Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจเผย กลาโหมชงแผนพัฒนากองทัพ 10 ปี เผยงบผูกพันพุ่งทะลุ "ล้านล้าน" ตั้งซื้ออาวุธเพียบ ทบ.นำโด่งเฉียด "5 แสนล้าน"

2 ก.พ. 54 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังเตรียมจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ฝ่ายกองทัพ โดยสำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงกลาโหม ก็ได้ดำเนินการจัดทำร่าง "แผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563" (Modernization Plan : Vision 2020) และนำเสนอร่างดังกล่าวในการประชุมสภากลาโหมครั้งที่ 1/2554 ณ ห้องภาณุรังษี ศาลาว่าการกลาโหม เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนพัฒนาขีดความสามารถดังกล่าว นำเสนอโดย พล.ต.ชัยชาญ ช้างมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักนโยบาย และแผนกลาโหม โดยในร่างเอกสารบรรยายสรุประบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม อนุมัติให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพต่างๆ จัดทำแผนพัฒนาในห้วงระยะเวลา 10 ปี เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเสริมสร้างหน่วยให้มีความสมบูรณ์ พร้อมรบ โดยพิจารณาวางแผนภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่คาดการณ์ว่า สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองทัพไทย และเหล่าทัพ จะได้รับจัดสรรในห้วงระยะเวลา 10 ปี

คำบรรยายสรุประบุด้วยว่า "จากการประมาณการของสำนักงบประมาณกลาโหมบนสมมุติฐานที่จะได้รับการสนับสนุน งบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปีงบประมาณ 2563 กระทรวงกลาโหมจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 2 ของจีดีพี"

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับการตั้งเป้าหมายได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 2 ของจีดีพี มีแรงผลักดันจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) มาโดยตลอด โดยให้เหตุผลว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีการเพิ่มงบประมาณทางการทหารเมื่อเทียบกับสัดส่วนจีดีพี อย่างต่อเนื่อง หากประเทศไทยยังคงสัดส่วนงบประมาณทางการทหารเมื่อเทียบกับจีดีพีในระดับต่ำ จะไม่สามารถสร้างดุลอำนาจกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเสริมกำลังรบอย่างต่อ เนื่องได้
 
ทั้งนี้คาดว่าจะมีงบประมาณที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย และเหล่าทัพ(กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ) ได้รับจัดสรรสำหรับดำเนินโครงการทั้งสิ้น 670,571.9 ล้านบาท แบ่งเป็น งบโครงการปกติ ร้อยละ 40 จำนวน 268,228.7 ล้านบาท และงบโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ร้อยละ 60 จำนวน 402,343.2 ล้านบาท
 
สำหรับร่างแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563 ได้กำหนดความต้องการโครงการพัฒนา และจัดหายุทโธปกรณ์หลักของกระทรวงกลาโหม แบ่งเป็นความต้องการระดับสูงสุด 332 โครงการ วงเงิน 1,307,731.413 ล้านบาทและความต้องการระดับต่ำสุด  301 โครงการ วงเงิน 770,392.413 ล้านบาท ซึ่งความต้องการดังกล่าว ประกอบด้วย
 
1.ความต้องการโครงการในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 33 โครงการ วงเงิน 14,753.923 ล้านบาท โดยแบ่งโครงการออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้ 1.1 โครงการด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และพลังงานทหาร 16 โครงการ วงเงิน 9,109.923 ล้านบาท 1.2 โครงการด้านวิทยาศาตร์ และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 3 โครงการ วงเงิน 1,394 ล้านบาท 1.3 โครงการด้านกิจการอวกาศ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร 14 โครงการ วงเงิน 4,250 ล้านบาท
 
2.ความต้องการยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพไทย ซึ่งได้กำหนดขีดความสามารถที่ต้องการ และกำหนดความต้องการยุทโธปกรณ์หลักของกองทัพไทย โดยแบ่งความต้องการออกเป็นความต้องการระดับสูงสุด และความต้องการระดับต่ำสุด 2.1 ความต้องการระดับสูงสุด 299 โครงการ วงเงิน 1,292,977.49 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของกองบัญชาการกองทัพไทย 32 โครงการ วงเงิน 30,022.24 ล้านบาท โครงการของกองทัพบก 157 โครงการ วงเงิน 497,358 ล้านบาท โครงการของกองทัพเรือ 48 โครงการ วงเงิน 325,523 ล้านบาท และโครงการของกองทัพอากาศ  62 โครงการ วงเงิน 440,074.25 ล้านบาท
 
2.2 ความต้องการระดับต่ำสุด 268 โครงการ วงเงิน 755,638.49 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการของกองบัญชาการกองทัพไทย 27 โครงการ วงเงิน 18,567.39 ล้านบาท โครงการของกองทัพบก 137 โครงการ วงเงิน 273,664 ล้านบาท โครงการของกองทัพเรือ 41 โครงการ วงเงิน 176,153 ล้านบาท และโครงการของกองทัพอากาศ 63 โครงการ วงเงิน 287,254.1 ล้านบาท
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนพัฒนาขีดความสามารถดังกล่าว มีโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และการจัดตั้งหน่วยทหารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นที่จับตาของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างมาก โดยเฉพาะโครงการจัดตั้ง พล.ร.7 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และ พล.ม.3 ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ทางกองทัพให้เหตุผลว่าเป็นการจัดตั้งตามยุทธศาตร์ป้องกันประเทศเพื่อให้ ดุลอำนาจด้านกำลังรบทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านทางทิศตะวันตก และตะวันออก แต่ฝ่ายการเมืองตรงข้ามมองว่าเป็นการหวังผลทางการเมือง โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังเพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนเสื้อแดงที่มี อยู่อย่างหนาแน่นในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน อันเป็นฐานคะแนนเสียงของพรรคเพื่อไทยด้วย
 
ทั้งนี้สำหรับที่ตั้งกองบัญชาการ(บก.) ของ พล.ร.7 จะมีการปรับจากฐานที่ตั้งเดิมของค่ายกรมรบพิเศษที่ 5 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ส่วนที่ตั้ง บก.พล.ม.3 จะปรับจากฐานที่ตั้งเดิมของค่ายกรมทหารม้าที่ 6 อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขณะที่โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของแต่ละเหล่าทัพภายใต้วงเงินงบประมาณจำนวนมาก ก็เป็นที่น่าจับตาเช่นกัน
 
โดยกองทัพบก มีโครงการจัดหายานเกราะล้อยาง รุ่นบีทีอาร์ 3 อี 1 จากประเทศยูเครน เฟสที่ 2 จำนวน 121 ด้วยวงเงินเกือบ 5,000 ล้านบาท ทั้งที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ายานเกราะล้อยางเฟสที่ 1 จำนวน 96 คัน ยังไม่ได้รับการส่งมอบ และเลื่อนนัดส่งมอบมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากการเปลี่ยนสเป็คเครื่องยนต์ ทั้งยังมีการพัฒนาระบบเฝ้าตรวจชายแดน ระบบสงครามอิเล็กทรอนิกส์ ระบบป้องกันภัยทางอากาศ เป็นต้น
 
ส่วนกองทัพเรือ น่าจับตาว่าอาจมีการการจัดหาเรือดำน้ำ ซึ่งกองทัพเรือเสนอความต้องการมานาน แต่เนื่องจากต้องใช้งบประมาณมหาศาล จึงไม่ได้รับการอนุมัติ ประกอบกับข้อสังเกตว่าระดับน้ำที่ตื้นของอ่าวไทย อาจไม่เหมาะต่อการปฏิบัติภารกิจของเรือดำน้ำ นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุง ร.ล.จักรีนฤเบศร การจัดหาเรือฟริเกต ฮ.ประจำเรือ เครื่องบินโจมตีผิวน้ำ ฯลฯ ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล
 
สำหรับกองทัพอากาศ มีโครงการขนาดใหญ่ คือ การจัดหาเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ 18 ก/ข (กริพเพน) (ระยะที่ 2) จำนวน 6 ลำ วงเงิน 16,222 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-2558 รวมทั้งโครงการปรับปรุงขีดความสามารถ(อัพเกรด) เครื่องบินเอฟ 16 จำนวน 6 ลำ วงเงิน 6,900 ล้านบาท ซึ่งตั้งเป็นงบผูกพันตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554-2556 เป็นต้น

ด้านกองบัญชาการกองทัพไทย นอกจากการตั้งงบประมาณในภารกิจช่วยเหลือ และบรรเทาสาธารณภัยแล้ว น่าสังเกตว่า มีการตั้งงบประมาณเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล การปฏิบัติการด้านการข่าว และการต่อต้านข่าวกรองเพิ่มเติมด้วย

ที่มาข่าว: กรุงเทพธุรกิจ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net