Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในอดีตการแก้แค้นเป็นอำนาจของมนุษย์ เพื่อใช้มันปกป้องสิทธิของตนเอง จนเมื่ออำนาจนั้นกลายมาเป็นของรัฐ แล้วที่รัฐเป็นผู้ลงมือซะเอง หากประชาชนคิดจะแก้แค้น ควรแก้แค้นใครดี?

 
“การแก้แค้น” เป็นก้าวแรกของหลักแห่งความยุติธรรม
 
ตั้งแต่โบราณกาลเมื่อมีการก่ออาชญากรรมขึ้น – ผู้เสียหาย หรือครอบครัว ย่อมมีสิทธิที่จะแก้แค้น
 
แม้การแก้แค้นจะต้อง “ฆ่า” ให้ตายไปตามกัน ให้สาสมกัน ก็ยังกระทำกันได้ (ในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นผู้ก่อฆาตกรรม) 
 
ทั้งไม่มีการแบ่งแยกว่า “อะไรเป็นความผิดที่ตั้งใจ” และ “อะไรเป็นความผิดที่ไม่ตั้งใจ” เพราะถือคติว่า “เมื่อมีการฆ่าคนตาย ต้องมีการแก้แค้น อย่างเดียว” และเรื่องจะยุติแค่นั้น จะไม่มีการกระทำการแก้แค้นตอบโต้กันอีก - - การแก้แค้นจึงเป็นความยุติธรรม และความถูกต้อง!!!
 
ยิ่งเป็นอาชญากรรมระหว่างกลุ่มชน ยิ่งต้องมีการแก้แค้นกัน มันเป็นการแสดงพลังของหมู่คณะ ทำให้ศัตรูขยาดกลัว เพราะถ้ายอมให้อีกกลุ่ม กระทำกับคนในกลุ่มตนได้ ก็อาจจะถูกข่มเหง-รังแก ไม่มีวันที่สิ้นสุด
 
เมื่อมีคนในกลุ่มหนึ่ง ไปฆ่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง – สมาชิกในกลุ่มคนที่ถูกฆ่า จะต้องหาทางเอาตัวฆาตกรคนนั้น มาลงโทษให้ได้ แล้วคนในกลุ่มที่มีสมาชิกเป็นฆาตกร จะรับผิดชอบต่อเหตุที่เกิดขึ้นอย่างไร?
 
แต่ขณะเดียวกัน สำหรับคนบางกลุ่ม “อาชญากรรมของพวกพ้อง” อาจไม่ถือว่าเป็นความผิด หรือกลับเห็นว่าเป็นความดีด้วยซ้ำไป!!!
 
สัญชาตญาณในการคุ้มครองภัยที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือภัยของหมู่คณะเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทำให้ต้องคิดหาทางแก้แค้นให้จงได้ เพราะความรักในหมู่คณะ, เพราะการปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่ม, ก็คือการปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขานั่นเอง (ยิ่งมีความเชื่ออื่นๆ มาประกอบ ยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกร่วมรุนแรงมากยิ่งขึ้น - เช่น มีเหตุทำให้ “คนที่เขารัก” ต้องระหกระเหิน ต้องพลัดพรากจากครอบครัว จากหมู่คณะ – การแก้แค้น เพื่อเป็นการตอบแทนคนที่เขารัก ยิ่งมิอาจหลีกเลี่ยง!!!)
 
การแก้แค้น-ล้างแค้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนสิ่งที่มนุษย์เรียกว่ากฎหมาย – เป็นกฎที่ยิ่งใหญ่กว่า ศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎศีลธรรม
 
การแก้แค้นนอกจากเป็นไปเพื่อการลงโทษแล้ว ยังเป็นการขู่ให้คนเกรงกลัว และป้องกันไม่ให้มีการทำร้ายกันอีก
 
ข้อเท็จจริงก็คือ “การแก้แค้นเป็นอำนาจของมนุษย์ เพื่อใช้มันปกป้องสิทธิของตนเอง”
 
ในยุคสมัยต่อๆ มา “ผู้เสียหาย” มีทางเลือกมากขึ้น, การแก้แค้นแบบ “ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน” แบบดั้งเดิม เริ่มลดความสำคัญลง มีการชดใช้สิ่งของที่คนชอบ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย สิ่งของมีค่า-เงินทอง เพื่อชดใช้มูลค่าความเสียหาย ทดแทนการแก้แค้น
 
แต่วิธีการชดใช้นี้ เป็นการลงโทษจริงหรือ – หรือเป็นอุบายลดความโกรธแค้น – หรือเป็นการพยายามทำให้ผู้เสียหายเกิดความโลภ หรือเป็นเพียงวิธีปกป้องผู้กระทำความผิด ให้รอด (ชีวิต) จากการถูกแก้แค้น? - หรือเพื่อมิให้มีการแก้แค้น (จองเวร) กันต่อไป???
 
กระทั่งกำเนิด “รัฐ” – รัฐที่เป็นผู้สั่ง-เป็นผู้บังคับ-เป็นผู้ลงโทษ, ให้ผู้ที่กระทำความผิด ต้องชดใช้ความเสียหาย ตามกฎหมายที่รัฐเป็นผู้กำหนดไว้ – จากอำนาจการแก้แค้นที่เคยเป็นของบุคคล – และถัดมาเป็นของหัวหน้าเผ่า 
 
บัดนี้ อำนาจนั้นกลายมาเป็นของรัฐ - รัฐจึงเป็นผู้ควบคุม มิให้ประชาชนทำการแก้แค้นต่อกัน เพราะการแก้แค้นต่อกันระหว่างประชาชน จะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และความไม่มั่นคงปลอดภัยของบ้านเมือง???
 
และแล้ววันเวลา ก็เดินมาถึงยุคสมัย ที่ “รัฐเป็นผู้ลงมือแก้แค้นซะเอง!!!”
 
...
 
ถ้าจะมีคำถามสักคำถาม - คำถามนั้นคือ “ถ้าประชาชน คิดจะแก้แค้น – จะแก้แค้นใครดี !!!” (ต้องสรุปให้ได้ก่อนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด - เกิดจากข้อพิพาทของประชาชนต่อประชาชน หรือเกิดจากประชาชนกลุ่มหนึ่ง กับรัฐ-รัฐหนึ่ง !!!)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net