แม่บ้านอีสานบุกกรมคุ้มครองสิทธิฯ ร้อง 9 เดือนแล้ว ลูก-ผัวเสื้อแดงยังไม่ได้ประกันตัว

15 ก.พ.54 ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายญาติผู้ต้องขังเสื้อแดงราว 50 คน พร้อมด้วยนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม เข้ายื่นหนังสือและร้องเรียนกรณีที่ญาติพี่น้อง-สามี-ลูก ซึ่งเป็นคนเสื้อแดงยังถูกคุมขังอยู่ตามเรือนจำจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาสารคาม อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร มหาสารคาม ขอนแก่น เชียงใหม่ โดยไม่สามารถประกันตัวได้
 
ทั้งนี้ นายสมชาติ เอี่ยมอนุพงษ์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิได้ลงมารับหนังสือ ซึ่งในหนังสือร้องระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.53 ครม.มีมติยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีการช่วยเหลือประกันตัวให้แก่ผู้ต้องขังคดีชุมนุมทาง การเมือง 104  คน ตามที่คณะกรรมการที่มี นายคณิต ณ นคร เป็นประธานเสนอมา แต่ถึงปัจจุบันกว่า 9 เดือนแล้วแต่ญาติพี่น้องของพวกเขาก็อยู่ในเรือนจำ จึงขอเรียกร้องให้กรมคุ้มครองสิทธิฯ ประสานงานตามศาลจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ญาติได้ประกันตัว พร้อมช่วยเหลือหลักทรัพย์ และขอให้เปิดเผยรายชื่อผู้ต้องหาที่ถูกขังในเรือนจำทั่วประเทศในคดีการเมือง ด้วย
 
จากนั้นได้มีการเชิญชาวบ้านทั้งหมดไปร่วมหารือร่วมกับรองอธิบดีและ นางนงกรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผอ.กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ
 
นางนงกรณ์ ชี้แจงว่า ได้ลงไปสำรวจในเรือนจำทั่วประเทศ พบว่า ณ เดือนตุลาคม 2553 ยังมีผู้ต้องขังเสื้อแดง 180 คน มี 151 คนที่ขอความช่วยเหลือ บางส่วนขอทนายความซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ จะเป็นผู้จัดหาให้ อีก 48 รายขอความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัว ซึ่งกองทุนยุติธรรมอนุมัติให้ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเงิน 28 ล้านไปให้ยุติธรรมจังหวัดเพื่อนำไปเป็นหลักทรัพย์ประกันตัวที่ศาล แต่การให้หรือไม่ให้ประกันเป็นดุลยพินิจของศาล ไม่สามารถไปแทรกแซงได้ ซึ่งที่ผ่านมากรมได้ช่วยยื่นประกันตัวไปหลายรายแต่ส่วนใหญ่แล้วศาลไม่อนุญาต เพราะเกรงผู้ต้องขังจะหลบหนี
 
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ชาวบ้านเข้าใจว่ามติครม.ให้ประกัน 104 รายตามที่นายคณิต ณ นคร เสนอนั้น อันที่จริงแล้วมติครม.ระบุให้ดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปหาหลักเกณฑ์และแนวทางในการประกันตัวมา แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ จะทำหนังสือทวงถามให้
 
นางวาสนา ลิลา
 
ด้านญาติของผู้ต้องขังระบุว่า ขณะนี้เรือนจำจังหวัดอุดรธานี ยังมีผู้ต้องขังประกันตัวไม่ได้ 27 คน อุบลราชธานี 21 คน มุกดาหาร 12 คน มหาสารคาม 9 คน ขอนแก่น 4 คน เชียงใหม่ 4 คน  ซึ่งเกือบทั้งหมดยื่นประกันตัวหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุญาต ส่วนการลงไปช่วยเหลือของกรมคุ้มครองสิทธิฯ นั้น หลายครั้งไปโดยไม่ประสานงานกับญาติและทนาย ไม่ทราบข้อมูล ทำให้การยื่นประกันได้รับการปฏิเสธ
 
นาง ศิรินารถ จันทะคัต ตัวแทนญาติจากจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลแสดงความจริงใจด้วยการช่วยเหลือผู้ต้องขังอย่างที่พูด โดยยกตัวอย่างความยากลำบากของครอบครัวจันปัญญา หลังจากนายสุชล จันปัญญา นักศึกษาเทคนิคชั้น ปวส.1 ถูกคุมขัง ทำให้พ่อที่เป็นอัมพาตและมารดาที่อายุมากอยู่อย่างยากลำบาก เพราะปกตินายสุชลจะเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวและทำงานเป็นลูกจ้างร้านถ่าย เอกสารส่งเสียตัวเองเรียน ในวันเกิดเหตุนายสุชลเข้าไปยืนดู ตำรวจใช้ภาพถ่ายที่เป็นเพียงการยืนมุงเป็นหลักฐาน โดยที่ขวดน้ำมันที่กล่าวอ้างว่าเป็นของนายสุชลก็ไม่มีการพิสูจน์ลายนิ้วมือ
 
ส่วน นางวาสนา ลิลา จากจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวทั้งน้ำตานองหน้าว่า สามีถูกคุมขังมานานหลายเดือนจะมีอาการเครียด เกรงว่าจะคิดสั้นในเรือนจำ สามีโดนข้อหาร่วมกันวางเพลิง ทั้งที่ในวันเกิดเหตุเขาไปซื้ออะไหล่รถและแวะมาดูลูกคนเล็กที่ป่วยอยู่ที่ โรงพยาบาล เมื่อผ่านจุดเกิดเหตุจึงแวะดู ต่อมาตำรวจนำภาพถ่ายมาให้เซ็นชื่อโดยบอกว่าหากลงชื่อวันรุ่งขึ้นก็สามารถ ประกันตัวได้ แต่ท้ายที่สุดก็ถูกคุมขังมาจนปัจจุบันไม่สามารถประกันตัวได้ ทำให้ตนลำบากมากเพราะต้องเลี้ยงดูลูกเล็ก 2 คนเพียงลำพัง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท