Skip to main content
sharethis

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปาฐกถาโอกาสครบรอบ 13 ปี “พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ" ระบุรัฐบาลมุ่งส่งเสริมประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ ส่วน “วิกิลีกส์” เป็นการชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า แม้ราชการปกปิดข้อมูล แต่การเผยแพร่โดยไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ตลอด จึงต้องทบทวนไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาเนื่องในงาน "สัมมนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 13 ปี ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540" เมื่อ 4 ก.พ. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล (ที่มา: ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล)

 

ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาลรายงานว่า เมื่อวานนี้ (4 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษในการ “สัมมนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบ 13 ปี ของการประกาศใช้พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540” ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวรายงานว่า พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 ได้ประกาศใช้มาครบ 13 ปีเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553 โดยกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสอย่างกว้างขวางในการได้รับทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐ เพื่อที่ประชาชนจะได้สามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง อันเป็นการส่งเสริมความเป็นรัฐบาลโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น

ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการได้เร่งรัดการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เพื่อให้ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งในเรื่องการใช้สิทธิและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติมาโดยตลอด แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคอีกหลายประการในส่วนที่เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ และโดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ และการรู้จักใช้สิทธิดังกล่าวโดยใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือ

ซึ่งนอกเหนือจากการที่จะต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐให้มีความเข้าใจและมีความพร้อมในการให้บริการข้อมูลแก่ประชาชนแล้ว ยังจะต้องส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการใช้สิทธิตามกฎหมายด้วย เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง ได้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มากขึ้น คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ โดยสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้จัดการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นกับทุก ๆ ฝ่าย ตลอดจนเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณหน่วยงานต้นแบบ และหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการฯ อย่างโดดเด่น จำนวน 15 หน่วยงาน ก่อนกล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษสรุปสาระสำคัญว่า:

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายที่มีความตั้งใจที่จะยกระดับธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง ทั้งการคำนึงถึงหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งมีผลกระทบกับประชาชนและสังคม หรือในแง่ผู้ที่เข้ามาบริหารงานเชิงนโยบายหรือการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงกับการบริหารงานทางด้านต่าง ๆ ของกิจการในภาครัฐ หรือจะมองในแง่ประสิทธิภาพที่ต้องยอมรับว่าการบริหาร การตัดสินใจในเรื่องใดก็ตาม การมีข้อมูลความรู้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โปร่งใสรอบด้าน ก็คือหลักประกันที่ดีที่สุด ที่จะทำให้การบริหารงานนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย

ด้วยเหตุผลนี้ เรื่องการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือสามารถที่จะได้รับการคุ้มครอง หรือแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลของตนเอง จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากในแง่ของกระบวนการประชาธิปไตยและในแง่ของธรรมาภิบาล รวมทั้งประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ กฎหมายฉบับนี้จึงได้ถือเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นหลัก และถือว่าการปกปิดหรือการไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารนั้น จะต้องเป็นเรื่องข้อยกเว้น โดยได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อยกเว้นที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารนั้นมีเหตุผลที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างไรบ้าง พร้อมกับมีการตั้งกลไกในแง่การบริหารจัดการเพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ รวมถึง กลไกการรับเรื่องราวที่มีการร้องเรียนจากประชาชนในกรณีไม่สามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ ซึ่งคือคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

13 ปีที่มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ต้องยอมรับว่าได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน การปฏิบัติตามกฎหมาย การมีแนวคำวินิจฉัยตามกฎหมายฉบับนี้ได้ช่วยให้การทำงานของหน่วยงานหลายหน่วยงานต้องอยู่ภายใต้กติกาที่มีความโปร่งใส ประชาชนสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเจตนารมณ์และบทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อย่างไรต้องยอมรับว่าแม้กฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับมาถึง 13 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาที่หลายหน่วยงานยังคงไม่ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และยังมีทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจหรืออาจจะมีทัศนคติซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวทางหรือเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานกลไกที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลไกตามกฎหมายฉบับนี้ที่จะต้องมีการดำเนินการแก้ไขต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสิ่งสำคัญ 3 ประการที่ทำให้จำเป็นต้องพิจารณาเพื่อปรับปรุงการทำงานตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ว่า

ประการแรก ต้องยอมรับว่า 13 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปมาก การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจึงมีช่องทาง มีทางเลือกใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกมาก โดยเฉพาะเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ อินเทอร์เน็ต ซึ่งในช่วงที่มีการดำเนินการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นในภาวะที่สภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสารไม่เป็นเหมือนกับในปัจจุบัน และขณะนี้โอกาสที่ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเปิดเผยในรูปแบบซึ่งอาจไม่พึงประสงค์ก็เกิดขึ้นอยู่ได้ตลอดเวลา จึงทำให้ต้องมีการทบทวนแนวทางการทำงาน แนวทางการปฏิบัติราชการ

โดยการปาฐกถาช่วงนี้ เว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ ได้รายงานโดยละเอียดในส่วนที่นายอภิสิทธิ์ปาฐกถาช่วงนี้ว่า “ปรากฏการณ์เร็วๆ นี้ กรณีของเว็บไซต์วิกิลีกส์ก็เป็นตัวบ่งบอกว่า หน่วยราชการการปกปิดข้อมูล ไม่ควรที่จะมีการนำมาเผยแพร่ แต่โอกาสที่ข้อมูลที่จะถูกนำออกมาเผยแพร่โดยไม่พึ่งประสงค์ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด จึงต้องทำการทบทวนการเผยแพร่ข้อมูลไม่ให้กระทบต่อความมั่นคง ถือเป็นหลักประกันที่ดี”

การที่เราสามารถที่จะเผยแพร่ข้อมูลให้มากที่สุดโดยไม่มีผลกระทบต่อเรื่องความมั่นคง หรือความจำเป็น ประสิทธิภาพของงานตามที่ระบุไว้ตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่จะเป็นหลักประกันที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ ไว้เนื้อเชื่อใจการทำงานของภาครัฐ เพราะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมากต่อความสำเร็จของการปฏิบัติราชการในปัจจุบัน ฉะนั้นการคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ของระบบการสื่อสาร ของเทคโนโลยี ของช่องทางของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ถือเป็นสิ่งท้าทายที่จะนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ในปัจจุบัน

ประการที่สอง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นยังคงเป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานต้องเผชิญ และต้องพยายามที่จะแก้ไข และทำให้การดำเนินงานซึ่งมีข้อครหา หรือมีการกล่าวหานั้นยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งความโปร่งใสในเรื่องของข้อมูลข่าวสาร จะช่วยในเรื่องการลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นได้มาก ทั้งในแง่ที่จะเป็นกลไกในการกำกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่าง ๆ และในแง่ที่จะทำให้ภาคสังคม ภาคประชาชน สามารถที่จะเข้ามาตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐได้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในเรื่องการดำเนินการของภาครัฐ เพื่อป้องกันและลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจะเป็นลู่ทางสำคัญหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้รัฐบาลมีแนวทางที่จะปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ ที่ยังคงประสบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นค่อนข้างมาก จึงจะต้องอาศัยประโยชน์จากการใช้กลไกหรือวิธีการในการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างสามารถรับการตรวจสอบจากประชาชนได้มากยิ่งขึ้น

ประการที่สาม การปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลได้มีการประกาศแผนปฏิรูปและแผนการปรองดอง กฎหมายฉบับนี้ก็เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งได้มีการเรียกร้องอย่างมากที่จะให้มีการปรับปรุง เพราะสื่อสารมวลชนยังยืนยันว่ามีข้อจำกัดในการที่จะใช้กลไกตามกฎหมายฉบับนี้เพื่อที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์ในการทำงาของสื่อสารมวลชนเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าในการติดตามการเสนอข่าวสารของสื่อ หลายครั้งเรามีความรู้สึกว่าทำไมสื่อสารมวลชนไม่เสนอข้อมูลข่าวสารได้ตรงตามความเป็นจริงหรือตามข้อมูลที่ราชการมีอยู่ แต่ปรากฏว่าเป็นเพราะราชการไม่อำนวยความสะดวกให้สื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงต้องไปเสาะแสวงหาข้อมูลจากแหล่งอื่น ซึ่งบางครั้งก็กลายเป็นอ้างว่าเป็นข้อมูลที่มาจากราชการเอง แต่กลับมีความคลาดเคลื่อน อันเป็นตัวอย่างที่เราเห็นอยู่บ่อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวสารต่าง ๆ ในลักษณะเช่นนี้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินการเพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจว่าทิศทางการบริหารราชการแผ่นดินได้เป็นไปตามหลักของธรรมาภิบาล และการเปิดเผยข้อมูล การกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างแท้จริง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยในด้านหนึ่งขณะนี้เห็นได้ชัดว่า คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ และรัฐบาลมีความพยายามที่จะส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้องค์กรทั้งหลายได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้

วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะได้มีการทบทวนเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อทำให้การปฏิบัติราชการมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มั่นใจว่าทิศทางที่การทำงานของภาครัฐจะต้องเป็นไปในลักษณะของการเปิดเผย โปร่งใส เป็นทิศทางซึ่งไม่ย้อนกลับ จะมีการเดินหน้าต่อไปอย่างชัดเจน และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวทางการปฏิบัติราชการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้

จึงขอฝากให้ทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมได้ผลักดันเรื่องนี้ต่อไปเพื่อสร้างสังคมไทยที่โปร่งใส เป็นสังคมประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เป็นสังคมที่ภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างรอบรู้และสร้างสรรค์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบ สร้างนโยบายและสังคมที่ดีสำหรับประเทศชาติและประชาชนต่อไป โดยขอให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนทิศทางและเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง

 

 

ที่มา: เรียบเรียงจาก

[1] นายกฯ ชี้วิกิลีกส์เป็นภัยต่อความมั่นคง สะท้อนโลกยุคไซเบอร์ปกปิดข้อมูลยาก, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 4 กุมภาพันธ์ 2554

[2] นายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลมุ่งส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของทางราชการตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ, ศูนย์สื่อทำเนียบรัฐบาล, 4/2/2011

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net