Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กระแสข่าวคนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางตำแหน่ง อาทิ เลขนุการนายก อบต.และสมาชิก อบต.บางส่วน นัดรวมพลเปิดศึกกับกระทรวงมหาไทย กรณีนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รมว.มหาดไทย ลงนามขึ้นค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารและสมาชิก อบต. มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 นั้น

กลุ่มผู้เรียกร้องเห็นว่าสัดส่วนเงินค่าตอบแทนของนายก อบต.ได้รับเพิ่ม 100 % แต่ตำแหน่งอื่นๆ ได้รับเพิ่มเพียงเล็กน้อย เฉพาะในส่วนของ สมาชิก อบต. เลขานุการนายก อบต. และเลขานุการสภา อบต.ได้รับปรับเพิ่มสูงสุด 140 บาท และต่ำสุดเพียง 40 บาท เลขานุการนายก อบต.รายได้ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปไม่ได้รับเงินเพิ่มเลยแม้แต่บาทเดียว

ล่าสุดเสียงเรียกร้องให้กระทรวงมหาไทยทบทวนการขึ้นค่าตอบแทนได้ขยายวงกว้างขึ้น  ถึงขั้นเครือข่ายสมาชิกสภา อบต.ทั่วประเทศประกาศขึ้นป้าย "มหาดไทยปฏิบัติสองมาตรฐาน ไม่ใส่ใจดูแลคนท้องถิ่น" หน้าที่ทำการ อบต.ทุกแห่งทั่วประเทศ  

การกระทำดังกล่าวเท่ากับเป็นการประกาศว่า คน อบต. เอาจริง การผนึกกำลังครั้งนี้ บางฝ่ายมองว่าเป็นแรงกระเพื่อมที่อาจทำให้สังคมหันกลับมามองว่า คน อบต. กำลังทำอะไร และเพื่อใคร  ชุมชนท้องถิ่นจักได้อะไร การแสดงท่าทีขึงขังเอาจริงที่ว่านี้  จะส่งผลต่อภาพลักษณ์โดยรวมของท้องถิ่นไปในทิศทางใด

อย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ การปรับเงินเดือนค่าตอบแทน อบต.เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย เมื่อครา รมว.มหาดไทยเสนอต่อที่ประชุม ครม.ให้พิจารณา แต่นายกฯ อภิสิทธิ์กลับสั่งระงับให้กลับไปศึกษารายละเอียดถึงสองครั้ง และกำชับว่าควรยึดโยงกับบุคลากรภาครัฐส่วนอื่นด้วย โดยเฉพาะ ส.ก. และ ส.ข. เพราะรู้กันอยู่ว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังวางฐานสำคัญในเขตพื้นที่ กทม.

หลายฝ่ายมองว่าการขึ้นเงินเดือน อบต. เป็นเกมการเมืองที่พรรคภูมิใจไทยใช้เป็นนโยบายเพื่อหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคประชาธิปัตย์เองแม้จะติดดิสเบรคไว้บ้าง แต่ก็ต้านกระแสไม่ไหว เพราะ อบต. เริ่มฮึม ฮึม จะขึ้นป้ายต่อต้านอยู่รอมร่อ

การขึ้นค่าตอบแทนครั้งนี้ แม้ไม่ปรากฏชัดว่าได้สะท้อนวิสัยทัศน์การกระจายอำนาจ การปฏิรูป และการพัฒนา อบต. ให้มีประสิทธิภาพประจักษ์ชัดอย่างไร แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันได้ เพราะเป็นเงินของ อบต.เอง

อีกทั้งก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายให้ท้องถิ่นเป็นไม้เป็นมือในการให้บริการสาธารณะและฝากงานสำคัญๆ ให้ท้องถิ่นทำอย่างสมประสงค์ เช่น การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้ด้วยโอกาส  คนพิการ ผู้ป่วยเอดส์ ฯ อีกทั้งยังให้ค่าตอบแทนอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน และขึ้นค่าตอบแทนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านไปแล้ว 100%

การประกาศดำเนินนโยบายประชาภิวัฒน์ของรัฐบาลเพื่อช่วงชิงประชาชนให้ลืมนโยบายประชานิยม และยิ่งเร่งกระสุนชุดใหม่ๆ ทั้งขึ้นเงินเดือนผู้บริหาร 3 สถาบัน ส.ส. ส.ว. นโยบายช่วยเหลือรถแท็กซี่ หาบเร่ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ ยิ่งจะทำให้เห็นว่าในโอกาสอันสุกงอมเช่นนี้ องค์กรไหน ตำแหน่งใดขออะไรก็จำต้องสนอง ขณะที่ค่าครองชีพของระบบฐานรากพุ่งปู้ดปาดทะลุเพดาน เพียงแค่ราคาน้ำมันปาล์มแม่บ้านก็แทบสำลัก

ท่ามกลางกระแสข่าวขอให้กระทรวงมหาดไทยทบทวนการขึ้นค่าตอบแทนของ อบต. เพื่อเพิ่มเงินให้ เลขานุการนายก อบต. และสมาชิก อบต. ทางด้านองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปลุกพลังขู่เคลื่อนใหญ่ของเงินเพิ่ม ประกาศต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรม นัดประชุมหารือแสดงเจตนารมณ์ ในวันที่ 19 มกราคมนี้ เพื่อกดดันรัฐบาล

การเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรมที่เห็นว่าตนเอง หรือองค์กรควรได้รับ เป็นการแสดงออกขั้นพื้นฐาน ย่อมทำได้ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตย

แต่ถ้าเสียงเรียกร้องไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานของแต่ละตำแหน่ง และอารมณ์ของประชาชน ระวัง...กระแสจะตีกลับ

อาจเตรียมรับกันไปถ้วนหน้า ทั้งนักการเมืองระดับชาติ และนักการเมืองระดับท้องถิ่น

ว่าไหมครับ..

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net