Skip to main content
sharethis

แรงงานร่วมพันรวมตัว “สมัชชาแรงงาน” ยื่นเสนอเจตนารมณ์การปฏิรูปประกันสังคม 5 ข้อ ให้นายก ด้านเลขาฯ สปส.แจงความคืบหน้า คาดผู้ประกันตนมีสิทธิใช้บริการ ร.พ.ในสาธารณสุขได้ทุกแห่งเมษานี้ ส่วนหมอวิชัยแนะโอนการรักษาไปไว้ สปสช. ชี้สิทธิในประกันสังคมน้อยกว่า

 
 
วันนี้ (13 ม.ค.54) เมื่อเวลา 8.30 น.คณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จัดงานสมัชชาแรงงาน: ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน “ประกันสังคมถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส” เพื่อสร้างการเรียนรู้และรณรงค์ให้การปฏิรูปประกันสังคมครอบคลุมคนทำงานทุกภาคส่วน มีความเป็นอิสระ และโปร่งใส นำไปสู่การสร้างสังคมสวัสดิการและสังคมไร้การกีดกันในอนาคต 
 
เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงานเดินทางเข้ามาถึงบริเวณที่จัดงาน กลุ่มแรงงานได้จัดกิจกรรมนิทรรศการมีชีวิต โดยแสดงบทบาทสมมติของกลุ่มแรงงานที่อยู่ภายใต้ตาข่ายซึ่งสื่อแทนการครอบคลุมของระบบประกันสังคมแบบเดิมๆ ที่ไม่มีคุณภาพในการบริการแก่แรงงานในระบบ ในขณะเดียวกันก็ไม่ครอบคลุมแรงงานกลุ่มอื่นๆ โดยเรียกร้องให้การปฏิรูปประกันสังคมนำไปสู่ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า มีความเป็นอิสระ และโปร่งใส เพื่อรับใช้ประชาชน
 
จากกนั้น นายอภิสิทธิ์ ในฐานประธานกล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษว่า การจากการเฝ้าติดตามเรื่องประกันสังคมเป็นเวลานานกว่า 20 ปี มีความพยายามที่จะขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานมากกว่า 20 ล้านคน และเมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะต้องมีการปรับปรุงเรื่องของการบริหารระบบประกันสังคม เช่น การขยายการคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในกรณีเจ็บป่วย การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ และพูดถึงความมั่นคงด้านรายได้ รวมทั้งการมีสวัสดิการที่ดี และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงาน
 
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลในปัจจุบันจะเดินหน้าในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับสังคม และการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ข้อเสนอทั้งในเรื่องการขยายการครอบคลุมประกันสังคม เรื่องความอิสระและความโปร่งใสการจัดการกองทุนประกันสังคม และการปฏิรูปในภาพรวม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ถือว่าเป็นหลักการที่สอดคล้องในหลักการการแก้ไขปัญหาของประเทศ และล่าสุด ได้มีการประกาศเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมยืนยันว่าในฐานะฝ่ายบริหารเห็นว่าการปฏิรูประบบประกันสังคมเป็นวาระสำคัญ
 
หลังจบการปาฐกถา นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ตัวแทนเครือข่ายแรงงาน ได้อ่านเจตนารมณ์การปฏิรูปประกันสังคมและยื่นต่อนายอภิสิทธิ์ โดยมีเนื้อหา 5 ข้อ คือ 1.ปฏิรูปสำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายรัฐ 2.ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม โดยผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหาร และบริหารโดยมืออาชีพ 3.ขยายสิทธิประโยชน์และครอบคลุมคนทำงานในทุกกลุ่มอาชีพ อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และเป็นระบบที่ยั่งยืน 4.ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย มีสิทธิเข้ารักษาในโรงพยาบาลคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมได้ทุกแห่งทั่วประเทศ และ 5.ขยายสิทธิประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
 
 
แรงงานนอกระบบ – ข้ามชาติ ร้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์ประกันสังคม 
 
นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวในเวทีเสวนทิศทางการปฏิรูปประกันสังคมกับการคุ้มครองคุณภาพชีวิตแรงงานทุกภาคส่วนว่า เดิมมาตรา 40 ของกฎหมายประกันสังคมไม่ได้จูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาอยู่ในประกันสังคม เนื่องจากจ่ายแพงถึง 3,360 บาท เป็นรายปี โดยที่ได้สิทธิประโยชน์เพียง 3 อย่าง ส่วนรูปแบบที่รัฐบาลเตรียมมาใช้ดึงดูดแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ในระบบที่ออกมา ทั้ง 2 รูปแบบ คือ 1.แรงงานจ่าย 70 บาท รัฐสมทบ 100 บาท 2.ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท รัฐสมทบ 50 บาท ยังไม่โดนใจแรงงานนอกระบบทั้งหมด 
 
นางสุจิน ให้เหตุผลต่อมาว่า รูปแบบที่จ่ายเงินสมทบ 100 บาทรัฐสมทบ 50 บาท มีสิทธิประโยชน์ 3 อย่าง แต่ไม่ได้รวมสิทธิบำนาญชราภาพ ซึ่งเป็นหัวใจที่แรงงานนอกระบบขับเคลื่อนตลอดมา เพื่อหวังสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยไม่ต้องลำบากลูกหลานมาดูแล อีกทั้งยังตัดสิทธิของผู้ประกันตนหากจะเข้ากองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) ส่วนรูปแบบที่จ่ายเงินสมทบอีกรูปแบบหนึ่ง จ่ายเงิน 70 บาท โดยเปิดสิทธิ์ให้เข้าร่วม กอช.ได้ แต่มีแต่บำเหน็จอย่างเดียว 
 
หากให้เลือกระบบใดระบบหนึ่งนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วย แรงงานนอกระบบกว่า 40 ล้านคน อยากเห็นมาตรา 40 ที่มีทั้งระบบบำเหน็จและบำนาญ เพราะลำพังเงินจากบำเหน็จอย่างเดียวคงไม่พอกิน อีกทั้งรัฐควรมีการสร้างกลไกที่เชื่อมโยงระหว่างประกันสังคมและ กอช.โดยไม่สร้างความสับสนให้แรงงานที่จ่ายเงินสมทบ และไม่ตัดสิทธิ์การออมกับ กอช. 
 
“เราภูมิใจถ้าเรามีประกันสังคมที่มันเอื้อกับเรา เราภูมิใจในการที่เราสมทบ เราภูมิใจเพราะเราไม่ต้องไปแบมือขอใคร เราจะเตรียมตัวของเรา และจะสมทบเงินของเราเก็บไว้กินตอนชราภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต” ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกล่าว
 
ขณะที่ นายอดิศร เกิดมงคล เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ กล่าวถึงข้อเสนอของกลุ่มแรงงานข้ามชาติว่า ควรมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ ของแรงงานข้ามชาติที่ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคมกว่า 80,000 คน โดยเฉพาะเรื่องประกันการว่างงานและชราภาพ ซึ่งแรงงานข้ามชาติมีโอกาสใช้สิทธิน้อยมาก โดยเสนอให้ปรับนำมาตั้งเป็นกองทุนของแรงงานข้ามชาติ เพื่อยังประโยชน์กับตัวแรงงาน และปรับอัตราส่งเงินสมทบที่เหมาะสม อีกทั้งปรับแก้ พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ให้มีลักษณะยืดหยุ่น สอดคล้องกับสถานการณ์การจ้างงาน ทั้งนี้ประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการจ้างงานตามนโยบายพิสูจน์สัญชาติที่ให้แรงงานทำงานได้เพียง 4 ปี
 
ส่วน นายประสิทธิ์ จงอัศญากุล คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ระบบประกันสังคมนั้นรัฐต้องดูแลคนทั้งชาติ แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่ใช่ ระบบประกันสังคมไทยที่ออกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2533 ควรเรียกว่าเป็นกองทุนของผู้ทำงานที่มีนายจ้างประจำ ส่วนเงิน 7 แสนกว่าล้านในกองทุนนี้เป็นเงินลูกจ้างที่ได้สมทบกันมาเพื่อที่จะใช้เป็นเงินเกษียรยามชราภาพในอีกไม่กี่ปีนี้ ไม่ใช่เงินที่ควรถูกนำมาเฉลี่ยให้กับแรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐจะรับเข้าไปอยู่ในระบบประกันสังคมเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามจากที่รัฐต้องดูแลเรื่องสวัสดิการให้คนอย่างเสมอภาคกัน ดังนั้นเราจึงควรร่วมกันเรียกร้องรัฐให้ตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกันนี้กับแรงงานกลุ่มอื่นๆ แทน
 
 
เสนอ “สิทธิการรักษาพยาบาล” รวมอยู่ใน สปสช.ชี้สิทธิในประกันสังคมน้อยกว่า 
 
ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการปฏิรูปประเทศไทย และทำหน้าที่กรรมการแพทย์ในประกันสังคมมาถึง 9 ปี กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลว่า ในส่วนของข้าราชการและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นเป็นเงินภาษีที่รัฐออกให้หมด แต่ประกันสังคมต้องเก็บเงินจากประชากรจำนวนกว่า 10 ล้านคน ตรงนี้คือความไม่เป็นธรรม และเงินที่เก็บมาในปัจจุบันก็ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่หากเปลี่ยนโครงสร้างระบบบริหารจะประหยัดการใช้เงินลงได้มากขึ้น อีกทั้งสิทธิที่ผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคม ยังมีส่วนที่ควรได้รับมากกว่าที่ได้ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างมาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เมื่อไปรักษาแล้วเกิดความเสียหาย โดยเสียชีวิต หรือพิการ ต้องมีการจ่ายค่าชดเชย แต่เรื่องนี้ระบบประกันสังคมไม่มี
 
“ปัจจุบันเพื่อให้ระบบการรักษาพยาบาลมีการพัฒนาและเท่าเทียมกัน สิทธิในระบบประกันสังคมในปัจจุบันนั้น ได้น้อยกว่าของสิทธิบัตรทองหลายเรื่อง ดังนั้นควรโอนเรื่องการรักษาพยาบาลไปอยู่กับ สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ทั้งหมด ไม่ควรทำสิ่งที่ตรงข้าม คือ เอาคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม” นพ.วิชัยกล่าว
 
นพ.วิชัย กล่าวต่อมาว่า ประกันสังคมในปัจจุบัน ใช้เงินรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วย ที่ไม่เนื่องมาจากการทำงานหัวละกว่า 2,000 บาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงเกินไป และเงินส่วนนี้เข้าไปสู่โรงพยาบาล แต่ประโยชน์ของผู้ประกันตนกลับได้รับเท่าเดิมขณะที่เงินเพิ่มขึ้น แต่หากโอนไปอยู่ภายใต้ สปสช.คำนวณจากตัวเลขค่าแรงผู้ใช้แรงงานทั่วไปเฉลี่ย 8,000 กว่าบาทต่อเดือน รัฐบาลขณะนี้สมทบ 1.5 % คิดเป็นเงิน  1,440 บาท แล้วนำเงินจำนวนนี้โอนไปให้ สปสช.เพื่อดูแลการรักษาพยาบาลทั้งหมด โดยสิทธิต้องไม่น้อยกว่าเดิม ส่วนเงินของผู้ประกันตนและนายจ้างสบทบ 2 ส่วนนี้ ก็นำไปใช้จ่ายในสิทธิส่วนอื่นที่เหลือ เช่น เสียชีวิต คลอดบุตร ทุพพลภาพ ผลคือจะมีเงินเหลือจำนวนมากที่สามารถนำไปเป็นเงินออมให้ผู้ประกันตน และจะทำให้ความไม่เป็นธรรมในเรื่องการเก็บเงินสมทบหมดไป
 
สอดคล้องกับ นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งกล่าวถึงประเด็นที่ท้าทายสังคมคือเรื่องความเป็นธรรมว่า ปัจจุบันคนไทย 65 ล้านคนมีผู้ประกันตนราว 10 ล้านคนเท่านั้น ที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล และถึงแม้จะจ่ายเงินแต่สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมกับ สปสช.กลับต่างกันนับ 100 รายการ และอีกกว่า 10 รายการที่ประกันสังคมไม่มี เช่น ผู้ประกันตนเป็นคนกลุ่มเดียวที่ห้ามป่วยฉุกเฉินเกินปีละ 2 ครั้ง ระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล สปสช.สามารถส่งต่อโดยเฮลิคอปเตอร์ได้ ทั้งหมดเป็นความแตกต่างที่เกิดจากการบริหารจัดการที่ต่างกัน สำหรับทางออกระยะสั้นเสนอให้ปรับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมให้เท่ากับ สปสช.ส่วนระยะยาวควรปรับสิทธิประโยชน์รายหัวให้ทุกคนเท่าเทียมกัน โดยดูแลในระบบเดียวที่เป็นธรรม 
 
 
คาดเมษาได้ข้อยุติ “สิทธิ” ใช้บริการ รพ.สาธารณสุข ได้ทุกแห่ง 
 
นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ทราบถึงปัญหาของระบบประกันสังคมและพยายามแก้ไขอยู่ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ส่วนบางข้อต้องไปหาข้อเท็จจริงเพิ่มเพื่อไปดำเนินการ อย่างไรก็ตามความคืบหน้าการปฏิรูปประกันสังคมนั้น ในอนาคตโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี 887 แห่ง กำลังจะมีข้อตกลงกับประกันสังคมอย่างชัดเจนว่าให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสาธารณสุขแห่งใดก็ได้ ส่วนโรงพยาบาลในการดูแลของกระทรวงกลาโหม 16 แห่ง และโรงพยาบาลของกทม.อีกกว่า 10 แห่ง ก็ยินดีให้ผู้ประกันตนรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ได้ในสังกัดเดียวกัน สำหรับการรักษาข้ามสังกัดโรงพยาบาลคาดว่ามีข้อยุติในช่วงสงกรานต์ปีนี้
 
นายปั้น กล่าวต่อมาว่า ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในเครือข่ายประกันสังคมราว 90 แห่งได้มีการแนะนำให้จับกลุ่ม โดยในกลุ่มนี้สามารถรักษาข้ามโรงพยาบาลกันได้ ส่วนขั้นต่อไป หลังจากสงกรานต์จะมีการผลักดันให้มีมีการข้ามการรักษาระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ทำให้ผู้ประกันตนไปรักษาที่ไหนก็ได้
 
เลขาธิการ สปส.กล่าวด้วยว่า ในอนาคตประกันสังคมอยากให้ สปสช.เป็นผู้ให้บริการการรักษาพยาบาล โดยประกันสังคมมีหน้าที่จ่ายเงิน เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน และประกันสังคมจะจ่ายเองในโรคที่ สปสช.รักษาไม่ได้ ส่วนโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม และความเป็นองค์กรอิสระนั้น ก็มีแนวคิดให้ผู้ประกันตนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมกำกับดูแลการบริหารงานของประกันสังคม ซึ่งการเลือกกรรมการตัวแทนจากผู้ประกันตนเข้ามา โดยเป็นในรูปของสมัชชามากำกับดูแลการทำงานของประกันสังคม และเปลี่ยนทุก 3 หรือ 6 เดือน แทนเลือกตั้งเข้ามา 2 ปี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศของงานสมัชชาแรงงานในวันนี้เป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคส่วนต่างๆ เครือข่ายภาคประชาสังคม ภาครัฐ รวมทั้งผู้สนใจเข้ารวมกว่าหนึ่งพันคน อีกทั้งบริเวณด้านหน้าห้องประชุมก็มีการนำสินค้าฝีมือแรงงานกลุ่มต่างๆ มาวางจำหน่ายด้วย
 
ส่วนช่วงบ่ายของงานสมัชชาแรงงาน มีการจัดสัมมนากลุ่มย่อยโดยแบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ การปฏิรูปประกันสังคมกับแรงงานในระบบ ประชาวิวัฒน์กับการขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติกับรูปแบบประกันสังคมที่เหมาะสม และการเข้าถึงสิทธิและบริการด้านสุขภาพของคนไทย ทำไมต้องหลายระบบ หลายมาตรฐาน ซึ่งในแต่ละห้องจะมีการเสวนา จากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อระดมความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม ประมวลเป็นมติข้อเสนอของแต่ละห้องย่อย และจบกิจกรรมของวันด้วยพิธีมอบมติสมัชชาแรงงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 
 
ทั้งนี้ มติดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
มติสมัชชาแรงงานแห่งชาติ
ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน พ.ศ. 2554
เรื่อง การบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิด
ความถ้วนหน้า อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม
 
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นความคุ้มครองการเข้าถึงสิทธิและบริการ รวมถึงระบบการรองรับเพื่อให้คนทำงาน ได้รับบริการอย่างเป็นธรรมตามสิทธิพื้นฐานภายใต้ระบบประกันสังคม ที่ไม่เอื้อให้เกิดความคุ้มครองทางสังคมต่อคนทำงาน แม้ระบบประกันสังคมไทยจะดำเนินงานมากว่า 20 ปี และมีพัฒนาการทั้งที่เกี่ยวข้องกับกฏหมาย การบริหารจัดการกองทุน ตลอดจนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ในหลายด้าน
 
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันระบบประกันสังคมยังไม่สอดคล้อง หรือเท่าทันต่อสถานการณ์ด้านแรงงาน กล่าวคือ
 
1. กฎหมายประกันสังคมยังมีข้อจำกัดยกเว้นกิจการที่ไม่บังคับใช้เป็นจำนวนมาก เช่น คนทำงานบ้านที่ไม่มีธุรกิจรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างในงานเกษตรฤดูกาล หาบเร่แผงลอย
 
2. สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยยังหลบเลี่ยงไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน และไม่นำส่งเงินสมทบที่หักจากลูกจ้างเข้ากองทุนประกันสังคม
 
3. การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคมยังขาดมาตรฐาน
 
4. การบริหารกองทุนโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ไม่โปร่งใส นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์จากกองทุนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน อันประกอบด้วยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และคณะกรรมาธิการการแรงงานจึงได้จัดสมัชชาแรงงานระดับชาติ : ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน พ.ศ. 2554 มีการเตรียมการต่อเนื่องกันมาโดยลำดับ และมีการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่างๆ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2553 ถึง มกราคม 2554
 
ที่ประชุมมีมติในเรื่อง การบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิดความถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใส ดังต่อไปนี้
 
1.ขอให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการดังต่อไปนี้
1.1 แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาวิจัยการบริหารจัดการให้ระบบประกันสังคมเกิดความถ้วนหน้า อิสระ และโปร่งใสรวมทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของกลไกการบริหารจัดการระบบประกันสังคมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีตัวแทนคณะกรรมการศึกษาวิจัยที่มาจากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ คนทำงานด้านแรงงาน และตัวแทนจากแรงงาน ที่เกี่ยวข้องกับกลไกต่างๆดังกล่าว โดยเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องในสังคมอย่างกว้างขวาง และพัฒนาให้เกิดกลไกการขับเคลื่อน และกระบวนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพร่วมกันของเครือข่ายด้านแรงงาน แล้วนำผลการศึกษาที่ได้พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ เข้าสู่กระบวนการพิจารณาระดับสาธารณะต่อไป
 
1.2 ทบทวนกฎหมายหรือระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการด้านระบบประกันสังคม
 
2.ขอให้รัฐบาล ดำเนินการดังต่อไปนี้
2.1 สนับสนุนกระบวนการสมัชชาแรงงานแห่งชาติด้านประกันสังคม ให้เป็นกลไกนโยบายสาธารณะเพื่อการผลักดันและการพัฒนาระบบประกันสังคมให้สอดคล้องกับหลักการความถ้วนหน้า อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม
 
2.2 ขยายขอบเขตการคุ้มครองให้ครอบคลุมคนงานทุกกลุ่มอาชีพ
 
2.3เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบ คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่ ที่มาและวาระของคณะกรรมการประกันสังคม
 
2.4 กรรมการฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างมาจากการเลือกตั้งโดยตรง
 
2.5สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ใช่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงแรงงาน และอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี
 
2.6 การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ต้องเป็นไปอย่างอิสระ โปร่งใส เป็นธรรม มีกลไกการตรวจสอบ และบริหารจัดการโดยมีออาชีพ
 
2.7 ฐานค่าจ้างในการคำนวณเงินสมทบให้ขึ้นกับค่าจ้างของผู้ประกันตนแต่ละราย
 
2.8 ผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพที่มิใช่เนื่องจากการทำงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนบริการทางการแพทย์ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทำงาน
 
2.9 ผู้ประกันตนมีสิทธิใช้บริการสถานพยาบาลทุกแห่ง ที่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคม
 
2.10 ผู้ประกันตน มีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตรอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์
 
2.11 ผู้ประกันตนที่ว่างงาน มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพพร้อมกับกรณีว่างงาน และให้ขยายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเป็นเวลา 1 ปี
 
2.12 ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 1 เท่า และรัฐบาลออกเงินสมทบ 2 เท่า
 
2.13 ผู้ประกันตนที่มิใช่ลูกจ้างตามมาตรา 40 ให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่าอัตราเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน
 
2.14 พัฒนาสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 ให้เท่าเทียมกับสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์อื่นให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่แรงงานนอกระบบต้องเผชิญ อันมีผลกระทบต่อความมั่นคงในการทำงาน
 
2.15 การได้รับหลักประกันสังคม จะต้องไม่ตัดสิทธิของคนทำงานจากระบบสวัสดิการสังคมอื่นๆ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนการออมแห่งชาติ ฯลฯ
 
2.16 ให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายประกันสังคมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับภาวะการจ้างงานในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เช่น กรณีการว่างงาน และชราภาพอาจไม่สอดคล้องกับแรงงานข้ามชาติ
 
2.17 เพิ่มบทลงโทษกรณีนายจ้างไม่นำส่งเงินสมทบหรือนำส่งเงินสมทบไม่ครบ
 
2.18 ให้ขยายระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 2 ปี
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net