สัมภาษณ์ ‘กนก วงษ์ตระหง่าน’ เปิดโลกอิสลามศึกษาเชื่อมโลกมุสลิม

 
 
 
การจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ “Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies” ณ อาคารวิทยอิสลามนานาชาติ วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ระหว่างวันที่ 21–23 ธันวาคม 2553 นับว่าได้สร้างความคึกคักให้กับวงการอิสลามศึกษาในเมืองไทยไม่น้อย 
 
ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ผู้มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังการจัดสัมมนาครั้งนี้ ได้บอกเล่าถึงที่มาและเป้าหมายของการสัมมนานานาชาติครั้งนี้ มีประเด็นน่าสนใจดังต่อไปนี้
 
000000
 
 
จุดเริ่มต้นในการจัดงานก็อยู่ในช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมานี้เองใช่หรือไม่
ความคิดจะจัดงานเกิดขึ้นมาปีกว่าแล้ว ไม่ใช่แค่ 2–3 เดือน เหตุผลที่จัดกันค่อนข้างฉุกละหุก เพราะผู้นำศาสนาและอธิการบดีจากหลายประเทศบอกว่า หากจัดหลังจากปีใหม่หลายคนติดธุระ มาร่วมงานไม่ได้ส่วนใหญ่ บอกว่าช่วงปลายเดือนธันวาคม 2553 เป็นช่วงที่เหมาะที่สุด น่าจะจัดช่วงนี้ ไม่อย่างนั้นก็ต้องไปจัดกลางๆ ปีหน้า สุดท้ายเราก็ได้วันที่ 21–23 ธันวาคม 2553
 
ที่มาของโครงการสัมมนาวิชาการนานาชาติ
ตอนปี 2552 นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผมนำคณะของมหาวิทยาลัยในไทยมี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ไปประเทศแอฟริกาและบางประเทศในตะวันออกกลาง ระหว่างเดินทางเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาของนักศึกษาในประเทศมุสลิมแถบแอฟริกาว่า ปัญหาสำคัญคือ จบออกแล้วไม่มีงานทำ  
 
ผมสอบถามอาจารย์จากประเทศไทยว่า มีปัญหาอะไรบ้าง ก็ได้คำตอบคล้ายคลึงกัน เลยคิดว่าทำไมไม่เอาประเทศที่เปิดสอนอิสลามศึกษามาคุยกันว่า มีปัญหาอย่างไร เราจึงสอบถามมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ ที่เราไปพบว่ามีความคิดอย่างไร ถ้าจะจัดสัมมนาในเรื่องเหล่านี้  ปรากฏว่าทุกประเทศ ทุกมหาวิทยาลัยเห็นด้วย
 
หลังจากนั้นเราก็ได้ทำรายงานเสนอต่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรรีบอกว่า เป็นความคิดที่ดีน่าจะมีการประชุมกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่มีพี่น้องมุสลิมมากที่สุด จึงมอบให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นเจ้าภาพ โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็มอบให้กับวิทยาลัยอิสลามเป็นผู้ดำเนินการ
 
ปัญหาของอิสลามศึกษาเท่าที่พบปัญหา ก็มีเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน ทำอย่างไรให้นักศึกษาที่จบไปแล้วมีงานทำ เป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ ความคิดเหล่านี้เรานำเรื่องเหล่านี้ไปปรึกษากับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง จนได้หัวข้อการสัมมนาครั้งนี้คือ “Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies
 
การจัดสัมมนาในช่วงนี้ มีเหตุผลทางการเมืองด้วยหรือไม่
ไม่เกี่ยวเลย เราเตรียมการมาปีกว่าแล้ว ไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่า จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เนื่องจากที่เรียนไป ที่อธิการบดีหลายท่านมาไมได้ในช่วงของปีใหม่เพราะติดงาน
 
บทบาทของอิสลามศึกษาในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ ความหมายก็คือ ยุคโลกาภิวัตน์ มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเยอะมาก ทั้งความคิดความเชื่อ ระบบเศรษฐกิจ เทคโนโลยี จึงเกิดคำถามว่า ภายใต้บริบทอย่างนี้เราจะสอนอิสลามศึกษาอย่างไร ปรากฏว่าในงานสัมมนามีบทความวิชาการเยอะมาก เท่าที่ทราบมีถึง 30 บทความ
 
เราได้ผู้นำอิสลามศึกษาระดับโลก เช่น กาตาร์ อียิปต์ มาแสดงปาฐกถาในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับอิสลามศึกษา และการปรับตัวของอิสลามศึกษา
 
ข้อแรก ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า อิสลามศึกษาควรนำไปสู่สันติภาพ และความปรองดอง ความกลมกลืน ไม่ใช่เฉพาะในหมู่ชาวมุสลิมเท่านั้น แม้กระทั่งระหว่างชาวมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ควรที่จะอยู่กันอย่างสันติสุขและกลมกลืนกัน
 
ประการที่สอง อิสลามศึกษาควรมีขอบเขตการบูรณาการเรื่องศาสนาและวัฒนธรรม ให้เข้ากับวิชาชีพต่างๆ เพราะสังคมเปลี่ยนไปมาก ถ้าขาดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิชาชีพ ก็ไม่สามารถทำงาน หรือนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ แน่นอนวิชาชีพและวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ต้องสอดคล้องกับหลักการอิสลามที่ถูกต้อง
 
ประเด็นที่สาม คิดว่าอิสลามศึกษาน่าจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างผู้คน สังคม ชุมชน และระหว่างประเทศ หมายถึงว่าอิสลามศึกษาไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะของชาวมุสลิม คนที่ไม่ใช่มุสลิมก็ศึกษาได้ เป็นลักษณะการศึกษา 2 ทาง คนมุสลิมศึกษาเรื่องเกี่ยวกับทางโลก คนที่ไม่ใช่มุสลิมก็ศึกษาอิสลาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เกิดความเคารพกันและกัน
 
อีกประการที่สำคัญ อิสลามศึกษาต้องทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมและชุมชน
 
นี่เป็นความเห็นในที่ประชุมที่แสดงออกมา ทุกคนพูดอย่างชัดเจนว่า อิสลามศึกษาจะต้องปรับ ต้องพัฒนา และยกระดับ อันนี้เป็นการบ้านที่ต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไร
 
การสัมมนาครั้งนี้จะนำไปสู่อะไร
ดูจากนักศึกษาและพี่น้องปัตตานี ทุกคนตอบรับการสัมมนาครั้งนี้เป็นอย่างมาก เป็นการสัมมนาที่มีผู้นำทางจิตวิญญาณ นำองค์ความรู้ด้านอิสลามจากทั่วโลก มาแสดงข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นการเปิดความคิดใหม่ให้กับพี่น้องมุสลิมในพื้นที่
 
ในส่วนที่คิดว่าสำคัญคือ การยกระดับอิสลามศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคโลกาภาวิตน์ ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนการสอน และการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอิสลามศึกษา ไม่ใช่เฉพาะปัตตานี แต่มหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทยได้ประโยชน์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะต้องนำความคิด ข้อค้นพบไปแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ เพราะจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษา และประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
 
อาจจะเป็นการสร้างมาตรฐานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะเปิดการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษา
ผมคิดว่าไม่จำเป็นที่มหาวิทยาลัยทุกแห่ง จะต้องมีวิทยาลัยอิสลามศึกษาแบบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพราะยังไงก็สู้ไม่ได้ แต่เขาสามารถส่งนักศึกษามาเรียนได้
 
ที่เห็นชัดเจนคือ วิทยาลัยอิสลามศึกษา ที่ปัตตานี เป็นที่รู้จักของสถาบันการศึกษาชั้นสูงของโลกในด้านอิสลามศึกษา เพราะฉะนั้นต่อไปก็จะเกิดความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยอิสลามศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีกับมหาวิทยาลัยด้านอิสลามศึกษาทั่วโลก เท่ากับการยกระดับให้อิสลามศึกษาของวิทยาลัยแห่งนี้ มีคุณภาพระดับโลก

ต่อไปพี่น้องที่มาเรียนที่ปัตตานีจะได้เรียนมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานโลก ไม่ใช่ที่เรียนคุณภาพต่ำ ประการสำคัญอันสุดท้ายผู้นำทางด้านจิตวิญญาณที่มาประชุครั้งนี้ ประเทศไทยและรัฐบาลไทยได้ให้เสรีภาพทางด้านศาสนามาก ผู้นำทางการศึกษาบางประเทศพูดกับผมว่า เขาประทับใจมาก ที่ผู้นำสูงสุดของประเทศคือ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาเปิดการสัมมนาอิสลามศึกษาด้วยตนเอง นี่คือชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้กับลูกหลาน และพี่น้องประชาชนใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่งชื่อเสียงของประเทศไทยในอนาคต
 
รูปธรรมหลังที่จะตามมามีอะไรบ้าง
จะเกิดรูปธรรมตามมาอีกมากมาย นายกรัฐมนตรีพูดชัดเจนว่า การสัมมนาครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เราจะต้องทำงานกันต่อไป เช่น วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็ได้เตรียมแผนไว้แล้วว่า พัฒนาสถาบันสอนภาษาอาหรับ เพราะนักศึกษามุสลิมจากไทยที่ไปศึกษาที่ซูดาน อียิปต์ ต้องไปเสียเวลาเรียนภาษาอาหรับ 2–3 ปี ยังไม่ได้เข้ามหาวิทยาลัย
 
ถ้าเรามีหลักสูตรภาษาอาหรับ ในวิทยาลัยอิสลามศึกษา ลูกหลานของเราก็ไม่ต้องไปเรียนต่างประเทศอีกแล้ว เราจะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยอัล–อัซฮาร์มาสอน พอคะแนนผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ก็เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้เลย
 
สิ่งที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีทำไปบ้างแล้วคือ การแลกเปลี่ยนนักศึกษา มีนักศึกษาจากวิทยาลัยอิสลามศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศ มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน สิ่งเหลานี้เป็นการเปิดความคิดใหม่ ทำให้นักศึกษาและอาจารย์ของเราเห็นโลกกว้างขึ้น แลซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพด้านการเรียนการสอนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
รัฐบาลหวังจะนำเรื่องการศึกษา ไปใช้แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
หัวใจของการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ การศึกษาของพี่น้องประชาชน การจัดสัมมนาครั้งนี้ นักวิชาการจากต่างประเทศอ้างหลักคำสอนของศาสนาอิสลามอย่างชัดเจนว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับความรู้ และต้องให้ความเคารพกับผู้รู้ เพราะผู้รู้คือผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า 
 
ผมเชื่อว่าการให้การศึกษาที่ถูกต้อง ทั้งการใช้ชีวิตส่วนตัวตามหลักศาสนา และการประกอบอาชีพที่ถูกต้องที่สัมพันธ์กับหลักศาสนา เป็นสิ่งที่จะสร้างความเข้มแข็ง สร้างเกียรติและศักดิ์ศรีให้กับพี่น้อง ถ้าเราทำอย่างนี้พี่น้องมุสลิมก็จะเรียนรู้ว่า ความถูกต้องคืออะไร ที่สำคัญการศึกษาจะทำให้เขามีอาชีพ ที่สามารถเลี้ยงตัวเอง และชุมชนต่อไปได้
 
นี่คือสิ่งที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขและสันติสุขที่แท้จริงสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
หมายความว่ารัฐบาลหวังผลระยะยาว
ผมไม่เคยเชื่อว่าการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความแตกต่าง จนเกิดความแตกแยกทางความคิด จะสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น การแก้ปัญหาต้องแก้ระยะยาว ดินแดนแถบนี้ยังคงอยู่ที่นี่ไม่ได้หายไปไหน พี่น้องมุสลิมก็ยังคงอยู่ที่นี่ เราไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องระยะเวลา ขอให้ทำอย่างถูกต้อง ในคำสอนของศาสนาอิสลามบอกว่า ถ้าเราปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และคำสอนที่พระผู้เป็นเจ้าให้แล้ว ชีวิตของเราก็จะได้รับการยกโทษ ในวันสุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าได้กลับมาให้ชีวิตใหม่อีกครั้ง ในคำสอนของศาสนาอิสลามให้รอ แม้กระทั่งชีวิตหลังความตาย การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราก็เหมือนกัน ต้องไปทำแค่เฉพาะหน้าระยะสั้น
 
ผมเชื่อว่าการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มั่นคงถาวรคือ การสร้างความเข้าใจ ความอดทน ความเคารพในความแตกต่างระหว่างกันของคนที่อยู่ในพื้นที่นี้ บนฐานของความรู้ในศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง ถ้าเป็นเช่นนี้เราจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกิดความสงบสุขมั่นคงถาวร
 
เนื่องการสัมมนาในครั้งนี้ มีนักวิชาการจากต่างประเทศเข้ามาร่วมมากมาย รัฐบาลหวังผลในเวทีระดับโลกอย่าง OIC หรือไม่
ผมคิดว่าเราอย่าไปให้น้ำหนัก ทำอันนี้แล้วหวังผลอันนี้ เราต้องเข้าใจว่า การทำงานในด้านการศึกษาเราจะหวังผลในระยะสั้นไม่ได้ เราจะต้องหวังผลในระยะยาว และผลที่หวัง ต้องตั้งอยู่ในหลักของความถูกต้อง ไม่อย่างนั้นผลที่ได้ไม่ยั่งยืน แล้วเราก็จะทำผิดเหมือนกับที่ผ่านมาในอดีตอีก เพราะฉะนั้นเรื่อง OIC อะไรต่างๆ ผมคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบ ปล่อยให้เขาทำไป
 
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดเจนก็คือ นักวิชาการเหล่านี้ที่เดินทางมาประเทศไทยมาที่ปัตตานี และได้พบกับเรา ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยเหตุด้วยผล ภายใต้หลักการของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเขากลับประเทศ เขาจะบอกเองว่า ประเทศไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นบอก ไม่ได้กีดกันชาวมุสลิมไม่ให้ปฏิบัติศาสนกิจ ไม่ได้กดขี่ข่มเหงทำร้ายพี่น้องมุสลิม ในช่วง 3 วันนี้เขาจะเห็นเอง สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่มีความหมาย
 
การจะไปอธิบายกับ OIC ในลักษณะการให้เหตุผล หรือการโฆษณา มันไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน ที่ยั่งยืนสำคัญมากกว่าคือ การปฏิบัติจริงต่อพี่น้องมุสลิม
 
สิ่งที่ผมประทับใจมากคือ มีนักวิชาการจากหลายประเทศบอกกับผมว่า สิ่งที่ผมนำเสนอความคิดของผม เป็นความคิดที่ใกล้เคียงกับอิสลามมากที่สุด มีนักวิชาการบางคนบอกว่า เป็นอิสลามมากกว่ามุสลิมหลายคนด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่ไปคิดทำอันนี้ เพื่อหวังอันนั้น อันนั้นเป็นความคิดเก่า ความคิดใหม่ไม่ได้เป็นแบบนั้น
 
นักวิชาการจากต่างประเทศแสดงทัศนคติต่ออิสลามศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไรบ้าง
ทุกคนแม้ว่าจะเป็น กาตาร์ อียิปต์ ตุรกี จอร์แดน เป็นต้น ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่า การศึกษาด้านอิสลามศึกษา จะต้องปรับปรุงและพัฒนา ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่สำคัญคือต้องยึดหลักความบริสุทธิ์จากคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อเราเข้าใจในความบริสุทธิ์ของคำสอนของพระผู้เป็นเจ้า เราก็จะเข้าในเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า เมื่อเข้าใจเราก็จะสามารถประยุกต์องค์ความรู้เหล่านั้น เพื่อให้เกิดการดำรงชีวิตอย่างสันติได้ ในสภาพแวดล้อมที่เราเป็นอยู่
 
มีนักวิชาการท่านหนึ่งบอกว่า การศึกษาอิสลามศึกษานั้น ภาษาอาหรับเป็นสิ่งสำคัญ แต่สังคมมาเลเซียจะต้องเรียนภาษาจีน เพราะหลายสิบปีก่อน ภาษาจีนเป็นเครื่องมือในการหางานทำ จึงเกิดคำถามว่าแล้วจะเรียนอิสลามอย่างไร เขาก็บอกว่า เขาเรียนอาหรับและเรียนจีนไปด้วย ถึงแม้ภาษาอาหรับจะไม่สำคัญทางด้านธุรกิจการค้าก็ตาม
 
ความหมายที่ผมได้เรียนรู้จากการสัมมนา การศึกษาอิสลามต้องมองในมุมกว้าง หากเรามองในมุมแคบแล้วเราจะติดชุมชน หมู่บ้าน และสังคมของเรา จนไม่เข้าใจในเจตนารมณ์ที่แท้จริงของพระผู้เป็นเจ้า
 
อิสลามศึกษาเป็นเรื่องสากลเป็นภาพใหญ่ของโลกมุสลิม แต่เนื่องจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาอยู่หลายมิติที่น่าจะเกี่ยวข้องกับอิสลามศึกษา และยังมีเรื่องสังคม วัฒนธรรม ประเพณี รวมทั้งประวัติศาสตร์ ในทางการศึกษา จะจับตรงนี้ด้วยหรือไม่
ผมเชื่อว่านักวิจัยทางด้านอิสลาม คงจะต้องเข้าไปศึกษาเรื่องนี้ในอนาคต อย่าลืมว่าปัตตานีเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว เป็นดินแดนที่มีอารยธรรมทางด้านการศึกษาสูง ประชาชนจากมาเลเซีย  สิงคโปร์ เขมร เวียดนาม ลาว ที่เป็นมุสลิมมาศึกษาที่นี่ นักคิดนักปราชญ์ของคนในพื้นที่นี้ก็ได้สร้างผลงาน สร้างองค์ความรู้มากมาย ที่เป็นประโยชน์กับโลกมุสลิม อันนี้คือความเป็นจริง
 
เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสนับสนุนให้วิทยาลัยอิสลามศึกษาที่ปัตตานี เป็นที่รวมของนักคิดนักปราชญ์ในยุคหลังโลกาภิวัตน์ได้ สามารถที่จะคิดค้นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อโลกมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมได้ ก็จะเป็นความฝัน ที่จะนำความยิ่งใหญ่ของดินแดนปัตตานีแห่งนี้กลับมา ในฐานะที่เป็นดินแดนที่เปี่ยมไปด้วยความรู้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์
 
ผมเชื่อว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และวิทยาลัยอิสลามศึกษาก็อยากทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น มันไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะพี่น้องมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เป็นประโยชน์กระทั่งกับคนที่ไม่ใช่คนมุสลิม คนอย่างผมก็ได้ประโยชน์มากจากการเรียนรู้
 
ตอนนี้ถ้าดูในบทบาทของรัฐ ในการที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องของอิสลามศึกษา เท่าที่เห็นอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ในส่วนของรัฐบาลเอง จะขยับไปถึงระดับสถาบันอะไรหรือไม่
เราอย่าเรียกว่าระดับรัฐบาลขยับ เพราะถ้าหากเรียกรัฐบาลขยับอย่างที่พูด อาจจะนำไปสู่การเข้าใจผิด กลายเป็นการบังคับ ในศาสนาอิสลามพูดชัดเจนว่า เราไม่สามารถบังคับใครให้เชื่อ ความเชื่อเป็นเรื่องของการสมัครใจของคนๆ นั้น
 
เพราะฉะนั้นในอนาคต ถ้าจะสนับสนุนการศึกษาในระดับประถม มัธยม ในโรงเรียนที่สอนศาสนาอิสลาม ระดับแรกต้องเป็นเรื่องที่โรงเรียนเหล่านั้นอยากได้ ผมได้คุยกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ท่านบอกว่านี่คือสิ่งที่เราอยากได้ การเรียนการสอนอิสลาม
 
มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา สอนได้ในบางสาขาวิชาชีพที่เราไม่สามารถสอนได้ เราอยากร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มีวิชาชีพที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาไม่มี นี่คือความสมัครใจ ทำให้เกิดความร่วมมือกันขึ้น และวันนี้ก็มีโรงเรียนปอเนาะ ตาดีกา หลายแห่งมาก ที่ต้องการให้มีการสอนวิชาสามัญ เช่นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อที่จะได้เป็นพื้นฐานให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมแล้วสามารถไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้
 
เมื่อมีการสมัครใจเช่นนี้ ความร่วมมือก็ควรจะเกิดขึ้น สิ่งที่เราเป็นห่วงมากกว่าคือ เมื่อโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม อยากจะได้ความช่วยเหลือ แต่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่าผมก็ไม่มีความสามารถที่จะช่วยคุณ นั่นต่างหากคือสิ่งที่น่าเป็นห่วง
 
วันนี้ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะต้องเตรียมความพร้อมที่จะมีองค์ความรู้มีคำตอบที่จะช่วยโรงเรียนในระดับประถม มัธยมของอิสลามเมื่อเขาร้องขอ นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ควรสูญเสียโอกาส
 
ในเรื่องการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่หลายประเด็น ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเงื่อนไขในการก่อความไม่สงบ เช่น ประวัติศาสตร์ ในส่วนของรัฐบาลจะไปแตะตรงนี้หรือไม่
ผมคิดว่าในสามวันที่ผ่านมา นักวิชาการจากหลายประเทศ ก็ได้พูดประเด็นที่น่าคิดมากคือ เราปฏิเสธคนที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ และบิดเบือนหลักการที่บริสุทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ในคนกลุ่มเหล่านั้นเราถือว่า ท่านไม่ใช่มุสลิมที่แท้จริงในความหมายของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจจะมีเหตุผลทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองก็เป็นเรื่องของท่าน ต้องอย่ามารวมกับอิสลาม เพราะอิสลามเป็นศาสนาที่แสวงหาสันติภาพ
 
อาจารย์ใหญ่จากกาตาร์พูดอย่างชัดเจนว่า อิสลามแสวงหาความรุนแรง ไม่ใช่อิสลาม อิสลามถึงที่สุดแล้ว จะต้องก่อให้เกิดสันติภาพ ภายใต้หลักการอย่างนี้ คนที่ไม่ได้เป็นอิสลามก็ไม่มีปัญหากับอิสลาม
 
ตรงนี้คนที่หยิบเงื่อนไขศาสนามาสร้างความรุนแรง อันนั้นไม่เจตนารมณ์ของอิสลาม
                 
หลังจากนี้ทางรัฐบาลเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนงบประมาณในส่วนวิทยาลัยอิสลามศึกษา 500 ล้านบาท ในระยะ 10 ปี ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
ผมไม่ทราบว่าเอามาจากไหน ไม่เคยมีการพูดถึง ขอยืนยันว่าข้อมูลไม่ถูก ผมคิดว่าเราอย่าไปพูดเรื่องงบประมาณโครงการต่างๆ เพราะถ้าพูดไปแล้วจะกลายเป็นว่า พูดแล้วไม่ทำ สิ่งที่ชัดเจนคือรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตั้งใจชัดเจนที่จะสนับสนุนอิสลามศึกษา ให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้พี่น้องมุสลิมเข้าถึงหลักการที่บริสุทธิ์ของศาสนาอิสลาม ประยุกต์ใช้หลักการนั้น ตามเจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อสร้างสังคมที่สันติสุขไม่มีความรุนแรง นี่คือหลักการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นต์ และสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งพี่น้องมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม
 
ประเทศที่มีบทบาทในความร่วมมือทางด้านอิสลามศึกษาครั้งนี้ มีประเทศอะไรบ้าง
มีประเทศกาตาร์ อียิปต์ จอร์แดน ตุรกี และมาเลเซีย ทั้ง 5 ประเทศมีบทบาทมากในเรื่องนี้ โดยเฉพาะอูมัร อุบัยด์ ฮาซานะห์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงศาสนสมบัติและกิจการอิสลาม และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอิสลามศึกษา ประเทศกาตาร์ เป็นนักวิชาการอิสลามศึกษาที่มีชื่อเสียง 1 ใน 10 ของโลก และเป็นคนแอ็คทีฟมาก
 
หลายคนบอกว่า คำว่า Post Globalized ในหัวข้อการสัมมนาครั้งนี้ เป็นศัพท์ใหม่ในทางวิชาการ มีความหมายว่าอย่างไร
คำว่า Globalized หมายถึงโลกาภิวัตน์ เป็นศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ ที่ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญคือ ทำให้คนมีจิตใจตกต่ำ เพราะยึดวัตถุมากกว่าศาสนา จึงเกิดประเด็นว่า ถ้าอย่างนั้นเราควรกลับมาทบทวนหรือไม่ และนี่คือโอกาสที่หลักศาสนาจะกลับเข้ามาอยู่ในกระบวนการทางสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท