ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลี: เกาหลีเปลี่ยนแล้ว เมืองไทยทราบแล้วเปลี่ยน?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
(ข้าพเจ้าพยายามเขียนเท่าที่สติปัญญาอันน้อยนิดของข้าพเจ้าจะพอสรุปออกมาได้ เนื่องเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเมืองเกาหลี ถ้ามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)
 
50 ปีแห่งการปลดแอกเผด็จการทหารในการเมืองของประเทศเกาหลีใต้ โดยพลังประชาชน
 
2491-2500 แบ่งเป็น 2 ประเทศ สงครามจิตวิทยาต้านคอมมิวนิสต์ >> 2503 ทศวรรษแห่งขบวนการนักศึกษา >> 2513 ทศวรรษแห่งการต่อสู้ของกรรมกรโรงงาน การประท้วงของชุน เต-อิล >> 2522 การประท้วงของภาคประชาชน ต่อรัฐประหาร ประท้วงกฎอัยการศึกของรัฐบาลชุน ดู-วาน และโร แต-วู >> 2523 เริ่มจากการลุกขึ้นสู้ของชาวกวางจู >> 2530 หนึ่งปีเต็ม แห่งการสไตรค์ของสหภาพแรงงานประชาธิปไตย >> 2531 ลุกขึ้นสู้ทั้งประเทศเพื่อร่วมกันขับไล่เผด็จการจนสำเร็จในปี >> ปัจจุบันพวกเขากำลังสู้กับลัทธิเสรีนิยมใหม่
 
เกาหลีเปลี่ยนแล้ว เมืองไทยทราบแล้วเปลี่ยน?
 
ห้าสิบปีของการต่อสู้ของประชาชน ประเทศเกาหลีเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ แต่การต่อสู้ยังไม่จบ และภาคประชาชนเกาหลีใต้ ก็กำลังต่อสู้อย่างหนักหน่วงในการต่อต้านการนำแนวนโยบายการเมือง เสรีนิยมใหม่ การเมืองที่ทุนบอกรัฐว่าอยู่เฉยๆ เราจะใช้แนวเศรษฐกิจเสรีดูแลประชาชนเอง ให้เราจัดการเองทั้งหมดเถอะ พวกท่านช่วยดูเรื่องนโยบายที่อำนวยความสะดวกให้เรามากทีสุดก็พอแล้วซึ่งต่างกันสุดขั้วกับแนวคิด สังคมนิยมประชาธิปไตยรัฐในฐานะตัวแทนที่ประชาชนเลือกมา ต้องทำหน้าที่ขจัดทุกข์และบำรุงสุขให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยมุ่งเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ที่พวกคนเกาหลีต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิตให้ได้มา
 
ทั้งนี้ มีความคล้ายคลึงกันมากในบริบทการเมืองของไทยและเกาหลีใต้ โดยเฉพาะการเมืองระบบทหาร ที่หนุนหลังอย่างสุดโต่งโดยสหรัฐอเมริกา ภายใต้สงครามจิตวิทยาต่อต้านคอมมิวนิสต์ และการต่อสู้ระหว่างภาคประชาชนกับทหาร โดยทั้งเผด็จการไทยและเผด็จการเกาหลีใต้ ได้รับอัดฉีดทั้งเงินและแนวนโยบายการเมืองจากกองทัพและรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้แผน “Psychological warfare” หรือสงครามจิตวิทยาประชาชนทั้งผู้นำทหารทั้งไทยและผู้นำทหารเกาหลีได้ต่างก็ได้รับการเชิญให้ไปเรียนรู้ยุทธศาสตร์ สงครามจิตวิทยาประชาชนยังทำเนียบขาว และแพนตากอนกันเลยทีเดียวในช่วงปี 2500 - 2510
 
ตุ้มๆ ต่อมๆ ไปกับการลุกขึ้นสู้ของคนเสื้อแดง
 
การต่อสู้ของเกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านไปได้ในระดับที่ทั่วโลกพอจะถอนหายใจได้เฮือกใหญ่ แต่ประชาธิปไตยในประเทศไทยยังเป็นเด็กเดินเตาะแตะ ล้มลุกคลุกคลานอยู่เช่นเดิม หรือนี่อาจจะเป็นยุทธศาสตร์การเมืองโลกที่กำกับด้วยชาติมหาอำนาจ? ด้วยสภาพภูมิศาสตร์การเมืองของไทยในอินโดจีนและเอเชียตะวันออก จึงถูกวางยาประเทศไทยไว้ไม่ให้เข็มแข็ง ยอมรับเฉพาะรัฐบาลเด็กดี ที่โลกมหาอำนาจเรียกใช้เมื่อไหร่ก็ได้?
 
นักทฤษฎีปฏิวัติส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่น้อย หมดไปกับขวดเบียร์ และถกกันทั้งคืนเกี่ยวกับ 100 ปัญหาที่เกิดจากการต่อสู้ มากกว่าจะโฟกัสไปยังยุทธวิธีเดียวที่จะชนะได้ ซึ่งมีบทเรียนมากกมายจากทั่วโลกคือ การขับเคลื่อนร่วมสู้กับมวลชน เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งกันจนกว่าจะได้รับชัยชนะคนที่คิดเรื่องแพ้มากกว่าคิดเรื่องชนะ มักจะสู้ไปถอยไป และก็อาจจะไม่เคยชนะเลยก็ได้
 
จริงอยู่มันมีความแตกต่างของไทยกับหลายประเทศ ทุกการต่อสู้จะมีเอกลักษณ์บางอย่างที่เป็นตัวแปรนิดๆ หน่อยๆ เช่น เปรียบเทียบไทยกับเกาหลี เราก็อาจจะมีข้ออ้าง หรือคำอธิบาย (ที่เป็นเรื่องจริง)ได้ว่า คนเกาหลีใต้โชคดีกว่าไทย ที่สู้กับเฉพาะทหารและนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ เท่านั้น ไม่เหมือนประเทศไทย ที่สลัดการใช้อำนาจมิชอบของทหารและเหลือบที่เกาะกินยังไม่หลุดเสียที เพราะต้องสู้แบบหนึ่งต่อสี่ ไม่ใช่หนึ่งต่อสองแบบเกาหลี เพราะเรามีชนชั้นสูงเพิ่มเข้ามาด้วย (ประชาชน (1) ต่อ ทหารโง่ (1) + พรรคการเมืองไดโนเสาร์ (2) + ชนชั้นสูงเต่าล้านปี (3) + สงครามจิตวิทยามวลชนของสหรัฐฯ (4))
 
แต่นับตั้งแต่เหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา และการเดินหน้าสู้ต่อเนื่องของคนเสื้อแดง ในหลากหลายรูปแบบในเมืองไทย ทำให้นานาชาติจับตามองอย่างไม่กระพริบ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งนี้เพราะ พลังประชาชนกว่าล้านคนในประเทศไทยที่ร่วมขับเคลื่อนกับคนเสื้อแดงมาตลอดสองปี ทำให้นานาชาติเริ่มให้ความสำคัญ ต่อความจริงจังของการต่อสู้ และต่อความหล่อแหลมที่อาจจะมีความรุนแรงในการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองทั้งการเมืองเลือกตั้งและการเมืองรัชทายาทในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ดูเหมือนกับว่าไม่เคย - Take it seriously - ประเทศไทยมากเท่านี้มาก่อน เพราะคิดว่าการเมืองไทยเป็นการเมืองที่ ไม่มีกระดูกสันหลัง - ลื่นไหลไปได้เรื่อยๆ
 
การต่อสู้ของคนเสื้อแดงอาจจะทำให้การเมืองไทยมีกระดูกสันหลังขึ้นมาได้ ถ้ายึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพราะมันเป็นการลุกขึ้นสู้ครั้งยิ่งใหญ่และต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 100 ปี นับตั้งแต่การลุกขึ้นสู้ของกลุ่ม ผีบุญในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ในปี 2444 - 2445 ซึ่งปีนี้ก็ครบรอบ 110 ปี ของผู้กล้า ที่ประวัติศาสตร์ไทยเรียกพวกเขาว่า กบฏผีบุญ
 
กบฏผีบุญ คือการต่อสู้ของชนชั้นล่างกับชนชั้นสูงในอาณาบริเวณที่ถูกเรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นการจุดประกายการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม เสรีภาพ และเรียกร้องแนวนโยบายรัฐที่มุ่งตอบสนองคนชั้นล่าง และต่อต้านระบบการขูดรีดภาษีจากคนจนเพื่อเอามาหล่อเลี้ยงเมืองหลวง โดยที่เงินภาษีกว่า 80% ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาความอำนวยสะดวกให้เมืองหลวงเท่านั้น โดยปล่อยให้ภูมิภาคอดยาก ยากแค้นและขาดแคลนไปเสียทุกสิ่ง ผ่านไป 110 ปี แนวนโยบายปล้นคนชนบทเพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเมืองก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความจริงที่ภูมิภาคห่างไกลในประเทศไทยต้องทนกล้ำกลืนมาจนถึงบัดนี้
 
กระนั้นก็ตาม ทั้งคนเสื้อแดงและคนที่เอาใจช่วยคนเสื้อแดง ก็ยังตุ้มๆ ต่อมๆ ไปกับท่าทีของแกนนำเป็นระยะๆ ที่ดูเหมือนว่ามุ่งเรื่องการขับเคลื่อนทางยุทธวิธีมากกว่าจัดขบวนการต่อสู้ให้เป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกันพวกเราก็เอาใจช่วยแกนนอน ที่ไม่กล้านำเพราะเข้าใจดีว่าไม่ควรนำ และเริ่มมีความหวังกับมวลชนคนเสื้อแดง ที่เข็มแข็ง มีวินัย มุ่งมั่น และตาสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมั่นคง จนเริ่มสร้างความหวังลึกๆ ในใจว่า ฤาครั้งนี้จะเรียกได้ว่าเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในประเทศไทยอย่างเต็มภาคภูมิได้เสียที
 
ยามนี้ การศึกษาบทเรียนขบวนการต่อสู้ของคนเกาหลีใต้ จนสามารถปลดแอกทหารในทางการเมือง(โดยทางตรง) ได้ในปี 2531 อาจจะมีประโยชน์ได้บ้างที่จะนำมาใช้ศึกษาเทียบเคียงกับการเมืองไทยได้บ้าง เพราะไทยเองก็เคยคิดว่าก้าวพ้นระบบทหารมาได้แล้วเมื่อการลุกขึ้นสู้ในเดือนพฤษภาคม 2535
 
เรามาทำความรู้จักการต่อสู้ของประชาชนเกาหลีอย่างคร่าว
 
ห้าสิบปีแห่งเกาหลีใต้ภายใต้การปกครองของทหาร
 
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านการอยู่ภายใต้อาณานิคมจากญี่ปุ่น( 2453 – 2488) สหประชาชาติได้มีการแบ่งเกาหลีเป็นสองซีกตามแรงกดดันของรัสเซียและสหรัฐ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกาหลีเหนือโจมตีเกาหลีใต้ จนตามมาด้วยสงครามเกาหลี (สงครามระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์ กับ ค่ายทุนนิยม) (2493-2496) และอเมริกาแทรกแซงจนรัฐบาลซิง มัน-รี (2493 – 2500) ได้เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพื่อหวังผลขจัดพรรคฝ่ายค้าน
 
เป็นเวลาถึง 18 ปี นับตั้งแต่ 2504 – 2522 เกาหลีใต้อยู่ภายใต้เผด็จการนายพลปักจุงฮี ตามมาด้วย 8 ปีภายใต้เผด็จการนายพลชุน ดู-วาน (2523 – 2531) อีก 5 ปี ภายใต้นายพลโรว แต-วู (2531 – 2536) แม้ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีของการเมืองเกาหลีใต้ แต่ก็เป็นรัฐบาลทหาร และก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน และนายพลร่วมก๊วนกับชุน ดู-วาน ที่เข้ามารับตำแหน่งเพื่อรับช่วงต่อจากนายพล ชุน ดู-วาน และทำให้การลงของเขาไม่เจ็บตัวมากนัก
 
การเมืองเกาหลีในยุคแรกแห่งประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และหลังจากแบ่งประเทศออกเป็นเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ในปี 2491 นั้นไม่นิ่ง ไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาก็คอรัปชั่น รัฐบาลพลเรือนจะอยู่ไม่ได้นานก็ถูกทหารปฏิวัติ หรือสรุปสั้นๆ ว่าประชาชนเกาหลีอยู่ภายใต้การควบคุมของเผด็จการรัฐสภา และนายพลทหารนับตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปี 2536 ปัจจุบันเกาหลีมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นนักการเมืองเสรีนิยม และนับตั้งแต่ปี 2491 เป็นต้นมากว่า เป็นเวลา 63 ปี เกาหลีใต้ปกครองด้วยประธานาธิบดีเพียง 10 คนเท่านั้น โดยหลายคนควบยาวสอง-สามสมัย ในขณะที่ 78 ปี ประชาธิปไตยไทยเราปกครองด้วยนายกรัฐมนตรีถึง 27 คน
 
การประท้วงของนักศึกษาปี 2503
 
การลุกขึ้นสู้เผด็จการปัก จุง-ฮี ของนักศึกษาในเดือนเมษายน 2503 (จนได้รัฐบาลประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆ ก่อนจะถูกปฏิวัติโดยปัก จุง-ฮี ในปี 2504) ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งทศวรรษ 2503 และมันได้ค่อยๆ ส่งอิทธิพลต่อการเติบโตของขบวนการนักศึกษา แรงงาน และประชาชนเกาหลีใต้
 
การจัดการศึกษาอย่างเข้มข้นก็เป็นเรื่องสำคัญ และบทบาทของนักศึกษาในการเข้าหามวลชนเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดเด่นในการเติบโตของภาคประชาชนเกาหลีใต้นักศึกษาเดินขบวนกันทั้งปี เผชิญกับการปราบปรามอย่างหนัก ทั้งกระบอง และแก๊สน้ำตา จนควันคลุ้งกระจายมาในย่านตลาดสันติภาพ ศูนย์กลางการผลิตเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลี มีกรรมกร 30,000 คน แออัดยัดเยียดกันในห้องแคบ ทำงานเยี่ยงทาสวันละ 12-16 ชั่วโมง โดยไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน การต่อสู้ของนักศึกษา ส่งผลต่อการก่อกำเนิดปรัชญากรรมกรในทศวรรษ 2513 ของชุน เต-อิล กรรมกรตัดผ้าวัย 22 ปี หนึ่งในคนงาน 30,000 คน ที่อยู่ในโรงงานนรกแห่งนั้นนั่นเอง คนงานหนุ่มที่พลิกชะตาตัวเอง และชนชั้นกรรมาชีพของเกาหลีใต้ ด้วยอุดมการณ์และความรักในเพื่อนร่วมชนชั้น
 
วีรกรรมนักบุญชุน เต-อิล
 
ชุน เต-อิล เป็นกรรมตัดผ้าหนุ่มวัน 22 ปี เขาเผาตัวตายประท้วงพร้อมกับหนังสือคู่มือกฎหมายแรงงานในอ้อมกอด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2513 ขบวนการแรงงานยกย่องเขาว่าเป็นบิดาของขบวนการสหภาพแรงงานประชาธิปไตยเกาหลีใต้ ภาคประชาชนเกาหลีใต้ยกย่องว่าเขาเป็นนักบุญ
 
พวกเราไม่ใช่เครื่องจักร
 จงปฏิบัติตามกฎหมาย
 
คือเสียงที่เปล่งออกมาจากเปลวไฟ เมื่อกรรมกรตัดผ้าหนุ่มวัย 22 ปี ชุน เต-อิล ตัดสินใจจุดไฟเผาตัวเอง ที่ตลาดสันติภาพ ศูนย์กลางอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าของเกาหลีใต้
 
เขาเสียสละชีวิตตัวเอง เพื่อประท้วงความโหดร้ายป่าเถื่อนของอุตสาหกรรมดัดเย็บเสื้อผ้าของเกาหลีใต้เพื่อทลายกำแพงเย็นยะเยือกของสังคมเกาหลีที่เพิกเฉยต่อวิถีชีวิตอดมื้อกินมื้อของคนยากคนจน โดยเฉพาะสภาพการทำงานในนรกของคนงานเด็กหญิงในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าของเกาหลีในทศวรรษ 2510
 
เขาตายพร้อมกับคู่มือกฎหมายแรงงานในอ้อมกอด เพื่อบอกว่ากฎหมายแรงงานมันไร้ประโยชน์ เขาตายเพื่อเปิดโปงการคอรัปชั่นและสมรู้ร่วมคิดระหว่างนายจ้างและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน
 
จิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของเขาได้ทำให้สังคมเกาหลีตื่นรับรู้ความจริงแห่งความหฤโหดและเย็นชาของสังคมต่อเพื่อนร่วมประเทศ และลุกขึ้นมายอมรับว่า คนชั้นล่างในสังคมก็มีศักดิ์ศรี ก็มีปรัชญาเพื่อการปลดแอกทาสได้
 
การประท้วงด้วยไฟของชุน เต-อิล ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2513 ได้กลายเป็นประกายไฟดวงน้อย ที่ส่องแสงนำทางในยามมืดมิด เรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ที่ชุน ได้เขียนบันทึกเอาไว้มากมาย และพินัยกรรมทิ้งเอาไว้ให้พวกเรา ทำให้น้ำตาของคนเกาหลีหลั่งไหลรวมกันเป็นสายน้ำใหญ่
 
การเปล่งคำพูดสุดท้ายกับเพื่อนๆ ว่า อย่าให้ความตายของผมสูญเปล่าทำให้ ความตายของเขาไม่อาจถูกลบเลือน และดำรงอยู่นิรันดรเพราะไม่ใช่เฉพาะเพื่อนของเขาเท่านั้น แต่ปัญญาชนเกาหลีได้ช่วยกันส่งต่อสาส์นและปรัชญาของคนหนุ่มให้สามารถไปสั่นรั่วสะเทือนหัวใจคนทั้งเกาหลีได้ และในหลายประเทศทั่วโลก
 
การลุกข้นสู้กับรถถังและกระสุนปืน
 
การต่อสู้ของชุน เต-อิล ได้ส่งไม้ต่อไปยังภาคประชาชนในทศวรรษ 2522 และการประท้วงของนักศึกษา กรรมกร และประชาชนต่อปัก จุง-ฮี ก็ดังขึ้นเรื่อยๆ
 
นายพลปัก จุง-ฮี ที่ใช้นโยบายการเมืองภายใต้การกำกับของสหรัฐฯ ไม่ต่างไปจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ทั้งแนวนโยบายการเมืองและทางเศรษฐกิจ และการขึ้นมาสู่อำนาจจากผลของสงครามจิตวิทยามวลชน โดยไร้คนต่อต้านในช่วงแรกๆ แต่ไม่นาน การประท้วงเขามีต่อเนื่องและก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และในเดือนตุลาคม 2522 การประท้วงจากคนหลายหมื่นคนในหลายจุด ทำให้ขั้วการเมืองชุน ดู-วานที่รอโอกาสมานาน ได้สังหารปัก จุง-ฮี ในวันที่16 ตุลาคม 2522 โดยหัวหน้าหน่วยงาน CIA เกาหลีใต้ ที่ปักจุง-ฮี ตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองเขาในปี 2504 กลับเป็นหน่วยงานที่ลั่นไกสังหารตัวเขาเอง
 
ชุน ดู-วานทำการยึดอำนาจ และตั้งตัวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2523 ประกาศกฎอัยการศึกและส่งกองกำลัง รถถัง และอาวุธครบมือไปคุมเมืองต่างๆ โดยเฉพาะที่เมืองกวางจู พื้นที่ของ คิม ยอง-ซัม แกนนำนักการเมืองฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมสูงสุดในขณะนั้น จนเกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน
 
ที่เมืองกวางจู เยาวชน นักศึกษา ได้ทำการประท้วง และถูกปราบปราบอย่างหนัก และเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในเดือนพฤษภาคม 2523 โดยเฉพาะในวันที่ 18 พฤษภาคม
 
เมื่อสูญเสียชีวิตบุคคลที่เป็นที่รักหลายร้อยคน และต้องดูแลคนเจ็บ และพิการจาการปราบปรามอีกหลายพันคน ประชาชนชาวกวางจู โดยเฉพาะครอบครัวของวีรชน ไม่หยุดต่อสู้ พวกเขาแบ่งปันดูแลช่วยเหลือกันทางสภาพจิตใจแลละเศรษฐกิจ และโอบอุ้มดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกคน และประชาจากหลายเมืองทั่วเกาหลีได้ระดมเงินส่งไปช่วยเหลือพวกเขาที่กวางจูด้วยเช่นกัน
 
เหตุการณ์กวางจูกลายเป็นจุดเดือดที่ทำให้สังคมเกาหลีไม่สามารถทนอยู่กับเผด็จการได้อีกต่อไป และส่งผลให้นับตั้งแต่ปี 2523 จนถึงปี 2531 เป็นช่วงเวลาแห่งการจัดตั้งทางอุดมการณ์ทั่วทั้งเกาหลี การจับกลุ่มพูดคุยปัญหาบ้านเมือง ถกกันอย่างเอาเป็นเอาตายกับทฤษฎีการเมืองต่างๆ ไม่ว่ามาร์กซิส สังคมนิยม หรือประชาธิปไตย การวางแผนการต่อสู้ เกิดขึ้นในทุกเมือง ทุกย่านที่พักอาศัย ย่านอุตสาหกรรม ทั้งกรรมกร ชาวนา และนักศึกษาที่กระจายตัวลงไปช่วยจัดตั้งทั้งในหมู่กรรมกร และชนบท (จริงๆ ก็มีมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคชุน เต-อิลแล้ว)
 
พวกเขาจะนัดพบเจอกันในร้านเครื่องดื่มเล็กๆ พูดคุยกันจนดึกดื่นเรื่องการเมือง
 
ขบวนการสหภาพแรงงานประชาธิปไตยเกาหลี
 
นับจากชุน เสียชีวิตเพื่อขบวนการแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ดำเนินต่อเนื่อง และเข้มข้นมากขึ้น แม้จะประสบกับความยากลำบากมากมายจากปัก จุง-ฮี และชุน ดู-วาน
 
แต่เมื่อพวกเขาพร้อมเปิดตัว ในปี 2530 ประเทศเกาหลี และขบวนการแรงงานทั่วโลกก็ตื่นตลึงไปกับคลื่นขบวนคนงานเกาหลี และขบวนการสหภาพแรงงานของเกาหลีที่มีกว่า 1,060 สหภาพแล้วในยามนั้น ที่รวมตัว ช่วยเหลือกัน และสมานฉันท์ระหว่างกัน เป็นการสไตรค์ใหญ่ร่วมกัน กระจายทั่วทุกย่านอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ต่อเนื่องทั้งปี จนทำสถิติการสไตรค์ 3,458 ครั้งในปีนั้น
 
ขบวนการแรงงานทั่วโลกตื่นตลึงกับการประท้วงของคนงานเกาหลีใต้ ที่ทั้งสง่างาม สนุกสนาน เข้มแข็ง มีวินัย กล้าหาญ และเปี่ยมพลัง ทั่วโลกรู้จักสหภาพแรงงานเกาหลีมากขึ้น ก็เพราะการประท้วงใหญ่ในปี 2530 นี่เอง
 
หลังจากนั้น เกาหลีใต้เป็นประเทศที่นักสหภาพแรงงานจากทั่วโลกเดินทางไปเยี่ยมและศึกษาเรียนรู้จากสหภาพแรงงานและขบวนการประชาชน (ประเทศไทยนำร่องโดยคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งได้เป็นหัวหน้าทีมพาตัวแทนคนงานหญิงสองคน และข้าพเจ้าเดินทางไปศึกษาดูงานขบวนการแรงงานเกาหลีสองอาทิตย์ในเดือนสิงหาคม ปี 2535 พวกเราได้เยี่ยมคารวะสุสานของวีรชนเกาหลีตลอดเส้นทางดูงานจากกรุงโซล จนไปถึงเมืองท่าปูซาน)
 
หนึ่งในหัวใจที่ทำให้มีการเติบโตของสหภาพแรงงานที่เกาหลีใต้อย่างเข้มแข็งและทรงพลัง คือการเสียสละของแกนนำ ที่จะอยู่แถวหน้าของขบวนและเป็นคนแรกๆ ที่ถูกจับ และจากการสร้างความเข้มแข็งจากฐานมวลชน เป็นการทำงานจัดตั้งอย่างเข้มข้น ที่ใส่ใจในเรื่องการศึกษาหาความรู้ มีการประสานกำลัง (กรรมาชีพ) และองค์ความรู้ (นักศึกษา) เข้าด้วยกันอย่างเหมาะเจาะและให้ความเคารพซึ่งกัน อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญที่เราสัมผัสได้คือการไม่ทอดทิ้งกัน คนที่อยู่นอกคุก ดูแลครอบครัวคนที่ติดคุก คนที่อยู่ ดูแลครอบครัววีรชนที่เสียสละชีวิต
 
สาส์นที่ ชุน เต-อิล ที่บอกว่า ถ้าเขามีเพื่อนเป็นนักศึกษาก็คงจะดีมาก เพราะจะได้ช่วยอธิบายกฎหมายแรงงานที่คลุมเครือให้เขาเข้าใจ และสอนเรื่องเทคนิคการเดินขบวนต่างๆ ให้กับคนงาน นักศึกษาซึ่งเข้มแข็งอยู่แล้วในยามนั้น เพื่อขับไล่เผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตย พากันไหล่หลั่งมาย่านอุตสาหกรรม เพื่อช่วยขบวนการแรงงานด้วย ทั้งช่วยสอนหนังสือ ร่วมในกิจกรรมของสหภาพและคนงาน รวมทั้งเข้าไปสมัครงานเป็นกรรมกรในโรงงานต่างๆ เป็นปี เพื่อช่วยคนงานจัดตั้งสหภาพ ขบวนการสหภาพแรงงานจึงเติบโตขึ้น และในปี 2530 คนงานในอุตสาหกรรมการผลิตที่เกาหลีใต้กว่า 20 % เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน (สมาชิกสหภาพแรงงานในประเทศไทยเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งประเทศมีเพียง 1.3% และมีเพียงประมาณ 3% ของคนงานเอกชนทั้งในภาคอุตสาหกรรม และบริการ)
 
การประท้วงทั่วประเทศ
 
ด้วยความยืนหยัดและการต่อสู้อย่างเข้มแข็งทั้งกรรมกร นักศึกษาและองค์กรภาคประชาชน การประท้วงทั้งประเทศในเดือนมิถุนายน 2531 ของประชากรทั้งประเทศร่วมสองล้านคน ใน 34 เมือง และแม้จะมีผู้ถูกจับกุมร่วมสี่พันคน ก็ไม่หยุดประท้วง ทำให้ประธานาธิบดีชุนดู-วาน ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันได้ ต้องประกาศลาออกในเดือนกรกฎาคม 2531
 
สหภาพแรงงานประชาธิปไตยรวมตัวก่อตั้ง สภาแรงงานประชาธิปไตยเกาหลี (KCTU)
 
ขบวนการแรงงานก็ร่วมขับเคลื่อนกับขบวนการนักศึกษาและประชาชนจนจัดการกับเผด็จการทหารได้ในที่สุดในปี 2531
 
หลังจากปี 2530 เป็นต้นมาขบวนการสหภาพแรงงานประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสหภาพในทุกกิจการของเครือฮุนได และอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเกหลีใต้
 
ส่งผลให้ทศวรรษ 2530 เข้มข้นไปด้วยการสไตรค์เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างที่กดค่าแรง และสวัสดิการมาอย่างยาวนานภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลทหาร ต้องยอมเจรจากับสหภาพแรงงาน และทำข้อตกลงสภาพการจ้าง ส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดของคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพในเกาหลีใต้ ทั้งการขึ้นของค่าจ้าง สวัสดิการ และการคุ้มครองทางกฎหมายต่างๆ
 
ขณะเดียวกันทุนเกาหลี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และราคาถูก โดยเฉพาะตัดเย็บเสื้อผ้า สิ่งทอ และรองเท้า ได้เริ่มย้ายและขยายการผลิตของทุนเกาหลีลงมาทางใต้มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าก็ย้ายไปไกลที่ลาตินอเมริกา (ไปทะเลาะกับคนงานที่นั่นต่อ)
 
สหภาพแรงงานประชาธิปไตยหลายร้อยแห่งจึงได้ตัดสินใจรวมตัวกันตั้งสภาแรงงานประชาธิปไตยเกาหลี (Korean Confederation of Trade Unions - KCTU) ในปี 2538 เพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับทุนและรัฐบาลได้อย่างเข้มแข็งขึ้น และภายในไม่กี่ปี KCTU ก็สามารถเบียดสภาแรงงานแห่งชาติเกาหลีที่สนับสนุนจากรัฐบาลให้ตกไปอยู่ขอบเวที
 
แม้ว่าจะมีบางกระแสวิจารณ์ว่า มุ่งใช้แนวนโยบายการสไตรค์หยุดงาน มากกว่าแนว แรงงานสัมพันธ์ดีเด่นเช่นที่สหภาพส่วนใหญ่ที่ญี่ปุ่นและยุโรปก็ตาม แต่เป็นที่ประจักษ์ชัดในทศวรรษ 2540 ว่าได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่ามีพลังและเข้มแข็งมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ขบวนการแรงงานเกาหลีใต้ครองใจมหาชนโลก แม้ว่าไม่ใช่จากขบวนการแรงงานญี่ปุ่น และยุโรป แต่จากขบวนการแรงงานแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย และมาร์กซิส และขบวนการประชาชนในขั้วโลกใต้ โดยเฉพาะลาตินอเมริกา อาฟริกา และเอเชีย
 
พรรคประชาธิปไตยแรงงาน (Democratic Labour Party (DLP)
 
KCTU และหลายองค์กรภาคประชาชนที่เกาหลีรวมกันตั้งพรรคการเมืองในเดือนมกราคมปี 2543 ในชื่อ พรรคประชาธิปไตยแรงงาน (Democratic Labour Party (DLP) ในการลงแข่งขั้นในสมัยการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2547 ผู้สมัครพรรค 10 คน ชนะการเลือกตั้งเข้าไปนั่งในสภา แต่หลังจากสมัยการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2550 ซีกขบวนการประชาชนแยกตัวออกไปตั้งพรรคของตัวเองในชื่อ พรรคก้าวหน้าใหม่ (New Progressive Party) ทำให้สมัยการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2551 พรรคประชาธิปไตยแรงงานได้รับการเลือกตั้งเพียง 5 คน ในขณะที่พรรคก้าวหน้าใหม่ ไม่ได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาแม้แต่คนเดียว
 
กระบวนการยุติธรรม
 
หลังจากไล่เผด็จการแล้วก็ถึงคราวชำระสะสาง ในปี 2538 เมื่อรัฐบาลฝ่ายค้านที่สู้รบตบมือกับรัฐบาลนายพลมาร่วมสามทศวรรษ คือรัฐบาลของ คิม ยอง-ซัม ก็ได้ร่วมมือกับชาวกวางจู ฟ้องอดีตประธานาธิบดีชุนดู-วาน (2523-2531) อดีตประธานาธิบดี โรว แต-วู (2531 – 2536) และคณะเพื่อให้คืนเงินที่ยักยอกไประหว่างเรืองอำนาจกว่าสี่แสนล้านวอน (ประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท) ในหลายข้อหา ทั้งรัฐประหาร 2522 ปราบปราบประชาชน 2523 และคอรัปชั่น และอื่นๆ
 
ศาลฎีกาแห่งเกาหลีใต้ได้ตัดสินในเดือนสิงหาคม 2539 สั่งจำคุกชุน ดู-วาน ตลอดชีวิต และและโรว แต-วู 17 ปี เมื่อถูกว่ามีการกระทำผิดหลายกรรมหลายวาระ อาทิ ผู้นำการก่อการจลาจล สั่งเคลื่อนกองทหารโดยไม่มีอำนาจ ละทิ้งหน้าที่ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ระดับสูง มีส่วนร่วมในการกบฏ รวมทั้งการรับสินบนต่างๆ เขาถูกส่งเข้าห้องขังนับตั้งแต่วันนั้น
 
ศาลยังสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 220,500,000,000 วอน (5,952 ล้านบาท) ชุนดูฮวานจ่ายได้เพียงไม่ถึงหนึ่ง
 
ในสี่ของค่าเสียหาย หรือจ่ายได้เพียงห้าหมื่นสามพันล้านวอน (หนึ่งพันสี่ร้อยล้านบาท)
 
ในเดือนธันวาคม 2540 ชุน ดูวาน และโรว แต-วู ได้รับการอภัยโทษหลังจากถูกจำคุกเพียงแค่ปีเดียว
 
พอถึงปี 2551 จำนวนประชาชนและครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามของรัฐบาลทหารที่ได้รับการจ่ายค่าชดเชย มีรวมกันทั้งสิ้น 4,540 คน แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิตและสูญหาย 314 คน บาดเจ็บ 3,059 คน และถูกจับกุมและขังคุกอีก 1,168 คน
 
การให้คุณค่ากับชีวิตที่เสียสละ
 
ถ้าจะมองอะไรเป็นจุดแข็งของการขับเคลื่อนภาคประชาชนเกาหลีคือ ก็คือการให้คุณค่าสูงยิ่งต่อทุกชีวิตที่เสียสละ ผู้เสียหายหลายพันคนคงจะไม่ได้ค่าชดเชยในปี 2551 ถ้าบรรดาครอบครัวของชาวกวางจู ไม่สร้างสุสานวีรชน เพื่อที่พวกเขาจะไปดูแลหลุมศพ ประดับดอกไม้ให้กับดวงวิญญาณลูกและสามี และนั่งพูดคุย ให้กำลังใจกัน ปลอบโยนกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และชวนกันดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
 
ตลอดสี่สิบปีที่ผ่านมา นักกิจกรรมทั่วทั้งเกาหลีพากันหลั่งไหลกันไปเคารพสถานที่เผาตัวตายของชุนที่ตลาดสันติภาพ เดินทางไปสุสานวีรชนที่กวางจู เพื่อไปเคารพศพวีรชน ร่วมรำลึกถึงวีรกรรมของพวกเขา เพื่อขอบคุณในความเสียสละของพวกเขา และประกาศเจตนารมณ์ว่าจะสานต่ออุดมการณ์
 
ไม่ใช่เฉพาะคนเกาหลีเท่านั้น แต่นักกิจกรรมและนักสหภาพแรงงานต่างประเทศ เมื่อไปเยียนเกาหลี ทำเนียมที่สหายชาวเกาหลีจะทำคือพาพวกเราไปเคารพสุสานวีรชนของพวกเขา ในทุกเมืองที่พวกเราเดินทางไป และพูดถึงพวกเขาด้วยความภาคภูมิใจ
 
คนกวางจูและคนทั้งประเทศบริจาคเงินเข้ากองทุนประชาชนกวางจู เพื่อใช้ในการต่อสู้ และสนับสนุนกิจกรรมด้านประชาธิปไตย ขณะนี้ ชาวกวางจูได้จัดตั้งทั้งมูลนิธิหลายแห่ง และให้เงินทุนเพื่อกิจกรรมประชาธิปไตยกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย มูลนิธิที่มีบทบาทเด่นได้แก่ มูลนิธิรำลึก 18 พฤษภาคม (The May 18 Memorial Foundation- (http://eng.518.org/eng/html/main.html) ) ที่ก่อตั้งในปี 2537 ขณะนี้ได้จัดกิจกรรมมากมายทั้งเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศ และสร้างความสมานฉันท์ข้ามพรมแดน - โครงการสมานฉันท์นานาชาติ รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู เวทีสันติภาพนานาชาติกวางจู โรงเรียนสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย โครงการแลกเปลี่ยนนานาชาติ โครงการความร่วมมือกับขบวนการประชาธิปไตยในเอเชีย และโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศเกาหลี
 
มีการก่อตั้งมูลนิธิรำลึกชุน เต-อิล (Chun Tae-il Memorial Foundation) เพื่อเผยแพร่ และสานต่องานของเต-อิล โดยเฉพาะการส่งเสริมการศึกษาในหมู่คนงาน
 
ประชาชนเกาหลีใต้ ให้คุณค่ากับการสูญเสีย และด้วยประกายไฟของชุน เต-อิลที่บอกว่า อย่าให้ความตายของผมสูญเปล่าการเชื่อมประสานระหว่างนักศึกษา กรรมกร นักบวช และประชาชนในเกาหลีได้ ได้กลายเป็นแสงตะเกียงหลายล้านดวงที่ขับไล่ความกลัวแห่งยุคมืดเผด็จการออกไป และทำให้ดอกไม้เกาหลีเบ่งบานทั่วโลกแม้แต่ในฤดูอันเหนับหนาว
 
ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลี
 
การประท้วงของชุน เต-อิล คือสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ในเกาหลีใต้แห่งทศวรรษ 2513 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพ
 
วรรณกรรม ชีวิตและความตายของกรรมกรหนุ่มซึ่งบัดนี้ได้ชื่อภาษาไทยว่า ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลีได้รับการกล่าวขานว่าเป็นวรรณกรรมแห่งชนชั้นที่คลาสสิคของเกาหลีใต้เล่มนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้รับการแปลในหลายภาษา รวมทั้งภาษาไทย
 
พวกเราต้องขอบคุณผู้นำนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ โช ยอง-เร ที่ได้ใช้เวลาถึงสามปีในระหว่างการหนีการจับกุมเพราะเข้าร่วมกิจกรรมนักศึกษา รวบรวมบันทึกของชุน เต-อิล และพูดคุยกับเพื่อนและครอบครัวของชุน จนได้วรรณกรรมกรรมกรเล่มนี้ ที่เป็นหนังสือใต้ดินที่นักเคลื่อนไหวทุกคนในเกาหลีต้องอ่าน
 
โช ยอง-เร ศึกษานิติศาสตร์ ที่ใช้ชีวิตระหว่างเรียนเข้าร่วมการประท้วงมากกว่าอยู่ในห้องเรียน ที่เมื่อเรียนจบแล้ว เลือกที่จะรวมกับเพื่อนๆจัดตั้งองค์กรด้านกฎหมาย เพื่อให้ความช่วยเหลือคนที่ถูกละเมิดสิทธิ มากกว่าจะเป็นทนายว่าความค่าตัวแพง
 
เขาใช้เวลาศึกษาปรัชญาและการต่อสู้ของชุนจนเข้าถึงแก่นแท้แห่งปรัชญาของเขา โช ยอง-เีร ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการเอาทฤษฎีสังคมนิยมประชาธิปไตยมาอธิบายวิธีคิด มุมมอง และการต่อสู้ของชุน เต-อิล ได้อย่างมีอรรถรสและน่าติดตามยิ่ง หนังสือ ชีวิตและความตายของกรรมกรหนุ่มที่เขียนเสร็จในปี 2519 ท่ามกลางการเมืองร้อนระอุ จึงไม่ได้รับการพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณชนเกาหลีจนถึงปี 2526” มันถูกแบนโดยทันทีตามที่สำนักพิมพ์คาดการณ์ไว้ แต่มันได้กลายเป็นหนังสือใต้ดินที่มีผู้ต้องการมากที่สุด แทบจะทันทีที่พิมพ์ออกมา มันเป็นดุจดั่งคัมภีร์ที่กรรมกร นักศึกษา และภาคประชาชนเกาหลีต้องอ่าน เป็นแรงบันดาลใจให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยที่เกาหลีมาร่วมสามทศวรรษ
 
กระนั้นก็ตามการต่อต้านสหภาพของพวกนายจ้างที่เกาหลีไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทำให้การเป็นนักสหภาพแรงงานที่แท้จริงที่เกาหลีนั้นต้องผ่านบทเรียนการต่อสู้อย่างเข้มข้น และยาวนานทั้งชีวิต
 
เวลาผมรู้สึกท้อแท้ ไม่มีกำลังใจ ผมจะไปยังสุสานวีรชน ไปอยู่ที่นั่งเพื่อรำลึกถึงการเสียสละและวีรกรรมของเขานี่คือเสียงสะท้อนจากนักสหภาพหลายคนที่ข้าพเจ้าพบในช่วงที่ไปศึกษาขบวนการสหภาพแรงงานที่เกาหลีในปี 2535 และในปี 2543
 
แกนนำที่เพิ่งออกจากคุกบอกเราว่า การเข้าคุกคืองานหลัก ออกมานอกคุกคืองานอดิเรกแม้แต่คนจบ ดร. อาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อนของข้าพเจ้าก็เข้าคุก 6 เดือนเพราะกิจกรรมนักศึกษา เขาบอกว่า ชุน เต-อิล คือแรงบันดาลใจให้เขาและนักศึกษาเกาหลีใต้
 
นักกิจกรรมและนักสหภาพแรงงานที่เกาหลีบอกว่า การจะขึ้นมาเป็นประธานสหภาพนั้นดูกันว่า ใครเข้าคุกมากี่ครั้ง” “เข้าคุกมากี่ปีใครไม่เคยสู้ ไม่เคยถูกจับเข้าคุก มักไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นประธานสหภาพแรงงาน และตัวคนนั้นเองก็ไม่กล้ารับตำแหน่งประธานสภาพด้วย
 
ประเทศไทยทราบแล้วเปลี่ยน
 
การเชื่อมั่นในการต่อสู้ด้วยพลังประชาชน ไม่ประนีประนอมกับการเมืองฉ้อฉล และการเชิดชูวีรชนที่เสียสละคือยุทธวิธีที่ผู้นำการปลดแอกทางการเมืองไม่ว่าในประเทศไหนก็ตามควรจะน้อมนำมาเป็นหนึ่งในหัวใจของการขับเคลื่อนกิจกรรม
 
ประเทศไทยเรามีผู้เสียสละเพื่ออุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อให้รัฐฯ บริหารจัดการงบประมาณเพื่อมุ่งเพื่อประโยชน์อันสูงสุด เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจนมากมาย มีผู้เสียชีวิตที่เป็นตัวเลขทางการที่ข้าพเจ้านำมาร่วมกันในท้ายบทความนี้ถึง 290 วีรชน นับตั้งแต่ปี 2490
 
ปรีดี พนมยงค์ ผู้ที่จุดประกายสังคมนิยมประชาธิปไตยในประเทศไทย ผู้มีความเชื่อในนโยบาย รัฐประชาชน รัฐในฐานะผู้รับผิดชอบต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักการเมืองน้ำดีเข้าสู่สภาฯ หลายคน โดยเฉพาะจากภาคอีสาน แต่สังคมไทยปล่อยให้พวกเขาถูกขบวนการฝ่ายขวาปราบปรามอย่างไร้มนุษยธรรม ไม่นับว่ารัฐมนตรีหลายคนแห่งค่ายสังคมประชาธิปไตย ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ปรีดี ป๋วย หรือแม้แต่จอมพล ป. สามผู้ที่มีบทบาทนำในการเมืองไทยยุคนั้น ต้องไปเสียชีวิตที่ต่างแดน และไม่ได้กลับบ้านเกิดอีกเลย
 
การปล่อยให้การให้ค่าว่า สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดีสิ่งใดคือความเป็นไทย สิ่งใดคือความเป็นธรรมถูกใช้เพื่อการปรองดองแห่งชาติ เพื่อความสมานฉันท์มาทุกครั้งหลังจากการปล้นอำนาจประชาชนและสังหารผู้ประท้วงสัก 30 40 หรือ 100 ศพ คือการไม่ให้คุณค่ากับวีรชน คือการดูถูกชีวิตที่เสียสละคือการย้ำยีซ้ำบนซากศพและบนชีวิตคนยากคนจนที่ยังมีลมหายใจเหลืออยู่
 
เป็นพฤติกรรมที่ไม่ต่างกันเลยไม่ว่าหัวขบวนฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา และเป็นความผิดพลาดหนึ่งของการต่อสู้ของภาคประชาชนไทยนับตั้งแต่ปี 2475 เพราะหัวขบวนประนีประนอมระหว่างกัน หัวขบวนต่างอ้างความเป็น ผู้มีความรักยิ่งในองค์พระมหากษัตริย์ยิ่งกว่าผู้ใดเหล่าบรรดาหญ้าแพรกที่อดยาก ยากจนทั้งหลายก็แหลกลาญ ถูกลืมเลือนหายไปในประวัติศาสตร์ ครั้งแล้ว ครั้งเล่า เหลือเพียงจำนวนตัวเลขไว้ให้เล่าขาน อาทิ การลุกขึ้นสู้ใน 14 ตุลาฯ มีผู้เสียชีวิต 77 คน และบาดเจ็บ 857 คน
 
แต่น้อยคนที่จะรู้จักชื่อ รู้จักหน้า แม้แต่ในหมู่ครอบครัววีรชน ก็อาจจะไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้รวมตัวสู้ร่วมกันอย่างเข็มแข็ง ไม่ได้กำหนดทิศทางการใช้เงินค่าชดเชยร่วมกัน
 
การเสียสละของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ได้ถูกนำมาเป็นขวัญ กำลังใจให้การต่อสู้ของคนรุ่นหลังเท่าที่ควร แต่ถูกพวกฝ่ายขวารอยัลลิสต์หัวเราะเยาะว่าเป็นคนโง่ เอาชีวิตมาทิ้งเปล่าๆ คนส่วนใหญ่นำมาปรามลูกหลานว่า เห็นไหม สู้แล้วได้อะไร สู้แล้วก็ตายเปล่า อย่าไปยุ่งกับเขาดีกว่า
 
นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไม 78 ปีประชาธิปไตยไทยยังนำมาซึ่งคำถามจากชาวบ้านว่า ปรีดี คือใคร?” และก็คงจะถามว่า ถวิล จำลอง เตียง ป๋วย จิระ ฯลฯ คือใคร? ด้วยเช่นกัน เพราะระดับบิดาของการนำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย ก็ไม่ได้รับการยกย่องและแนะนำให้ประชาชนรู้จัก มิหนำซ้ำยังถูกปักปรำว่าเป็นคอมมิวนิสต์
 
ก้าวย่างที่ต้องรอบคอบเพื่อชัยชนะอย่างยั่งยืน
 
คนต่างชาติไม่สนใจการเมืองไทยอย่างแท้จริงมาก่อน จนกระทั่งเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ของคลื่นคนเสื้อแดงที่เพื่อความเข้มข้นในทุกขณะเขาบอกข้าพเจ้าว่า การเมืองไทย ประเทศไทย ไม่มีกระดูกสันหลังเพราะเขาเห็นว่าไม่มีใครยึดหมั่นในหลักการหรืออุดมการณ์ เล่นการเมืองกันไปหมดไม่ว่าฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา เจราจาและประนีประนอมระหว่างกัน หรือที่เริ่มพูดกันมากขึ้นว่ายุทธวิธี สู้ไป กราบไปโดยไม่เคารพในอุดมการณ์และหลักการประชาธิปไตยประชาชน
 
วิถีการต่อสู้ แบบไทยๆที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน จึงสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะในหมู่ประชาขน นักกิจกรรมในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในหมู่นักประชาธิปไตยนานาชาติด้วย เพราะสำหรับเขา เหลืองที่เป็น NGO ที่เขารู้จักก็อ้างว่า ทำเพื่อประชาธิปไตยและ แดงที่เริ่มต้นจากค่ายพรรคการเมืองที่เขาเห็นว่าไม่โปรงใส ก็อ้างว่า “เพื่อประชาธิปไตย
 
แต่คนเสื้อแดงกำลังพิสูจน์กับโลกว่า เขาจริงจังในการต่อสู้และนั่นก็ต้องยืนยันกับประชาคมคนไทยและประชาคมโลกด้วยยุทธวิธีที่ตรงไปตรงมา ไม่มองทุกอย่างเป็นเกมการเมือง ที่มักบิดเบี้ยว สกปรกและทุกคนเบือนหน้าหนีอีกต่อไป
 
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอมอบหนังสือ ไม้ขีดก้านเดียวที่เปลี่ยนสังคมเกาหลีที่ข้าพเจ้าจัดทำในรูปแบบ PDF" นี้ ให้กับทุกคน และขอคารวะวีรชนคนไทยที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยไทยตลอด 100 กว่าปี แห่งถนนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขออย่าได้ตัดทอนรายชื่อเหล่านี้ แม้จะกินพื้นที่เว็บก็ตาม แต่ขอให้ได้รำลึกถึงพวกเขาในฐานะคนมีชื่อ หรือไม่มีชื่อ ที่ไม่ใช่ตัวเลข 77 41 44 หรือ 91 คน อีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท