Skip to main content
sharethis

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 17 มกราคม 2554 รายงานข้อมูลจากสำนักงบประมาณระบุว่า รัฐบาล 6 ชุดที่ผ่านมาได้จัดงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาภาคใต้ตามความรุนแรงหนักหน่วงของสถานการณ์ ตัวเลขงบประมาณจึงมีทิศทางสูงขึ้นเกือบทุกปี แม้กระทั่งงบประมาณ ณ ปีปัจจุบันคือปี พ.ศ.2554 ก็ยังสูงกว่าเมื่อปีก่อนหน้าเกือบ 3 พันล้านบาท

งบประมาณดับไฟใต้แยกแยะเป็นรายปีได้ดังนี้ ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 ขยับขึ้นเป็น 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 อยู่ที่ 22,988 ล้านบาท ปี 2552 พุ่งไปถึง 27,547 ล้านบาท ปี 2553 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 16,507 ล้านบาท และปี 2554 ขยับขึ้นไปอีกครั้งอยู่ที่ 19,102 ล้านบาท รวม 8 ปีงบประมาณ รัฐบาลทุ่มเม็ดเงินลงไปสำหรับภารกิจดับไฟใต้แล้วทั้งสิ้น 145,001 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ 1.45 แสนล้าน

งบประมาณดังกล่าวเรียกกันว่า "งบฟังก์ชัน" หมายถึง งบที่จัดไว้สำหรับทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่รวมงบประจำประเภทเงินเดือนและค่าตอบแทนของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ

ที่สำคัญ ตัวเลข 1.45 แสนล้านบาทนี้ยังไม่รวมงบเยียวยาที่จ่ายให้แก่ผู้สูญเสียและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ไม่รวมงบไทยเข้มแข็งที่จัดขึ้นใหม่ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และไม่รวมงบจัดซื้อยุทโธปกรณ์ด้วยวิธีพิเศษของกองทัพ

7 ปี "บึ้ม-ยิง-เผา" หมื่นครั้งสังเวย 4 พันชีวิต
จากยอดการใช้จ่ายงบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงในพื้นที่จะพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมาสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมายจนมิอาจประเมินค่าได้

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่าเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกือบจะรายวันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอของสงขลา ซึ่งประกอบด้วย อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวีนั้น มีทั้งสิ้น 11,523 เหตุการณ์แยกเป็น จ.นราธิวาสมากที่สุด 4,010 เหตุการณ์ จ.ปัตตานี 3,783 เหตุการณ์ จ.ยะลา 3,152 เหตุการณ์ และ จ.สงขลา 567 เหตุการณ์

รูปแบบของความรุนแรง แยกเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืน 6,171 ครั้ง ลอบวางระเบิด 1,964 ครั้งและวางเพลิงเผาทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงสถานที่ราชการ 1,470 ครั้ง

ความสูญเสียจากเหตุรุนแรงมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 4,370 ราย แยกเป็น จ.นราธิวาส 1,540 ราย ปัตตานี 1,433 ราย ยะลา 1,167 ราย และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 224 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต 4,370 รายนั้น เป็นประชาชนทั่วไป 3,825 ราย ทหาร 291 นาย และตำรวจ 254 นาย ส่วนจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากข้อมูลของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (ศจฉ.จชต.) อยู่ที่ 7,136 ราย

เด็กกำพร้าครึ่งหมื่น-หญิงหม้าย 2 พันคน
สถานการณ์ความรุนแรงที่คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากยังทำให้ตัวเลขเด็กกำพร้าและหญิงหม้ายในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้พุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ กล่าวคือจำนวนเด็กกำพร้าตั้งแต่ปี 2547 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อยู่ที่ 5,111 คน แยกเป็น จ.นราธิวาส 1,463 คน ยะลา 2,033 คน ปัตตานี 1,471 คน และสงขลา 144 คน

ส่วนหญิงหม้ายที่สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบ นับจากปี 2547 ถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 อยู่ที่ 2,188 คน แยกเป็น จ.นราธิวาส 575 คน ยะลา 770 คน ปัตตานี 770 คน และสงขลา 73 คน

7,680 คดีถึงศาล 256 ยกฟ้องเกือบครึ่ง
เป็นที่ทราบกันดีว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา เป็นพื้นที่ประกาศใช้กำหมายพิเศษหลายฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แต่เมื่อพิจารณาถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการคลี่คลายคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นแล้ว พบว่าล้มเหลวแทบจะสิ้นเชิง

ทั้งนี้ ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ศชต.ได้นำมาแยกแยะเป็นคดีความมั่นคงได้ 7,680 คดี จากคดีอาญาที่เกิดขึ้นทั้งหมด 77,865 คดี หรือคิดเป็น 9.86% ในจำนวนคดีความมั่นคง 7,680 คดีนั้น เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดมากถึง 5,872 คดี รู้ตัวผู้กระทำความผิดเพียง 1,808 คดีหรือคิดเป็น 23.54% ในจำนวนนี้จับกุมผู้ต้องหาได้ 1,264 คดี หลบหนี 544 คดี

เมื่อแยกแยะคดีความมั่นคงที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมขั้นต่างๆ พบว่า คดีที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน 7,680 คดี เป็นคดีที่สั่งงดการสอบสวน เพราะไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิดถึง 5,269 คดี สั่งฟ้อง 1,536 คดี สั่งไม่ฟ้อง 210 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ 665 คดี พนักงานอัยการสั่งฟ้องไปแล้ว 655 คดี สั่งไม่ฟ้อง 299 คดี และมีคดีที่ศาลพิพากษาแล้ว 256 คดี ลงโทษ 140 คดี หรือ 54.69% ยกฟ้อง 116 คดีหรือคิดเป็น 45.31%

สถิติเหตุรุนแรงปี 2553 ลดลง 13%
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ซึ่งกำกับนโยบายดับไฟใต้ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จากสถิติการก่อเหตุร้ายที่รวบรวมโดย ศชต. พบว่าปี 2550 เป็นปีที่เกิดเหตุรุนแรงมากที่สุดถึง 2,475 เหตุการณ์ จากนั้นก็ค่อยๆ ลดระดับลงเรื่อยๆ กระทั่งปี 2553 เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 1,348 เหตุการณ์เท่ากับลดลง 184 เหตุการณ์หรือ 13.65%

นอกจากนั้นความสูญเสียจากเหตุรุนแรงก็ลดลงมากเช่นกัน กล่าวคือ ตลอดปี 2553 มียอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 606 ราย ลดลงจากปี 2552 จำนวน 87 รายหรือคิดเป็น 14.33%

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net