มาร์กซิสม์กับการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

                                               
 
เดิมทีสังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ไม่มีความสลับซับซ้อนอะไรมากนัก มีความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้องที่ต่างฝ่ายต้องพึ่งพาอาศัยต่อกันครอบครัวและชุมชนจะทำการผลิตเพื่อเลี้ยงชีพเท่าที่จำเป็น ดั่งที่เรียกกันว่าสังคมบุพกาล จนกระทั่งเมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ กระบวนการผลิตสลับซับซ้อนมากขึ้น การพัฒนาของสังคมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิต จากการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนเพื่อเลี้ยงชีพ มาเป็นการผลิตเพื่อสนองตอบต่อทุนนิยมทั้งในและต่างประเทศ สังคมมนุษย์ ได้พัฒนาจากสังคมแบบบุพกาล มาสู่สังคมที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง นับแต่สังคมทาสที่มีคู่ขัดแย้งระหว่าง(นายทาส-ทาส) สู่สังคมศักดินาที่มีคู่ขัดแย้งระหว่าง(มูลนาย-ไพร่) จนเข้าสู่ สังคมทุนนิยมที่มีคู่ขัดแย้งระหว่าง(นายทุน-แรงงาน) และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง 
 
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิต จึงมีการแบ่งกลุ่มแบ่งหน้าที่รับผิดชอบเพื่อทำการผลิตอย่างเป็นระบบ เริ่มมีตัวตนผู้ผลิตและเจ้าของปัจจัยการผลิต  ส่งผลให้ก่อเกิดชนชั้นในสังคม เริ่มเกิดหน่อเนื้อกลุ่มชนชั้นที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ อาชีพ รายได้ ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียงที่ต่างกัน หรือการดำรงอำนาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าบุคคลอื่นๆในสังคม เริ่มมีความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น ประกอบกับการที่ทรัพยากรที่เป็นปัจจัยการผลิตมีอย่างจำกัดแต่ความต้องการที่เพิ่มทวีคูณมากขึ้นอย่างไม่จำกัด การแย่งชิงจึงรุนแรงขึ้นตามลำดับ
เมื่อสภาพของสังคมเริ่มปรากฏสภาพชนชั้น ในสังคมมีการกีดกันทั้งในเรื่องสิทธิและโอกาส มีการขัดแย้งทั้งในแง่ความคิด ทรัพย์สิน ผลประโยชน์ อำนาจ ศักดิ์ศรี สิทธิและเสรีภาพ จนกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น มีความรังเกียจสถานภาพผู้ที่ด้อยกว่า ดูถูกเหยียดหยามต่อกัน บางครั้งในชนชั้นเดียวกันยังมีการแข่งขันกันเองเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่ขาดแคลน ทำให้เกิดความหวาดกลัว ระแวงสงสัยไม่ไว้ใจต่อกัน 
 
นอกจากนั้นในยุคปัจจุบันชนชั้นเดียวกันก็ยังมีการแย่งชิงผลประโยชน์และอื่นๆ รวมทั้งเอารัดเอาเปรียบต่อกันอีกด้วยยิ่งส่งผลให้คนในชนชั้นเดียวกันแบ่งฝ่ายเด่นชัดมากยิ่งขึ้นความขัดแย้งยิ่งซับซ้อนบางครั้งจึงหาจุดลงตัวแทบไม่ได้     นี่คือลำดับจุดเริ่มต้นของการแบ่งฝ่ายของคนในสังคมตามยุคสมัยเพื่อคุ้มครองและปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นตน ทั้งหลายเหล่านี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งในสังคมแทบทั้งสิ้น
 
คาร์ล มาร์กซ์   มองว่าประวัติศาสตร์ทั้งหมดของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในอดีตที่ผ่านมา ล้วนเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้น ที่มีชนชั้นผู้ขูดรีดกับชนชั้นที่ถูกขูดรีด โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการครอบครองปัจจัยการผลิต และหรือผลิตผล ชนชั้นจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ส่งเสริมสนับสนุนและกระตุ้นให้มีการกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ และเกิดความขัดแย้งของสังคมมนุษยชาติ เพราะชนชั้นได้สะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมทั้งรายได้ ความมั่งคั่ง อำนาจ เกียรติภูมิ เชื้อชาติ ศักดิ์ศรี มีการใช้ช่องทางการเมือง กฎหมาย ศาสนา ศิลปะ วรรณกรรมเป็นเครื่องมือของการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองจนกลายเป็นอุดมการณ์หลักของชนชั้น เพื่อกีดกันผลประโยชน์ของชนชั้นอื่นส่งผลให้อีกฝ่ายสร้างอุดมการณ์รองขึ้นมาต่อต้านอุดมการณ์หลักชนชั้นจึงเป็นต้นเหตุหรือเครื่องหมายแห่งความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม   ดังที่ มาร์กซ์ กล่าวว่า “ว่าที่ใดมีชนชั้นที่นั่นสภาพความขัดแย้งต่อสู้กันของคนในสังคมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว”
 
ดังนั้นในทัศนะของมาร์กซ์ การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำลายล้างยกเลิกระบบชนชั้นให้หมดสิ้นไป ทั้งนี้เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบและการกดขี่ขูดรีดหรือความไม่เสมอภาคกันระหว่างชนชั้นได้อย่างถาวร รวมทั้งให้ทำการยกเลิกกรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สินในที่ดิน และนำทรัพย์สินทั้งหมดมาใช้ประโยชน์รวมกัน รวมทั้งให้รวมปัจจัยทางการผลิตทั้งมวลเป็นของรัฐ ทำการผลิตหรือกำหนดเป้าหมายการผลิตเพื่อส่วนรวม จะส่งผลให้ผลผลิตต่างๆ ในสังคมมีมากเพียงพอที่จะตอบสนองให้กับทุกคนในสังคมได้ตามความต้องการอย่างเสมอภาค เมื่อสังคมปราศจากชนชั้น ปราศจากการขูดรีดเอาเปรียบและการบังคับเผด็จการแล้ว สังคมจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น จะเป็นสังคมที่มีแต่การบริหารจัดการด้านการผลิตทางเศรษฐกิจเท่านั้น โดยไม่มีรัฐชนชั้นที่ทำการปกครอง (นี่คือจุดเริ่มต้นทฤษฎีของ มาร์กซ์ ในนำเสนอแนวคิดการปฏิวัติโค่นล้มอำนาจอย่างเด็ดขาดต่อชนชั้นปกครองเพื่อการปฏิวัติเพื่อนำสังคมไปสู่ความเสมอภาค)
 
อย่างไรก็ตามแนวทางการบริหารจัดการความขัดแย้งทางชนชั้นตามแนวทางของ มาร์กซ์นั้นอาจจะเหมาะสมและใช้ได้ดีในยุคของ มาร์กซ์ แต่ในปัจจุบันสังคมมีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่ามีปัจจัยอื่นๆที่เข้ามายึดโยงและเกี่ยวข้องมากกว่า ความขัดแย้งในสังคมไม่ได้มาจากเงื่อนไขของชนชั้นเพียงช่องทางเดียว เพราะถึงแม้ว่าสังคมปราศจากชนชั้นความขัดแย้งก็ยังคงปรากฏอยู่ นั่นแสดงว่าชนชั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเท่านั้น  และโดยเฉพาะในสังคมไทยคงไม่อาจนำแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบ มาร์กซ์ไปใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด  แต่ต้องเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเพณีและวัฒนธรรมรวมทั้งประวัติศาสตร์ทางสังคมของรัฐชาติด้วย
 
ดังนั้น ในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมไทย จะต้องอาศัยวิธีการหรือแนวทางที่หลากหลายมาเป็นเครื่องมือผสมผสาน ต้องใช้วิธีการผ่อนปรนเข้าหากันหรือการประนีประนอมค่อยเป็นค่อยไป หรือการเกลื่อนกลืนแนวความคิดของกลุ่มชนชั้นแต่ละกลุ่ม รวมทั้งการขอความร่วมมือ ความเห็นพ้องต้องกัน ในการขจัดปัญหาความขัดแย้ง โดยเฉพาะรัฐซึ่งเป็นกลไกสำคัญของความไม่เสมอภาคในสังคมที่สั่งสมกลายเป็นปมปัญหาความขัดแย้งต้องมีความละมุนในการแก้ไขปัญหา และควรหลีกเลี่ยงที่จะเข้าเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และที่สำคัญต้องจัดสรรผลประโยชน์หรือการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง จึงจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมปรากฏน้อยที่สุด
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท