Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: เรียบเรียงจาก การปาฐกถาหัวข้อ “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม โดย อปท. ได้อย่างไร” โดย นายสมพร ใช้บางยาง อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กรรมการสมัชชาปฏิรูป และประธานคณะกรรมการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ระหว่างการประชุม “สมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป: ภาคเหนือ” ซึ่งจัดที่โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง จ.เชียงใหม่” เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2544 ที่ผ่านมา

โดยการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 ถึง 4 กุมภาพันธ์ โดยคณะกรรมการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ที่มี ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ร่วมกับ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

000

สมพร ใช้บางยาง กรรมการสมัชชาปฏิรูป และประธานคณะกรรมการปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป

 

"เรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง เรื่องของการกระจายอำนาจ หลักใหญ่อยู่ที่การคืนอำนาจให้กับประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ไม่ใช่คืนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อไปใช้อำนาจแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น อำนาจสูงสุดคืออำนาจของประชาชน ท้องถิ่นคือส่วนที่จะได้รับการกระจายอำนาจจากภาครัฐ เพื่อไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชน ในการดูแลชุมชน ตั้งแต่ปัจเจก ไปสู่ชุมชนที่เล็กและใหญ่ขึ้นไป ไปสู่สังคมระดับชาติ จึงอยากทำความเข้าใจให้ตรงกัน สิ่งที่เราคุยกันคือไม่ใช่แค่เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงลึกไปถึงการคืนอำนาจให้ประชาชนทุกคนด้วย"

 

ท่านผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งในส่วนที่เป็นผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ปลัดเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ท่านสมาชิก ท่านประธานสภา เพื่อนข้าราชการส่วนท้องถิ่น พี่น้องเอกชนที่ได้ร่วมขับเคลื่อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ในจังหวัดภาคเหนือ ท่านผู้มีเกียรติที่เข้าร่วม “สมัชชาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป: ภาคเหนือตอนบน” รวมตลอดทั้งท่านที่ได้ฟังการถ่ายทอดสด ผ่านสถานีวิทยุชุมชนทั้งในส่วนที่อยู่ใน จ.เชียงใหม่ และเครือข่ายของวิทยุชุมชนเพื่อความเข้มแข็งทั่วประเทศอีก 300 กว่าสถานีที่เคารพทุกท่าน

แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องความเป็นธรรม หรือพูดถึงความเหลื่อมล้ำ ในบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผมขอเรียนถึงที่ไปที่มาของแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยในเบื้องต้น

 

000

แนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ไม่ได้เพิ่งมาพูดกันในช่วงปลายปีที่แล้ว ต่อเนื่องจนถึงปีนี้ และจะทำต่อไปอีก 3 ปี ตามกรอบของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปีที่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ในความเป็นจริงมีคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่ประกอบไปด้วยหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักการเมือง ข้าราชการที่เกษียณอายุแล้ว และข้าราชการที่ยังรับราชการอยู่ มีนักหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชน มีนักคิด นักวิชาการ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันปรึกษาหารือ และต่างคนต่างเห็นตรงกันว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยมีปัญหามากมาย ทั้งในเรื่องของ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะปัญหาสังคม การเมือง เราได้ตั้งเวทีคุยกันเรียกว่า “สถาบันทางปัญญา” มีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้เป็นผู้สนับสนุนให้มีการพูดคุยกัน มีเวทีพูดคุยกัน เราจัดกันเดือนละ 2 ครั้ง มา 2 ปี เศษๆ แล้ว เราคุยกันมาทั้งหมด 40 กว่าครั้งด้วยกัน

เราได้บทสรุปว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น มีเรื่องสำคัญๆ ที่ควรจะได้รับการแก้ไข หรือนำไปสู่การปฏิรูปทั้งหมด 10 ประเด็นปัญหา หรือ 10 เรื่อง เช่น การสร้างจิตสำนึกใหม่ของคนไทยกลับมาสู่ของสังคมรับผิดชอบต่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน เรื่องของความมีระเบียบระเบียบวินัย สังคมของการเรียนรู้ อยู่อย่างมีเหตุผล ไม่ใช่สังคมอารมณ์เช่นทุกวันนี้ การปฏิรูปการศึกษา เรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องของความยุติธรรม ระบบยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของสื่อ และเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด 10 หัวข้อ

มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่สถาบันทางปัญญา เราได้คุยกันมา 2 ปี กว่า และคิดว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการแก้ไขปัญหาหรือปฏิรูปประเทศไทย ในแนวคิดที่เราทำมาก่อน นั่นก็คือการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ถือว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศตามวีดีทัศน์ที่ท่านได้ชมไปแล้ว

คำว่าชุมชนท้องถิ่น ณ ที่นี้ เราแยกเป็น 2 ส่วนหลักๆ สำคัญ ส่วนแรกแน่นอน ชุมชน คือ ประชาชนทุกคน ไม่ใช่ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ท้องถิ่นก็คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 รูปแบบปัจจุบัน ก็คือ อบจ. เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา

ในส่วนของความเข้าใจ ความคิดที่เราร่วมกันเรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งนั้น มีองค์ประกอบที่จะมาช่วยหนุนเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง คือส่วนภาคของท้องที่ ภาคของส่วนราชการ ซึ่งเราคงปฏิเสธภาคราชการไม่ได้ เพียงแต่ว่าในแนวคิดของเรา การกระจายอำนาจ ภาคราชการต้องลดบทบาทในฐานะผู้ปฏิบัติ มอบการปฏิบัติในระดับพื้นที่ให้กับท้องถิ่น ข้าราชการกลับมาสู่การเป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้ให้คำแนะนำ เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ อาจมีบทบาทในการกำกับบ้าง ก็คงเพียงในส่วนที่จำเป็น และไม่ควรจะมากเกินกว่าความเป็นอิสระของท้องถิ่น นอกจากนั้นก็มีภาคส่วนอื่นๆ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ ในฐานะที่เราดูแลรับผิดชอบท้องถิ่นนั้น ก็ต้องรับผิดชอบผู้ที่จะมามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งอยู่ในพื้นที่และส่วนที่จะหนุนเสริมในภายนอก นี่ความหมายที่เรียกว่าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ที่คุยกันในสถาบันทางปัญญาที่กล่าวมา

นี่เป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการสองปีเศษๆ ก็ได้ความคิด ได้บทสรุปตรงนี้มา เรามีหน้าที่บังคับใครไม่ได้ ก็มีแต่เสนอสาธารณะให้ได้รับรู้รับเห็น ให้สังคมได้คิดตาม และถ้าเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่ควรทำร่วมกันหรือทำได้ ก็อยากให้สังคมได้มาขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อแก้ไข เราไม่ได้หยุดแค่การคิด ในเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ทางสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ โดยสำนักงานสนับสนุนสุขภาพชุมชน ของ สสส. ได้รับเป็นหน่วยงานที่มาขับเคลื่อนเรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งต่อจากแนวคิดของสถาบันทางปัญญา หรือแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยที่เราคุยกันมา

โดยได้ไปสนับสนุน คัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ที่มีศักยภาพ แนวคิดหลักคือชุมชนกับท้องถิ่นต้องไปด้วยกัน เสมือนเป็นเนื้อเดียวกัน นั่นก็คือ ความร่วมมือ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ ร่วมกันปฏิบัติ ความเป็นเนื้อเดียวกันของท้องถิ่นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด  ขณะเดียวกันเราดูหน่วยหนุนเสริมอื่นๆ ดูเรื่องของธรรมาภิบาล ดูเรื่องของศักยภาพของท้องถิ่นนั้นที่มีแหล่งเรียนรู้ให้เพื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นเข้ามาเรียนรู้

สสส. ได้เข้ามาสนับสนุน ในเรื่องของการขยายแนวคิดเรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อฐานของประเทศ ณ ขณะนี้มี 20 แห่ง จาก 1 เป็น 20 จาก 20 เป็น 60 แห่งในระยะเวลา 3 ปี ของแต่ละแห่งเรียนรู้

เราเริ่มต้นที่ อบต.ปากพูน จ.นครศรีธรรมราช เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และขยายมาเรื่อย จนปัจจุบันมี 20 แห่ง กำลังจะเริ่มอีก 2-3 แห่ง เป็น 23 แห่ง ที่ จ.เชียงใหม่มี อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง หรือทำความร่วมมืออีกแห่งหนึ่ง คือ อบต.แม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ และในภาคเหนือยังมีอีกหลายแห่ง กำลังจะทำความร่วมมือกับเทศบาลตำบลเกาะคา อ.เกาะคา ลำปาง มีที่ จ.พิษณุโลก จ.อุตรดิตถ์ และที่ จ.น่าน ก็กำลังดูอยู่

เราใช้วิธีขยายแบบนี้ ทำไปแล้ว 2 ปี เศษๆ ต่อเนื่องกับแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยในส่วนของสถาบันทางปัญญา และจะขับเคลื่อนต่อไป เราเห็นว่าแนวทางนี้ถูกต้อง การได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้เกิดวิธีคิด การเปลี่ยนแปลง ทั้งในส่วนของ อปท. เอง และภาคประชาชน เห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้แนวคิดชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งมีความเป็นไปได้

 

000

จากแนวคิดเรื่องการปฏิรูปดังกล่าว ก็ต่อเนื่องมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม ของปี 2553 ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ในเรื่องของการเรียกร้องเดินขบวนเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร และ ต่างจังหวัดบางแห่ง นำมาสู่การสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ต่างๆ มากมาย รวมทั้งภาพลักษณ์ ภาพพจน์ของประเทศในระดับนานาชาติ ตรงนั้นเป็นการตอกย้ำถึงความจำเป็นที่สังคมส่วนใหญ่ สังคมของประเทศ ได้เห็นความสำคัญของการปฏิรูป รวมทั้งรัฐบาล ได้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป เมื่อเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ คณะแรกคือ คณะกรรมการปฏิรูป มีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน คณะนี้ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในหลายๆ ด้าน ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ในเรื่องของการชี้นำ เสนอแนะเชิงนโยบาย ต่อสาธารณะ ต่อรัฐบาล หรือผู้เกี่ยวข้อง สำหรับการนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เรื่องระบบภาษี เรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญๆ รวมทั้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ

อีกคณะหนึ่ง คือ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ซึ่งมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน โดยทำหน้าที่ขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติ หรือเชิงสื่อ ออกไปสู่สาธารณะ ทั้งในเชิงประเด็น และเชิงพื้นที่ เพื่อให้ความคิดเรื่องการปฏิรูปเข้าไปสู่ชีวิตจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกกลุ่ม เพื่อจะได้เข้ามาร่วมกันในการปฏิรูปประเทศไทย

ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 ท่าน เข้ามาเป็นคณะกรรมการด้วย คือคุณนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพิษณุโลก คุณเปรมฤดี ชามพูนท และผมเป็นกรรมการคนหนึ่งในกรรมการสมัชชาปฏิรูป

สองคณะนี้ จะทำงานคู่ขนานกันไป เชิงนโยบาย กับการปฏิบัติหรือเชิงรณรงค์ ถึงแม้จะเกิดขึ้นจากสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ในหลักการที่เราคุยกัน ตกลงกัน ก็คือ ทั้งสองส่วนนี้หรือการขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่อยู่ผูกติดกับพรรคการเมืองใดหนึ่ง แต่จะผูกติดกับปัญหาของชาติ จะผูกติดกับการช่วยกันระดมให้ทุกคนได้มารับรู้รับทราบ ร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ ร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้วยกัน

ในส่วนของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง มาขับเคลื่อนเรื่องชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ก็คือ “คณะกรรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูป” มีผมเป็นประธาน มีผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชนของ สสส. เป็นเลขาฯ คณะกรรมการประกอบไปด้วย ผู้แทนจากสามสมาคม ก็คือสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และในส่วนของตัวแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นก็ครบทั้ง 3 องค์กร และมีผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านมาร่วมเป็นกรรมการด้วย ในคณะกรรมการนี้รับผิดชอบเรื่องของการรณรงค์เรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องของการคืนอำนาจให้ประชาชน เรื่องของการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง นำมาสู่การจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับภูมิภาค 6 ครั้ง และจะนำไปสู่การจัดสมัชชาปฏิรูปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับชาติอีกครั้งหนึ่ง

แนวคิดเรื่องการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ถึงแม้จะเกิดมาจาก สถาบันทางปัญญา ที่ได้เรียนไปแล้ว ณ วันนี้ มีคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมา 2 คณะ ตามที่ได้กล่าวมา และขับเคลื่อนมาระยะเวลาหนึ่ง บทสรุปที่ตรงกันของ 2 คณะ ก็ยังคงยืนยันว่าการปฏิรูปประเทศไทย จะไปสู่ความสำเร็จได้ ต้องทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ถือว่าชุมชนท้องถิ่นคือฐานประเทศ แนวคิดเรื่องของการสร้างพระเจดีย์จากฐาน ที่ได้ชมวีดีทัศน์ไปเมื่อสักครู่นี้ ยังคงได้รับการยืนยันจากทั้ง 2 คณะ และจะขับเคลื่อนในเรื่องนี้ต่อไป

ในสวนที่เราจะพูดคุยกัน 2 วันนี้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่เรียนกับท่านว่า เรื่องของชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง เรื่องของการกระจายอำนาจ หลักใหญ่อยู่ที่การคืนอำนาจให้กับประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ ไม่ใช่คืนอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อไปใช้อำนาจแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้น อำนาจสูงสุดคืออำนาจของประชาชน ท้องถิ่นคือส่วนที่จะได้รับการกระจายอำนาจจากภาครัฐ เพื่อไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนร่วมกับพี่น้องประชาชน ในการดูแลชุมชน ตั้งแต่ปัจเจก ไปสู่ชุมชนที่เล็กและใหญ่ขึ้นไป ไปสู่สังคมระดับชาติ จึงอยากทำความเข้าใจให้ตรงกัน สิ่งที่เราคุยกันคือไม่ใช่แค่เรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น แต่ในความเป็นจริงลึกไปถึงการคืนอำนาจให้ประชาชนทุกคนด้วย ที่ผ่านมา ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย เขายังไม่ได้ใช้อำนาจของเขาอย่างเต็มกำลังหรือสิ่งที่ควรจะเป็นในฐานะเจ้าของอำนาจ เฉกเช่นนานาอารยประเทศที่เขาเจริญแล้วในระบอบประชาธิปไตย

 

000

หัวใจของการทำงาน หรือหลักคิดใหญ่ หรือหลักของแนวคิดเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย ทั้งในส่วนของคณะกรรมการปฏิรูปที่ท่านนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และในส่วนที่ นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป หลักใหญ่ที่เรากำหนดไว้คือ การสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ” ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ ถ้านึกถึงโดยเผินๆ ก็ดูไม่ค่อยมีความสำคัญ โดยเฉพาะกับสังคมท้องถิ่น อาจจะด้วยความเคยชิน หรือติดยึดระบบนี้ หรืออยู่ในกรอบวิถีไทยๆ มาช้านาน แต่ถ้ากลับมาทบทวน พิจารณาให้ดี จะเห็นว่าความไม่เป็นธรรมหรือความเหลื่อมล้ำทั้งหลายไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวเลย ไม่ได้ไกลทั้งปัญหา และไม่ได้ไกลทั้งหน้าที่

เพราะปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางโอกาส โอกาสทางการเมืองการปกครอง โอกาสการมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมเมือง สังคมชนบท คนรวย คนจน ความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เรื่องของคุณภาพชีวิต สาธารณสุข หรือเรื่องอื่นๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดในสังคมไทย หากลองทบทวนดู มันเกิดกับสังคมชนบทอย่างพวกเราทั้งนั้น คือคนฐานล่างทั้งนั้น และคนฐานล่างคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เพราะฉะนั้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้เกิดใกล้ตัวเรา หลายปัญหาเกิดกับตัวเรา แทบจะทุกปัญหาก็ว่าได้ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมชนบท

ณ วันนี้ ท้องถิ่นเราไม่ว่าจะเป็น อบจ. เทศบาล อบต. ถ้าพูดถึงหน้าที่ หน้าที่หลักของเราคือดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ้าเรามองเฉพาะ อบต. เทศบาลหนึ่ง ก็ดูว่าไม่ว่าจะมีผลกระทบกับสังคม แต่ถ้าเรามองภาพรวม ผูกโยงเป็นองค์รวม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า  7,853 องค์กร ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา หากมองอย่างเป็นองค์รวม และผูกโยงกันเข้า ก็คือประเทศไทย

เพราะฉะนั้น ณ วันนี้ ท้องถิ่นต้องรับผิดชอบประเทศไทยทุกตารางนิ้ว ดูแลคนทุกคนตั้งแต่เกิดจนตาย อปท. ในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นกับคนของเรา ใกล้ตัวเรา เราถึงปฏิเสธไม่ได้ ทั้งในแง่ของปัญหาและบทบาทหน้าที่

ที่ผ่านมาถามว่า เราปฏิเสธหรือเปล่า ก็ตอบได้ว่าไม่ได้ปฏิเสธ แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้เชิงระบบ หรือคิดเป็นเรื่องเป็นราว เราอาจจะทำหน้าที่ของเราไป แต่ถ้าพิจารณาแล้วบทบาทหน้าที่ๆ เราทำไป หลายแห่งทำไปแล้ว และได้ทำเป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกเยอะที่ยังไม่ได้ทำ

 

000

ยกตัวอย่าง หนึ่ง การให้โอกาส เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ท้องถิ่นเรามาจากพี่น้องประชาชน อาสาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อประชาชน หลายแห่งพัฒนาไปมาก ในเรื่องของการให้โอกาสกับพี่น้องประชาชนได้มามีส่วนร่วมทุกกระบวนการของการจัดการปัญหาท้องถิ่นก็ว่าได้

อย่างเช่น อบต.นาบัว จ.พิษณุโลก บริหารงานโดยสภาประชาชน ขับเคลื่อนโดยสภาประชาชนเกือบ 100% ตั้งสภาประชาชนขึ้นมา ประกอบด้วยประชาชนในชุมชนนั้นทั้งหมด ทั้งกลุ่มแม่บ้าน ผู้สูงอายุ กำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมตลอดถึงสภาองค์กรชุมชน รวมมาเป็นสภาของประชาชน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม แต่ละปีให้แต่ละชุมชน แต่ละหมู่บ้านผลัดกันเป็นเจ้าภาพ จัดประชุม ระดมความเห็นว่าปัญหาของสังคมเป็นอย่างไร ชุมชนเป็นอย่างไร อยากเห็นท้องถิ่น หรือ อบต. ทำอะไร ทำเป็นแผนชุมชน เป็นแผนตำบล ไปสู่ข้อบัญญัติของท้องถิ่น เพื่อไปสู่การปฏิบัติ ทำแบบนี้สลับกันไปทุกหมู่บ้านเป็นเจ้าภาพ มีแนวคิดเรื่องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่แค่ที่นาบัว หลายแห่งก็ทำเช่นนี้ วิธีการอาจจะแตกต่างกันไป ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรื่องของการให้โอกาสพี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม คิดว่าเป็นหัวใจของความสำเร็จในการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ได้อย่างแท้จริง

หลายแห่งให้โอกาสถึงขั้นว่า ประชาชนอยากให้มีโครงการใดก่อน โดยการให้ดาวไปติดในโครงการที่ชาวบ้านคิดว่าเขาอยากได้ และให้นำดาวมารวมกัน ดาวไหนมากให้ทำโครงการนั้นก่อน เช่น อบต.หาดสองแคว อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ เป็นต้น

การให้โอกาสเช่นนี้ เป็นการสร้างพลังความร่วมมือ ทำให้ความเป็นพลเมืองของคนเกิดขึ้น คือเขาเกิดความรับผิดชอบที่จะมีต่อชุมชนของเขา นับตั้งแต่ตัวเขาจนถึงชุมชน และมีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม คนเราถ้ามีความเป็นพลเมืองเกิดขึ้น ความรู้สึกมีศักดิ์ศรี มีคุณค่าเกิดขึ้นในตัวเขา ผมเชื่อเหลือเกินว่า การที่เขาจะทำอะไรอีกหลายๆ อย่าง ให้สังคม เพื่อชุมชนส่วนรวมจะตามมา ท้องถิ่นจะมีกำลังเพิ่มมากขึ้น ท้องถิ่นทำงานน้อยลง ผู้บริหารทำงานเชิงนโยบาย ตอบสนองต่อชาวบ้านได้ตามภารกิจและหน้าที่ ตามที่อาสาเข้ามา เพราะฉะนั้นจะตรงประเด็น ตรงเป้าด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาการปกครองประเทศของเราที่ผ่านมา ที่ไปรวมศูนย์ และไม่สามารถไปแก้ไขปัญหาของประชาชนได้

เรียนว่า เรื่องของการให้โอกาสในการมีส่วนร่วม มีความสำคัญอย่างยิ่ง หลายแห่งทำแล้ว อยากเรียนว่า ท่านโอกาสเขาเถิด พี่น้องประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยจริงๆ เราอาสาเข้ามา และเราก็เป็นคนในชุมชน ลำพังเราเองคนเดียว สมาชิก หรือข้าราชการท้องถิ่น ด้วยงบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือที่มีอยู่ ไม่ได้มากมายที่จะเพียงพอในการแก้ไขปัญหา เพียงพอที่จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในชุมชนของเราได้ ถ้าเราใช้กระบวนการเหล่านี้มาขับเคลื่อน จะได้ประโยชน์มหาศาล

 

000

สอง การจัดสรรทรัพยากร ในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท้องถิ่นทำไปมาก อย่านึกว่าเป็นเรื่องไม่มีความสำคัญ ท้องถิ่นเราดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ไม่ได้หมายถึงดินอย่างเดียว มันรวมถึงน้ำ ป่า ทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ มากมาย ทั้งที่อยู่บนดิน ใต้ดิน อากาศ

ถ้าเรากลับมาทบทวนดูการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่ผ่านมา จะเห็นว่าทรัพยากรบ้านเราไม่ได้ถูกใช้โดยเจ้าของทรัพยากรคือประชาชน แต่ส่วนใหญ่ทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แร่ธาตุ หรืออะไรก็แล้วแต่ถูกใช้ไปโดยทุน หรือนายทุนที่มาประกอบธุรกิจ ถ้าถามว่า ในฐานะเจ้าของทรัพยากรเราได้รับประโยชน์อะไรจากการที่ทุนเอาไปใช้ แน่นอนนายทุนลงทุนเพื่อแสวงหากำไร แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของถามว่าได้ประโยชน์อะไรบ้าง ทุนนำทรัพยากรไปใช้ ในภาพรวมประชาชนยังจน อยู่อย่างแร้นแค้น ทั้งที่เข่าใช้ทรัพยากรเราไปลงทุน สิ่งที่ทุนไปใช้ สิ่งที่ตอบแทนมาคือ สารพิษ น้ำเสีย นอกจากประโยชน์ไม่คุ้มในฐานะเจ้าของทรัพยากร ยังได้รับผลกระทบด้านร่างกาย จิตใจ เราก็มาตกทุกเรื่องของดินถล่ม น้ำท่วม อยู่ที่พวกเรา

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเราไม่คิดตามไม่ทันทุน ไม่รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบทุน จะนำสังคมฐานล่างไม่ได้ อบต. อบจ. หลายแห่งได้สนับสนุนให้เกิดป่าชุมชน มีกิจกรรมคืนสายน้ำให้แม่น้ำลำคลอง เช่น มีป่าชุมชนที่ อบต.แม่ทา กิ่ง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ นอกจากนี้ อปท. หลายแห่งพยายามอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น เรื่องนี้จึงมีความสำคัญส่วนหนึ่งที่ท้องถิ่นสามารถเข้ามาดูแล เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับคืนมา

 

000

สาม การเพิ่มคุณภาพชีวิต คือการเติมเต็มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการขับเคลื่อนเรื่องกองทุนสุขภาพ ร่วมกับ สปสช. มา 3 ปีเศษ บัดนี้ก้าวหน้าไปมาก ทำให้พี่น้องเข้าถึงระบบสุขภาพดีขึ้น ถึงแม้จะไม่ดีเหมือนคนเมือง เนื่องจากขาดโอกาสมาช้านาน แต่วันนี้ท้องถิ่นเข้ามาทำในเรื่องนี้ถือว่ามีความสำคัญ

ในเรื่องการศึกษาที่ท้องถิ่นขาดโอกาสมานาน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ขณะนี้มาดูในเรื่องศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้เป็นอย่างดี เป็นภาพกว้างที่สังคมยอมรับ ท้องถิ่นมีความเข้าใจในบริบทของศูนย์พัฒนาการเด็กเล็กว่าไม่ใช่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก แต่เป็นศูนย์พัฒนาเด็กที่เป็นการปูพื้นฐานของการพัฒนาคน ซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะคนคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด และต้องช่วยกันพัฒนาไปอีก การพัฒนาคนคือหัวใจของการพัฒนาทั้งหลายทั้งปวง นอกจากนี้ อปท. ยังมีเรื่องการจัดการศึกษาในระบบ และนอกระบบ มีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ดูแลผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ เรื่องเหล่านี้เมื่อก่อนไม่ได้รับการสนใจในสังคมไทย แต่บัดนี้ ท้องถิ่นเข้ามาเติมเต็มเรื่องศักดิ์ศรีมนุษย์

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าคิดอย่างเป็นระบบ เป็นภาพรวม ผูกโยงให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ผมยืนยันว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นเรื่องความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ท้องถิ่นเราสามารถขจัดได้ทั้งนั้น ถือเป็นบทบาทโดยตรงของพวกเรา เป็นปัญหาที่เราต้องร่วมกันแก้ไข เพราะเป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชน และตัวของท้องถิ่นเอง

ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การสร้างหลักประกันความมั่นคงของชีวิต หลายแห่งทำได้ดี ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เหมาะกับสังคมชนบท เหมาะกับที่จะอยู่ในสังคมนี้ให้รอด ในการต่อสู้กับทุนนิยม ที่มา สร้างความคุ้มกัน เราอยู่ได้ด้วยขาของเรา การรับผิดชอบต่อส่วนรวม การช่วยเหลือเกื้อกูลเรื่องสวัสดิการสังคม

อยากเรียนกับทุกท่านว่า ในการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ในแนวคิดเรืองการปฏิรูปประเทศไทยที่ตกผลึกมาและจะขับเคลื่อนต่อก็คือ เราให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นจริงๆ ชุมชนท้องถิ่นไม่ใช่แค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับชุมชน ก็คือภาคประชาชน ที่จะต้องไปเหมือนเนื้อเดียวกัน ถ้าทั้ง 2 ส่วนนี้มีความเป็นเนื้อเดียวกัน ก้าวเดินไปในทิศทางเดียวกัน เชื่อเหลือเกินว่าฐานของประเทศจะมีความเข้มแข็ง

ผมยืนยันในแนวคิดเรื่องของการมององค์รวมว่าถ้าท้องถิ่นแต่ละแห่งทำให้เข้มแข็ง และรวมกันทั้ง 7,000 กว่าแห่ง เชื่อว่าฐานของประเทศจะเข้มแข็ง ประเทศชาติจะอยู่ได้ อยู่รอดปลอดภัย อยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืน อยู่อย่างมีความสุข โดยขอฝากข้อคิด แนวคิดไว้กับทุกท่านด้วย และอยากเชิญชวนทุกท่าน ได้ร่วมกันขยายแนวคิด วิธีคิด ไปสู่ผู้บริหาร สมาชิก เพื่อนข้าราชการส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาร่วมกันปฏิรูปประเทศไทย

สิ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด ปฏิ” คือ “กลับ” และ “ปฏิรูปประเทศไทย” คือ “คิดกับประเทศไทยใหม่” จาก “รวมศูนย์” มาสู่การ “สร้างฐาน” ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือกัน ถือว่าทุกท่านเป็นสมาชิกสมัชชาปฏิรูปสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ให้เกิดขึ้นจริงๆ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากท่าน เพราะการปฏิรูปประเทศไทยไม่ใช่การพลิกฝ่ามือ ไม่ใช่ใช้เวลาแค่วันสองวัน แต่ใช้เวลายาวนาน ทั้งในแง่ของการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลขึ้นจริง ฝากความรู้สึกนึกคิด ความหวังไว้กับทุกท่าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net