Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. ทำไมชาวบ้านต้องการให้เปิดเขื่อนปากมูลถาวร
ก่อนการสร้างเขื่อนฯ ชุมชนที่นี่มีความเป็นอยู่สุขสบาย เนื่องจากบริเวณปากแม่น้ำมูล เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ระบบนิเวศปากแม่น้ำมูล มีลักษณะเฉพาะที่ดึงดูดให้ปลาจากแม่น้ำโขง อพยพขึ้นมาวางไข่ในแม่น้ำมูลตลอดทั้งปี ชาวบ้านที่นี่จึงเป็นชาวประมงมานับตั้งแต่ก่อร่างสร้างชุมชนเมื่อหลายร้อยปี ก่อน หรืออาจสืบย้อนไปได้นับหลายพันปี ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่ผาแต้ม การเป็นชุมชนที่ต่อเนื่องมายาวนาน ทำให้ผู้คนที่นี่มีความรู้ในการดำรงชีวิต และสร้างสรรค์วัฒนธรรมที่หลากหลายที่เกี่ยวโยงกับการหาปลา เป็นชุมชนคนหาปลา ที่มีชีวิตขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง

การสร้างเขื่อนปิดปากแม่น้ำมูล ขวางกั้นการอพยพขึ้นลงของปลา และทำลายวัฏจักรของธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านที่นี่กลายเป็นคนจนโดยทันที ปลาที่เคยจับได้ทั้งชนิดและปริมาณลดน้อยลงจนไม่เพียงพอต่อการยังชีพ การศึกษาฯ พบว่า ก่อนการสร้างเขื่อนฯ มีปลา 265 ชนิด ภายหลังการสร้าง มีปลา 169 ชนิดที่ไม่มีรายงานการจับได้เลย

การสร้างเขื่อนฯ ทำให้น้ำในแม่น้ำอยู่ในสภาพ “เต็มตลิ่งตลอดปี” แก่งหินที่เป็นแหล่งวางไข่ อนุบาลลูกปลาจมหายไป ระบบนิเวศของสองฟากฝั่งแม่น้ำที่เป็นแหล่งพืชพันธุ์ สมุนไพร อาหารของท้องถิ่น ถูกทำลายอย่างถาวร แต่กลับปรากฏวัชพืชที่เป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาแทน คือการแพร่ระบาดของต้นไมยราพยักษ์

ผลกระทบที่เกิดขึ้นข้างต้น ทำให้ชาวบ้านต้องออกไปแสวงหางานทำนอกชุมชนเป็นจำนวนมาก คงเหลืออยู่แต่คนแก่และเด็ก กลายเป็นภาระของสังคมที่ต้องแบกรับ

การสร้างเขื่อนฯ และการดำรงอยู่ของเขื่อน ยังได้สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงให้กับชุมชนที่นี่อันเนื่องมาจากความเห็น และผลประโยชน์ที่ได้รับจากเขื่อนแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน แต่ละครอบครัว การสำรวจความคิดเห็นล่าสุด เฉพาะชุมชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำมูล (ไม่นับชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไป และไม่ได้มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำมูล) พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้เลิกใช้ประโยชน์จากเขื่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากพวกเขามีอาชีพจับปลา และมีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงปลาจากแม่น้ำมูล หมายความว่า ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่มีการใช้เขื่อนฯ ผลประโยชน์ที่ได้จากเขื่อนส่วนใหญ่ถูกส่งออกจากพื้นที่บริเวณนี้ โดยที่ผู้คนที่นี่ต้องเป็นผู้ที่เสียสละและอดทน เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศโดยรวม

งานวิจัยฯที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูลจำนวนมาก ตลอดเวลากว่า 20 ปี ล้วนมีข้อสรุปที่ตรงกันว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เขื่อนปากมูล การสร้างเขื่อนโดยไม่ศึกษาผลกระทบต่างๆ และไม่เห็นหัวชาวบ้านในอดีต ส่งผลเสียอย่างรุนแรงในทุกด้าน กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ทำกันอย่างขอไปทีในทุกรัฐบาล ก็ยิ่งสร้างความแตกแยกอย่างลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นในชุมชน ชาวบ้านปากมูลได้สรุปบทเรียนแล้วว่า ความยากจน คุณภาพชีวิต และธรรมชาติที่พังพินาศย่อยยับ จะถูกแก้ไขและถูกฟื้นฟูกลับมาได้ เมื่อประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลถูกยกขึ้นอย่างถาวร
 

2. ถ้าเปิดประตูน้ำถาวร แล้วจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชลประทานหรือไม่
การศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า ชาวบ้านบริเวณลุ่มน้ำมูล ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักเป็นชาวประมง อาชีพรองเป็นชาวนา และนิยมทำนาในฤดูฝน การ ทำนาปรังในฤดูแล้ง ไม่ค่อยได้รับความนิยม เนื่องจากปัญหาของคุณภาพดิน และสภาพภูมิประเทศริมแม่น้ำ ที่มีลักษณะเป็นตลิ่งสูง มีผลาญหิน โขดหิน ส่วนผืนดินบริเวณที่ดอน เป็นดินตื้น ชั้นล่างมีหินปน ไม่เหมาะสมกับการทำนา มีพื้นที่ส่วนน้อยที่ใช้ทำนาได้

ประเด็นเรื่องการชลประทานเพื่อการ เกษตร ที่อ้างว่ามีการทุ่มงบประมาณกว่า 1.162 ล้านบาทในการสร้างสถานีสูบน้ำและคลองชลประทาน การสำรวจในปี 2553 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการสร้างคลองส่งน้ำ เฉพาะคลองสายหลัก แต่ไม่มีคลองซอย(คลองไส้ไก่)ที่จะกระจายน้ำไปตามพื้นที่เป้าหมาย การสำรวจ พบว่า มีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์จากคลองส่งน้ำเพืยง 4.600 ไร่ จากเป้าหมาย 63.800 ไร่ หรือคิดเป็น 7% การศึกษาดังกล่าวยังพบว่า การปิดเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล ไม่มีผลต่อการสูบน้ำเพื่อใช้ในการชลประทาน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสถานีสูบน้ำแบบแพลอย นอกจากนั้น ค่าไฟฟ้าจากการสูบน้ำเป็นภาระที่ อบต. และชาวบ้านที่ใช้น้ำต้องแบ่งจ่ายในอัตรา 60:40 ซึ่งเป็นภาระทางงบประมาณของ อบต. ในขณะที่ชาวบ้านที่สามารถลงทุนจ่ายค่าสูบน้ำได้ ก็มีจำนวนน้อย

สรุปแล้ว สภาพพื้นที่ คุณภาพของดิน ในบริเวณนี้ ไม่เหมาะที่รัฐจะใช้นโยบายเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตร เมื่อ ประกอบกับการที่มีแต่คลองสายหลัก และ อบต. และชาวบ้าน ต้องรับภาระค่าไฟจากการสูบน้ำ จึงมีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ชลประทานน้อยมาก

แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้าใจประเด็นดังกล่าว แต่วัตถุประสงค์ในการคงไว้ของเขื่อนปากมูลที่เหลืออยู่เพียงประการเดียวคือ เพื่อการชลประทาน จำต้องถูกผลักดันเดินหน้า เพื่อเป็นเหตุผลของการคงอยู่ของเขื่อนตลอดไป

3. เมื่อเปิดประตูน้ำแล้ว น้ำในแม่น้ำมูลจะไหลลงแม่น้ำโขงจนเหือดแห้ง น่าเสียดายน้ำที่ต้องสูญไปเปล่าๆ
นี่เป็นคำอธิบายแบบทฤษฎีเทน้ำออกจากแก้ว เหมือนความพยายามที่จะบอกว่า ถ้าไม่มีเขื่อนปากมูล ไฟฟ้าจะดับทั่วอีสาน (ซึ่ง กฟผ.ยอมรับแล้วว่าไม่เป็นความจริง)

ระบบนิเวศของแม่น้ำมูลเต็มไปด้วย แก่ง วัง ขุม ดอน คัน ซึ่งเป็นเขื่อนและเป็นอ่างเก็บน้ำตามธรรมชาติ ที่มีนับร้อยๆ แห่ง นับตั้งแต่ อ.พิบูลมังสาหารลงไปจนถึงปากแม่น้ำมูล ดังนั้น แม่น้ำมูลจึงไม่เคยแห้ง และไม่เคยมีบันทึกใดที่ระบุว่าแม่น้ำมูลแห้ง เมื่อน้ำในแม่น้ำมูลเริ่มลดระดับลง ตั้งแต่เดือนธันวาคม จะมีวัฒนธรรมที่สำคัญของชาวบ้านในท้องถิ่นนี้ที่สำคัญคือ “การลวงปลา” หรือการรวมกลุ่มเพื่อจับปลาครั้งใหญ่ การศึกษาของ ม.อุบล พบว่า ปัจจัยด้านระบบนิเวศประมง “ลวงปลา” เป็นตัวกำหนดอัตลักษณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนแถบนี้ให้เป็นชาวประมงมาก กว่าเป็นชาวนา การ “ลวงปลา” เป็นพื้นที่ทางสังคมที่สะท้อนโลกทัศน์ ระบบความคิด ความรู้และความเข้าใจอันซับซ้อนของชาวบ้านที่มีต่อธรรมชาติแวดล้อมอันเนื่อง จากความสัมพันธ์ของชาวบ้านกับระบบนิเวศของแม่น้ำมูล

ประเด็นก็คือว่า เราไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ทุกๆ แห่งในชนบทให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมแบบเดียวกันได้ทั้งประเทศ แต่ละพื้นที่ เหมาะที่จะพัฒนาไปตามความเหมาะสมของสภาพนิเวศของท้องถิ่นนั้นๆ และรัฐ ก็ต้องไม่ยัดเยียดการพัฒนาใดๆ ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน พวกเขาต้องมีสิทธิที่จะกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความ เป็นมนุษย์

4. ถ้าเลิกใช้เขื่อนปากมูลแล้ว จะมีปัญหาต่อการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือไม่
วัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนฯ ที่สำคัญ คือ การรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าในภาคอีสานตอนล่าง ผลการวิเคราะห์ของ ม.อุบลฯ(2545) และ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลชุดปัจจุบัน ได้ผลสอดคล้องว่า “ในกรณีที่โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูลถูกตัดออกจากระบบ เพียงโรงเดียว ระบบการส่งจ่ายไฟฟ้าในปัจจุบันจะยังมีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพของระบบ ได้ดี  แต่หากกรณีที่โรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูล และโรงไฟฟ้าเขื่อนห้วยเฮาะ ถูกตัดออกจากระบบพร้อมกัน มีความเป็นไปได้ว่าระบบจะมีปัญหาด้านการรักษาเสถียรภาพของปริมาณไฟฟ้าในช่วง เวลาหกโมงเย็นถึงสองทุ่มของวันระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนของปี ซึ่งอาจเกิดสภาพกระแสไฟตกในแถบพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีส่งจ่ายไฟฟ้าใน บางพื้นที่เพียงชั่วคราว” (รายงานคณะอนุกรรมการรวบรวมงานวิจัยฯ 2553)

งานวิจัยทั้งสองชิ้นได้ชี้ชัดว่า ศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนปากมูลนับว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพ ของปริมาณไฟฟ้าจากเขื่องห้วยเฮาะ ปัญหาเขื่อนปากมูลจึงไม่ใช่ปัญหาปริมาณไฟฟ้า แต่เป็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพ(ในบางวันและบางเวลา) โดย กฟผ.สามารถดำเนินการเร่งก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า เพื่อให้สามารถรองรับการส่งกระแสไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำเทิน 2 (ประเทศลาว) ได้ และยังสามารถปรับแก้สัญญาการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนห้วยเฮาะ(ประเทศลาว) ให้สอดคล้องกับความต้องการการใช้ไฟฟ้าได้

นอกจากนั้น การศึกษาฯยังพบว่า การผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปีของเขื่อนฯ เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว กฟผ.มีกำไร 99 ล้านบาท ขณะที่รายได้รวมของครัวเรือนประมงลดลง 140 ล้านบาทต่อปี ยังไม่นับต้นทุนอื่นๆ ที่รัฐต้องใช้ในการจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ จำนวนมาก ตลอดจนความเสียหายที่เกิดกับระบบนิเวศ และชุมชนที่ไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขได้


5. แต่ชาวบ้านได้รับค่าชดเชยและความช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐไปมากแล้ว ควรหยุดเรียกร้องสักที

ในระหว่างการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ในปี 2537 ชาวบ้านได้รับค่าชดเชยการสูญเสียที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย และอาชีพประมง สิ่งที่พวกเขาได้รับไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นค่าชดเชย เพราะเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากเมื่อเทียบกับที่พวกเขาต้องสูญเสีย ตัวอย่างเช่น รัฐให้ค่าสูญเสียอาชีพประมงครัวเรือนละเก้าหมื่นบาท ถ้าคิดกลับกันว่า รัฐจ้างให้ใครก็ตามเป็น วิศวกร นักบัญชี แพทย์ ฯลฯ เลิกทำอาชีพดังกล่าวตลอดชีวิต แล้วให้ไปหาอาชีพใหม่ ห้ามทำอาชีพเดิม โดยให้เงินทุนในการเริ่มต้นเก้าหมื่นบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้และไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง ยังไม่นับว่าพวกเขาเป็นชาวบ้าน ทำอาชีพประมงมาตลอดชีวิต ไม่มีความรู้อื่นที่จะปรับตัวได้ นอกจากการขายแรงงาน การคิดว่าการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวคุ้มค่ากับการสูญเสียของพวกเขา จึงเป็นความคิดที่อำมหิต ที่ขาดเมตตาธรรมและความยุติธรรมอย่างยิ่ง

ถ้าเลือกได้ พวกเขาต้องการแม่น้ำของพวกเขากลับคืนมา มากกว่าเศษเงินเหล่านั้น สังคมชอบสอนให้ “หัดตกปลา” มากกว่า “ให้ปลา” ไม่ใช่หรือ


6. ก็ไหนๆ เขื่อนก็ถูกสร้างไปแล้ว เพื่อความสมานฉันท์ และประโยชน์ของทุกฝ่าย เปิดบ้างปิดบ้างได้ไหม

สังคมควรแก้ปัญหาด้วยความรู้ ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการประนีประนอมโดยไม่มีเหตุผล การศึกษาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตอกย้ำให้เห็นถึงการได้ไม่คุ้มเสียในทุกด้านของการสร้างเขื่อน แล้วเราจะดันทุรังให้ใช้ประโยชน์ต่อไป เพื่ออะไร ถ้าปล่อยให้ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ดำรงอยู่ต่อไป โดยยอมแลกกับการสูญเสียวิถีชีวิตทั้งชีวิต ทั้งครัวเรือน ทั้งชุมชน ของชาวบ้านจำนวนมาก สังคมที่อารยะแล้ว จะทนให้พฤติกรรมเหล่านี้เกิดกับเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายในสังคมเดียวกันได้ หรือ


7. ถ้ายอมทำตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ก็จะทำให้รัฐต้องทำแบบเดียวกันกับเขื่อนทั่วประเทศ แล้วนี่จะไม่ยุ่งไปกันใหญ่หรือ

นี่ ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่เรื่องที่จะโทษว่าเป็นความผิดของรัฐบาลปัจจุบันหรือแม้แต่รัฐบาลใน อดีต ทั้งหมดนี้เป็นผลจากกระแสการพัฒนาที่เน้นเชิงปริมาณ และละเลยผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ประวัติศาสตร์ของประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็เผชิญกับความขัดแย้งของการแย่งชิงทรัพยากร จนในท้ายที่สุดเมื่อสังคมเรียนรู้จักความขัดแย้งที่รุนแรงเหล่านั้น จึงมีข้อตกลงที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย สังคมจึงควรเรียนรู้และพัฒนาความรู้ในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างพอดี และเป็นธรรม ยอมรับที่จะเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ผิดพลาดในอดีต คนเยอรมันและคนญี่ปุ่นปัจจุบัน สำนึกเสียใจกับการกระทำของบรรพบุรุษของตน ที่ก่อสงครามเมื่อกว่าหกสิบปีที่แล้ว กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งสองชาติประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ สังคมไทยจึงควรเรียนรู้จักความผิดพลาด และใช้ประโยชน์จากความผิดพลาด เพื่อความสุขของคนในสังคมทั้งปัจจุบันและอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net