Skip to main content
sharethis

 เริ่มใช้ พ.ร.บ.มั่นคง 7 เขตใน กทม. 9 – 23 ก.พ. นี้ มี ผบ.ตร. คุม “มาร์ค” ยกวินิจฉัยศาลปกครอง การปิดถนนเกินเลยการชุมนุมตามขอบเขต รธน. แล้ว ย้อน พธม.ท้าให้จับ แปลว่าต้องการให้เกิดความขัดแย้ง แถม พธม. เคยต่อว่าเมื่อกลุ่มอื่นปิดถนน รับมีคนในรัฐบาลติดต่อแกนนำ พธม. แต่จะเจรจาหรือไม่คงไปบังคับ พธม. ไม่ได้

ปณิธานเผย ครม.เห็นชอบ พ.ร.บ.มั่นคงฯ คุม 7 เขตใน กทม. เริ่ม 9 ก.พ.

ศูนย์ข่าวทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า วันนี้ (8 ก.พ.54) เวลา 14.15 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบประกาศพ.ร.บ.ความมั่งคงภายในราช อาณาจักร 7เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 9-23 กุมภาพันธ์ 2554 ได้แก่ เขตพระนคร เขตวัฒนา เขตประทุมวัน เขตดุสิต เขตป้องปราบศัตรูพ่าย เขตวังทองหลาง และเขตราชเทวี ทั้งนี้เพื่อดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยในช่วงบ่ายของวันนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร เพื่อกำหนดแผนในการปฏิบัติรวมถึงการจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอรส.) ต่อไป

 

มาร์คเผยใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ป้องกันไม่ให้เกิดการปิดล้อม-บุกรุกสถานที่ราชการ

ต่อมาเมื่อเวลา 17.50 น. ที่สภาความมั่งคงแห่งชาติ ศูนย์ข่าวทำเนียบรัฐบาลรายงาน ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. ว่า การประกาศพื้นที่และห้วงเวลาดังกล่าวนั้น อย่างที่ทราบขณะนี้มีมวลชนที่ชุมนุมแล้ว 3-4 กลุ่ม ซึ่งบางครั้งก็มีประกาศเรื่องการยกระดับการชุมนุม และบางทีก็มีการพูดบุกสถานที่ราชการ เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็มีหน้าที่ที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อย

เครื่องมือของการใช้กฎหมายความมั่นคงก็เพื่อป้องกันและป้องปรามและระงับ เหตุที่จะลุกลามไปสู่ความไม่สงบและป้องกันการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย และ กอ.รมน.ได้ประชุมและจัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โดยมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. เป็นประธาน ซึ่งมีอำนาจในการประกาศข้อกำหนดในรายละเอียด เบื้องต้นที่สอบถามทาง ผบ.ตร. บอกว่าการดูแลรัฐสภาและทำเนียบเป็นเป้าหมายแรกในการใช้เครื่องมือตรงนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาบุกรุกและปิดล้อมที่ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิตาม รัฐธรรมนูญ

 

ยกวินิจฉัยศาลปกครอง การปิดถนนเกินเลยขอบเขต รธน. แล้ว

และที่สำคัญการปิดถนนขณะนี้ซึ่งตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองก็ระบุแล้วว่า เกินเลยขอบเขตการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญโดยจะให้มีการสัญจรได้โดยไม่กระทบการ ชุมนุม ส่วนการปิดถนนเมื่อไรเวลาใดนั้นจะหารือกันเป็นรูปธรรมให้ชัดเจนก่อน โดยก็จะขอความร่วมมือจากทุกกลุ่มที่ชุมนุมว่าการชุมนุมเราไม่ได้ห้าม แต่ปิดถนน 24 ชม. มันเกินกว่าเหตุไม่ได้มีความจำเป็นขนาดนั้นไม่เช่นนั้นการดำเนินการยืดเยื้อ เรื่อยๆ ก็จะมีการดำเนินการในลักษณะเดียวกันสุดประชาชนจะเดือดร้อนมากดังนั้นขณะนี้ ควรใช้เหตุใช้ผลกัน ตนไม่สบายใจที่ไปปลุกระดม ทำนองว่าการประกาศพื้นที่จะมีการใช้กำลังปราบปรามอะไรมากมายนั้นไม่ใช่ สิ่งที่ต้องการอย่าชุมนุมในลักษณะที่ผิดกฎหมาย

 

วอนผู้ชุมนุมร่วมมือ ยันไม่เหมือนภาวะฉุกเฉิน

ส่วนที่เกรงว่าผู้ชุมนุมอาจจะมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่เพราะไม่ให้ความ ร่วมมือนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็อยากให้ผู้ชุมนุมร่วมมือและอยากขอเหตุผลว่าทำไมร่วมมือกันไม่ได้ เราไม่ได้ห้ามสิทธิชุมนุมแต่เราต้องให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนหาก จริงใจต่อส่วนรวมก็ต้องพูดคุยกันได้

ต่อข้อถามว่าการประกาศพ.ร.บ.ความมั่นคงเหมือนกับทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะ ฉุกเฉิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่ายังไม่ได้ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน แต่เป็นช่องโหว่ของกฎหมายที่มีอยู่ปัจจุบันระหว่างกฎหมายปกติกับกฎหมายที่ หลายประเทศมีกันอย่างกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะประเทศไทยยังไม่มี ทั้งนี้การประกาศใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นการให้อำนาจในการ จัดระเบียบมากขึ้นในการชุมนุมและเคลื่อนไหว

 

ย้อน พธม.ท้าให้จับ แปลว่าต้องการให้เกิดความขัดแย้ง รับมีการติดต่อแกนนำ พธม.

ส่วนกรณีที่ทางแกนนำพันธมิตรฯ ท้าให้ทางตำรวจจับกุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สรุปแล้วเราจะชุมนุมเคลื่อนไหวเพื่อแสดงออก หรือต้องการให้เกิดความขัดแย้งรัฐบาลไม่ต้องการที่จะให้มีความขัดแย้งแต่ ต้องการรักษากฎหมาย กลุ่มที่เคลื่อนไหวนี้เองก็เคยต่อว่าคนกลุ่มอื่นเวลาที่มีการดำเนินการปิด ถนน ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลได้ประกาศไปเพื่อให้แต่ละฝ่ายแสดงบทบาทของตัวเองไป ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องท้าทายเพื่อให้เกิดความขัดแย้งและรุนแรงขึ้น แต่ต้องถามว่าเหตุใดจึงไม่สามารถอำนวยความสะดวกและปฏิบัติตามกฎหมายให้ ประชาชนได้ใช้เส้นทางสาธารณะบางส่วนให้เดินทางได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวปฏิเสธกรณีที่แกนนำพันธมิตรฯระบุว่ารัฐบาลไม่เคยติดต่อเพื่อหา ข้อยุติว่า ไม่จริง แต่มีการพูดคุยกันระหว่างแกนนำรัฐบาลและแกนนำพันธมิตรฯ และคงไม่ได้บอกว่าติดต่อพูดคุยกับแกนนำคนใด ส่วนถ้าหากแกนนำพันธมิตรฯไม่ยอมเจรจาหากรัฐบาลติดต่อไปอีกนั้นถ้าไม่เจรจาก็ บังคับพันธมิตรฯไม่ได้

 

เปรยถ้าแก้ รธน. ผ่านจะหารือกับ กกต. เรื่องเลือกตั้ง

ต่อข้อถามว่าการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในวันที่11 ก.พ.จะทำให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจเรื่องแนวทางๆ การเมืองง่ายขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ได้เรียนแล้วว่าเป็นข้อยุติย่างใดอย่างไรถือว่าจบกติกาเงื่อนไข เลือกตั้ง และถ้ารัฐธรรมนูญผ่านก็จะหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งในเรื่องการเตรียม การ

สำหรับความเป็นไปได้เรื่องการยุบสภาฯ เพราะสาเหตุการเคลื่อนไหวของการชุมนุมของสองสีเสื้อนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่เกี่ยวกัน เพราะการใช้สิทธิในการชุมนุมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตามการประกาศเงื่อนเวลาตามพ.ร.บ.ความมั่นคงไม่เกี่ยวกับการพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณกลางปี แต่เกี่ยวข้องกับการประกาศการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆมากกว่า ส่วนกรณีที่ ส.ว.จะยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลก็มีหน้าที่ไปชี้แจง

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล [1], [2]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net