9 วัน การชุมนุม – 7 แถลงการณ์ “สมัชชาคนจน” เขื่อนปากมูน ร้องแก้ปัญหา

ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูนชุมนุมต่อเนื่องหน้าศาลากลาง (ชั่วคราว) จ.อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.53 ร้องรัฐเร่งเปิดเขื่อนปากมูล เหตุ กฟผ.ปิดเขื่อนฝืนมติกรรมการร่วมเพื่อแก้ปัญหาฯ

 
วานนี้ (22 ม.ค.54) นับเป็นวันที่ 11 ในการชุมนุมครั้งล่าสุดบริเวณศาลากลาง (ชั่วคราว) จ.อุบลราชธานี ของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน จาก อ.พิบูลมังสาหาร อ.โขงเจียม และ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วงงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อสรุปของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจนสุดทั้ง 8 บาน อย่างถาวร และจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบ
 
การชุมนุมดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.53 รัฐบาลโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว
 
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 30 พ.ย.52 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้น และในการประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ย.53 ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ด้วยการเปิดเขื่อนถาวรและฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับการกำหนดกลไกการแก้ไขปัญหาขึ้นมาใหม่ คือ คณะอนุกรรมการเปิดเขื่อน และอนุกรรมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ในการประชุมดังกล่าวมีตัวแทน กฟผ.และตัวแทนจังหวัดอุบลฯ เข้าร่วมประชุมด้วยโดยไม่ได้โต้แย้ง 
 
แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 ธ.ค.53 กฟผ.กลับทำการปิดเขื่อนปากมูลทั้งแปดบาน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่ทำประมงในพื้นที่ แม้ว่าหนึ่งวันหลังจากนั้น (19 ธ.ค.53) เขื่อนปากมูลได้ยกบานประตูขึ้น จนขณะนี้ระดับน้ำด้านเขื่อนกับท้ายเขื่อนเท่ากัน แต่บานประตูก็ยกขึ้นในระดับปริ่มน้ำ ไม่ยกให้สุดบาน
 
วันเวลาของการชุมนุมยังถูกนับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยยังมองไม่เห็นวี่แววของการแก้ปัญหา ไม่ต่างจากห้วงเวลากว่า 20 ปี ที่ผ่านมา ของการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน  
 
 
วันที่ 20 ม.ค.54 วันที่ 9 ของการชุมนุม ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 7 ของการชุมนุม ระบุถ้ารัฐมีความจริงใจแก้ไขปัญหา ต้องเปิดเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน จนกว่าข้อยุติใหม่จะเกิดขึ้น
 
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๗ 
จริงใจแก้ไขปัญหา ต้องเปิดเขื่อนปากมูลทั้ง ๘ บาน จนกว่าข้อยุติใหม่จะเกิดขึ้น

เขื่อนปากมูลสร้างปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมาหลายรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีแนวทางชัดเจนมากที่สุด และในระหว่างกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา ภายใต้การดำเนินการของอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะ ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น
 
ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าแนวทางที่มีอยู่ จะถูกนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จังหวัดอุบลต้องเปิดประตูเขื่อนทั้ง ๘ บานไปก่อน จนกว่าจะมีข้อสรุปของอนุกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น จะดำเนินการแล้วเสร็จ
 
สมัชชาคนจน เห็นว่า ที่ผ่านมาจังหวัดอุบลราชธานี โดยผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตัวการที่ทำให้มีการปิดเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานความต้องการของชาวบ้าน และขาดข้อมูลรองรับ และนำมาสู่บรรยากาศที่ไม่สร้างสรรค์ในการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา อันเป็นพฤติกรรมที่นำไปสู่เงื่อนไขของการไม่ไว้วางใจต่อพวกเรา
 
ดังนั้น เพื่อลดเงื่อนไข และแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล ต้องดำเนินการเปิดเขื่อนปากมูล ทั้ง ๘ บาน ในทันที
 
สมัชชาคนจน จะให้เวลาจังหวัดอุบล เพื่อดำเนินการเปิดประตูเขื่อนปากมูล ทั้ง ๘ บาน ภายใน ๓ วัน
 
สมัชชาคนจนหวังว่า จะเห็นความตั้งใจ และความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ของทางจังหวัดอุบลภายในระยะเวลาดังกล่าวนี้
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี
๒๐ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 18 ม.ค.54 เวลา 09.30 น.กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน ซึ่งชุมนุมอยู่บริเวณศาลากลาง (ชั่วคราว) ได้จัดทำพิธีกรรมการขับไล่เสนียดจัญไร สิ่งชั่วร้ายให้ออกจากศาลากลาง และออกจากจิตใจผู้คนที่อยู่ในศาลากลาง เพื่อให้จิตใจของคนที่อยู่ในศาลากลางอุบล มีความเป็นธรรม เป็นกลาง กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
 
จากนั้นเวลา 13.30 น. ชาวบ้านก็ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 6 เรียกร้องการเจรจาแก้ปัญหาร่วมระหว่างชาวบ้านและรัฐ โดยปราศจากการแทรกแซงของการไฟฟ้าฯ
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๖
ยกระดับขั้นที่ ๑ ปฏิบัติการทวงคืนแม่น้ำมูน
ปลดเปลื้องอำนาจรัฐจากการครอบงำของการไฟฟ้าฯ 
 
เป็นที่ประจักษ์กันแล้วว่า อำนาจรัฐที่ผ่านมา อยู่ภายใต้การควบคุมบงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยการไฟฟ้าฯ จะเป็นผู้เสี้ยมให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับประชาชน และการไฟฟ้าฯ ก็ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ซึ่งสภาพการครอบงำอำนาจรัฐของการไฟฟ้าฯ ดำเนินมายาวนานนับตั้งแต่การไฟฟ้าฯ ได้นำเขื่อนปากมูล เข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้
 
color:#333333">หลายครั้งที่รัฐกับประชาชนได้หาข้อยุติเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่สุดท้ายการไฟฟ้าฯ ก็ใช้อิทธิพลเหนืออำนาจรัฐเข้าทำการแทรกแซง ขัดขวาง จนทำให้ปัญหายืดเยื้อ เรื้องรังมาจนถึงทุกวันนี้ สมัชชาคนจนเวทนาต่อสภาพการสิ้นอำนาจของรัฐไทย
 
color:#333333">แต่เหนืออื่นใด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และเพื่อให้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญศักดิ์สิทธิ์ สมัชชาคนจนจำเป็นต้องดำเนินการใช้อำนาจที่ระบุตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด และเกิดรูปธรรม
 
color:#333333">เพื่อบรรลุแนวทาง ดังกล่าว สมัชชาคนจน ขอเรียกร้อง ดังนี้
 
color:#333333">๑.รัฐและกลไกรัฐต้องแสดงการหลุดพันการครอบงำของการไฟฟ้าฯ ด้วยการเร่งเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการโดยเร็ว
 
color:#333333">๒.การแก้ไขปัญหาชาวบ้านปากมูน ต้องตั้งอยู่พื้นฐานของหลักวิชาการ ปราศจากการครอบงำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
 
color:#333333">สมัชชาคนจน ได้ให้เวลาสำหรับการประสานเพื่อเปิดการเจรจามาพอแล้ว นับจากนี้ไปเราจำเป็นต้องปฏิบัติการเพื่อสร้างรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมนให้ลุล่วง
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี
๑๗ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 16 ม.ค.54 ชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลยังชุมนุมต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวรหลังจากไม่มีสัญญาณจากหน่วยงานภาครัฐ โดยกิจกรรมของวันนี้ในช่วงบ่ายอาสาสมัครจากผู้ที่ร่วมชุมนุมหน้าศาลากลาง จ.อุบลราชธานี ได้เดินทางออกไปรณรงค์ แจกเอกสาร “ความจริงเขื่อนปากมูน” ที่บริเวณห้าง บิ๊ก C อุบล ซึ่งมีการให้ข้อมูลว่า กิจกรรมรณรงค์จะมีการย้ายสถานที่ในแต่ละวัน
 
ในวันเดียวกัน สมัชชาคนจนยังได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 5 พร้อมเปิดเผยรายงานการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงานวิจัย และข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่นำเสนอต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งมีรายละเอียดข้อสรุปออกมานานหลายเดือนแล้ว แต่กลับยังไม่มีการนำมาปฏิบัติ
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๕
ปัญหาเขื่อนปากมูล ปัญหาระหว่างอำนาจการไฟฟ้าฯ กับอำนาจการบริหาร
 
ข้อสรุป ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขเขื่อนปากมูล ที่ผ่านมามีเป็นจำนวนมาก และเกิดขึ้นกับรัฐบาลมาแล้วหลายชุด แต่รัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถผลักดันข้อสรุปต่างๆ นั้น ให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ คือองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐ
 
ปัจจุบัน ได้มีข้อสรุปอีกครั้ง จากการทำงานของกลไกที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น ซึ่งมีข้อสรุปมานานหลายเดือนแล้ว แต่ยังไร้วี่แววการนำมาปฏิบัติแต่อย่างใด ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ก็เป็นที่กังขาว่า รัฐบาลชุดปัจจุบัน กำลังเจอกับอำนาจเหนือรัฐของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เหมือนกับรัฐบาลชุดก่อนโดนมาหรือเปล่า
 
ปฏิกิริยาการปะทะกันของอำนาจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กับอำนาจบริหารของรัฐบาลในหลายครั้งที่ผ่านมา มักจบลงด้วยการยื้อเวลา การชะลอเวลาตัดสินใจและจบลงด้วยการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้แก้ไขปัญหาของชาวบ้านปากมูนเลย
 
สมัชชาคนจนเห็นว่า การบริหารประเทศควรอย่างยิ่งที่ผู้ที่มีอำนาจบริหาร จะต้องแสดงความกล้าหาญ โดยต้องไม่สยบยอมต่ออำนาจหรืออิทธิพลที่อยู่เหนือรัฐ ดังเช่นอำนาจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เราหวังว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะใช้อำนาจบริหารที่มีอยู่ในมือ ตัดสินปัญหาเขื่อนปากมูลโดยการยึดมั่นในหลักการและเหตุผล ดังที่ปรากฏในรายงานการทำงานของอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะอย่างเคร่งครัด
 
เพื่อแสดงความกล้าหาญดังกล่าว รัฐบาลควรสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นที่ปากมูน อันจะทำให้สังคมชื่นชม และมั่นใจในอำนาจบริหารที่มีของรัฐบาล
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี
๑๖ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 15 ม.ค.54 เวลา 09.00 น.ชาวบ้านปากมูนที่ชุมนุมกันที่สนามหน้าศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานีได้เดินเท้าไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อทำพิธีบวงสรวง และปฏิญาณตนและยืนยันเจตนารมณ์ในการต่อสู้ โดยในระหว่างระยะทางไปกลับกลุ่มชาวบ้านได้รณรงค์ทำความเข้าใจต่อคนในเมืองอุบลฯ
 
คำประกาศเจตนารมณ์ และแถลงการณ์ฉบับที่ 4 มีดังนี้
 
 
color:#333333">คำประกาศคนจน
color:#333333">เมื่อชีวิตล่มสลาย เมื่อสายน้ำไร้ฝูงปลา เมื่อที่นาจมใต้ท้องเขื่อน จึงขอประกาศสู้กู้แม่น้ำมูน
 
นี่คือคำประกาศความจริง ที่สั่งสมมาจากการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรม พวกข้าพเจ้าผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลมาเป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษ ตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกเราได้ใช้ความพยายามในการนำเสนอความจริง ความจริงอันเป็นวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำมูนที่พึ่งพาแม่น้ำมูนอย่างสมดุล ตราบจนกระทั่งมีการสร้างเขื่อนปากมูลได้มาทำลายวิถี อันเป็นชีวิตของพวกเราจนล่มสลายลง ชาวบ้านในพื้นที่ ๓ อำเภอ กว่า ๖,๐๐๐ ครอบครัว ต้องประสบชะตากรรมการพลัดพราก ความสูญเสียที่เกิดจากน้ำมือของรัฐ ที่อ้างว่าการพัฒนา การพัฒนาที่จะนำมาซึ่งความเจริญ การกินดีอยู่ดีมาสู่คนลุ่มน้ำมูน แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะมันคือการทำลายล้าง
 
นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ ที่กำลังมีการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ครั้งนั้นพวกเราได้บอกกล่าวแก่พวกท่านแล้ว ว่า กรุณาได้พิจารณาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านด้วย เพราะชาวบ้านมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการอาศัยทรัพยากรธรรมชาติธรรมชาติ เราบอกท่านว่าแม่น้ำมูนเป็นแหล่งดำรงชีวิตของพวกเรา ผืนดินริมตลิ่งอันเป็นดินตะกอนแม่น้ำมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการทำการเกษตร พรรณไม้ที่มีมากมายหลายชนิด เราได้ใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาโรค เห็ดหลายชนิด เราได้ใช้เป็นอาหารและขายเป็นรายได้ให้ครอบครัว ที่พวกท่านเอาไปเป็นอ่างเก็บน้ำยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและ สัตว์ปีก รวมทั้งยังเป็นพื้นที่เลี้ยง วัว ควาย ของพวกเราอีกด้วย ปลาน้ำจืดที่เดิมมีอยู่หลากหลายพันธุ์ กระจายอยู่ตามแม่น้ำมูนก็ล้วนแต่เป็นอาหารและสร้างรายได้ให้กับพวกเราอย่างไม่ลำบากขัดสน สิ่งเหล่านี้หายไปพร้อมกับการเก็บกักน้ำของเขื่อนปากมูล
 
ทุกครั้งที่พวกเรามองดูน้ำในลำน้ำมูน เราได้ยินเสียงคร่ำครวญของวิญญาณบรรพบุรุษของเรา พวกเขาร่ำไห้ ตัดพ้อ ต่อว่า ต่อพวกเราที่เป็นลูกหลาน ว่า พวกเราที่ไม่ปกป้องและดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์และวัฒนธรรมการหาปลาที่ควรจะสืบทอดต่อ เราต้องก้มหน้าเก็บงำความข่มขื่น พร้อมกับตั้งคำถามต่อตนเองว่า เราจะปล่อยให้ความข่มขื่นนี้ ซึมซับลงสู่ก้นบึ้งแห่งจิตวิญญาณ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งความการต่อสู้
 
ต่อเจ้าพ่อหลักเมือง ท้าวคำผง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองอุบล ข้าพเจ้าผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล พวกเราขอปฏิญาณว่า พวกเราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อการถูกกระทำย่ำยีจากการไฟฟ้าฯและเขื่อนปากมูลเลย พวกเราได้ทักท้วงและปกป้องแม่น้ำมูนมาตลอด พวกเราได้กู้ร้อง ป่าวประกาศต่อผู้คน ในสังคมไทยมาตลอดว่า เขื่อนปากมูลคือตัวเสนียดแห่งสายน้ำ เขื่อนปากมูลคือเครื่องมือแห่งการทำลายล้างแม่น้ำมูนและชีวิตของชุมชน เขื่อนปากมูลเป็นตัวการแห่งการสร้างความแตกแยก เขื่อนปากมูลเป็นตัวการแห่งการจำพรากของผู้คนในชุมชน
 
นับจากนี้เป็นต้นไป พวกเราขอบอกแก่นักสร้างเขื่อนทั้งหลายว่า แม่น้ำมูนที่ท่านทำลายนั้น คือผืนน้ำที่ฝั่งเถ้าถ่านบรรพบุรุษของพวกเรา เราขอบอกแก่พวกท่านนักสร้างเขื่อนทั้งหลายว่า พวกเราเพียรสั่งสอนบุตรหลานของพวกเราให้สำนึกตลอดเวลาว่า มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งสายใยชีวิตของแม่น้ำมูน การกระทำใดที่ทำให้แม่น้ำมูนเสียหายย่อมเป็นการทำลายสายใยแห่งชีวิตลงด้วย พวกเราขอบอกต่อพวกท่านนักสร้างเขื่อนทั้งหลายว่า ได้โปรดสั่งสอนบุตรหลานของท่านให้สำนึกและหวงแหนที่ฝั่งเถ้าถ่านบรรพบุรุษของพวกเขา เช่นเดียวกับที่พวกเราสั่งสอนบุตรหลานของพวกเราด้วย เผื่อบุตรหลานของพวกท่านจะได้ตระหนักและยุติ ละ เลิก การกระทำดังเช่นพวกท่านนักสร้างเขื่อนได้กระทำไว้แก่พวกเรา
 
พวกเรามิอาจร้องขอให้พวกท่านนักสร้างเขื่อนทั้งหลายได้กรุณาปลดปล่อย หรือคืนวิถีชีวิตให้แก่พวกเราได้ แต่พวกเราขอบอกแก่พวกท่านนักสร้างเขื่อนทั้งหลายได้ทราบว่า เราจำเป็นต้องปกป้องและทวงคืนแม่น้ำมูน แม่น้ำมูนอันเป็นที่กลบเถ้าถ่านบรรพบุรุษของพวกเรา เยี่ยงท่านและบุตรหลานของพวกท่านพึงกระทำในการปกป้องเถ้าถ่านบรรพบุรุษของพวกท่าน
 
ต่อเจ้าพ่อหลักเมือง ท้าวคำผง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายแห่งเมืองอุบล ได้โปรดเป็นพยานในการกระทำ และความมุ่งมั่นของพวกเราด้วย เราจะทวงคืนแม่น้ำมูน ทวงคืนวิถีชีวิตของพวกเรา เราขอยืนยันว่า เราจะดำเนินวิธีการตามครรลองแห่งแนวทาง สันติ โดยยึดมั่นหลัก ๓ ประการ คือ
 
๑.สัจจะ คือความจริง
 
๒.ตบะ คือความอดทน
 
๓.อหิงสา คือ ยอมรับในความทุกข์ยาก โดยไม่เบียดเบียนต่อผู้อื่น
 
ข้าฯ แด่เจ้าพ่อหลักเมือง ท้าวคำผง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายแห่งเมืองอุบล ได้โปรดเป็นพยาน และดลบันดาลอำนวยชัยชนะในการทวงคืนแม่น้ำมูน ให้แก่พวกข้าพเจ้าด้วย เพื่อให้พวกเราได้กล้าสู้หน้าต่อวิญญาณบรรพบุรุษของพวกเรา และวิญญาณบรรพบุรุษของพวกข้าพเจ้าจะได้เลิกคร่ำครวญ ร่ำไห้เสียที
 
ต่อเจ้าพ่อหลักเมือง ท้าวคำผง และสิ่งศักดิ์แห่งเมืองอุบล พวกข้าพเจ้าทั้งของตั้งจิตปฏิญาณ ปฏิบัติการการกู้คืนแม่น้ำมูนให้จงได้
 
color:#333333">จะยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี
color:#333333">สมัชชาคนจน
color:#333333">๑๕ มกราคม ๒๕๕๔
color:#333333">ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอุบล
 
color:#333333">---------------------------------------------------------------------------------------------
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน ฉบับที่ ๔
๒ ทศวรรษปัญหาที่หมักหมน
และ ๔ วัน ของการชุมนุมรอการเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาปากมูน
 
เขื่อนปากมูลได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต่อระบบนิเวศแม่น้ำมูนและวิถีชีวิตชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำมูน ความเดือดร้อนนี้พวกเราได้เรียกร้องมายาวนานนับกว่า ๒ ทศวรรษแล้ว
 
วันนี้เป็นวันที่ ๔ ที่ชาวบ้านปากมูนได้มาปักหลักรอคอยการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากเขื่อนปากมูล การชุมนุมของพวกเราดำเนินมาอย่างสงบตามแนวทางสันติวิธี
 
การชุมนุมอย่างสงบควรอย่างยิ่งที่ทางจังหวัดอุบลราชธานี จะต้องเร่งดำเนินการประสานงานเพื่อให้เกิดการเจรจา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาโดยเร็ว แต่จนถึงวันนี้พวกเรายังไม่เห็นสัญญาณหรือคำยืนยันใดที่จะสร้างความมั่นใจได้ว่า การเจรจาจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาไม่นานมากนัก
 
ความเฉื่อยชา และนิ่งเงียบของจังหวัดอุบล นับเป็นวิถีทางที่ไม่สร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การไม่ไว้วางใจต่อความจริงใจ การใส่ใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของพวกเรา
 
เรายืนยันว่า พวกเรายึดมั่นในแนวทางการชุมนุมอย่างสงบ แต่การกระทำที่เฉยชานี้ บ่งชี้ถึงทัศนะที่ล้าหลัง หรือจังหวัดอุบลราชธานีจัดวางท่าทีเพื่อสร้างเงื่อนไขอย่างหนึ่ง อย่างใด เราไม่สบายใจต่อท่าทีเฉื่อยชาเช่นนี้
 
สมัชชาคนจนขอแสดงความเสียใจต่อท่าทีเช่นนี้ของจังหวัดอุบลราชธานี และหวังว่าทางรัฐบาลจะตระหนักถึงสภาพที่กำลังเกิดขึ้นต่อพวกเรา แล้วเร่งดำเนินการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาปากมูนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว)จังหวัดอุบลราชธานี
๑๕ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 14 ม.ค.54 เวลา 09.00 น.ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูลที่ชุมนุมอยู่หน้าศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี นำโดยนายทองปน ชัยคำ และคณะ รวม 5 คน ได้เข้าไปติดต่อกับทางจังหวัดอุบลเพื่อขอเปิดการเจรจา ซึ่งทางจังหวัดอุบลก็ตอบตกลง และมีการมอบหมายให้รองผู้ว่าฯ เป็นหัวหน้าทีมเจรจาฝ่ายจังหวัดอุบล ส่วนทีมเจรจาตัวแทนชาวบ้านปากมูลนำประกอบด้วย นางสมปอง เวียงจันทร์ นายประหวี จันพิรักษ์ และคณะรวม 10 คน
 
การเจรจาเริ่มขึ้นโดยฝ่ายชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ให้ประสานงานกับรัฐบาลเพื่อเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการและเสมอหน้า โดยจะต้องมีคำตอบภายในวันจันทร์ที่ 17 ม.ค.54 2.การเจรจาที่จะเกิดขึ้นให้มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมด้วยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ตัวแทนการไฟฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบล และสมัชชาคนจน 3.กรอบการเจรจาประกอบไปด้วย การเร่งดำเนินการเปิดประตูเขื่อนปากมูลอย่างถาวร และเร่งดำเนินการฟื้นฟูชีวิตชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเจรจาเริ่มต้นเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น.และใช้เวลาประมาณ 35 นาที โดยข้อสรุปรองผู้ว่าฯ จะให้คำตอบภายในวันจันทร์ที่ 17 ม.ค.นี้ จากนั้นเวลา 13.00 น.กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
เจรจาเสมอหน้าเท่านั้น จึงจะแก้ไขปัญหาปากมูนได้
 
วันนี้ (๑๔ มกราคม ๒๕๕๔) ได้มีการเจรจากันระหว่างตัวแทนชาวบ้านปากมูล และตัวแทนจังหวัดอุบลราชธานี โดยตัวแทนชาวบ้านได้มีข้อเสนอ ดังนี้
 
๑.ให้เร่งเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจน
๒.ในการเจรจาให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการเจรจา
๓.กรอบการเจรจา ดังนี้
 ๓.๑ ให้ดำเนินการเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร
 ๓.๒ ให้ดำเนินการฟื้นฟูชีวิตชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล
 
การเจรจาดำเนินไปและสิ้นสุดลงด้วยคำสัญญาจากตัวแทนจังหวัดอุบล ว่าจะเร่งประสานการเจรจาให้เกิดขึ้นโดยเร็ว อันเป็นสัญญาที่พวกเราเคยได้รับมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เพื่อเป็นการให้โอกาส และสร้างบรรยากาศความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานร่วมกัน อีกครั้ง
 
อย่างไรก็ตามพวกเรายืนยันว่า ปัญหาเขื่อนปากมูลจะแก้ไขได้นั้น รัฐบาลก็จะต้องเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร และฟื้นฟูชีวิตผู้ได้รับผลกระทบนับแต่เขื่อนปากมูลเปิดใช้งานมา เท่านั้น
 
พวกเรายืนยันว่า เราจะชุมนุมอย่างสงบ ณ ศาลากลาง (ชั่วคราว) ตราบจนกว่าปัญหาที่มีอยู่จะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม
 
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จักต้องไม่รีรอการแก้ไขปัญหา และลงมือปฏิบัติให้เป็นไปรูปธรรมโดยเร็ว
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล
ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี
๑๔ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 13 ม.ค.54 ณ ห้องประชุมคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการจัดการที่ดิน ฐานทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและน้ำ ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูป จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 และสรุปผลการลงพื้นที่ของอนุกรรมการฯ เรื่องระบบการจัดการน้ำ (ครั้งที่ 1) พื้นที่ภาคอีสานระหว่างวันที่ 11 – 13 ม.ค. 2554 (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี)
 
เวทีดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อรับฟังปัญหา ความเดือดร้อนของชาวบ้านจากโครงการจัดการน้ำ เช่น โครงการโขง-ชี-มูล บทเรียนการแก้ปัญหา และการต่อสู้ของชุมชน และรับฟังข้อเสนอจากชาวบ้านทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาด้านนโยบาย เพื่อนำไปประมวลเป็นข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการจัดการน้ำ (ร่วมกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ) ตลอดจนร่วมแสวงหาแนวทางการเสริมความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปฐานทรัพยากรน้ำ
 
ทั้งนี้่ ในช่วงท้ายของเวที ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวร หลังจากที่ชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลได้ชุมนุมเรียกร้องให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวรอยู่ที่ศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.54 เป็นต้นมา และยังไม่ได้รับคำตอบจากหน่วยงานของรัฐ จึงได้ชุมนุมต่อจนกว่าจะได้รับคำตอบที่พอใจ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่า
 
 
แถลงการณ์
เปิดเขื่อนปากมูลถาวร เพื่อชีวิตของคนอีสานทุกลุ่มน้ำ
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน
วันที่ 13 มกราคม 2554
 
พวกเราเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนในทุกลุ่มน้ำในอีสาน ได้มาประชุมกันในเวทีระดมความคิดเพื่อปฏิรูปฐานทรัพยากรน้ำ ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปฐานทรัพยากร ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูป พวกเรามาระดมความคิดถึงสาเหตุ ปัญหา และข้อเสนอต่อการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ที่หอประชุมคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
 
พวกเรามีข้อสรุปร่วมกันว่า
 
1) ปัญหาการจัดการน้ำทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมอย่างผิดปกติ การขาดแคลนน้ำ มาจากโครงการจัดการน้ำของรัฐ เช่น โครงการโขง-ชี-มูล ที่สร้างปัญหากับระบบนิเวศอีสาน และวิถีชีวิตของชุมชน เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการไม่เข้าใจระบบนิเวศ และไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แม้เมื่อเกิดผลกระทบแล้วก็ไม่ดำเนินการแก้ไข ฟื้นฟู และชดเชยให้กับประชาชนอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
 
2) พวกเราเห็นว่า ต้องเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เนื่องจากปัญหาเรื่องการเปิดเขื่อนปากมูลขณะนี้ได้ข้อสรุปตรงกันแล้ว ทั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายที่รัฐบาลตั้งขึ้น และประชาชนในลุ่มน้ำมูนและลุ่มน้ำต่างๆ ว่า จะต้องเปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนให้กลับคืนมา ไม่เพียงแต่เฉพาะลุ่มน้ำมูนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลุ่มน้ำอื่นๆ ในภาคอีสาน
 
3) พวกเราเห็นว่า รัฐจะต้องยุติโครงการโขง-ชี-มูล และโครงการผันน้ำต่างๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศโดยทันที ชดเชยผลกระทบทั้งหมด และฟื้นฟูระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน
 
พวกเราตกลงว่าจะรวมตัวเป็นสภาประชาชนลุ่มน้ำอีสานเพื่อผลักดันข้อเสนอดังกล่าวให้บรรลุอย่างรวดเร็ว และติดตามตรวจสอบนโยบายและโครงการจัดการน้ำของรัฐ สร้างข้อเสนอนโยบายที่ประชาชนในลุ่มน้ำอีสานจะจัดการร่วมกัน และสร้างความเข้มแข็งในการจัดการทรัพยากรและการพัฒนาของตนเอง
 
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน 12 องค์กร
 
 
000
 
วันที่ 12 ม.ค.53 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ในสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล กว่า 2,000 คน ได้ออกมาชุมชนหน้าศาลากลาง (ชั่วคราว) จังหวัดอุบลราชธานี และได้ออกแถลงการณ์สมัชชาคนจน “ปฏิบัติการทวงคืนแม่น้ำมูน ครั้งที่ 3”

 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน 
“ปฏิบัติการทวงคืนแม่น้ำมูน ครั้งที่ ๓”
 
นับจากมีการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล วิถีชีวิตที่ราบเรียบยาวนาน วัฒนธรรมชุมชนที่สั่งสมบ่มเพาะส่งทอดสู่ลูกหลานหลายร้อยปี ได้จบสิ้นลงอย่างสิ้นเชิง ครอบครัวต้องแตกแยกล่มสลาย บ้านแตกสาแหรกขาด เสมือนหนึ่งรากเหง้าแห่งเผ่าพันธุ์ขาดสะบั้นลง นำไปสู่การอพยพโยกย้าย ต้องเผชิญกับชะตากรรมในที่แห่งใหม่ด้วยความยากลำเค็ญ 

พวกเราได้รวมตัวกันต่อสู้คัดค้านมาโดยตลอด ก่อนสร้างเขื่อนเราเสนอข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรมชุมชน ระบบนิเวศสองฝั่งน้ำ เกาะแก่งแหล่งธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ต้องสูญสลายไป บนพื้นฐานของความจริง แต่ไม่เคยได้รับความสนใจจากภาครัฐ จนกระทั่งบานประตูเขื่อนปากมูลทั้ง ๘ บานได้ปิดลง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกเหยียบย่ำ ความสูญเสียต่างๆ ก็เกิดขึ้นตามมา 

การต่อสู้ของชาวบ้านอย่างยาวนานกว่า ๒๐ ปี ผ่านการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของชาวบ้านปากมูน แต่เรากลับถูกเหยียบย่ำ ถูกกระทำด้วยนิยามว่า พวกขัดขวางการพัฒนา คนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนมาก เราต้องจำทนด้วยความอดกลั้น สุดท้ายคือสัญญาลมๆ แล้งๆ และแนวทางการแก้ปัญหาที่ผิดพลาด ล้มเหลว เช่น การสร้างบันไดปลาโจน รวมทั้งการปิดๆ เปิดๆ เขื่อน 

รัฐบาลปัจจุบัน ได้แต่งขึ้น โดยมีอนุกรรมการสองชุดคือ ชุตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้นมา ๒ ชุด คือ ๑.)ชุดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ๒.)ชุดรวบรวมผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล และเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลได้มีการประชุมครั้งที่ ๒ และในการประชุมครั้งดังกล่าวที่ประชุมก็ได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมชัดเจน คือ 

๑.เปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร 
๒.ต้องฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล 
๓.ตั้งอนุกรรมการ ๒ คณะ เพื่อดำเนินการตามข้อสรุป ๒ ข้อข้างต้น 

ข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ทั้ง ๒ ข้อ นับเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม สำหรับการแก้ไขเขื่อนปากมูล การเคลื่อนไหวของชาวบ้านกว่า ๒๐ ปี ที่ก่อให้เกิดข้อยุติทั้งข้อเท็จจริงและความรู้ทางวิชาการที่ไร้ข้อโต้แย้ง ซึ่งข้อสรุปจะเกิดเป็นรูปธรรมได้ต้องใช้ความกล้าของรัฐบาลในการตัดสินใจ

 
ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการดังนี้
 
๑.เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการ เพื่อนำข้อสรุปของอนุกรรมการทั้ง ๒ คณะ และผลการประชุมของคณะกรรมการฯ มาปฏิบัติให้เกิดรูปธรรม 
๒.เราให้เวลารัฐบาลในการเตรียมการเจรจาภายในวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๔ นี้ 
พวกเราจะรอคำตอบจากรัฐบาลอย่างสันติ ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ 
 
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน 
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล 
ศาลากลาง (ชั่วคราว)จังหวัดอุบลราชธานี 
๑๒ มกราคม ๒๕๕๔
 
 
000
 
วันที่ 11 ม.ค.53 สมัชชาคนจนร่วมกับเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบล ออกแถลงการณ์ เรียกร้องรัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล หลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยทำการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ 29 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งที่ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.53 รัฐบาลโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และให้สัญญากับชาวบ้านว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว
 
 
แถลงการณ์ร่วม
เปิดการเจรจาอย่างเสมอหน้า แก้ไขปัญหาปากมูน
 
พวกเราประกอบไปด้วยผู้เดือดร้อนจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ในนามของสมัชชาคนจน ร่วมกับผู้เดือดร้อนจากนโยบายโครงการพัฒนาของรัฐ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบล ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันต่อสถานการณ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
 
พวกเราเห็นพ้องร่วมกัน ดังนี้
 
๑. ปัญหาเขื่อนปากมูล ได้มีข้อสรุปจากการดำเนินงานของอนุกรรมการมาแล้วทั้ง ๒ คณะที่รัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น ชัดเจนแล้ว ดังนี้
๑.๑ ผลสรุปของอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ๒ ข้อคือ
๑.๑.๑ ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล อย่างถาวร
๑.๑.๒ ให้จัดหาที่ดินทำกินครอบครัวละ ๑๕ ไร่
๑.๒ ผลสรุปของอนุกรรมการรวบรวมงานวิจัย ฯ ๒ ข้อ คือ
๑.๒.๑ ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร
๑.๒.๒ รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบนับตั้งแต่เปิดใช้งานเขื่อนปากมูลเป็นต้นมา
๒. ปัญหาเขื่อนปากมูลยืดเยื้อมายาวนาน สมควรที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาได้แล้ว
 
นอกจากความชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้ว เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ รัฐบาลโดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ได้ให้สัญญาแก่พวกเราว่าจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว แต่หลังจากรัฐมนตรีสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เดินทางกลับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน
 
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ว่าปัญหาของพวกเราจะได้รับการแก้ไข อย่างเป็นรูปธรรม พวกเราจึงขอแจ้งให้ทราบว่า พวกเราจำเป็นต้องชุมนุม เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาของพวกเรา โดยพวกเรายืนยันว่า การชุมนุมของพวกเราจะดำเนินไปอย่างสันติ ภายใต้หลักปฏิบัติ ๓ ประการ คือ สัจจะ ตบะ อหิงสา
 
ในการชุมนุมในครั้งนี้ พวกเรามีข้อเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการดังนี้
๑. รัฐบาลต้องเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร พร้อมกับฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านที่ผ่านมา ๒๐ ปี
๒. ให้เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการเพื่อหาข้อยุติการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ภายใน ๓ วัน
 
พวกเรายืนยันว่า เราจะชุมนุมอย่างสงบ จนกว่าปัญหาของพวกเราจะได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม โดยในระหว่างนี้ รัฐบาลต้องเร่งเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลโดยทันที จนกว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปร่วมกัน
 
ด้วยจิตคารวะ
สมัชชาคนจน
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบล
๑๑ มกราคม ๒๕๕๔
ณ.ห้องประชุมดอกจาน ๔ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
 
 

เรียบเรียงข้อมูลจาก: เสียงคนอีสาน และ ประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท