Skip to main content
sharethis

มกราคม 2553

(8 ม.ค.) วันที่ 24–25 ธ.ค.52 ร.อ.จายอ่องหล่ายวิน เจ้าหน้าที่บริษัท Union of Myanmar Economic Holdings Ltd (UMEHC) ของพม่า นำทีมนักธุรกิจไทย 11 คน เข้าไปสำรวจเหมืองถ่านหินบริเวณเมืองโก๊ก จังหวัดเมืองสาด (รัฐฉานภาคตะวันออก) ตรงข้ามอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นเหมืองถ่านหินที่รัฐบาลทหารพม่าให้สัมปทานแก่บริษัทสระบุรีถ่านหิน บริษัทเอกชนไทยในเครืออิตัล-ไทย เป็นเวลา 30 ปี รวมมูลค่าหลายแสนล้านบาท โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านจากหน่วยงานภาครัฐ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณแนวโครงการสร้างถนน เนื่องจากหวั่นเกิดผลกระทบต่อชุมชนและป่าสงวน ที่สำคัญมลพิษถ่านหินอาจส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของบ้าน

(15–18 ม.ค.) สภากอบกู้รัฐฉาน RCSS (Restoration Council of Shan State) / กองทัพรัฐฉาน SSA (Shan State Army) จัดการประชุมใหญ่ครั้งที่ 10 ที่บก.ดอยไตแลง ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในที่ประชุมมีการหารือกันเกี่ยวกับแผนงานทั้งที่ผ่านมาและอนาคต พร้อมกับมีการปรับโครงสร้างภายใน ซึ่งมีคณะกรรมการบริหาร เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผบ.หน่วย เจ้าหน้าที่สำนักงานต่างๆ และคณะที่ปรึกษาเข้าร่วมรวม 286 คน นอกนั้น ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบเลื่อนชั้นเจ้ายอดศึก จากพันเอกขึ้นเป็นพลโท พร้อมกับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสูงสุดต่อไป

(25 ม.ค.) องค์กรสตรีปะหล่อง (Palaung Women Organizaation-PWO) แถลงเปิดตัวหนังสือรายงานยาเสพติดในพม่า “เนินเขาที่เป็นพิษ” “Poisoned Hills” ต่อสื่อมวลชนและนักการทูต ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย Foreign Correspondent Club of Thailand- FCCT ในกรุงเทพฯ รายงาน ระบุ สถานการณ์ยาเสพติดในพม่าโดยเฉพาะพื้นที่รัฐฉานตอนบนติดชายแดนประเทศจีน พบมีการปลูกฝิ่นเพิ่มมากขึ้น จากสถิติการสำรวจพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.น้ำคำ และ อ.ม่านต้ง ปี 2548 มีการปลูกฝิ่น 964 เฮกเตอร์ ในปี 2552 พบมีการปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นกว่า 4,549 เฮกเตอร์ สาเหตุเนื่องจากทหารพม่าไม่ใส่ใจปราบปรามอย่างจริงจัง ขณะที่ทหารพม่าในพื้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกรับภาษีด้วย 

(29 ม.ค.) เจ้าโป่เต่หวิ่ง วัย 89 ปี อดีตยอดนักรบชื่อดังในกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ตั้งแต่สมัยกองกำลังหนุ่มศึกหาญ ผ่านยุคกองทัพเมืองไตย MTA ของขุนส่า และกองกำลัง SSNA ของเจ้ากานยอด ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราที่บ้านหนองก้อ อำเภอสี่ป้อ รัฐฉานภาคเหนือ ทั้งนี้ เจ้าโป่เต่หวิ่ง ถือเป็นหนึ่งยอดนักรบของไทใหญ่ โดยชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วหลังเขานำกำลังบุกยึดเมืองต้างยาน ที่อยู่ภายใต้การยึดครองของทหารพม่าได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี 2502 (1959) ร่วมกับเจ้าเสือวัน และเจ้าโป่หม่อง เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกนำเสนอเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

กุมภาพันธ์ 2553

(7 ก.พ.) กองทัพรัฐฉาน (Shan State Army – SSA) จัดงานวันชาติรัฐฉานปีที่ 63 ที่ฐานที่มั่นดอยไตแลง รัฐฉาน มีชาวไทใหญ่ร่วมหลายพันคน และมีผู้แทนชนชาติต่างๆ ในรัฐฉานร่วมกล่าวสุนทรพจน์ ได้แก่ ผู้แทนสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU) ผู้แทนจากองค์กรแห่งชาติว้า (WNO) องค์กรปลดปล่อยแห่งชาติปะโอ (PLO) ด้านพล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพรัฐฉาน SSA กล่าวเรียกร้องให้ประชาชนชาวไทใหญ่ช่วยกันกู้ชาติ พร้อมกับเรียกร้องให้สหประชาชาติและนานาชาติเข้าช่วยเหลือประชาชนในสหภาพ พม่าที่กำลังถูกรัฐบาลทหารพม่าละเมิดสิทธิ์อย่างหนัก

มีนาคม 2553

(16 มี.ค.) เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสิบล้อบรรทุกปูนซีเมนต์เต็มคันพุ่งชนท้ายรถทัวร์ โดยสารของบริษัท ส่วยเยก่าน ซึ่งบรรทุกผู้โดยราว 50 – 60 คน จากจังหวัดท่าขี้เหล็ก มุ่งหน้าไปทางเมืองเชียงตุง เหตุเกิดบริเวณใกล้กับบ้านปางควาย ก่อนถึงเมืองเชียงตุง ประมาณ 10 ไมล์ ส่งผลให้รถทัวร์โดยสารพลิกคว่ำและมีผู้เสียชีวิตคาที่ 17 คน บาดเจ็บสาหัส 38 คน นับเป็นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่รุนแรงที่สุดของเมืองเชียงตุง

(20 มี.ค.) พ.ต.เทอ่อง สังกัดกองพลที่ 55 ของพม่าร่วมกำลังทหารพม่าอีกชุด ที่ตั้งฐานอยู่ในตำบลป่างเก่ตู้ อำเภอเมืองกึ๋ง รัฐฉานภาคกลาง จับกุมชาวบ้านที่กำลังออกหาของป่าและล่าสัตว์รวม 25 คน โดยกล่าวหาว่าส่งเสบียงอาหารให้กองกำลังไทใหญ่ SSA โดยชาวบ้าน 2 คน ชื่อจายก่าหลิ่ง และจายเดือน ถูกยิงเสียชีวิต เนื่องจากสงสัยเป็นทหารไทใหญ่ ขณะที่ชาวบ้าน 23 คน ถูกนำตัวไปสอบสวนและเรียกค่าปรับเป็นเงินคนละ 3 หมื่นจั๊ต (ประมาณ 1 พันบาท)

(22 มี.ค.) ผบ.ยุทธการพม่า ประจำเมืองต้างยาน (รัฐฉานภาคเหนือ) มีคำสั่งด่วนเรียกเจ้าหน้าที่ข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่องค์กรเอ็นจีโอ ในเขตปกครองกลุ่มหยุดยิงว้า UWSA เดินทางออกจากพื้นที่ภายใน 2 วัน พร้อมกันนั้นกองทัพพม่าได้มีคำสั่งเรียกกองกำลังอาสาสมัครที่ประจำอยู่ใน พื้นที่ใกล้ลำน้ำสาละวิน ให้เคลื่อนกำลังไปเสริมกำลังทหารพม่าที่ประจำอยู่ตามท่าเรือข้ามแม่น้ำสาละ วิน ตรงข้ามพื้นที่เขตปกครองว้า UWSA โดยการเคลื่อนไหวของกองทัพพม่ามีขึ้น หลังจากการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาลทหารพม่าและผู้นำกองกำลังหยุดยิงว้า UWSA ที่มีเจ้าหน้าที่จีนคอยเป็นสื่อกลาง ที่เมืองต้างยาน เมื่อวันที่ 26 ก.พ. เพื่อหาทางออกกรณีรัฐบาลทหารพม่ากดดันให้กลุ่มหยุดยิงว้า UWSA เปลี่ยนสถานะภาพกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF – Border Guard Force ไม่ประสบผลสำเร็จ 

(24 มี.ค.) ต้นเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่พม่าในเมืองหมู่แจ้ รัฐฉานตอนบน ทำการยึดที่ดินของชาวบ้าน บริเวณเขตการค้าหลักไมล์ 105 ใกล้ชายแดนจีน รวมเนื้อที่หลายเอเคอร์ ทั้งเป็นพื้นที่ไร่นาและพื้นที่มีบ้านปลูกอาศัย สำหรับใช้สร้างสถานีรถไฟอันเป็นโครงการร่วมระหว่างจีนและพม่า โดยตอนแรกเจ้าหน้าที่พม่าระบุว่า เจ้าของที่ดินจะได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 3,000 จั๊ต ต่อที่ดินที่ถูกยึด 1 เอเคอร์ แต่ที่สุดไม่มีชาวบ้านคนใดได้รับเงินค่าชดเชยดังกล่าว

เมษายน 2553

(8 เม.ย.) จายอ้ายเปา อดีตเลขาธิการพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย Shan Nationalities League for Democracy (SNLD) พรรคการใหญ่อันดับสองรองจากพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี ยื่นขอจดทะเบียนตั้งพรรคชื่อ พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ Shan Nationalities Democratic Party (SNDP) ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพม่า เพื่อเข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ จายอ้ายเปา ให้เหตุผลถึงการจัดตั้งพรรคร่วมการเลือกตั้งว่า เพื่อหาสิทธิ์ให้ชนชาติไทใหญ่ หากไม่ตั้งพรรคเข้าร่วมอาจยิ่งทำให้ชนชาติไทใหญ่เสียสิทธิ์เสียโอกาส และจะทำให้คณะรัฐบาลทหารพม่าครองที่นั่งในสภาแต่เพียงผู้เดียว

(24 เม.ย.) อดีตทหารพม่า 4 คน ร่วมกันก่อเหตุรุมข่มขืนและฆ่าด.ญ.นางยอด (นามสมมติ) อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 7 บ้านนายาง ต.ลุกไข่ อำเภอเมืองไหย๋ รัฐฉานภาคเหนือ ขณะไปเลี้ยงควายเพื่อช่วยพ่อแม่ในช่วงปิดเทอม ทราบว่า ผู้ก่อเหตุทั้ง 4 คน เป็นอดีตทหารในสังกัดกองพันทหารราบที่ 67 ประจำเมืองไหย๋ ทั้ง 4 คน ทำงานรับจ้างขุดทรายตามฝั่งแม่น้ำลอง ระหว่างนั้นได้พบเห็นด.ญ.นางยอด กำลังเลี้ยงควายอยู่เพียงลำพัง จึงร่วมกันจับข่มขืนและฆ่าปิดปากทิ้งศพไว้บนหาดทราย

มิถุนายน 2553

(7 มิ.ย.) รายงานกลุ่มพิทักษ์แม่น้ำสาละวินจีน ระบุ รัฐบาลทหารพม่าได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับจีน ในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง ในรัฐฉานภาคเหนือ การลงนามมีขึ้นระหว่างที่นายสี จินปิง รองประธานาธิบดีของจีนเยือนกรุงเนปิดอว์ เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา โดยเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง มีกำหนดสร้างบนแม่น้ำสาละวิน บริเวณบ้านหนองผา เมืองต้างยาน และบนแม่น้ำม้า บริเวณบ้านโต้ง ทั้งสองแห่งอยู่ในรัฐฉานภาคเหนือ มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้า 1200 เมกกะวัตต์  โดยเขื่อนบนแม่น้ำม้าจะมีกำลังผลิตราว 200 – 300 เมกกะวัตต์ และเขื่อนบนแม้สาละวินจะมีกำลังผลิตราว 900 – 1000 เมกกะวัตต์

(8 มิ.ย.) รัฐบาลทหารพม่าส่งเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน เข้าเมืองจ๊อกแม รัฐฉาน ติดตามสอบสวนสมาชิกครอบครัว พ.ต.จายเต็งวิน นายทหาร แปรพักตร์เผยความลับโครงการนิวเคลียร์ โดยทหารพม่าได้ห้ามญาติของเขาเดินทางออกนอกพื้นที่ ทั้งนี้ พ.ต.จายเต็งวิน เป็นชาวไทใหญ่เมืองจ๊อกแม และเป็นอดีตนักเรียนวิทยาลัยเทคนิคป้องกันชาติ Defense Service Technical Academy (DSTA) ทั้งเป็นหนึ่งในนักเรียนที่รัฐบาลทหารพม่าส่งตัวไปศึกษาเกี่ยวกับขีปนาวุธ ที่ประเทศรัสเซียนาน 5 ปี พ.ต.จายเต็งวิน ตัดสินใจหนีออกนอกประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลหลักฐานทั้งเอกสารและภาพถ่ายเกี่ยวกับโครงการพัฒนา อาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งสำนักข่าว DVB และสำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

กรกฎาคม 2553

(24 ก.ค.) ร้อยโทเต็งอ่อง นายทหารพม่าจากฐานส่วนแยกที่ 3 ประจำเมืองกุ๋นฮิง รัฐฉานภาคใต้ สังกัดกองพันทหารราบเบาที่ 524 ก่อเหตุบังคับข่มขืนนางหลู่ (นามสมมติ) อายุ 30 ปี หญิงสติไม่สมประกอบ ในหมู่บ้านเลาฝ่าย อยู่ทางทิศใต้เมืองกุ๋นฮิง เหตุเกิดขณะทหารพม่าชุดของร้อยโทเต็งอ่อง ลาดตระเวนไปพักค้างที่หมู่บ้านเลาฝ่ายในคืนที่สอง และเป็นช่วงที่นางหลู่ ผู้เคราะห์ร้ายอยู่บ้านเพียงลำพัง ซึ่งหลังก่อเหตุ นายทหารพม่าคนดังกล่าว ได้ข่มขู่เหยื่อว่าจะฆ่าทิ้งหากนำเรื่องไปเปิดเผย

สิงหาคม 2553

(5 ส.ค.) พล.ต.เสือแท่น วัย 74 ปี หนึ่งในผู้นำกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ (SSA-N) ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าจับกุมเมื่อปี 2548 ด้วยข้อหาสมคบพรรคการเมืองนอกกฎหมายและคิดก่อการกบฎ ถูกทางการพม่าย้ายที่คุมขังจากเรือนจำคำตี่ ในภาคสะกายมายังมัณฑะเลย์ ซึ่งการย้ายที่คุมขังพล.ต.เสือแท่น ทำให้หลายฝ่ายต่างเกิดข้อสงสัย เนื่องจากเป็นไปอย่างเงียบๆ และไม่ถูกเปิดเผยสาเหตุจากทางการ ทั้งนี้ พล.ต.เสือ แท่น ถูกทางการพม่าจับกุมพร้อมด้วยผู้นำการเมืองคนสำคัญของไทใหญ่ 8 คน เมื่อต้นปี 2548 ทั้งหมดถูกตัดสินจำคุกตั้งแต่ 75 – 106 ปี และถูกแยกตัวคุมขังต่างเรือนจำ โดยพล.ต.เสือแท่น ถูกตัดสินจำคุก 106 ปี เจ้าขุนทุนอู ถูกตัดสินจำคุก 93 ปี

(17 ส.ค.) เครือข่ายปฏิบัติงานผู้หญิงไทใหญ่ Shan Woman's Action Network - SWAN ร่วมกับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ Shan Human Rights Foundation - SHRF ออกแถลงการณ์ต่อต้านคัดค้านโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟของรัฐบาลทหารพม่า ที่มีกำหนดเชื่อมรัฐฉานภาคใต้สู่ภาคตะวันออก จากเมืองนาย – เมืองเชียงตุง โดยระบุ เป็นโครงการที่จะก่อให้เกิดสงครามกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งทางรถไฟสายใหม่จะช่วยให้รัฐบาลพม่าลำเลียงอาวุธหนักเข้าสู่พื้นที่ห่าง ไกล เพื่อกวาดล้างกลุ่มต่อต้าน ทั้งระบุว่า โครงการสร้างเส้นทางรถไฟของรัฐบาลทหารพม่า ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อการพาณิชย์ตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง

(20 ส.ค.) พล.ท.เยมิ้นต์ ผอ.ความมั่นคงกองทัพพม่า Military Affairs Security (MAS) ยื่นคำขาดให้กลุ่มหยุดยิงว้า UWSA และกลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA แปรสถานะกองกำลังเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF-Border Guard Force ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ย. โดยพล.ท.เย มิ้นต์ ได้กล่าวกับตัวแทนกลุ่มหยุดยิงทั้งสองในทำนองเดียวกันว่า ให้ตัดสินใจเปลี่ยนสถานะภาพเป็นหน่วยพิทักษ์ชายแดนก่อนการเลือกตั้ง โดยให้ทางกลุ่มเร่งดำเนินการและให้ยื่นคำตอบกลับภายในเดือนกันยายน ทั้งกล่าวว่า หากไม่เร่งดำเนินการเป็น BGF หลังการเลือกตั้งจะถูกกำหนดเป็นกลุ่มนอกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ

(20 ส.ค.) อูส่วยโอง วัย 88 ปี อดีตนักการเมืองซึ่งมากด้วยอุดมการณ์และประสบการของไทใหญ่ และเป็นหนึ่งในผู้อยู่ในเหตุการณ์การลงนามสนธิสัญปางโหลง ได้ถึงแก่กรรมลงด้วยโรคมะเร็งตับ ที่บ้านพักส่วนตัว เขตซานชอง กรุงย่างกุ้ง โดยก่อนถึงแก่กรรม อูส่วยโอง ดำรงตำแหน่งเป็นประธานพรรคสหภาพประชาธิปไตย Union Democracy Party – UDP ตามประวัติอูส่วยโอง เป็นชาวเมืองหยองห้วย รัฐฉานภาคใต้ ในปี 2490 เขาได้เข้าร่วมการประชุมลงนามสนธิสัญญาปางโหลง นอกจากนี้ เขายังเคยดำรงตำแหน่งประธานสันนิบาตชาติชาติพันธุ์รัฐฉานเพื่อประชาธิปไตย Shan State National Races League for Democracy –SSNRLD ซึ่งได้เข้าร่วมการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2533 ด้วย

(29 ส.ค.) หลวงพ่อปัญญา ปญฺญาวโร เจ้าอาวาสวัดเวียงแหง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ พระมีพรรษามากสุดของไทใหญ่ในไทย และเป็นที่ปรึกษาชมรมสงฆ์ไทใหญ่ในประเทศไทย ได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคชราที่วัดเวียงแหง ขณะมีอายุได้ 82 ปี รวมพรรษา 61 พรรษา

กันยายน 2553

(9 ก.ย.) กลุ่มนักวิจัยยาเสพติดในรัฐฉาน โดยสำนักข่าวฉาน SHAN แถลงเปิดตัวจดหมายข่าว Shan Drug Watch ฉบับล่าสุด ซึ่งระบุว่าสงคราม ปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลทหารพม่ายังคงล่าช้ากว่ากำหนด ปัจจุบันมี 46 จาก 55 อำเภอในรัฐฉานยังคงปลูกฝิ่น สาเหตุเนื่องจากกองทัพพม่ายังต้องพึ่งพาการเก็บภาษีจากฝิ่น และมีนโยบายที่ปล่อยให้ กกล.อส. ในพื้นที่หลายกลุ่มเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด

(14 ก.ย.) ชุดลาดตระเวนกองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N ปะทะทหารพม่าที่บริเวณบ้านผักตบ ต.ต้นแกง เมืองสี่ป้อ เหตุปะทะเกิดในพื้นที่ที่ทหารพม่ามีคำสั่งให้กองกำลังไทใหญ่ "เหนือ" กองพลน้อยที่ 1 ภายใต้การบังคับบัญชาของพล.ต.ป่างฟ้า ซึ่งปฏิเสธรับข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่าจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ชายแดน BGF ถอนกำลังออกไปก่อนหน้านี้ และนับเป็นการปะทะครั้งแรกระหว่างทหารพม่ากับกลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ "เหนือ" SSA-N

ตุลาคม 2553

(10 ต.ค.) เกิดเหตุเพลิงไหม้คลังเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพพม่า ในเมืองสาด อยู่ในรัฐฉานภาคตะวันออก ตรงข้ามชายแดนไทยด้านอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้อาคาร 2 หลัง ที่ใช้เป็นที่กักเก็บอาวุธนานาชนิดของกองทัพพม่า และเป็นที่ซ่อมแซมอาวุธปืน ถูกเพลิงไหม้และเกิดระเบิดเสียหายทั้งหมด

(21 ต.ค.) ทางการพม่าประกาศเปลี่ยนใช้ธงชาติใหม่ ถือฤกษ์ช่วงบ่ายจัดพิธีเชิญธงชาติเก่าลงจากยอดเสาและนำธงชาติใหม่ขึ้นแทน พร้อมกับมีการเปลี่ยนเพลงชาติ, สัญลักษณ์ประเทศ รวมถึงเปลี่ยนชื่อประเทศจากสหภาพเมียนมาร์ (Union of Myanmar) เป็นสาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ (Republic of the Union of Myanmar) โดยการเปลี่ยนใช้ธงชาติใหม่นี้เป็นไปตามบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2551 (2008) มาตราที่ 13 ซึ่งระบุการเปลี่ยนแปลง 5 ประการสำคัญของประเทศ คือ ธงชาติ เพลงชาติ เมืองหลวง สัญลักษณ์ประเทศ และชื่อประเทศใหม่

(27 ต.ค.) องค์กรเยาวชนชาวปะโอ (Pa-Oh Youth Organisation - PYO) แถลงเปิดเผยวีดิทัศน์และใบปลิวต่อสื่อมวลชน เผยข้อมูลถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากโครงการเหมืองเหล็กป๋างแปก เหมืองเหล็กขนาดใหญ่สุดในพม่า อยู่ในพื้นที่เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉาน ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับบริษัท Tyazhpromexport บริษัทรัฐวิสาหกิจของรัสเซีย และมีกำหนดเริ่มดำเนินงานในปีหน้า โดย PYO ระบุโครงการนี้จะก่อให้เกิดการสูญเสียที่ทำกิน มลพิษต่อแหล่งน้ำ และการละเมิดสิทธิ์จากทหารของรัฐบาลพม่า ซึ่งขณะนี้ทางการพม่าได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านราว 100 คนย้ายออกจากพื้นที่แล้ว และประมาณการว่าจะมีชาวบ้านอย่างน้อย 7,000 คน ถูกโยกย้ายเมื่อโครงการเหมืองเริ่มขึ้น

พฤศจิกายน 2553

(3 พ.ย.) นายหลอชิงหัน อดีตเจ้าพ่อยาเสพติดรายใหญ่ที่ชื่อเสียงโด่งดังเมื่อในช่วง 30 กว่าปีก่อน ยอมทุ่มเงินสนับสนุนพรรคประชาธิปไตยและ เอกภาพโกก้าง KDUP (Kokang Democracy and Unity Party) สำหรับใช้เป็นทุนรณรงค์หาเสียง ซึ่งพรรคดังกล่าวเป็นพรรคนอมินีพรรคข้างรัฐบาลทหารพม่า โดยนายหลอชิงหัน กล่าวกับลูกพรรคว่า ไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน ต้องการเมื่อไหร่เท่าใดขอให้บอก ขณะที่พรรคตั้งเป้าใช้งบประมาณในการหาเสียงเมืองละ 8 ล้านจั๊ต ซึ่งมีพื้นที่หาเสียง 3 เมืองในรัฐฉานภาคเหนือ คือ เมืองล่าเสี้ยว เมืองแสนหวี และเมืองกุ๋นโหลง

(5–8 ธ.ค.) ชาวไต (ไทใหญ่) ในประเทศไทย จัดงานฉลองรับปีใหม่ศักราชที่ 2105 คึกคัก โดยการจัดงานมีหลายพื้นที่ ประกอบ วัดกู่เต้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, บ้านหลักแต่ง ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่, บ้านเทอดไทย (บ้านหินแตก) อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และอีกแห่งคือที่สถานปฏิบัติธรรม (วัดใหม่) ถ.สาธุประดิษฐ์ เขตยานนาวา กรุงเทพฯ แต่ละแห่งมีผู้เข้าร่วมอย่างเนืองแน่น

(11 พ.ย.) เกิดการสู้รบกันอย่างดุเดือดระหว่างทหารกองทัพพม่ากับทหารกองพลน้อยที่ 1 ของกองทัพรัฐฉาน "เหนือ" หรือ กลุ่มหยุดยิงไทใหญ่ (SSA-N) ในพื้นที่เมืองเกซี รัฐฉานภาคใต้ การสู้รบเกิดขึ้นหลังทหารพม่าเข้าทำการโอบล้อมโจมตีฐานที่มั่นของทหารกองพล น้อยที่ 1 (SSA-N) ส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอย่างดุเดือดนานกว่า 2 ชั่วโมง กองกำลังหยุดยิงไทใหญ่ SSA-N กองพลน้อยที่ 1 หลังไม่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลทหารพม่าในการจัดตั้งเป็นกองกำลังพิทักษ์ชาย แดน BGF ได้ถูกกองทัพพม่ากดดันและเกิดการสู้รบกับทหารพม่าแล้วหลายครั้ง

(16 พ.ย.) พี่น้องชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่หลายสาขาอาชีพทั้งกลุ่มเยาชน นักเรียน นักศึกษา และแรงงานพลัดถิ่น นำโดยพระอธิการอินตา อินทวีโร เจ้าอาวาสวัดป่าเป้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นำเงินจำนวน 121,560 บาท มอบให้กับเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อให้นำไปสมทบทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย เงินจำนวนดังกล่าวได้จากการจัดงานคอนเสิร์ตภายใต้ชื่อ “คอนเสิร์ตพี่น้องไทใหญ่รวมใจ ช่วยภัยน้ำท่วม” และได้จากการร่วมบริจาคของพี่น้องไทใหญ่

(11 พ.ย.) สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และกองทัพไทใหญ่ (SSA) ออกแถลงการณ์เรียกร้องพม่าฟื้น “สัญญาปางโหลง” ทั้งนี้เพื่อทำให้เกิดสิทธิเท่าเทียมกันของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งระบุ รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.2008 ที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าร่างขึ้นเป็นความต้องการของตนเพียงฝ่ายเดียว และการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 53 ก็ขาดความชอบธรรม

ธันวาคม 2553

(1-7 ธ.ค.) กองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือ กลุ่มหยุดยิงเมืองลา NDAA อยู่ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ติดชายแดนจีน จัดงานฉลองรับปีใหม่ไต 2105 อย่างยิงใหญ่และเป็นครั้งแรกของเมืองลา มีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเข้าร่วมนับหมื่นคน งานจัดที่สนามต้นรุง ทางเข้าตัวเืมือง มีตัวแทนกองทัพสหรัฐว้า UWSA และ กองทัพรัฐฉาน "เหนือ" SSA-N เข้าร่วมด้วย

(17 ธ.ค.) พระมหาสมชาย จิตฺตคุตฺโต อายุ 42 ปี 22 พรรษา พระชาวไทยเชื้อสายไทใหญ่ เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยโปณา ประเทศอินเดีย ได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนาม "พระครูสุตพุทธิวิเทศ" ในโอกาสนี้ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยหลายสาขาอาชีพ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ร่วมแสดงมุทิตาจิตจัดพิธีฉลองให้อย่างสมเกียรติ ในฐานะเป็นผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาและสร้างชื่อเสียงให้กับชาวไทใหญ่

(19 ธ.ค.) เบอร์มาไลฟ์ไลน์ (Burma Lifeline) องค์กรช่วยเหลือผู้อพยพจากสหภาพพม่า ก่อตั้งโดยเจ้านางสุจันติ หรือ Inge Sargent อดีตชายาเจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าไทใหญ่แห่งเมืองสี่ป้อ ได้มอบรางวัลภาวะผู้นำเจ้าสุจันติ (Sao Thusandi Leadership Award) แก่ น.ส.มอนเก๋ง วัย 26 ปี จากกลุ่มเครือข่ายปฏิบัติงานเพื่อสตรีไทใหญ่ SWAN ในฐานะเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างแข็งขัน และช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่ผู้อพยพตามแนวชายแดนต่อเนื่องมาหลายปี โดยพิธีมอบจัดที่โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน เชียงใหม่

(20–29 ธ.ค.) พรรคสหรัฐว้า UWSP (United Wa State Party) องค์กรการเมืองกองทัพสหรัฐว้า UWSA จัดประชุมคณะกรรมการพรรคประจำพื้นที่เมืองใหม่ อยู่ห่างจากเมืองปางซางไปทางเหนือประมาณ 170 กม. หารือกันถึงแนวทางอนาคตเขตปกครองว้า โดยเตรียมยื่นข้อเสนอขอสิทธิปกครองตนเองต่อรัฐบาลชุดใหม่พม่า และว่า ว้าจะไม่แยกตัวออกจากสหภาพพม่า ส่วนกรณีที่นางอองซาน ซูจี ประกาศสร้างความปรองดองด้วยการเสนอจัดประชุมปางโหลงครั้งที่ 2 เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในนั้น ว้า ไม่มีส่วนร่วมรู้และจะไม่ขอเข้าร่วมด้วย

(23 ธ.ค.) กองทัพสหรัฐว้า UWSA (United Wa State Army) มีกองบัญชาการใหญ่อยู่ที่เมืองปางซาง รัฐฉานภาคตะวันออก ติดชายแดนจีน มีมติขยายกำลังพลในกองทัพเพิ่มอีก 1 กองพลน้อย คือ กองพลน้อยที่ 618 ทำหน้าที่ดูแลพื้นที่เมืองมังแสง และเมืองหนองเข็ด อันเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอีกจุดหนึ่ง ต่อหน้าพื้นที่เคลื่อนไหวของกองทัพพม่า ฝั่งตะวันออกแม่น้ำสาละวิน ตรงข้ามเมืองต้างยาน ในรัฐฉานภาคเหนือ มีนายเปาสามราย อดีตรองผู้บัญชาการพื้นที่เมืองใหม่ เป็นผู้บัญชาการ

(29 ธ.ค.) สำนักข่าวฉาน SHAN (Shan Herald Agency for News) สำนักข่าวอิสระก่อตั้งโดยชาวไทใหญ่พลัดถิ่น ประกาศยุติตีพิมพ์เผยแพร่นิตยาสารข่าว "กอนขอ" หรือ "อิสรภาพ" ตามภาษาไทใหญ่ อันเป็นสื่อสิ่งพิมพ์รายเดือนฉบับเดียวของไทใหญ่ที่ดำเนินการผลิตเผยแพร่ ข่าวสารเกี่ยวกับรัฐฉานและสหภาพพม่ามานับสิบปี เหตุเนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการตีพิมพ์

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/

"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net