Skip to main content
sharethis

กลุ่มคัดค้านเขื่อนคลองช้างยื่นฎีกาลบล้างความต้องการอ่างเก็บน้ำ อ้างสตูลไม่ขาดน้ำ กรรมการสิทธิฯ ชี้โครงการกระทบชุมชน พื้นที่ทำกิน

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน พร้อมคณะประกอบด้วย นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ ดร.อาภา หวังเกียรติ นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ลงพื้นที่บ้านโตน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล เพื่อรับฟังปัญหาและสำรวจอาณาเขตโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง (เขื่อนทุ่งนุ้ย) หลังจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่า โครงการนี้อาจส่งผลกระทบกับป่าต้นน้ำและพื้นที่ชุมชน

นายแพทย์นิรันดร์ เปิดเผยต่อไปว่า โครงการอ่างเก็บน้ำคลองช้างส่งผลกระทบสิทธิชุมชนและสิทธิต่อการมีชีวิต รวมถึงวิถีชีวิตในการทำมาหากิน เศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน เนื่องจากพื้นที่โครงการ 18,000 ไร่ เป็นสวนยางพารา สวนผลไม้และพื้นที่เกษตร มีคนใช้ประโยชน์ในพื้นที่กว่า 1,000 ครอบครัว ที่ทำมาหากินเป็นร้อยปี

นายแพทย์นิรันดร์ เปิดเผยอีกว่า พื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ อีกทั้งยังเป็นป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ ดังนั้นการสร้างอ่างเก็บน้ำ โดยอ้างว่าเพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งในอำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลงและอำเภอเมือง จังหวัดสตูล จึงไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่ถูกต้องนัก เพราะในจังหวัดสตูล มีคลองประมาณ 20 สาย จึงเป็นโครงการที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของพื้นที่ที่ไม่ได้ขาดแคลนน้ำ

นายแพทย์นิรันดร์ เปิดเผยด้วยว่า นอกจากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่แล้ว คณะอนุกรรมการฯ ยังต้องตรวจสอบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น กรมชลประทาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง ขณะเดียวกันจะต้องตรวจสอบใบถวายฎีกาต่อสำนักพระราชวังของนายไซนาฮำซ๊ะ แสงนวล กรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกด้วย เนื่องจากอ้างว่า จังหวัดสตูลมีความแห้งแล้ง ต้องการอ่างเก็บน้ำ โดยจะดูเหตุผลซึ่งเป็นมติจากคณะกรรมการลุ่มน้ำฯ ในเรื่องนี้อย่างไร

“ผมจะทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักพระราชวังว่า เรื่องนี้มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะบ่อยครั้งที่เราพบว่า โครงการต่างๆ มีการแอบอ้างว่าเป็นโครงการในพระราชดำริ และเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบกับชาวบ้าน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจกระทบถึงสถาบันพระมหากษัตริย์” นายแพทย์นิรันดร์ กล่าว

นายสุกรี เศษระนำ กรรมการเครือข่ายประชาชนรักษ์คลองช้าง ตำบลทุ่งนุ้ย เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายฯจะยื่นถวายฎีกาต่อสำนักพระราชวังด้วยเช่นกันว่า ชาวบ้านไม่ต้องการอ่างเก็บน้ำ เพื่อแสดงเจตจำนงลบล้างฎีกาของนายไซนาฮัมซ๊ะ

“พื้นที่โครงการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของชาวบ้าน มีสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้และการเกษตรอื่นๆ เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสมุนไพรนานาชนิด มีสมเสร็จ นิ่ม ลิง ค่าง นกเงือกและสัตว์ป่าหลายชนิด” นายสุกรี กล่าว

นายไซนาฮัมซ๊ะ แสงนวล กล่าวว่า ตนได้ยื่นถวายฎีกาพร้อมแนบรายชื่อชาวบ้าน 4 หมู่บ้านในตำบลทุ่งนุ้ย รวม 100 คนไปยังสำนักพระราชวังเมื่อปี 2552 เพื่อให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำที่จังหวัดสตูล เนื่องจากชาวบ้านหมู่ที่1, 7, 10, 12 ตำบลทุ่งนุ้ย ไม่มีน้ำในการทำนา

สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองช้าง เป็นโครงการของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ระหว่างการจัดทำโครงการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำคลองช้าง ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2554 ชาวบ้านได้รวมตัวต่อต้านการลงพื้นที่สำรวจที่ตั้งโครงการของคณะทีปรึกษา จนต้องล้มเลิกการลงพื้นที่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net