Skip to main content
sharethis

“เบเนดิก แอนเดอร์สัน” อภิปรายที่ ม.เชียงใหม่ มองการเมืองไทยผ่านลักษณะของ “คณาธิปไตย” พร้อมตัวชี้วัดคณาธิปไตยจาก “ถ้อยคำ” และ “คนรับใช้” ข้อสังเกตเรื่องคนเสื้อแดงจากภูมิภาคของเจ้าพ่อและฝ่ายซ้าย บทบาทชนชั้นกลาง ทิ้งท้ายด้วยความเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ยุโรป

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 54 ที่ ห้องประชุม ศ.ดร.มล. ตุ้ย ชุมสาย อาคาร HB7 ชั้น 8 อาคาร HB7 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการเสวนาหัวข้อ “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก” มีผู้อภิปรายคือ ศาสตราจารย์ เบเนดิก แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) โดย “ประชาไท” แปลและเรียบเรียงบางส่วนซึ่งเป็นการอภิปรายของเบเนดิก มีรายละเอียดดังนี้

 

เรื่องเล่าของแท็กซี่ การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างจีนในเมืองไทย

เบเนดิก เริ่มการอภิปราย ผ่านการเล่าเรื่องการสนทนาของเขากับคนขับรถแท็กซี่ว่า เมื่อช่วง 10 เดือนก่อนว่า เขาต้องขึ้นรถแท็กซี่ในเวลาตี 5 เพื่อเดินทางไปสนามบินหนองงูเห่า ซึ่งเบเนดิกพบกับคนขับรถแท็กซี่ซึ่งเป็นคนจีนจากเยาวราช เกิดเมืองไทย พูดภาษาไทยกลางได้พอสมควร

เบเนดิกถามคนขับรถแท็กซี่ว่า เขารู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการเมืองไทย ชายขับรถแท็กซี่ตอบว่า รักทักษิณมาก เนื่องจากทักษิณเป็นคนจีนแคะ (ฮากกา) คนจีนแคะมีความกล้าหาญ มีเกียรติ และอุดมคตินิยม และเป็นผู้นำการก่อกบฏต่อราชวงศ์ชิง คือกบฏไท้ผิง ส่วนสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นจีนไหหลำ ชอบโกหกและงี่เง่า อภิสิทธิ์เป็นคนจีนฮกเกี้ยนและเวียดนาม ฮกเกี้ยนดูถูกคนอื่น และรู้สึกว่าฉลาดกว่าคนอื่น ส่วน […] คนแต้จิ๋ว เป็นนกสองหัวไม่น่าไว้วางใจ 100% ชายขับแท็กซี่บอกว่า เมืองไทยครั้งนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างจีนแคะ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน ไหหลำ เบเนดิกกล่าวกับคนขับแท็กซี่ว่าเหมือน 3 ก๊ก คนขับแท็กซี่บอกว่าจริง

เบเนดิก เล่าต่อว่า เมื่อถามถึงคนไทย ชายขับแท็กซี่ชาวจีนกล่าวว่า คนไทยไม่คิดมาก สบายๆ สนุกๆ ไม่เข้าใจการเมือง เบนถามว่า หมายความว่า คนไทยไม่มีบทบาททางการเมืองหรือ คนขับแท็กซี่บอกว่ามีบ้างเล็กๆ น้อยๆ

เบเนดิก กล่าวว่า สำหรับผมหากพูดแบบซีเรียส ก็เป็นเรื่องน่าคิดน่าฟังอยู่ที่ว่าคนที่กรุงเทพฯ มุงดูสิ่งที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยสายตาที่ต่างกันมาก แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ

 

คณาธิปไตย และ ประชาธิปไตยครึ่งใบ

เบเนดิกอภิปรายต่อไปว่า ขอยกตัวอย่างจากงานของ อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) หนึ่งในนักเรียนที่ดีที่สุดของผม เคยอธิบายเรื่อง “Semi-Democracy” (ประชาธิปไตยครึ่งใบ) คือ 50% เป็นประชาธิปไตย คือถ้าคุณกล่าวว่า 50% ประชาธิปไตย แสดงว่ามีอีก 50% ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย-ต่อต้านประชาธิปไตย และรัฐอื่นๆ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเมืองไทย ทั้งหมดนี้เป็น ประชาธิปไตยครึ่งใบ เช่นกัน

รัฐเหล่านี้ทั้งหลาย ไม่ใช่แค่เมืองไทย ถูกควบคุมโดย “Oligarchy” หรือ คณาธิปไตย” โดยคณาธิปไตยเหล่านี้เชื่อมต่อเข้าด้วยกันผ่านการเป็นเครือญาติ มีการส่งสมาชิกครอบครัวเข้าไปในวงราชการ และวงการธุรกิจ ส่งลูกเรียนในโรงเรียนเดียวกัน มีการแต่งงานระหว่างเครือญาติ และมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายด้าน พวกเขาไม่ได้แข่งกันเอง และพวกเขายอมให้คนนอกเข้ามาร่วมวงได้บ้าง แต่ไม่ถึงกับเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญของเรื่องวัฒนธรรม หรือวิธีคิดของคณาธิปไตย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ พวกเขาจะไม่นำประเด็นเรื่องกิจกรรมทางเพศไปโจมตีคณาธิปไตยด้วยกันเอง เช่น จะไม่มีทางไปบอกหนังสือพิมพ์ว่าในหมู่คณาธิปไตยบางคนมีแฟนหลายคน นอกจากนี้ในหากพวกคณาธิปไตยจะแข่งขันกัน พวกเขาจะอยู่บนสิ่งที่ตกลงร่วมกันด้วย

ในเรื่องการจัดองค์กรฝ่ายค้าน เป็นเรื่องที่ง่ายและเป็นความเคลื่อนไหวที่เร็วมากที่ ส.ส. จะย้ายจากพรรคอื่นสู่พรรคอื่น โดยไม่มีบทลงโทษ ดูได้ในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย ที่จะมี ส.ส. จะย้ายจากพรรคหนึ่งไปพรรคหนึ่งอย่างรวดเร็ว ซึ่งต่างจากฝรั่งเศส อังกฤษ หรือสหรัฐอเมริกา เพราะพรรคการเมืองในประเทศนั้นมีอายุยาวนานมาก เราสามารถพิจารณาได้จากกรณีของเนวิน (ชิดชอบ) ที่เคยเป็นมือขวาของทักษิณ และกลายเป็นมือซ้ายของอภิสิทธิ์

เมื่ออินโดนีเซียมีการเลือกตั้งเสรี ภายหลังการล่มสลายของระบอบซูฮาร์โต ผมได้พบกับผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกาด้านกฎหมายการเลือกตั้ง ผมได้กล่าวกับเขาว่า “นี่นักข่าวต่างบอกว่า เป็นสิ่งที่สวยงามมาก ที่อินโดนีเซียกำลังมุ่งไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คุณเห็นว่าอย่างไร” ผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าว บอกว่า เขาได้ให้คำแนะนำมาแล้ว 35 ประเทศ ในรอบ 15-20 ปี เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายการเลือกตั้ง และได้ให้คำแนะนำแก่รัฐบาลอินโดนีเซีย แต่กฎหมายเลือกตั้งนี้แย่สุด เท่าที่ผมเคยเห็นมา” ผมถามเขาว่า “นี่อุบัติเหตุหรือ” เขาตอบว่า “ไม่ พวกเขาต้องการแบบนั้น ต้องการกฎหมายแบบนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าคณาธิปไตยจะยังคงแข็งแกร่ง ถ้ามีกฎหมายเลือกตั้งที่เข้มแข็ง ประชาชนก็จะโค่นพวกเขา”

 

ถ้อยคำของคณาธิปไตย

เบเนดิกอภิปรายถึงแนวทางอื่นสำหรับพิจารณาเรื่องคณาธิปไตย โดยกล่าวว่า บางประเด็นน่าสนใจ บางคนอาจจะสนใจทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือเพ่งความสนใจไปที่สิ่งที่คณาธิปไตยชอบพูด สิ่งที่คณาธิปไตยจะพูดเสมอก็คือคำว่า “Give” ไม่แน่ใจว่าจะใช้คำไทยที่ดีที่สุดเรียกว่าอะไรดี คำที่เห็นในภาษาที่ใช้ หรือ สุนทรพจน์ในที่สาธารณะของคณาธิปไตยก็คือ ผู้นำจะทำเหมือนคุณปู่คุณตาให้ของขวัญที่ดีแก่หลาน เช่น จะให้การศึกษาฟรีแก่เด็ก มีเงินประกันราคาพืชผลแก่เกษตรกร ทำระบบสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ให้ทุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มอบคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียน แจกผ้าห่มให้กับกลุ่มชาติพันธุ์

ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ประชาชนจะรู้สึกดูแคลนและรู้สึกแปลกๆ ถ้าเกิดประธานาธิบดีโอบามาออกทีวีและพูดว่าผมจะให้งานทำ 1 ล้านตำแหน่งแก่พวกคุณ นี่เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณไปลอนดอน ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะจินตนาการว่าจะเห็นนายกรัฐมนตรีพูดว่า ผมจะมอบโครงการสาธารณสุขที่ดีให้แก่พวกคุณ

ภาษาของคณาธิปไตยจะกล่าวด้วยถ้อยคำที่ดีมากๆ สิ่งนี้เองสะท้อนถึงแนวคิดของคณาธิปไตย ซึ่งอยู่บนรากฐานของระบบศักดินา

ทุกครั้งที่ได้ยินสมาชิกของคณาธิปไตยแบบไทยกล่าวปราศรัย ขอให้สังเกตถ้อยคำซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชน

ไม่เพียงแค่ประเทศไทย แม้แต่ในอินโดนีเซียช่วงปี 1950 ผู้นำทางการเมืองที่นำการต่อสู้เพื่อเอกราชก็ใช้ถ้อยคำทำนองว่า “ประชาชนยังคงโง่ ไม่ใช่เพราะประชาชนโง่โดยธรรมชาติ แต่เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาช่วงอาณานิคม ดังนั้นต้องหยุดความโง่” แต่วันนี้ 60 กว่าปีหลังได้รับเอกราช คณาธิปไตยอินโดนีเซียก็ยังพูดแบบเดิมว่า “ประชาชนแย่มาก ประชาชนยังคงโง่” แม้จะผ่านมา 60 ปีแล้ว แนวคิดของคณาธิปไตยก็นี้คือ “ถ้าประชาชนโง่ แสดงว่าประชาชนจะโง่เสมอ ประชาชนโง่ตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเป็นสิทธิของคณาธิปไตยที่จะปกครอง”

 

คนรับใช้: ดัชนีชี้วัดคณาธิปไตย

เนเนดิกกล่าวต่อไปว่า ในปี 1910 หรือเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ประชากร 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30 ของคนวัยทำงานในเมืองนิวยอร์ก เป็นคนทำงานบ้าน คนขับแท็กซี่ พี่เลี้ยงเด็ก คนทำสวน แต่อีก 20 ปีต่อมา หรือ 80 ปีที่แล้ว ทำให้คนกลุ่มนี้ลดลงจำนวนมาก และหายไป ในกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (industrial civilization) เริ่มมีการประดิษฐ์อุปกรณ์ทำความสะอาด และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ทำให้การทำความสะอาด ทำครัว ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และสะอาดขึ้น ดังนั้นภรรยาแบบอเมริกันควรจะทำงานพวกนี้เองได้ แต่สิ่งนี้ไม่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งมาเลเซีย ทั้งสิงคโปร์ แม้ในบ้านของชนชั้นกลาง “กระฎุมพี” จะมีอุปกรณ์ทำงานบ้าน ที่ทำงานได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังมีคนใช้

คำถามคือ ทำไม? ก็เพราะ จากงานวิจัยบางชิ้นในอินโดนีเซีย ผมไม่แน่ใจว่ามีการวิจัยในเมืองไทยหรือไม่ คำตอบคือ เป็นที่ชัดเจนมากว่าแนวคิดแบบ “คณาธิปไตย” ถูกเพาะหว่านอยู่ในความคิดของชนชั้นกลาง ถ้าคุณไม่มีคนรับใช้ ก็ไม่ใช่คนชั้นกลางจริง คนรับใช้กลายเป็นสัญลักษณ์ของบ้านแบบศักดินาแบบเก่า คนรับใช้ไม่ได้เป็นสมาชิกจริงๆ ของบ้าน คนรับใช้สามารถถูกไล่ออกจากงานได้ง่ายๆ หรือถูกปฏิบัติอย่างไม่ดีนัก

ผมเคยอยู่คอนโดชนชั้นกลางย่านฝั่งธนบุรี มีคนอาศัยในคอนโด 250 คน ทุกๆ ปีใหม่ ผมให้ของขวัญแก่ยาม แม่บ้าน และคนในสำนักงาน เพื่อแสดงความยกย่อง ผมคิดว่าทำในสิ่งที่เป็นธรรมเนียมไทยมากๆ แต่พบว่าไม่มีใครในคอนโดให้อะไรแก่คนที่ดูแลคอนโดให้สะอาดเลย หรือไม่แม้แต่จะถามชื่อแม่บ้าน คนไทยมีลำดับชั้นในการเรียกคนเยอะ นายจ้างไม่ชอบเรียกลูกจ้างว่าน้อง และจะฉุนมากถ้าลูกจ้างเรียกนายจ้างของตัวเองว่าพี่

นี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจในภาษาไทย เพราะในภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่จะเรียกขานต่อกันว่า “Brother” และเป็นคำที่นิยมทางการเมือง ซึ่งหมายถึงมีความเป็นญาติกัน และแสดงความเท่าเทียมกัน แต่เป็นเรื่องยากมากในการเรียกกันว่า “Brother” แบบไทย ภาษาไทยคือ พี่ชาย น้องชาย หรือ พี่สาว น้องสาว ผมรู้ว่าซึ่งไม่มีคำที่จะใช้เรียกขานอย่างเท่าเทียมกัน เพราะคำว่าพี่น้องถ้าไม่แปลว่าบางคนสูงกว่า ก็แปลว่าบางคนต่ำกว่า นี่เป็นมาตรฐานของแนวคิดแบบชนชั้นกลาง

แม้แต่ในมหาวิทยาลัย แม้แต่การเรียกขานเพื่อนร่วมงาน เพื่อนในชั้นเรียน ยังพบผู้คนเรียกขานกันว่า “ท่าน” ซึ่งในศตวรรษที่ 21 ยังคงพบการใช้คำแบบนี้กันอีก

 

คนเสื้อแดงจากภูมิภาคของเจ้าพ่อ และ ฝ่ายซ้าย

เบเนดิก ให้ข้อสังเกตต่อผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ คือ นปช. ว่า ผมรู้สึกประหลาดใจว่า ถ้าคุณได้มีส่วนร่วมในการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกของคนเสื้อแดง[น่าจะหมายถึงการชุมนุมปี 2552 – ประชาไท] ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน แต่ละกลุ่มจะมีป้ายที่บอกว่ามาจากขอนแก่น อุดรธานี และมีน้อยมากที่จะเป็นคนหนุ่มสาว ผู้คนที่มาอายุ 40 ถึง 50 ปี หรือมากกว่านั้น ซึ่งในประวัติศาสตร์ไทยถ้ามีการชุมนุมใหญ่ มักจะเป็นเด็กวัยรุ่น หนุ่มสาว นักศึกษา

คนที่ร่วมการชุมนุมมาจากภูมิภาคที่สภาพการทำงานแย่ที่สุด และอยู่ในพื้นที่ๆ วัฒนธรรมเจ้าพ่อเข้มแข็ง  

เบเนดิกอภิปรายต่อไปว่า ถ้าผมจำได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 อีสานเป็นภูมิภาคของฝ่ายซ้าย ในยุคเสรีไทย ก็เป็นฐานของเสรีไทย และสามารถดูในการเลือกตั้งเสรี ซึ่งมีการจัดการเลือกตั้งในปี 1975 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และก่อน 6 ตุลาคม ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้น มีมากกว่า ส.ส.ฝ่ายซ้าย หรือนักกิจกรรมได้รับการเลือกตั้งจากอีสาน โดยผมจำได้ดีถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่ง อายุราว 23 ถึง 24 ปี เป็น ส.ส. ที่ได้รับเลือกมาจาก จ.ยโสธร ซึ่งเขาหาเสียงโดยใช้จักรยาน

และเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีความเข้มแข็งในพื้นที่ และในพื้นที่เองก็เผชิญประสบการณ์การปราบปรามจากทหารและตำรวจ ผู้คนที่อายุน้อยมากๆ ที่เติบโตในภาคอีสานในช่วงทศวรรษที่ 1970 ต่างมีประสบการณ์ที่เลวร้ายในการถูกปราบปราม ดังนั้น พคท. ดูจะช่วยอะไรได้มากกว่ารัฐบาลในปี 1977 ที่มีแนวทางอนุรักษ์นิยม

เบเนดิกยังกล่าวด้วยว่า คนจากภาคอีสานไปอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ แม้แต่ในไชน่าทาวน์ก็ไม่น่าเชื่อว่ามีคนอีสานอยู่ในไชน่าทาวน์มากขึ้นๆ และเมื่อคุณมองดูโทรทัศน์ก็จะเห็นสาวสวยผิวคล้ำจากอีสาน บ้างเป็นลูกครึ่ง ซึ่งนี่ก็เป็น new trend ของกรุงเทพฯ

 

บทบาทอันสันสนของชนชั้นกลาง และสัตว์ประหลาดในอนาคตการเมืองไทย

เบเนดิกอภิปรายต่อไปว่า คำถามต่อมาคือ อะไรคือบทบาทของชนชั้นกลาง ถ้าคุณดูที่การพัฒนาขนานใหญ่โดยนักเขียน พระ สถาปนิก พวกนักคิดทางสังคม นักปรัชญา ในช่วงทศวรรษ 1920 พวกเขาล้วนเติบโตมาจากพื้นเพชนชั้นกลาง และจำเป็นที่จะต้องจดจำด้วยว่า ชนชั้นกลางเองยังมีบทบาทอย่างสูงในหมู่ชนชั้นอภิสิทธิ์ พวกคุณควรจะต้องจำด้วยว่า ชนชั้นกลางนี่เองได้ทำลายปารีสคอมมูนในปี 1871 และมีคนจำนวนมากถูกประหารชีวิตโดยพวกกระฎุมพี

นี่สิ่งที่เป็นภาพแตกต่างอย่างมากกับไทย ก็คือ “อะไรเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางไทยสมัยใหม่อุทิศเอาไว้” เวลาผมคิดเกี่ยวกับประเทศไทย ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนว่ากรุงเทพฯ มีนักประพันธ์ที่เยี่ยม ประเทศไทยสมัยใหม่ผลิตนักบวชที่ยิ่งใหญ่ นักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ สถาปนิกที่ยิ่งใหญ่ ผมไม่แน่ใจ แต่เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากว่า คนที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ระดับโลก ได้รางวัลปาล์มทองคำจากเมืองคานส์ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” มาจาก จ.ขอนแก่น ไม่ได้มาจากกรุงเทพฯ

ซึ่งกระฎุมพีควรจะชื่นชมเขา แต่ตามประสบการณ์บอกผมว่า กระฎุมพีในเมืองไทยบอกว่าไม่เคยได้ยินชื่ออภิชาติพงศ์ หรือไม่ได้ดูภาพยนตร์ของเขาที่ถูกเซ็นเซอร์มาก่อน เมื่อผมถามนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในชั้นเรียนว่ามีใครรู้จักอภิชาติพงศ์บ้าง ก็มีประมาณ 20% ถามว่าใครเคยดูภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์บ้างก็มีประมาณ 4 คน

กระฎุมพีบางกอก ชอบอะไรที่เป็นสากล แต่แนวทางที่ชนชั้นกลางกรุงเทพฯ คิดเกี่ยวกับสากลก็คือ พวกเขาดูหนังขยะฮอลลีวูดทุกอาทิตย์ ดูหนังกำลังภายใน กินอาหารดีๆ ใช้จ่ายแพงๆ ช่วงวันหยุด ชอบปิ้ง และยากที่จะหาอาคารสมัยใหม่ที่ดูสวยงาม ในกรุงเทพฯ และคุณจะสามารถเห็นสถาปัตยกรรมซึ่งออกแบบโดยชาวเขมร

ชนชั้นกลางสนับสนุนการเดินขบวนเมื่อ 14 ตุลาคม ชนชั้นเดียวกันนี้เองที่เคยสนับสนุนทักษิณ และต่อมาหันมาต่อต้านทักษิณ และขณะนี้สนับสนุนพันธมิตรฯ คือไม่มีแนวคิดที่ชัดเจนที่จะบอกว่าควรทำอย่างไรกับประเทศนี้ เป็นการยากที่จินตนาการถึงอนาคตของประเทศนี้ ซึ่งก็เหมือนกับที่คนขับรถแท็กซี่ชาวจีนบอกผม

ส่วนแนวทางที่จะเกิดขึ้นในการเมืองไทย ผมนึกถึงคำกล่าวที่มีชื่อเสียง ของนักมาร์กซิสต์ชาวอิตาลี อันโตนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci) กล่าวว่า “คนเก่าก็ปฏิเสธที่จะตาย คนใหม่ก็ต่อสู้ที่จะเกิด ในที่สุดก็เกิดสัตว์ประหลาดขึ้นมา” (“When the old refused to die, and the new is struggling to be born, then monster will appear.”) ถ้าคุณคิดถึงในอนาคตของการเมืองไทย ก็คือสิ่งเก่ากำลังจะตาย และสิ่งใหม่ยังไม่พร้อมจะเกิดขึ้น

 

สถาบันกษัตริย์ในยุโรป และหนังสือพิมพ์แทบลอยด์

ในช่วงท้าย เบเนดิก อภิปรายเรื่องสถาบันกษัตริย์ในยุโรปว่า ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 19 สถาบันกษัตริย์ในยุโรปถูกกดดันจากสังคมมาก และถูกวิจารณ์ในหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ ตามธรรมเนียมในยุโรปสถาบันกษัตริย์ถือเป็นมนุษย์พิเศษ แบบพระเจ้าของคริสต์ศาสนา มีอำนาจแม้แต่จะรักษาโรคเพียงใช้มือแตะยังคนป่วย แต่พฤติกรรมการใช้เวทย์มนต์รักษาโรคเช่นว่านี้ยุติเมื่อต้นศตวรรษที่ 18 เมื่อมีการพัฒนาเรื่องการแพทย์ แนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์แบบไสยศาสตร์ในยุโรปเริ่มเสื่อมถอย ขณะที่แนวคิดเรื่องสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกลายเป็นแนวคิดที่มีความสำคัญกว่า

สถาบันกษัตริย์ในยุโรปยังต้องปรับตัวให้เข้ากับแนวคิดเรื่องชาติ (Nationality) และสร้างปัญหาให้กับสถาบันกษัตริย์ในจักรวรรดิใหญ่ๆ ซึ่งมีความแตกต่างทางเชื้อชาติอย่าง จักรวรรดิรัสเซีย ฮังการี บริติช ว่าพวกเขาจะมีเชื้อชาติอะไรเนื่องจากกษัตริย์มาจากพระเจ้า สถาบันกษัตริย์ในยุโรปต้องปรับเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในยุโรป มีความคาดหวังว่า พระราชา พระราชินี ในยุโรปจะต้อง “เรียบร้อย” และสิ่งที่สำคัญกว่านั้น ในยุโรปเริ่มเชื่อว่าถ้าราชวงศ์หมดอำนาจ จะไม่สามารถแทนที่ด้วยราชวงศ์อื่น จะไม่มีราชวงศ์อื่นแล้ว ราชวงศ์นี้จึงเป็นราชวงศ์สุดท้าย

ในช่วงปี 1911 ถึง 1921 ระบบกษัตริย์ในรัสเซีย จีน ออสเตรีย-ฮังการี ออตโตมาน เยอรมนี ล้วนถูกยุบเลิกไป เหลือแต่ราชวงศ์ของอังกฤษ และในอังกฤษถ้าหากถามว่าใครเป็นกษัตริย์ที่ดีที่สุด คนอังกฤษจะมีคำตอบแต่พระชาชินี ซึ่งมีฐานะเป็นประมุข ไม่ใช่พระราชินีที่เป็นพระชายาของกษัตริย์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net