ร้องปลัดแรงงานช่วยแรงงานพม่าถูกล่ามโซ่ ชี้ระบบจัดการแรงงานข้ามชาติเหลว

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 54 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ยื่นหนังสือต่อ นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ นายชาลี หรือ ชาลี ดิยู แรงงานพม่าที่ถูกล่ามโซ่ติดกับเตียงโรงพยาบาลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังเข้ารับการรักษาเพราะบาดเจ็บจากการทำงาน

โดยหนังสือดังกล่าว ระบุด้วยว่า การที่แรงงานข้ามชาติซึ่งประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการทำงาน ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ถูกนายจ้างทิ้งอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติ สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบกองทุนเงินทดเเทน เเละระบบจัดการเเรงงานข้ามชาติในประเทศไทย

โดย นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนว่า ในส่วนของปัญหาการรักษาพยาบาลของแรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายขณะทำงานนั้น สิทธิที่แรงงานที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง น่าจะต้องครอบคลุมถึงการเจ็บป่วยระหว่างการทำงานด้วย

อย่างไรก็ตาม แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย แม้จะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ควรได้รับการปฏิบัติโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งการดูแล เยียวยา และการจ่ายค่าชดเชยหากเกิดการเจ็บป่วย ซึ่งตนจะนำเรื่องไปหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหาทางออกอีกครั้ง

สำหรับการต่อใบอนุญาตทำงานให้นายชาลี เนื่องจากประสบอุบัติเหตุก่อนใบอนุญาตการทำงานหมดอายุ จนไม่สามารถมาต่อใบอนุญาตได้นั้น คาดว่าใน 2 วันนี้จะสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากนายชาลีได้มีการยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อนประสบอุบัติเหตุ โดยได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการ


แถลงการณ์

นายชาลี แรงงานพม่าที่ถูกล่ามโซ่ติดกับเตียงโรงพยาบาลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังเข้ารับการรักษาเพราะบาดเจ็บจากการทำงาน เตรียมร้องขอความเป็นธรรมจากกองทุนเงินทดแทน หลังองค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องจนสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยอมปลดโซ่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (WEPT) และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ชี้ระบบรับมือเเรงงานข้ามชาติประสบอุบัติเหตุล้มเหลว ทำให้เกือบถูกผลักดันออกนอกประเทศทั้งที่ป่วยหนัก เพราะไม่มีการประสานงานจ่ายค่ารักษากับโรงพยาบาล พร้อมผลักดันเป็นกรณีศึกษา หลังเกิดแรงงานข้ามชาติที่เกิดอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บจากการทำงาน ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ถูกนายจ้างทิ้งอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติ มสพ. เตรียมร้องให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่ารักษาเเละค่าทดเเทนกรณีอุบัติเหตุให้ นายชาลี

​สืบเนื่องจากกรณีนายชาลี หรือชาลี ดิยู แรงงานข้ามชาติ อายุ 28 ปี ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2554 ระหว่างนายจ้างพาไปรับจ้างก่อปูน กับบริษัท เอ็นเอสยู ซัปพลาย จำกัด ที่รับเหมาต่อเติมอาคารที่ ต. คูคต อ. ลำลูกกา จ. ปทุมธานี ระหว่างทำงานผนังคอนกรีตพังลงมาทับตัว จนสะโพกด้านซ้ายหัก อวัยวะในช่องท้องได้รับบาดเจ็บรุนแรง ลำไส้ใหญ่แตก กระเพาะปัสสาวะช้ำ ปัสสาวะเป็นเลือด ต้องผ่าตัดระบายอุจจาระทางหน้าท้องชั่วคราว ภายหลังนายชาลีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวส่งสำนักงานตรวจคนเข้า เมืองกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 เนื่องจากโรงพยาบาลเเจ้งตำรวจ เพราะใบอนุญาตทำงานหมดอายุลง วันที่ 20 มกราคม 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวนายชาลีส่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเตรียมผลักดัน ออกนอกประเทศ เจ้าหน้าที่ของ มสพ. จึงร้องเรียนจนมีการส่งตัวนายชาลี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 โดยในช่วง 4 วันแรก นายชาลีถูกล่ามโซ่ติดกับเตียง มสพ. จึงร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากการล่ามผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นการผิดระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง มีคำสั่งปลดโซ่ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 ทั้งนี้ นายชาลีกล่าวว่า ยังรู้สึกกังวลเรื่องการต่อใบอนุญาตทำงาน และเรื่องการเรียกร้องเงินทดแทนกรณีอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยจะมอบหมายให้ มสพ. ดำเนินการเรียกร้องได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการบาดเจ็บจากการทำงานภาย ใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ต่อไป

อนึ่งกระทรวงเเรงงานเเจ้งว่าจะต่อใบ อนุญาตทำงาน เพราะมีการขยายกำหนดเวลาต่อใบอนุญาตทำงานอีกครั้งจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง สามารถยืนยันได้ว่า นายชาลีมีใบอนุญาตทำงาน ที่หมดอายุเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 และไม่ได้ต่ออายุใบอนุญาตทำงานด้วยเหตุสุดวิสัย

​แม้นายชาลี จะได้รับการปลดโซ่แล้ว แต่ปัญหาในการจัดการแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานทั้งระบบ ยังไม่ได้รับการแก้ไข องค์กรสิทธิมนุษยชนเเละสิทธิเเรงงานดังรายนามข้างต้นมีความวิตกกังวลเกี่ยว กับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเกิดขึ้นเป็นประจำ เเละเเรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติมักถูกผลักดันออกนอกประเทศ เมื่อนายจ้างทอดทิ้ง การเรียกร้องความเสียหายตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มักประสบปัญหานายจ้างหลบหนี นายจ้างไม่ยอมนำส่งเงินสมทบ เนื่องจากรัฐบาลไทยยังมิได้แก้ไขปัญหาที่ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถรับ เงินทดแทนจากกองทุนเงินทดเเทนเเละโรงพยาบาลจะไม่ได้รับค่ารักษาจากกองทุน เงินทดเเทนเมื่อเเรงงานข้ามชาติไปรักษากรณีอุบัติเหตุจากการทำงาน แม้ว่าจะได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับแรงงานข้ามชาติ องค์การสหประชาชาติหลายครั้ง ตั้งแต่พ.ศ. 2550 การติดตามเอกสารของแรงงานที่ขึ้นทะเบียน โดยกระทรวงแรงงานยังล่าช้า และไม่มีประสิทธิภาพ

ในกรณีนายชาลี ยังพบว่า เมื่อแรงงานข้ามชาติไม่ได้รับสิทธิการรักษาในระบบกองทุนเงินทดเเทน และหลักประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ไม่คุ้มครองกรณีอุบัติเหตุจากการทำงาน ทำให้โรงพยาบาลมีความลังเลเรื่องค่ารักษาพยาบาล การที่นายชาลีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว และล่ามโซ่ ทั้งที่ป่วยหนัก ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ แสดงให้เห็นว่า ระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติ ทั้งระบบสาธารณสุข การตรวจคนเข้าเมือง ระบบกองทุนเงินทดแทน และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ยังไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และ คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย

บางส่วนจากสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท