส.จ.) 34 ราย สมาชิกสภาเทศบาล 25 ราย สมาชิกสภา อบต. 147 ราย, นายกฯ รวม 139 ราย (28.9%) แยกเป็นนายก อบจ. 5 ราย นายกเทศมนตรี 35 ราย และนายก อบต. (หรือในชื่นอื่นคือประธานกรรมการบริหาร อบต.) 99 ราย, รองนายกฯ (หรือตำแหน่งในฝ่ายบริหารในอดีต ได้แก่ เทศมนตรีและกรรมการบริหาร อบต.) 65 ราย (13.5%), ประธานสภาฯ 27 ราย (5.6%) แยกเป็นประธานสภา อบจ. 2 ราย ประธานสภาเทศบาล 3 ราย ประธานสภา อบต. 22 ราย, ปลัดฯ 24 ราย (5.0%) โดยที่เกือบทั้งหมดคือ 20 รายสังกัด อบต. และผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว 20 ราย (4.2%) ดังแผนภูมิแท่งข้างท้ายนี้

 

แผนภูมิที่ 2 แสดงระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ

ข้อ สรุปสั้นๆ ในประเด็นนี้คือ ถ้าลองคิดเป็นสัดส่วนดูแล้ว ตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น (นายกฯ) นับว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการถูกลอบสังหารในการเมืองระดับท้องถิ่น อาจด้วยเป็นตำแหน่งที่มีอำนาจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการบริหารงานบุคคล และการจัดสรรงบประมาณต่างๆ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงลักษณะเช่นนี้พบมากที่สุดในองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบ องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 349 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 72.6 ตามมาด้วยเทศบาล 83 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 17.3 แยกเป็นเทศบาลนคร 3 ราย (0.6%) เทศบาลเมือง 7 ราย (1.5%) เทศบาลตำบล 73 ราย (15.2%) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด 49 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 10.2 จากข้อมูลคงพอสรุปคร่าวๆ ได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กมักมีปัญหาการใช้ความรุนแรงมากกว่าขนาด ใหญ่ ถึงแม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่หลายแห่งจะปรากฏข่าวคราวความขัด แย้งอย่างรุนแรง แต่กลับพบว่ามักใช้แนวทางกฎหมายมาต่อสู้กันมากกว่า

ถ้าแยกพิจารณาเป็นรายจังหวัด โดยเรียง 10 ลำดับแรกที่ประสบปัญหาดังกล่าวมากที่สุด ผลจะออกมาดังนี้


อันดับ

จังหวัด

จำนวน

คิดเป็นร้อยละ

1

นราธิวาส

34

7.1

2

ปัตตานี

31

6.4

3

พัทลุง

30

6.2

4

ยะลา

24

5

5

สงขลา

20

4.2

6

นครศรีธรรมราช

18

3.7

7

นครปฐม

16

3.3

7

เพชรบูรณ์

16

3.3

9

นครราชสีมา

13

2.7

10

เชียงใหม่

12

2.5

10

สุพรรณบุรี

12

2.5

 

ตารางที่ 1 แสดงรายชื่อจังหวัด 10 อันดับแรกซึ่งมีการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นมากที่สุด

ที่น่าสนใจคือ 6 จังหวัดใน 11 จังหวัดข้างต้นล้วนอยู่ภาคใต้ทั้งสิ้น โดยที่ 4 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา และสงขลา (บางอำเภอ) จัดว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมายาวนาน ถ้าหากไม่เอ่ยถึง 4 จังหวัดนี้แล้วละก็ จังหวัดพัทลุงจะกลายเป็นจังหวัดที่มีความถี่ของปัญหาสูงที่สุด ตามมาด้วยนครศรีธรรมราช, นครปฐม, เพชรบูรณ์, นครราชสีมา เชียงใหม่ และสุพรรณบุรี โดยไม่มีจังหวัดจากภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ติดอยู่ใน 10 อันดับแรกนี้ด้วยแต่อย่างใด

สำหรับท้องถิ่นบางแห่งของทั้ง 10 จังหวัดดังกล่าวก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนน่าตกใจ ตัวอย่างเช่นที่ อบต.เกาะหมาก จ.พัทลุง ในรอบ 2 ปีนายกฯ ถึง 3 คนล้วนถูกยิงตายทั้งหมด เชื่อกันว่าสาเหตุเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจรังนก นางแอ่นในพื้นที่ [15] เทศบาลตำบลท่าแพ จ.นครศรีธรรมราช นับแต่ยกฐานะเป็นเทศบาล นายกฯ ทั้ง 2 รายก็ถูกลอบยิงเสียชีวิตทั้งคู่ และพบว่าน่าจะมาจากเรื่องขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น

นอกเหนือจากนี้ พื้นที่ที่พบความรุนแรงบ่อยครั้ง ได้แก่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช, อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม, อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์, อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา, อ.เลาขวัญ และ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เป็นอาทิ

กล่าวตามความจริง จากข้อมูลที่ได้ยังพบอีกว่า ที่ผ่านมามีเพียง 5 จังหวัดเท่านั้นที่ไม่เคยปรากฏความรุนแรงในทำนองนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, มุกดาหาร, แม่ฮ่องสอน, ยโสธร และร้อยเอ็ด โดยที่ 3 ใน 5 จังหวัดนี้ เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

และเมื่อทำการพิจารณาแบบรายภาค ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ภาคตามเกณฑ์ของทางราชบัณฑิตยสถาน [16] ก็จะยิ่งเห็นถึงความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขของ ภาคใต้ มาเป็นอันดับ 1 คือมากถึงร้อยละ 42.2 (203 ราย) เลยทีเดียว อันดับ 2 เป็นภาคกลาง 26.4% (127 ราย) อันดับ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10.8% (52 ราย) อันดับ 4 ภาคเหนือ 8.3% (40 ราย) อันดับ 5ภาคตะวันตก 6.2% (30 ราย) และสุดท้าย อันดับ 6 ภาคตะวันออก 6.0% (29 ราย) จากข้อมูลตรงนี้จึงสรุปได้ว่าการใช้ความรุนแรงแต่ละที่มีความต่างกันอย่างมิ ต้องสงสัย

 

แผนภูมิที่ 3 แสดงระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละภาค

ค่อนข้างสอดคล้องกับผลการสำรวจของศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2545 ที่ได้เคยทำการสำรวจความคิดเห็นของคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลเกือบพัน คนจากทุกภาคทั่วประเทศเกี่ยวกับปัญหาอิทธิพลของการเมืองในท้องถิ่น ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคใต้เป็นภาคที่มีปัญหาการฆาตกรรมเพราะสาเหตุทางการเมืองมาก ที่สุด รองลงมาเป็นภาคกลางและตะวันออก ส่วนภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ถือว่าพบปัญหานี้น้อยที่สุด [17]

ส่วน เพราะเหตุใดจึงเกิดในพื้นที่ภาคใต้มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ และขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยใดเป็นพิเศษบ้างนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ที่สนใจและคุ้นเคยกับพื้นที่ภาคใต้อย่างดีควรจะหันมาทำการ ศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้งในภายภาคหน้า หรืออาจจะเป็นอย่างที่อาคม เดชทองคำ เคยสรุปไว้ในหนังสือของเขา (ซึ่งก็นำมาจากงานวิจัยที่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสารมวลชนช่วงนั้นอย่าง หนัก) เรื่อง “หัวเชือกวัวชน” หรือไม่?

เพราะข้อค้นพบบางประการจากผล งานชิ้นดังกล่าวได้สะท้อนถึงบุคลิกภาพของคนปักษ์ใต้ (โดยเฉพาะคนนครศรีธรรมราช) โดยมองผ่านทางวัฒนธรรมการชนวัว อาทิเช่น “…ผู้ ที่เป็นนักเลงวัวชนจะต้องกล้าได้ กล้าเสีย และมีวิญญาณของนักพนันเสี่ยงโชคอยู่ในหัวใจ ยิ่งผู้ที่ต้องการจะยกตนเองขึ้นถึงขั้น “นักเลงระดับนายหัว” หรือ “พ่อขุนอุปถัมภ์” จะต้องเป็นคนห้าวหาญ เด็ดเดี่ยว มือเติบ ใจถึง น่าเชื่อถือ ทระนงในเกียรติ และศักดิ์ศรีของตน จนถึงขั้นที่กล้าใช้ระบบศาลเตี้ยมาจัดการแก้ปัญหาได้โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ใดๆ...” เป็นต้น [18]

ใน แง่ความสัมพันธ์ระหว่างภูมิภาคกับตัวแปรตามอื่นๆ ค้นพบว่ามีความเกี่ยวพันทางสถิติกับทั้งรูปแบบองค์กรปกครองท้องถิ่น (ค่า Sig = 0.000) และสาเหตุความไปเป็นไปแห่งคดี (ค่า Sig = 0.039) อย่างมีนัยสำคัญ อธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้ 1.อบจ.ในภาคกลางและภาคใต้ประสบปัญหานี้ค่อนข้างรุนแรงกว่าที่พบในภาคอื่น (จำนวน 18 ราย และ 14 รายตามลำดับ) 2.การลอบสังหารพบมากในระดับ อบต.ของทางภาคใต้ (167 ราย) มากกว่า อบต.ของภาคอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด หรือเท่ากับ 48% ของตัวเลขภาพรวมเลยทีเดียว 3.ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุได้คิดเป็นสัด ส่วนสูงสุดสูงถึงร้อยละ 88 รองลงมาคือภาคตะวันออก (86%), ภาคเหนือ (82%), ภาคตะวันตก (76%), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (75%), ภาคกลาง (74%) ตามลำดับ

ส่วน ตารางข้างท้ายนี้เป็นตารางแสดงรายชื่อ 5 จังหวัดที่มีสถิติการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นสูงที่สุดของแต่ละภาค กล่าวคือ ภาคเหนือสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 12 ราย ภาคกลางสูงสุดเท่ากัน คือ นครปฐมกับเพชรบูรณ์ จำนวน 16 ราย ภาคตะวันออกสูงสุด คือ ชลบุรี จำนวน 10 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงสุด คือ นครราชสีมา จำนวน 13 ราย ภาคตะวันตกสูงสุด คือ กาญจนบุรี จำนวน 11 ราย และภาคใต้สูงสุด คือ นราธิวาส จำนวน 34 ราย

ตารางที่ 2 แสดงรายชื่อจังหวัด 5 อันดับแรกของแต่ละภาคซึ่งมีการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นมากที่สุด

ภาคเหนือ

ภาคกลาง

ภาคตะวันออก

ภาคตะวันออก

เฉียงเหนือ

ภาคตะวันตก

ภาคใต้

1.เชียงใหม่ (12)

1.นครปฐม (16)

1.ชลบุรี (10)

1.นครราชสีมา (13)

1.กาญจนบุรี (11)

1.นราธิวาส (34)

2.เชียงราย (11)

1.เพชรบูรณ์ (16)

2.ปราจีนบุรี (5)

2.ขอนแก่น (5)

2.ประจวบคีรีขันธ์ (8)

2.ปัตตานี (31)

3.น่าน (4)

3.สุพรรณบุรี (12)

2.ระยอง (5)

2.สุรินทร์ (5)

3.ตาก (4)

3.พัทลุง (30)

3.แพร่ (4)

4.นครสวรรค์ (11)

4.ฉะเชิงเทรา (4)

4.บุรีรัมย์ (4)

3.ราชบุรี (4)

4.ยะลา (24)

5.ลำปาง (3)

5.พระนครศรีอยุธยา (9)

5.จันทบุรี (3)

4.เลย (4)

5.เพชรบุรี (3)

5.สงขลา (20)

5.อุตรดิตถ์ (3)

5.สระบุรี (9)

 

 

 

 

เมื่อ มองโดยภาพรวมของแต่ละปี สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความถี่ของบางปีสูงขึ้นมาชนิดโดดเด่น เช่นปี 2543 จำนวน 55 ราย (11.4%), 2546 จำนวน 64 ราย (13.3%), ปี 2548 จำนวน 68 ราย (14.1%) และ 2550 จำนวน 57 ราย (11.9%) ส่วนปีที่ความถี่ค่อนข้างน้อย คือ ปี 2544 จำนวน 38 ราย (7.9%), 2551 จำนวน 37 ราย (7.7%) และ 2552 จำนวน 29 ราย (6.0%) โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง 2 ปีหลัง สถานการณ์ความรุนแรงได้มีแนวโน้มลดลงชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อนตลอด 8 ปีก่อนหน้า

 

แผนภูมิที่ 4 แสดงระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแต่ละปี

เป็น ไปได้มากว่าขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมภายนอกท้องถิ่น (สืบเนื่องจากปัญหาระดับชาติที่ถูกพูดถึงอย่างมากในแต่ละห้วงเวลา) เช่นปี 2546 เป็นปีที่รัฐบาลขณะนั้นได้มีนโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดตั้งแต่ช่วงต้นปี จนมาประกาศชัยชนะเหนือยาเสพติดในช่วงปลายปี ซึ่งมาพร้อมๆ กับจำนวนผู้เสียชีวิตตลอดทั้งปีนี้ที่มากถึง 2,500 ราย [19] ส่วนใหญ่เชื่อว่าเกิดจากการ ‘ฆ่าตัดตอน’ ระหว่างผู้ที่อยู่ในแวดวงยาเสพติดด้วยกันเอง ขณะที่หลายฝ่ายเห็นว่านโยบายนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง, นับแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา สถานการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ก็เริ่มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นและดำเนินมา อย่างต่อเนื่อง นับแต่เหตุการณ์บุกเข้าโจมตีปล้นปืนทหารเป็นต้นมา นอกจากนี้ความรุนแรงยังแสดงออกมาในรูปของการฆ่า ลอบยิง วางระเบิด วางเพลิง และการก่อเหตุร้ายด้วยวิธีการต่างๆ อนึ่ง ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าปริมาณความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงฉับพลันชัดเจนใน ปี 2547 และปี 2548 โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสถานการณ์ ‘ความไม่สงบ’ ในรอบหลายสิบปีก่อนหน้านั้น [20] เป็นอาทิ

ขณะ ที่บางฝ่ายเชื่อว่าการเมืองระดับชาติส่งผลโดยตรงต่อระดับความรุนแรงลักษณะ นี้ในหลายพื้นที่ หรือพูดง่ายๆ สำหรับบางจังหวัด (ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดในภาคกลาง) เช่น นครปฐม, นครสวรรค์, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, ระยอง, นครราชสีมา, ราชบุรี, แพร่ เป็นอาทิ การลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่น (ซึ่งก็มักจะเป็น “หัวคะแนน” ให้กับนักการเมืองในระดับที่สูงขึ้นไป) มาเกิดขึ้นมากมายระหว่างช่วงที่มีการเลือกตั้งระดับชาติ (ทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง) ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ว. หรือ ส.ส. ก็ตาม ซึ่งในรอบ 10 ปีนี้มีการเลือกตั้งทั่วไปรวมแล้ว 7 ครั้งด้วยกัน แยกเป็นการเลือกตั้ง ส.ว. 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543, 19 เมษายน 2549 และล่าสุดเมื่อ 2 มีนาคม 2551 กับการเลือกตั้ง ส.ส.อีก 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544, 6 กุมภาพันธ์ 2548, 2 เมษายน 2549 และล่าสุดเมื่อ 23 ธันวาคม 2550 แต่จากการศึกษาในภาพรวมยังคงไม่สามารถยืนยันสมมติฐานดังกล่าวได้อย่างเด็ด ขาดนัก

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าหันกลับมามองที่ปัจจัยภายในการเมืองท้องถิ่นเองบ้าง พบว่ามีจุดเปลี่ยนสำคัญๆ อย่างน้อย 2-3 ประการนั่นคือ ประการแรก ช่วงระหว่าง พ.ศ.2542-2543 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นขนานใหญ่ รวมถึงได้มีการตรากฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจอีกหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ฯลฯ เพื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2540 พร้อมกับที่กระทรวงมหาดไทย ยกเลิกการเข้าดำรงตำแหน่งของทั้งผู้ว่าฯ ใน อบจ. นายอำเภอในสุขาภิบาล ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน อบต. อย่างสิ้นเชิง ทำให้เข้าใกล้ความเป็นการปกครองท้องถิ่นที่แท้จริงยิ่งขึ้น

ประการที่สอง พ.ศ.2546 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มเข้ามาควบคุมดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภทแทนกระทรวง มหาดไทย ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ซึ่งให้อำนาจ กกต.วินิจฉัยสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) แก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ เป็นต้น

ประการที่สาม ในปี 2546 เช่นกัน ได้มีการเร่งรัดปรับปรุงโครงสร้าง อปท.ทุกประเภทให้เป็นมาตรฐานแบบเดียวทั้งหมด นั่นคือ รูปแบบ นายก-สภา (Mayor-Council Form) ซึ่งกำหนดให้ผู้บริหารเข้มแข็ง (Strong Mayor) พร้อมทั้งทยอยยกเลิกคณะผู้บริหารที่มาจากมติของสภาท้องถิ่นด้วยการกำหนดให้ นายก อบจ. นายกเทศมนตรี ตลอดจนนายก อบต.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และกำหนดรายละเอียดกลไกความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภาให้มีความ ชัดเจนขึ้น ตามมาด้วยการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยตรงครั้งแรก พร้อมกัน 74 จังหวัดทั่วประเทศ ในวันที่ 14 มีนาคม 2547 ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง อบต.ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปีนี้ พร้อมกัน 3,499 แห่ง เมื่อ 31 กรกฎาคม 2548 แน่ล่ะ ความเป็นไปทั้งหมดข้างต้นน่าจะมีอิทธิพลต่อระดับความรุนแรงในการเมืองท้อง ถิ่นแต่ละห้วงเวลาไม่มากก็น้อย

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าสถานการณ์ใน สองปี คือ ปี 2546 และปี 2548 ที่มีแนวโน้มของความรุนแรงพุ่งสูงขึ้นนั้น อาจจะมาจากทั้งสาเหตุที่เป็นปัจจัยภายในและภายนอก เป็นต้นว่าปี 2546 เป็นปีที่รัฐบาลใช้นโยบายประกาศสงครามยาเสพติดอย่างจริงจัง และทาง กกต.เริ่มเข้ามาจัดการการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งก็มาพร้อมปัญหาการร้องเรียนของคู่แข่ง การรับรองผลการเลือกตั้ง การสั่งให้ใบเหลือง-ใบแดง (กรณีหลังนอกจากผู้กระทำผิดจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและถูกดำเนินคดี อาญาแล้ว ยังจะต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่) ส่วนปี 2548 เป็นปีที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ตอนต้นปีซึ่งนำมาสู่รัฐบาลพรรค (ไทยรักไทย) เดียว กลางปีก็ได้มีการเลือกตั้ง อบต.ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ประกอบกับสถานการณ์รุนแรงสามจังหวัดชายแดนใต้ปรากฏให้เห็นตลอดทั้งปีอีกด้วย

อนึ่ง สถิติบ่งชี้ว่าช่วง เดือนมีนาคม ปี พ.ศ.2546 เป็นช่วงที่มีเหตุเกิดยอดสูงสุด รวมทั้งสิ้น 15 รายด้วยกัน หรือเป็นหนึ่งเดือนภายหลังที่มีการประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างเป็นทางการ นั่นเอง

เมื่อลองวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสถานะตำแหน่งกับปีที่ เกิดเหตุดูก็จะพบว่าตัวแปรทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน (ค่า Sig = 0.000) นั่นคือ ตัวเลขลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นของแต่ละตำแหน่งในแต่ละปีมีความแตกต่าง กันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ แม้นหลายปีน้ำหนักจะอยู่ที่ฝ่ายสภามากกว่าอย่างชัดเจน ทว่าบางปีน้ำหนักก็จะไปอยู่ที่ตำแหน่งฝ่ายบริหารมากกว่า คือ ปี 2552 ขณะที่บางปีก็ออกมาค่อนข้างไล่เลี่ยกัน คือ ปี 2547, 2549, 2550, 2551 หรือหากพิจารณาในอีกแง่หนึ่งก็จะพบว่าตำแหน่งนายกฯ ถูกลอบสังหารสูงที่สุด 20 ราย ในปี 2550 (หลายคนเป็นนายกฯ 2 สมัยขึ้นไป), สมาชิกสภาฯ ถูกลอบสังหารสูงที่สุด 40 ราย ในปี 2546 (ส่วนใหญ่มีประวัติพัวพันค้ายาเสพติดและอยู่ในบัญชีดำของเจ้าหน้าที่), ปลัดฯ ถูกลอบสังหารสูงที่สุด 7 ราย ในปี 2548 (ซึ่ง 5 ใน 7 รายนี้อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้)

 

แผนภูมิที่ 5 แสดงระดับความรุนแรงของแต่ละภาคในรอบ 10 ปี

กล่าว โดยสรุป ‘ภาค’ กับ ‘ปี’ ที่เกิดเหตุ สัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ (ค่า Sig = 0.000) ความถี่ในแต่ละภาค ความถี่ในแต่ละปี มีความแตกต่างชัดเจน อย่างน้อยๆ 1.ภาคเหนือเกิดขึ้นมากสุดในปี 2546 ทว่าไม่มีเลยในปี 2549 และ 2552 2.ปี 2546 พบมากในภาคกลางเสียยิ่งกว่าภาคใต้ 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาพบมากที่สุดเมื่อปี 2546 เช่นกัน 4.พ.ศ.2548 และ พ.ศ.2550 เกิดเหตุมากสุดในพื้นที่ภาคใต้ สอดคล้องกับสถานการณ์ในสามจังหวัดที่พุ่งรุนแรงขึ้นช่วง 2 ปีนั้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อเอ่ยถึงลักษณะวิธีการของการลอบสังหาร วิธีการซึ่งถูกนำมาใช้มากที่สุด ได้แก่ การยิงด้วยอาวุธ ปืน ซึ่งมากถึงร้อยละ 93.1 (448 ครั้ง) เลยทีเดียว นอกนั้นเป็นการลอบวางระเบิดอีกร้อยละ 3.1 (15 ครั้ง) ส่วนวิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการลอบทำร้าย วางยา เอามีดแทง วางเพลิง ทำให้ขาดอากาศหายใจ จงใจให้เกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ ปรากฏน้อยมาก คือรวมกันแค่ร้อยละ 3.7 (18 ครั้ง) เท่านั้น

ข่าวสารบนหน้าหนังสือพิมพ์ยังคงสะท้อนให้เห็นว่าคดี ฆาตกรรมที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่มากถึง 395 ราย (82.1%) ไม่ (ปรากฏเป็นข่าวว่า) สามารถติดตามจับกุมตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ขณะที่สำหรับกรณีที่จับได้ 86 ราย (17.8%) นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ‘สาเหตุ’ หลักแห่งคดีหลากหลากใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นขัด ‘ผลประโยชน์’ ในกิจการต่างๆ ขององค์กรท้องถิ่นนั้นๆ เอง (26 ราย) หรือเป็นเรื่องของ ‘อำนาจ’ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และช่วงชิงตำแหน่งการเมือง (18 ราย) กระทั่งเพราะ ‘เรื่องส่วนตัว’ ชู้สาว แก้แค้น ปมธุรกิจ มรดก ถูกชิงทรัพย์ (25 ราย) รวมถึงยังมีหลายกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดและเนื่องจากถูกลูกหลงอีกด้วย (17 ราย)

ข้อสังเกตส่วนนี้ คือ 1.การลอบวางระเบิดโอกาสบรรลุผลน้อยมากๆ (หรือแทบไม่มีเลย) ขณะที่การใช้อาวุธปืนยิงจะประสบผลสำเร็จมากกว่า คิดง่ายๆ ถ้าใช้ปืนยิงจาก 100 คนส่งผลให้เป้าหมายเสียชีวิตถึง 78 คนเลยทีเดียว ขณะที่ใช้ระเบิดจาก 100 คนจะมีเพียง 13 คนเท่านั้นที่ต้องตาย 2.ถ้าสาเหตุเกิดจากเรื่องตำแหน่งการเมืองโดยตรง (ฆ่าเพื่อที่จะแทนที่หรือไม่ให้ใครมาแทนที่) วิธีการที่ใช้สถานเดียวได้แก่การยิง 3.การลอบวางระเบิดยากต่อการสืบทราบจับกุม ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมคนร้ายที่เลือกใช้ยุทธวิธีนี้มาดำเนินคดีได้ แม้แต่รายเดียว 4.ตำแหน่งนายกฯ ถูกลอบสังหารด้วยสาเหตุทางการเมืองมากที่สุด ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯ ไม่พบว่ามีสาเหตุมาจากประเด็นดังกล่าวแม้แต่รายเดียว ส่วนตำแหน่งสมาชิกสภาฯ จะมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวมากที่สุด 5.ในบรรดาคดีความส่วนน้อยที่สามารถติดตามจับกุมตัวคนร้ายมาได้ (เฉพาะกรณีที่เป็นการฆ่าในลักษณะไตร่ตรองไว้ก่อน) มักจะสืบไปไม่ถึงตัวผู้บงการหรือเอาผิดกับผู้บงการที่แท้จริงไม่ได้

 

บทสรุป

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ สามารถสรุปออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

หนึ่ง ผลจากสถิติของการลอบสังหารนักการเมืองท้องถิ่นที่ได้ นับว่าเป็นตัวเลขที่น้อยมาก คิดแล้วยังไม่ถึงร้อยละ 1 เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะเมื่อนำไปเทียบเคียงกับจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมดทุกประเภท และค่าเฉลี่ยของคดีฆ่าคนตายที่เกิดขึ้นแต่ละปี ทั้งนี้อาจด้วยเพราะสื่อสารมวลชนมีการนำเสนอเป็นข่าวใหญ่เสมอ ย่อมทำให้การรับรู้ในแง่ประชาชนโดยทั่วไปออกมาสวนทางกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

สอง ความรุนแรงลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายทั่วประเทศ คือมีให้เห็นในทุกภาคและเกือบทุกจังหวัด แต่เฉพาะกับบางจังหวัดบางภาคเท่านั้นที่จัดได้ว่าสถานการณ์เข้าขั้นรุนแรง เนื่องจากเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำทุกปี ได้แก่หลายๆ จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบมาอย่างยาว นาน

สาม แนวโน้ม 10 ปีที่ผ่านมา ตลอด 8 ปีแรก ทิศทางค่อนข้างเป็นไปอย่างไม่แน่นอน บางปีสูง บางปีต่ำ สลับกันไปมา แต่ทว่าในช่วง 2 ปีหลัง ระดับความรุนแรงของปัญหาเริ่มมีแนวโน้มค่อยๆ ลดลงเป็นลำดับ และเป็นดังนี้ในแทบจะทุกพื้นที่ด้วย ทำให้พอคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตความรุนแรงชนิดนี้น่าจะบรรเทาเบาบางลงกว่าที่ เป็นอยู่

สี่ ปัจจัยจากภายนอกท้องถิ่นส่งผลต่อสถานการณ์รุนแรงโดยรวมที่พุ่งสูงขึ้นในบาง ปีอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าเป็นนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดในปี 2546 หรือสถานการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ช่วงปี 2548 ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งระดับชาติกลับไม่มีผลเชื่อมโยงชัดแจ้ง เท่า

ห้า คาดได้ว่าสาเหตุเบื้องหลังการกระทำจริงๆ แล้วหาใช่มาจากความขัดแย้งเรื่องการเมืองในเชิง ‘อำนาจ’ เป็นหลักอย่างที่เข้าใจมาตลอด หากแต่มีความหลายหลากและซับซ้อนกว่านั้น ทั้งสืบเนื่องจากความขัดแย้งในเรื่อง ‘ผลประโยชน์’ หรือไม่ก็เป็นเรื่องส่วนตัวต่างๆ นานา หลายกรณีก็ผสมปนเปกันจนยากชี้ชัดให้เด็ดขาดลงได้

แน่นอนที่สุด งานครั้งนี้ยังมีข้อจำกัดบางประการที่สำคัญ กล่าวคือ ข้อมูลชั้นต้นที่ผู้วิจัยใช้ นำมาจากข่าวที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะมีบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่ากลับไม่เป็นข่าวก็ได้ กอปรกับในกรณีที่บุคคลหนึ่งๆ มาถูกลอบสังหารหลายครั้ง ผู้วิจัยมีความจำเป็นต้องลงบันทึกข้อมูลเพียงครั้งเดียว คือ ครั้งหลังสุดเท่านั้น อีกทั้งนักการเมืองท้องถิ่นในที่นี้ก็ไม่ได้กินความกว้างขวางรวมไปถึงคนที่ เป็นอดีตนักการเมืองท้องถิ่น หรือเคยลงสมัครรับเลือกตั้งมาก่อน ตลอดจนผู้ที่ดำรงตำแหน่งกำนัน, ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด ฉะนั้น การใช้ข้อมูลก็ควรจะตระหนักถึงขีดจำกัดดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากงานชิ้นนี้มิได้ถูกออกแบบมาให้เป็นแผนการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรม โดยตรง แต่เป็นบทสำรวจในเชิงสถิติเบื้องต้น และงานบุกเบิกในการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลอบสังหารในการเมือง ระดับท้องถิ่นแค่นั้น จำเป็นต้องมีการต่อยอดศึกษาในเชิงลึกอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหานี้เข้าขั้นรุนแรง เพื่อที่จะตอบคำถามให้ได้ว่าเอาเข้าจริงๆ แล้ว สาเหตุขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยใด มีกลุ่มใดที่เป็นคู่ขัดแย้งหลักๆ ตลอดทั้งส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ อย่างไร ฯลฯ เนื่องจากที่ผ่านมา การศึกษาและการพยายามทำความเข้าใจประเด็นนี้ ด้วยมุมมองจากฟากฝั่งวิชาการมีน้อยมาก หรือเรียกว่าแทบไม่มีเลยก็ว่าได้

จะ ว่าไปแล้วก็เปรียบเป็นการสำรวจผืนป่าทั้งป่าจากบนที่สูง ซึ่งคงพอทำให้เห็นได้ว่า ณ จุดใดกำลังมีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง ก่อนที่ผู้ซึ่งคุ้นเคยพื้นที่จะได้เข้าป่าเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ณ ยังจุดนั้นต่อไป ชั้นนี้ผู้วิจัยคงทำได้มากที่สุดเพียงชี้ให้เห็นถึงระดับความรุนแรงของปัญหา ในแต่ละพื้นที่และในแต่ละปี ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคท้องถิ่นย่อมสามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาสถานการณ์ ของตนได้ตามสมควร บนพื้นฐานของการสร้างสังคมการเมืองที่ปราศจากการฆ่าให้บังเกิดจริงๆ

 

 

อ้างอิง:

  1. อ่าน รายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมได้จากหัวข้อ “ภูมิทัศน์วิชาการว่าด้วยความรุนแรงทางการเมือง” ของประจักษ์ ก้องกีรติ ใน รายงานพิเศษ “ความรุนแรง: “ซ่อน-หา” สังคมไทย,” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2551, หน้า 68-76.
  2. อ่าน ความเป็นมา-เป็นไปของรูปแบบ-ลักษณะการฆาตกรรมในบริบทการเมืองไทยสมัยใหม่แต่ ละยุคได้จาก Benedict Anderson, Murder and Progress in Modern Siam, New Left Review, 181 (May-June 1990), pp. 33-48.
  3. โปรด ดู ย้อนรอยคดีลอบสังหาร ใครจะเป็นรายถัดไป?, มติชน (9 เมษายน 2552), หน้า 11 กับ พลิกตำนาน "ลอบสังหาร" บุคคลสำคัญจาก "เปรม" ถึง "ทักษิณ" ในสถานการณ์ระอุ "เรื่องจริง" หรือ "ปาหี่", มติชนออนไลน์ (9 เมษายน 2552), http://203.151.20.17/news_detail.php?newsid=1239200860
  4. สรุป จาก ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ (บรรณาธิการ), ปรีดี พนมยงค์ และ 4 รัฐมนตรีอีสาน +1, (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2544), คำนำ: หน้า 5-14.
  5. สามารถ ดูรายละเอียดการลอบยิงและทำร้ายกรณีต่างๆ ในห้วงดังกล่าวได้จาก ใจ อึ๊งภากรณ์, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, (กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544), หน้า 32-34.
  6. ธเนศวร์ เจริญเมือง, การปกครองท้องถิ่นกับการบริหารจัดการท้องถิ่น อีกมิติหนึ่งของอารยธรรมโลก ภาคแรก: จากยุคกรีกถึงยุคทุนนิยมตะวันตก, (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550), หน้า 19.
  7. โปรด ดู ณัฐกร วิทิตานนท์, “รัฐประหารหนึ่งขวบปีกับทิศทางการกระจายอำนาจในสังคมไทย,” เอกสารประกอบการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 8 (พ.ศ.2552).
  8. เป็นต้นว่าในสาย ตาของบริษัทประกันชีวิต จะไม่พิจารณารับประกันชีวิตให้แก่ผู้ที่เป็นนักการเมือง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักการเมืองท้องถิ่น) เพราะจัดเป็นอาชีพเสี่ยงตามกฎเกณฑ์ของทางบริษัทฯ เช่นเดียวกับบางอาชีพอย่างตำรวจตระเวนชายแดน, ตำรวจ (ฝ่ายปราบปรามและงานจราจร) กับตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
  9. อ่าน เหตุผลสนับสนุนมากมายจาก บทบรรณาธิการ, เอากันจริงเสียที, มติชน (25 ตุลาคม 2550), หน้า 2; เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์, อาลัยคุณหมอชาญชัย, มติชน (26 ตุลาคม 2550), หน้า 6; ธเนศวร์ เจริญเมือง, คารวะ อาลัย นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ของท้องถิ่น, สยามรัฐ (31 ตุลาคม 2550), หน้า 15; ตลอดทั้งวิพากษ์ท้องถิ่น, เสียงปืน!!! ที่แพร่ ความสูญเสียอีกครั้งของคนท้องถิ่น, (26 ตุลาคม 2550) ใน http://www.banpoonam.co.th
  10. ข้อมูล จำนวนองค์กรปกครองท้องถิ่นล่าสุด ระบุว่า อบจ.มีทั้งสิ้น 75 แห่งเท่ากับจำนวนจังหวัด จึงมี นายก อบจ. 75 คน และมีจำนวนสมาชิกสภา อบจ. ประมาณ 2,000 คน แต่ อบต. มีอยู่ 5,770 แห่ง แยกเป็นนายก อบต. จำนวน 5,770 คน กับสมาชิกสภา อบต. ราวๆ 130,000 คน สำหรับเทศบาลยอดรวม 2,006 เทศบาล แบ่งออกได้เป็นเทศบาลนคร 23 แห่ง นายกเทศมนตรี 23 คน สมาชิกสภาเทศบาล 552 คน เทศบาลเมือง 142 แห่ง นายกเทศมนตรี 142 คน สมาชิกสภาเทศบาล 2,556 คน และเทศบาลตำบล 1,841 แห่ง นายกเทศมนตรี 1,841 คน สมาชิกสภาเทศบาล 22,092 คน จำนวนนักการเมืองท้องถิ่นรวมแล้วจึงมากกว่า 160,000 คน ทั้งนี้ยังมิได้นับรวมถึงตำแหน่งที่มาจากการแต่งตั้งอื่นๆ เช่น รองนายกฯ, ที่ปรึกษานายกฯ และเลขานุการนายกฯ ด้วยซ้ำ ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2552 จากเว็บไซต์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น http://www.thailocaladmin.go.th/work/apt/apt.jsp
  11. เกล็น ดี เพจ (เขียน), ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ (แปล), รัฐศาสตร์ไม่ฆ่า, (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2552), หน้า 175.
  12. อนึ่ง “นักการเมืองท้องถิ่น” ตามความหมายของงานชิ้นนี้ ได้แก่ตำแหน่งต่างๆ ดังต่อไปนี้เท่านั้น
    (1) ฝ่ายบริหาร นายก อบจ., นายกเทศมนตรี, นายก อบต. (หรือเดิมเรียกประธานกรรมการบริหาร อบต.), รองนายก อบจ., รองนายกเทศมนตรี (หรือเดิมเรียกเทศมนตรี), รองนายก อบต. (หรือเดิมเรียกรองประธานกรรมการบริหาร อบต.) รวมถึงตำแหน่งกรรมการบริหาร อบต.ในช่วงก่อนหน้านี้ด้วย
    (2) ฝ่ายสภา ประธานสภา อบจ., ประธานสภาเทศบาล, ประธานสภา อบต, รองประธานสภา อบจ., รองประธานสภาเทศบาล, รองประธานสภา อบต., สมาชิกสภา อบจ. (เดิมเรียก ส.จ.), สมาชิกสภาเทศบาล (ส.ท.), สมาชิกสภา อบต.
    (3) ฝ่ายประจำ ปลัด อบจ., ปลัดเทศบาล, ปลัด อบต.
    และ (4) ผู้สมัครรับเลือกตั้ง (เฉพาะอย่างเป็นทางการ) ในตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น
    แน่นอนว่าในที่นี้ไม่กินความกว้างรวมไปถึงตำแหน่งกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน (ซึ่งก็ตกเป็นเป้าสังหารมิใช่น้อยๆ อยู่) เพราะจัดว่าเป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ตลอดทั้งยังมิพักรวมถึง ‘อดีต’ ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้แต่อย่างใด แต่ถ้าเป็น ‘อดีต’ นายกฯ คนเดิมที่กำลังลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย หรือ ‘ว่าที่’ นายกฯ คนใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างรอประกาศรับรองผลจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดว่าอยู่ในขอบเขตของการศึกษาครั้งนี้
  13. ปัจจุบัน “การลอบสังหาร” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Assassination แต่ยังมีอีกคำที่มักจะถูกใช้ปะปนกันคือ Murder หรือที่เรียกว่า “การฆาตกรรม” ซึ่งกินความกว้างกว่ามาก ถ้าคำหลังครอบคลุมการฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตายทั้งหมด คำแรกคงจำกัดเฉพาะแต่การฆ่า บุคคลสาธารณะ (Public Figure) เป็นแก่นแกน พิจารณาตามนิยามที่ปรากฏในเว็บไซต์พจนานุกรมออนไลน์หลายๆ แหล่ง (ไม่ว่าจะเป็น The American Heritage Dictionary, WebDictionary, Collin Dictionary เป็นต้น) ขณะที่คำในภาษาไทยกลับชี้ชวนให้หมายถึง “การแอบฆ่าโดยไม่ให้ใครรู้” ทั้งที่ก็แตกต่างจากความหมายในภาษาอังกฤษค่อนข้างชัดเจน โปรดดู ณัฐกร วิทิตานนท์, ““การลอบสังหาร” ในประวัติศาสตร์การเมืองโลก: สู่ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วย “สาเหตุ” ของการลอบสังหารทางการเมือง,” เอกสารประกอบการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 10 (พ.ศ.2552).
  14. ประมวลจากข้อมูลสถิติคดีอาญา 5 กลุ่มโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทาง http://statistic.ftp.police.go.th/dn_main.htm
  15. งาน วิจัยที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้คืองานของ เกษม จันทร์ดำ, รังนกแอ่น: อำนาจ ความขัดแย้ง และความมั่งคั่ง, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2550).
  16. ตาม เกณฑ์ด้านภูมิศาสตร์ ได้แก่ ภาคเหนือ (9 จังหวัด), ภาคกลาง (มีกรุงเทพมหานคร และอีก 21 จังหวัด), ภาคตะวันออก (7 จังหวัด), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (19 จังหวัด), ภาคตะวันตก (5 จังหวัด) และภาคใต้ (14 จังหวัด) ซึ่งถือเป็นการแบ่งที่ใช้อย่างเป็นทางการ และมีใช้ทั่วไปในแบบเรียน ดู http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1378
  17. ข้อมูล ข้างต้นจาก อิทธิพลของการเมืองในท้องถิ่น: ภาคใต้ฆาตกรรมเพราะการเมืองมากที่สุด, ศูนย์ประชามติ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง http://www.ru.ac.th/rupoll/a6.htm
  18. อ่าน อาคม เดชทองคำ, หัวเชือกวัวชน, (กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2543).
  19. ซึ่ง ในปีนี้เองตัวเลขของคดีฆ่าคนตายในภาพรวมก็ได้พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ด้วย สถิติคดีอาญาประเภทฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาในแต่ละปี ตามปกติจะอยู่ที่ระหว่าง 4,000-5,000 คดี ทว่าในปี 2546 ตัวเลขกลับเพิ่มขึ้นสูงมากถึง 6,434 คดี ดู http://statistic.ftp.police.go.th/dn_main.htm
  20. ใน ปี พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง 1,843 ครั้ง และในปี พ.ศ. 2548 เกิดเหตุ 1,703 ครั้ง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือโครงสร้างความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบ 2 ปี (พ.ศ.2547-2548), ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ http://www.deepsouthwatch.org/node/16

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท