Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รวดเร็วและไวปานลมหัวกุด สำหรับ “งานวันเด็กสองฝั่งโขง : มิตรภาพไร้พรมแดน ปี 2554” มีเด็กๆ เยาวชนมาเข้าร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะเพื่อนบ้านจากประเทศลาวที่พาเด็กๆแต่งกายชุดนักเรียนมาร่วมในงานวันเด็กในปีนี้  ซึ่งถือว่าเป็นปีแรก บรรยากาศอบอวลไปด้วยความคึกคัก เนื่องจากปีนี้พิเศษหน่อย มีผู้ใหญ่ใจดีมากมายที่สนับสนุนกิจกรรมวันเด็ก โดยเฉพาะทีมงานที่นำโดย ‘พี่แหม่ม’ กลุ่มใจรักษ์ จึงอาสา อุตส่าห์ขนของมาจากกรุงเทพ ความฉุกละหุกมากล้นจนวินาทีสุดท้ายกันเลยเชียว แต่ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี สัมภาระถูกส่งถึงอุบลฯพร้อมทั้งพี่แหม่มกับพี่แขกประมาณ 4 ทุ่ม ใต้ถุนบ้านแม่แดงแทบไม่มีที่วาง ‘น้องกลุ่มข้าวเหนียวปั้นน้อย’ รวมถึงพี่เลี้ยงอาสาฯจากหลายพื้นที่ช่วยกันจัดแยกสิ่งของไว้เป็นชุดยังไม่รวมน้ำใจอีกหลายกระบุงที่สนับสนุนเป็นงบประมาณค่าอาหารมาอีกจากหลายพื้นที่ พี่น้องมวลมิตรที่มีจิตใจดี ทำให้งานผ่านพ้นไปโดยปราศจากอุปสรรค

เช้าวันที่ 8 มกราคม 2554 พี่น้องที่มีหน้าที่ถูกแบ่งไปตามภาระงาน ดูเหมือนทุกคนรู้หน้าที่กระตือรือร้น และร่วมมือกันดี เด็กๆจาก ‘บะไห’ เป็นกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึง จำนวน 4 คันรถ  มายืนเรียงคิวรอลงทะเบียนกันก่อนบ้านเจ้าภาพร่วมคือ ‘บ้านตามุย’ เสียอีก เสียงเพลงเด็กๆวงสองวัยถูกเปิดกล่อมเพิ่มดีกรีการจัดงานเพื่อเด็กๆ ตั้งแต่เช้า เด็กๆ จาก ‘บ้านดอนกุ่ม’ นั่งเรือข้ามโขงมาเป็นกลุ่มแรกด้วยชุดนักเรียนที่เรียบร้อยและเป็นเอกลักษณ์ดูน่ารัก จากนั้นไม่นาน ‘บ้านสุระ’ ‘คำตื้อ’ ก็ข้ามโขงตามมาสมทบ ร่วมกับ ‘บ้านตามุย’ ต่างมาเรียงรายนั่งรอที่หน้าเวทีเป็นที่เรียบร้อย กิจกรรมวันเด็กสองฝั่งโขง จึงเริ่มขึ้น ...

“อิ่มมั๊ย”หมดช่วงสะระวน ข้าพเจ้าดอดไปถามชาวบ้านจากฝั่งลาวที่อุ้มลูกยืนมองดูการแสดงของเด็กๆ
“อิ่มอยู่ ไปกินก๋วยเตี๋ยวมาแล้ว หวั่งหั่น” เสียงตอบเป็นกันเองจากชาวบ้าน ทำให้ข้าพเจ้ายิ้มออกได้โดยไม่ต้องมากังวลว่าพี่น้องจากฝั่งลาวจะไม่กล้าเข้ามากินอาหารที่จัดเตรียมไว้ 

ผ่านไปเกือบเที่ยง พี่ตาลเดินมาบอก “อาหารที่เตรียมดูท่าสิบ่พอดั๋ย พี่น้องมาหลายเกินที่ประเมินไว่ ”
“อืม ค่ะ” ข้าพเจ้าหยุดใช้ความคิด “เอาจั่งสิ ไปเอาหมูมาอีกโตเด้ออ้ายตาล ไปเอาเงินจากพ่อไวก่อน ถ่อได๋จะจัดไปอย่าหั่ยพี่น้องหิวอด” การแก้ปัญหายกแรกเริ่มขึ้น หลังจากที่ดูแล้วว่าพี่น้องมากันมาก กว่า 300  คน เป็นเด็ก 200 คน และผู้ใหญ่กว่า 100 คน โดยผู้ร่วมงานครึ่งหนึ่งข้ามโขงมาจากฝั่งลาว ซึ่งเป็นจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้

สิ่งของสำหรับแจกในวันเด็กปีนี้ ประเภทขนมมีน้อยกว่าปีที่แล้วแต่ของแจกที่เป็นสิ่งของมีมากกว่าหลายเท่า จึงทำให้บรรยากาศงานค่อนข้างคึกคัก เพราะหลายคนที่มาร่วมงานวันเด็กปีนี้ต่างรอลุ้นรับสิ่งของแจกที่กองรวมกันเป็นพะเนินอยู่ด้านข้างเวที ส่วนใครที่หิวก็มีอาหารให้ได้กินกันตลอด ตามแต่ใจชอบ..’เฝอ’ หรือก้วยเตี๋ยว ราดหน้า ผัดหมี่ ก้วยจั๊บ ตั้งรอไว้ตั้งแต่งานเริ่ม  เด็กและผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานส่วนใหญ่ไม่ได้กินข้าวกันมา ทำให้อาหารถูกลำเลียงมาฮับต้อนกันเป็นระยะๆ

กิจกรรมทุกกิจกรรมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี  อาจเพราะของรางวัลที่มีมากนั่นเอง น้องๆจากฝั่ง ‘บ้านดอนกุ่ม’ เตรียมการแสดงมาร่วมด้วย 1 ชุด ประกอบไปด้วยนางรำ นักร้องและนักดนตรีที่มีเพียงกลองยาวหนึ่งใบมาตีแต่ก็ดูน่ารักและสนุกไปอีกแบบกับบรรยากาศความสดของการแสดง...

“ปีหน้าพวกหนูจะมาอีก และจะเตรียมการแสดงมาอีกคือเก่า” หนึ่งในทีมการแสดงบอกแก่พวกเรา

 

ผู้ใหญ่ที่มาด้วยก็สนุกสนานเพราะได้ร่วมเล่นเกมส์และมีของรางวัลไม่อั้นไว้แจกผู้ชนะทำให้งานวันเด็กในปีนี้ดูครึกครื้น คนลุ่มน้ำเดียวกัน มาโฮมกัน ดูเหมือนวันนี้เส้นแบ่งประเทศจะถูกลบเลือนไปชั่วขณะดูทุกคนร้อยรัดหลอมรวมเชื่อมสัมพันธ์แบบเป็นพี่เป็นน้อง เอิ้นกันกินข้าวอยู่ตามใต้ถุน 

“เมื่อก่อนเราก็สัมพันธ์กันแบบนี้แหละ” พ่อวัย ป้องพิมพ์ ชาวบ้านตามุย เล่าให้ฟัง ว่าแต่ก่อนที่จะเกิดศึกสงครามในเมืองลาว ชาวบ้านตามุยข้ามไปทำสวนทำไร่ที่ฟากโขงคือฝั่งบ้านดอนกุ่ม บ้านสุระ ทำไร่มัน ไร่ปอ ปลูกข้าวโพด สารพัด แต่พอเกิดสงคราม เมื่อปี 2516 ทาง สปป.ลาวเข้มงวดขึ้น มีทหารเข้ามาอยู่ตามตะเข็บโขงจนเกิดกลายเป็นหมู่บ้าน ดอนกุ่ม บ้านคำตื้อ บ้านสุระขึ้น ส่วนใหญ่เป็นทหาร และเริ่มมาหนักขึ้นช่วงที่เมืองลาวแตกปี 2518 เกิดการกวดขันเข้มงวดและระแวดระวังเพิ่มขึ้นอีก เพราะกลัวว่ากลุ่มลาวที่หนีข้ามมายังไทย จะกลับไปตีเอาเมืองลาวคืน และกลุ่มที่ข้ามมานี่เองปัจจุบันพวกเขาเหล่านี้ได้กลายมาเป็น ‘กลุ่มคนลาวอพยพ’ หลายคนแต่งงานอยู่กินกับคนสัญชาติไทย ซึ่งรุ่นลูกหลานต่างพากันเกิดฝั่งไทย และอยู่จนกลมกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยไปแล้ว กลุ่มคนลาวอพยพในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีอยู่ในหลายอำเภอ ได้แก่ โขงเจียม โพธิ์ไทร ศรีเมืองใหม่ เขมราฐ และบุณทริก ซึ่งยังรอการแก้ไขปัญหาทางด้านสถานะจนถึงปัจจุบันนี้

ทั้งนี้การดำเนินการของรัฐไทยคือหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็น “คนไทย” รัฐบาลไทยมีนโยบายสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติให้คนกลุ่มนี้ พวกเขาจะได้รับบัตรแสดงตนสีฟ้าขอบน้ำเงิน และระบุว่าเป็น “ลาวอพยพ” สถานะของคนกลุ่มนี้ตามกฎหมายไทยก็คือ คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แม้การมีสัญชาติลาวหรือไม่ ยังคงเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศลาว แต่เขาไม่ไร้รัฐแล้ว เพราะมีสถานะเป็น “ราษฎรไทย” ด้วย อย่างไรก็ดี-แน่นอนว่ามีคนจำนวนหนึ่งตกหล่นการสำรวจดังกล่าว

และปี 2547  รัฐบาลไทยได้เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา มาขึ้นทะเบียนขอใบอนุญาตทำงาน โดยมีกระบวนการที่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมาคือ นโยบายกำหนดให้แรงงานต้องมารับการสำรวจและบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลเข้าในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรก่อน โดยจะมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในเมืองไทยได้ 1 ปี เอกสารท.ร.38/1 ที่ได้รับ จะทำให้คนไร้รัฐสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกจับ โดยชาวบ้านที่บ้านบะไหเล่าว่า เวลานั้นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประกาศให้คนที่ไม่มีเอกสารอะไรเลย (คนไร้รัฐ) ไปรับการสำรวจและรับท.ร.38/1  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “บัตรใบตองกุง”

และอาจด้วยเพราะเบื่อหน่ายกับความกลัวถูกจับ การไร้ตัวตนในสายตาของกฎหมาย ชาวบ้านหลายคนของบ้านบะไห(ถูกผลักให้ต้อง) เลือกที่จะถือท.ร.38/1 กลายเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ พร้อมๆ กับ พูดได้ว่า ปรากฎการณ์เดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ บริเวณชายแดน พื้นที่ห่างไกลความเจริญ หรือในอีกหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่มีคนไร้รัฐปรากฏตัวอยู่ (ปี 2547 สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติระบุว่ามีคนไร้รัฐไร้สัญชาติหรือบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลจำนวนประมาณ 2 ล้านคน) [1]  ในขณะที่รุ่นลูกซึ่งเกิดในประเทศไทยซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการเรื่องการลงรายการสัญชาติไทย ซึ่งพบว่ามีทั้งปัญหาการทุจริตในพื้นที่ ทัศนคติในการแก้ไขปัญหาของผู้นำชุมชนที่ไม่เข้าใจสภาพปัญหา ตลอดจนความล่าช้าในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทับถามและยังรอการแก้ไข

 

‘วันเด็กไร้พรมแดน’ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี 2552 จากกลุ่มเล็กๆคือ ‘กลุ่มเด็กเยาวชนคนไร้สัญชาติบ้านบะไห’ ร่วมกับ ‘เยาวชนบ้านตามุย’ ที่ทุกคนดูเหมือนว่าจะมีสัญชาติและเป็นคนไทยเต็มผืนกระดาษแล้ว แนวคิดรูปแบบการจัดงานมุ่งหวังคือได้นำเอาเด็กๆมาเชื่อมสัมพันธ์และรับรู้ปัญหาของกันและกัน ซึ่งพวกเขาไม่ได้แตกต่างจากเด็กไทยเลยยกเว้นเอกสารทางราชการเท่านั้นที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ผลปรากฏว่างานกิจกรรมวันเด็กในปีนั้นสนุกสนานเด็กๆได้มารู้จักกัน และเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นของเพื่อน มีความเห็นอกเห็นใจกันในระดับหนึ่ง จึงทำเกิดงานวันเด็กในปีต่อมา ซึ่ง ‘วันเด็กสองฝั่งโขง’ หรือน่าจะเรียกว่า ‘วันเด็กสองฟาก’ จึงได้เกิดขึ้นเต็มรูปแบบในปีนี้  จากแนวคิดที่ว่า เราคือคนลุ่มน้ำเดียวกัน หน่อเนื้อเชื้อชาติพึ่งมาแบ่งกันไม่นานมานี้เองจากประเทศนักล่าอาณานิคม มาทำเส้นแบ่งแยกดินแดน แบ่งเขตแดนประเทศ จากที่เคยเป็นพี่น้องญาติมิตรกลับกลายเป็นว่ามีเส้นพรมแดนมาแบ่งกั้น

ระหว่างที่เด็กๆกำลังสนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ ผู้ใหญ่ที่มาร่วมงานก็ถือโอกาสตั้งวงพูดคุยระหว่างแกนนำในราว 20 คน ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความเห็นตั้งแต่เรื่องความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชุมชนทั้งสองฟากฝั่ง ไปจนการหารือความร่วมมือในการปลูกฝ้ายเพื่อหนุนเสริมกลุ่มทอผ้าที่มีอยู่แล้ว กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ลาว-ไทย รวมทั้งการหนุนเสริมให้การสนับสนุนเรื่องการศึกษาของเด็กๆในพื้นที่ฝั่งลาว อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงครั้งแรกที่พี่น้องสองฝั่งได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อสานความร่วมมือต่อกัน ระหว่างชาวบ้าน เชื่อมระบบ เศรษฐกิจชุมชน สานการท่องเที่ยวที่จะเป็นการร่วมมือกันในอนาคตอันใกล้และความร่วมมืออื่นๆอีกมายที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้

และอย่างน้อยวันเด็กปีนี้ก็ทำให้รู้ว่า คนลุ่มน้ำเดียวกันต่างพากันรับรู้ถึงสัญญาณการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงที่กำลังเกิดขึ้นและรู้ว่าคนลุ่มน้ำเขารักและหวงแหนแม่น้ำโขงร่วมกันแค่ไหน และเด็กๆเองก็ๆได้ถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อแม่น้ำแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ผ่านการขีดเขียน ระบายแต้มสีบนผืนผ้าใบ.. “แม่น้ำโขง อิสระแห่งสายน้ำ มิตรภาพไร้พรมแดน”  อีกทั้งเด็กๆต่างมีคำมั่นสัญญาต่อกันว่า “เราจะมาพบกันใหม่ในวันเด็กสองฟากของปีหน้า”...

 

 


เชิงอรรถ

“งานวันเด็กสองฝั่งโขง : มิตรภาพไร้พรมแดน ปี 2554” จัดโดย กลุ่มเครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ ,โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง ,เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฎิรูปสังคมและการเมือง จ.อุบลราชธานี ,ชมรมข้าวเหนียวปั้นน้อยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ,ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ  มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ,สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ (SWIT) และกลุ่มเพื่อนครู มหาวิทยาลัยขอนแก่น
   
ดูภาพกิจกรรมได้ที่ http://www.facebook.com/album.php?id=100000711746559&aid=40927 และ http://www.statelesswatch.org/node/365

อ้างอิง

[1] ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล , บันทึกเส้นทาง ตาม‘ลูกพ่อไทย’ กลับเข้าทะเบียนราษฎร (ตอน 1)-ม.7 วรรคสอง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551, http://gotoknow.org/blog/new-act/325855
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net