คนงานหลักพันเดินเท้าเข้ากรุงฯ จี้ รัฐฯ แก้ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงาน

คนงานร่วมสองพันคนจากบริษัทแม็กซิสฯ-บริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์-บริษัท ฟูจิตสึ เจเนรัล เดินเท้าต่อไป ก.แรงงาน หลังตั้งต้นเดินเท้าจากระยองมากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.หวังให้รัฐบาลช่วยเหลือกรณีละเมิดสิทธิแรงงาน พ้อยื่นหนังสือมาหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

 

Photo Eef Vermeij / Collection International Institute of Social History


Photo Eef Vermeij / Collection International Institute of Social History


Photo Eef Vermeij / Collection International Institute of Social History


 


 


 


 


 


 


 


Photo Eef Vermeij / Collection International Institute of Social History


Photo Eef Vermeij / Collection International Institute of Social History


เมื่อเวลาประมาณ 6.00 น.ของวันที่ 14 ก.พ. 54 คนงานเกือบสองพันคนจากบริษัทแม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตยางรถยนต์ ที่จ.ระยอง พนักงานของบริษัท พีซีบี เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และพนักงานของบริษัท ฟูจิตสึ เจเนรัล จำกัด ผู้ผลิตและประกอบเครื่องปรับอากาศ ที่ จ.ชลบุรี ซึ่งส่วนหนึ่งเริ่มเดินเท้าจากระยองตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ออกเดินทางจากที่ปักหลักชุมนุมที่โรงงานไม้อัดไทย ถ.สรรพาวุธ โดยใช้เส้นทาง แยกบางนา-สุขุมวิท-ราชประสงค์-ราชปรารภ-สามเหลี่ยมดินแดง ไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล กรณีมีการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งเคยยื่นหนังสือถึงหลายหน่วยงานแล้วก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

สำหรับสหภาพแรงงานแม็กซิส ประเทศไทย ถูกนายจ้างปิดงานตั้งแต่วันที่ 25 พ.ย.2553 โดยอ้างเครื่องจักรเสียจำเป็นต้องปิดซ่อมแซม แต่กลับมีการนำแรงงานข้ามชาติและแรงงานเหมาค่าแรงมาทำงานแทน ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อน โดยที่ผ่านมา มีการลดสวัสดิการของพนักงานลงเรื่อยๆ ทั้งที่บริษัทมีกำไรมากขึ้นมหาศาลจากปีก่อน

ธนชัย ที่รักษ์ รองประธานสหภาพแม็กซิส ประเทศไทย เล่าว่าวันที่อ้างว่าเครื่องจักรเสียนั้น มีการจ้างชายชุดดำมาปิดทางเข้าและกั้นรั้วสังกะสี ทำให้พวกตนต้องไปชุมนุมในบริเวณอื่น โดยที่ผ่านมา ได้เรียกร้องไปยังแรงงานจังหวัดแล้วก็ไม่ได้รับการแก้ปัญหา จึงอยากเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เห็นใจพวกตนบ้าง เพราะสิ่งที่ต้องการคือได้กลับเข้าทำงานเท่านั้น พร้อมตัดพ้อด้วยว่าทั้งที่พวกตนก็เสียภาษี แต่ไม่เคยได้รับการดูแลเลย

สำหรับสหภาพแรงงาน ฟูจึซึ เจอร์เนอร์รัล ประเทศไทย ถูกนายจ้างประกาศปิดงานหลังไม่สามารถตกลงเรื่องข้อเรียกร้องได้ ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 มีหมายศาลให้ตัวแทนทั้ง 15 คนขึ้นศาลโดยอ้างว่าพาพวกปิดถนนหน้าบริษัท ศาลมีคำสั่งกักขังตัวแทนทั้ง 15 คน ตั้งแต่วันที่ 9-16 ก.พ. โดยล่าสุดได้ประกันตัวตัวแทนผู้หญิง 2 รายซึ่งถูกฝากขัง 2 วัน แต่ตัวแทนชายอีก 13 คนยังไม่ได้รับการประกันตัวและอยู่ในชั้นอุทธรณ์

ชรัมภ์ บุญสังข์ สมาชิกสหภาพแรงงานฟูจิตสึฯ ซึ่งเป็นผู้ดูแลขบวนของคนงานฟูจิตสึในครั้งนี้ กล่าวว่า การกระทำของนายจ้างนั้นขัดแย้งกัน ทั้งที่เมื่อตกลงเรื่องข้อเรียกร้องไม่ได้ นายจ้างเป็นฝ่ายปิดงานก่อน ลูกจ้างจึงมีมตินัดหยุดงาน แต่นายจ้างได้อ้างต่อศาลว่าจะฟ้องร้องแกนนำที่ทำให้กิจการได้รับความเสีย หาย  

นอกจากนี้ ชรัมภ์กล่าวถึงสำนักงานส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ด้วยว่าขณะที่มุ่งส่งเสริมการลงทุน แต่กลับไม่เคยตรวจสอบเลยว่าคนงานซึ่งทำงานอย่างเหนื่อยยากได้อะไรตอบแทน บ้าง 

ส่วนบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด หลังบริษัทเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต 3 ราย เมื่อกลางปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน 75% จนกว่าบริษัทฯจะปรับปรุงโรงงานให้แล้วเสร็จ และเปิดทำการใหม่ภายในเดือน ธ.ค. 2553 แต่การจ่ายค่าจ้างกลับผิดนัดมาตลอด และวันที่ 21 ม.ค.2554 บริษัทฯ ก็ประกาศปิดกิจการเลิกจ้างพนักงานทุกคน แต่ไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย 

ตัวแทนพนักงานบริษัท พีซีบี เซ็นต์เตอร์ จำกัด อายุงาน 14 ปีกล่าวว่า นายจ้างได้ยื่นข้อเสนอจ่ายเงิน 6 ล้านบาทให้พนักงาน 500 กว่าคน ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยเมื่อคำนวณค่าชดเชยบวกกับค่าค้างจ่ายต่างๆ แล้ว พวกตนควรจะได้รับเงินทั้งสิ้นประมาณ 61 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากจะอ้างว่าไม่มีเงินจ่าย พวกตนก็พร้อมเจรจาลดหย่อน โดยที่ผ่านมาเคยขอเป็น 20 ล้านบาทแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีการเจรจาใดๆ เกิดขึ้น ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ 1 ครั้งและกระทรวงแรงงาน 2 ครั้งแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา

ทั้งนี้ ตัวแทนของพนักงานบริษัทพีซีบี เซ็นต์เตอร์ ระบุด้วยว่า พนักงานแต่ละคนที่ถูกลอยแพนั้น อายุงาน 10 กว่าปีขึ้นไปทั้งสิ้น แต่ละคนอายุ 35-44 ปี หางานใหม่ก็คงจะยาก สำหรับการเรียกร้องครั้งนี้ โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพอื่นๆ บริจาคเงินช่วยเหลือด้วย 

ตลอดเส้นทาง มีการแจกเอกสารและประกาศชี้แจงกับผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นระยะๆ ถึงสาเหตุของการเดินขบวนครั้งนี้โดยแถลงการณ์ร่วมของลูกจ้างทั้งสามบริษัท ระบุ ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้

1.  กรณีของบริษัทแม็กซิสฯและฟูจิตสึฯ ให้หาข้อยุติในข้อพิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นเพื่อให้พนักงานได้กลับไปทำงานทุก คน และให้นายจ้างยอมรับการรวมตัวของลูกจ้างในสถานประกอบการ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างจริงจัง

2. กรณีบริษัทพีซีบีฯให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน2541กรณี ปิดกิจการเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ดำเนินคดีกับนายจ้างกรณีเกิดเพลิงไหม้มีผู้เสียชีวิตและกรณีนายจ้างค้าง จ่ายค่าจ้างและไม่จ่ายค่าชดเชย

3. ให้รัฐบาลทบทวนนโยบายส่งเสริมการลงทุนกรณีที่นายทุนต่างชาติมาลงทุนแต่ไม่ ให้ความเป็นธรรมกับแรงงานและนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานอย่างผิดกฎหมายทั้งๆที่ แรงงานไทยก็ไม่ได้ขาดแคลนตามที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้นายทุนรับแรงงานข้ามชาติ มาทำงานแทนแรงงานไทย เพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและต้องการเห็นคุณภาพชีวิตของคนทำงานมี คุณภาพชีวิตที่ดี แต่ไม่ดูแลลูกจ้างที่ถูกละเมิดสิทธิอย่าปล่อยให้นายทุนข้ามชาติที่ไม่มี คุณธรรมและจริยธรรมมาเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างแรงงานไทย ซึ่งขัดกับนโยบายที่รัฐให้ไว้กับประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท