Skip to main content
sharethis

11 ม.ค. 54 - เวที  “จับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ”  โครงการจับตากองทุนสื่อ เครื่องมือหนุนอนาคตชาติ ภายใต้การสนับสนุนโดยแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และได้เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการจัดทำกฎหมายของรัฐบาล ก่อนที่จะผ่านมาเป็นกฎหมายในอนาคต

การระดมความคิดเห็นในกลุ่มหนังสือและวรรณกรรม มีหลายมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องได้แสดงทัศนะไว้อย่างน่าสนใจว่ากองทุนนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรในวงการหนังสือและวรรณกรรมสำหรับเด็ก   

นายอิทธิวัฐก์ สุริยมาตย์ นักเขียนการ์ตูนเจ้าของผลงานหนังสือหลายเล่มอย่าง  “โรงเรียนเม็ดก๋วยจี๊”  “อุดมสุข”  “มะเขื่อง” ฯลฯ แสดงความเห็นว่า ปัจจุบันปัญหาการเข้าถึงหนังสือของเด็กคือ ราคาหนังสือหรือวรรณกรรมสำหรับเด็กมีราคาสูง เด็กที่มีโอกาสได้อ่านหนังสือเหล่านี้จริงๆ คือ ก็จะเป็นเด็กกลุ่มเดียวจากครอบครัวที่มีรายได้พอจะเลือกซื้อหนังสือเหล่านี้ให้ลูกได้ แต่เด็กจากครอบครัวยากจนหรือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะไม่มีโอกาสได้อ่านด้วย  เหตุที่หนังสือมีราคาค่อนข้างสูงนั้นเชื่อมโยงกับต้นทุนการผลิตด้วยทั้งค่ากระดาษ โรงพิมพ์ ต้นทุนการผลิตสูง และวนกลับมาเรื่องยอดพิมพ์ในการอ่าน คือ ถ้าพิมพ์น้อยจะมีต้นทุนสูง ถ้าพิมพ์มากต้นทุนจะต่ำลง ปัญหาก็วนกลับมาทางฝ่ายผลิตถ้าจำหน่ายได้น้อยราคาจึงสูงเหล่านี้เป็นกลไกของการตลาด หรือหนังสือดีอาจมีการรับรู้แค่คนกลุ่มเดียว เช่น ในงานสัปดาห์หนังสือมีหนังสือได้รางวัลก็อาจรับรู้ได้แค่เพียงกลุ่มเดียว หลังจากนั้นก็ไม่มีการเผยแพร่ โดยหากมีกองทุนสื่อฯขึ้นมาจึงอยากให้มีการสนับสนุนทุนด้านการจัดซื้อหนังสือ เผยแพร่หนังสือที่ดี เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมกันของเด็กไทย

นอกจากนี้อยากให้มีกิจกรรมต่างๆเพื่อรวบรวมความคิดสร้างกระบวนการรู้เท่าทันสื่อตั้งแต่กระบวนการผลิต อาทิ การอบรมให้เด็กสามารถสร้างสื่อของตนเอง เมื่อเด็กได้มีโอกาสทำหนังสือหรือเขียนหนังสือจะเกิดการคิดวิเคราะห์กลายเป็นเกราะป้องกันให้เขาได้คิด สามารถแยกถูก ผิดได้ด้วยตนเอง

นายอิทธิวัฐก์ กล่าวอีกว่า หากเป็นไปได้ยังอยากให้มีระบบสวัสดิการสำหรับนักเขียนเมื่อนักเขียนเจ็บป่วยสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือนักเขียนอยากทำหนังสือดีเป็นประโยชน์ก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้เช่นกัน รวมทั้งหากมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ความรู้และมีน้องๆคนไหนสามารถมีแววต่อเป็นอาชีพก็หาตรงนี้มารองรับได้

“หากมีกองทุนสื่อฯอาจมีกิจกรรมคล้ายๆเครือข่ายวิทยุชุมชนแต่ส่วนนี้ก็เป็นหนังสือชุมชน เพราะตามต่างจังหวัดมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ยังไม่มีใครที่รู้วิธีการนำออกมาหรือเด็กก็ยังไม่รู้วิธีการนำเสนอ แต่ละท้องถิ่นมีดีอะไรบ้าง หรือแม้แต่การบันทึกความคิดของคนรุ่นพ่อแม่ เช่น ความรู้การทำนา บางทีคนในเมืองอาจไม่รับรู้ แต่คนท้องถิ่นอยู่กับธรรมชาติเขาก็รู้ หรือวิถีชีวิตของคนทำประมงในภาคใต้ การฟังเสียงป่า ถ้าเป็นคนในเมืองก็ไม่รู้ว่ามีเรื่องราวเหล่านี้ ซึ่งถ้ามีการบันทึกตรงนี้ก็จะกลายเป็นสมบัติประจำท้องถิ่น”

ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการโครงการสำรวจศึกษาและดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน สสส.  กล่าวว่า อยากให้กองทุนสื่อเป็นกองทุนของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน  โดยให้การสนับสนุนความรู้อบรมระดับตั้งแต่ผู้ผลิตสื่อ มองไปถึงความเป็นไปได้หรือไม่จะมีการกระจายสื่อดีๆหรือการเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น ส่วนบทบาทอีกอย่างคือ สร้างสรรค์ผู้ผลิต ทั้งการจัดฝึกอบรม จัดซื้อสื่อหรือว่าโอกาสของผู้ผลิตในการเข้าถึงกองทุนได้ง่ายแต่ไม่ใช่จะสร้างสรรค์เท่านั้น ยังมองไปถึงการพิทักษ์ปกป้องหรือขจัดสื่อร้ายอีกด้วย

การสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมการ อ่าน รวมถึง กิจกรรมการผลิตสื่อสร้างสรรค์ ตั้งแต่ระดับในโรงเรียน ชุมชน ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีเทคโนโลยี เช่น สำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง ช่วยบริหารจัดการ ช่วยให้หนังสือราคาถูก และเข้าถึงได้ง่าย

“สื่อกระแสหลักอาจใช้ทุนมหาศาลแต่สื่อหนังสือใช้ทุนไม่มากและอยู่ได้คงทนหลายปี  อยากให้มีความสำคัญไปที่วรรณกรรมเยาวชน วรรณกรรมท้องถิ่นหรือเรื่องราวที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เยาวชนลูกหลานเข้าเป็นผู้ผลิตเองเพราะกระบวนการที่เด็กผลิตสื่อทำให้เด็กกลั่นกรองทางความคิดและรู้เท่าทันสื่อไปด้วย”

กลุ่มหนังสือ วรรณกรรมยังร่วมระดมสมองและได้ข้อเสนออีกว่า หากมีกองทุนสื่อฯเกิดขึ้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้เด็กเข้าไปมีส่วนร่วม รวมทั้งภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทในการพิจารณากฎ ระเบียบ เป้าหมายในการผลิตสื่อ เพื่อร่วมพัฒนาคน ชุมชนและถ้าเป็นไปได้อาจก้าวถึงการขับเคลื่อนทางสังคม

นอกจากนี้ด้านการขอทุนในกองทุนสื่อฯต้องมีกระบวนการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการเปิดรับทั่วไปและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้รู้อย่างทั่วถึงและกระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมกับกองทุนสื่อฯจะสามารถทำได้อย่างไร การเปิดรับต้นฉบับหรือกระบวนการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ สร้างสรรค์สื่อสิ่งพิมพ์ กระบวนการตรวจสอบภายหลังการทำงาน เป็นต้น เหล่านี้เป็นเสียงจากกลุ่มคนเล็กๆ เพื่อร่วมจุดความหวังให้เกิด “กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” มาสร้างสรรค์หนังสือ วรรณกรรม สำหรับทุกคนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนกว่า 26 ล้านคนทั่วประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net