Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์สุทธิ อัชฌาศัย ทำไมแกนนำเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ถึงให้คะแนนการแก้ปัญหารัฐบาลด้านมาตรการเยียวยาปัญหามาบตาพุดสูงถึง 80% แต่ให้สอบตกด้านมาตรการป้องกัน ในวาระครบรอบ 5 ปีการต่อสู้ของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก

การแก้ปัญหามาบตาพุดของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นอย่างไรบ้าง

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลมักแก้ปัญหามาบตาพุดด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ที่แม้จะตั้งนักการเมืองระดับสูงเป็นประธานก็ตาม แต่ผลการดำเนินการก็ขึ้นอยู่กับตัวแทนราชการในระบบปกติ ซึ่งไม่สามารถผลักดันให้เป็นผลดำเนินการหรือสามารถมาตรวจสอบกำกับความคืบหน้าของงานได้อย่างเป็นตัวเป็นตน ทำให้การแก้ไขปัญหามาบตาพุดที่ผ่านมามันล้มเหลว ไม่สามารถตอบโจทก์ที่จะแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาขณะนั้นอย่างฉับพลัน

ยุคนายกฯ อภิสิทธิ์ส่งคุณกอร์ปศักดิ์มาเป็นประธานแก้ปัญหา แกใช้กลยุทธการทำงานด้วยการตัดตรง ไม่ฝากการดำเนินการไว้กับราชการ คุณกอร์ปศักดิ์ลงมาทำงานด้วยตัวเอง โดยตั้งเงื่อนไขลงพื้นที่สัปดาห์เว้นสัปดาห์ ถือว่าเป็นการติดตามงานโดยตรง ที่สำคัญเวลาติดตามงานจะลงพื้นที่จริงด้วยว่าที่ได้ตกลงกันไว้มีการดำเนินการอย่างไร พอตัวเองเข้าไปแล้วจะดึงสำนักงบประมาณมาด้วย ดึงระดับอธิบดีและปลัดกระทรวงมาด้วย มันเลยทำให้กลไกการสั่งงานเต็มที่และผลของความคืบหน้าเป็นจริงในทางรูปธรรม โดยเฉพาะตัวที่เป็นปัญหากันและไม่เคยมีใครอยากทำ


แสดงว่ารัฐบาลรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ถึงใช้วิธีให้คุณกอร์ปศักดิ์ลงมา

ถูกต้อง คือประเมินสถานการณ์ อาจไปถึงยุคหนึ่งที่รัฐบาลสรุปแล้วและเล็งเห็นว่า ปัญหามันอยู่ที่ไหน ปัญหามันติดอยู่ที่เรื่องเดียวนั่นแหละ ทุกรัฐบาลรู้ปัญหาหมด ติดอยู่ที่ใครจะเป็นคนทำ ที่ผ่านมามันอยู่ตรงนี้ รัฐบาลรู้แล้วจึงดึงทุกภาคส่วนมาแล้วก็สั่งการ และติดตาม มันเลยทำให้ผลการดำเนินการตามระบบราชการเร็วขึ้น

อีกเรื่อง ที่ผ่านมาเวลาจะแก้ปัญหาจะติดขัดที่การเถียงกันว่า สำนักงบจะไม่อนุมัติ พอสำนักงบฯไม่อนุมัติ ราชการไทยก็รู้อยู่ไม่มีเงินก็ไม่ทำ กอร์ปศักดิ์มาดึงสำนักงบฯ มาด้วยให้เข้าใจ พอสำนักงบเข้าใจ ทุกอย่างก็ไปได้ มีสำนักงบฯ สภาพัฒน์ฯ ทุกฝ่ายต้องมา พอเห็นสภาพตรงกันก็อนุมัติเร็ว เรื่องเบสิกง่าย ๆ ที่กอร์ปศักดิ์พยายามทำคือเรื่อง แนวป้องกัน (protection strip) เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดแล้ว แค่ปลูกต้นไม้ทำไม่ได้ กอร์ปศักดิ์พูดงี้นะ ถ้าปลูกต้นไม้ทำไม่ได้คุณก็อย่าไปทำอะไรเลย

เป็นผลมาจากคณะกรรมการสี่ฝ่าย ถ้าไม่มีกรรมการสี่ฝ่ายวันนั้นก็ไม่มีรูปธรรมแบบนี้ที่มาบตาพุด ผลคือทำให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกันมากขึ้น ทำให้ CEO ระดับสูงสุดของประชาชนคล้าย ๆ นี่ไม่ได้ว่าตัวเองนะ คือระดับสูงสุดของอุตสาหกรรม ผู้จัดการ SCG ปตท. ก็มานั่ง ระดับสูงสุด นายกรัฐมนตรีก็ส่งกอร์ปศักดิ์เข้ามา ก่อนนั้นเขามาในฐานะรองนายกฯ ระดับปลัดกระทรวงก็มีคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ที่เป็นคนที่สูงสุระดับหนึ่งของประเทศไทย อดีตนายกฯ สองสมัย เลยทำให้ระบบต่าง ๆ มีการคุยกันแบบเปิดใจระดับบริหาร พอฝ่ายบริหารเปิดปุ๊บ มาสู่ระดับปฎิบัติมันไม่ยาก นี่คือจุดดีของคณะกรรมการสี่ฝ่าย ที่นำมาสู่สิ่งที่กอร์ปศักดิ์ทำ ถ้าไม่มีคณะกรรมการสี่ฝ่าย กลไกแบบกอร์ปศักดิ์ก็จะไม่เกิดขึ้น

มองได้ไหมว่ารัฐบาลไม่อยากทำตามข้อเสนอคณะกรรมการสี่ฝ่ายทั้งหมด เลยเสนอกลไกกอร์ปศักดิ์มาแทนจะได้หยิบเฉพาะข้อเสนอที่อยากทำมาทำ
คุณกอร์ปศักดิ์เอาข้อเสนอกรรมการสี่ฝ่ายมาทำเยอะนะครับ

คณะกรรมการสี่ฝ่ายเสนอ 4 เรื่อง หนึ่งคือให้มีการจัดทำรายงาน EHIA นี่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว สอง เสนอให้มีการจัดทำเรื่องผังเมืองใหม่ โดยเฉพาะเรื่อง buffer zone และ protection strip อันนี้เขาหยิบ protection strip มาทำก่อนเพราะง่ายกว่า และ buffer zone จะตามมา สามทำเรื่องการเติมเต็มเรื่องการลดและขจัดมลพิษ กอร์ปศักดิ์ก็เอามาทำโดยการดึงอาจารย์สุทินเข้ามาเป็นประธาณคณะอนุกรรมการติดตามกลไกนี้ และสี่ โครงการที่อาจก่อผลกระทบกับชุมชนอย่างรุนแรง อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกอร์ปศักดิ์ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และรมว. ทรัพยากรธรรมชาติฯ เพราะหน้าที่ตรงนี้เขาเลยตัดหน้าที่รับผิดชอบออกไป ส่วนสองเรื่อง ผังเมือง และแนวป้องกัน นายกให้เขามาทำหน้าที่นี้ ฉะนั้นกลไกทั้งหมด มาตรการแก้ปัญหาและเยียวยา ถือว่ารัฐบาลชุดนี้ทำอย่างเป็นระบบมากที่สุด มาตรการแก้ไขและเยียวยานะ

ส่วนมาตรการที่ยังหละหลวมและไม่เป็นระบบคือมาตรการป้องกัน ที่ยังเป็นปัญหา มาตรการเยียวยารัฐบาลชุดนี้ใช้มาตรการโดยการสร้างระบบแต่ยังไม่สมบูรณ์ที่สุด สร้างระบบตรงนี้หมายถึงการสร้างโรงพยาบาลเพิ่ม สร้างระบบน้ำประปาให้ทั่วถึง ระบบสาธารณูปโภค สร้างเรื่องการจัดสรรไฟฟ้า สร้างเรื่องของการผลักดันก่อสร้างมหาวิทยาลัย วิทยาลัยให้เกิดขึ้นในระยอง เรื่องการจัดการขยะ นี่คือรูปธรรมในการเยียวยาที่เขาทำอยู่ รวมถึงการผลักดันเรื่องการตรวจเฝ้าระวังในระบบสาธารณสุข ซึ่งเป็นที่ถกเถียงเรื่องผลการตรวจอยู่ ณ ปัจจุบัน นี่มาตรการเยียวยา

ระบบการแก้ปัญหาคือการลดและขจัดมลพิษ อันที่หนึ่ง รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชุดแรกที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ รัฐบาลชุดอื่นไม่เคยประกาศ

สอง ใช้การแก้ไขด้วยการเติมเต็มเรื่องเทคนิคลดและขจัดมลพิษด้วยการใช้ข้อเสนอของคณะกรรมการสี่ฝ่ายเข้ามาแล้วให้ อ.สุทิน มาผลักดัน คือในแง่ของการแก้ไขและเยียวยา รัฐบาลชุดนี้ทำมากกว่ารัฐบาลอื่น แต่ผลจะออกมาสัมฤทธิ์หรือไม่ ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์กันอีกที

แต่รัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวเรื่องการสร้างระบบเชิงป้องกัน ชัดเจนคือพยายามที่จะทำให้โครงการต่าง ๆ ไม่อยู่ในมาตรา 67 วรรคสอง นี่คือความล้มเหลว

สาม เรื่อง สรุปแล้ว ฉะนั้นถ้ารัฐบาลนี้จะสมบูรณ์แบบก็ต้องสร้างระบบป้องกันด้วยต้อง พยายามผลักดันให้ได้ได้ว่าโครงการที่ติดศาลทั้งหมดต้องเป็นโครงการที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ถ้าทำได้ โอกาสในการสร้างระบบป้องกันจะดีขึ้น คืออย่าดูแค่ตัวโครงการ ให้ดูพื้นที่ด้วย ระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ ก็ผลักดันไปว่าเนื่องจากพื้นที่นี้เป็นพื้นที่เปราะบาง อ่อนไหว โครงการที่จะมาลงก็ฟันธงไปเลยว่าต้องทำตาม 67 วรรคสอง ออกเป็นมติ ครม. แล้วส่งเรื่องให้ รมว.สุวิทย์ไปประกาศก็ได้ ในฐานะ รมว. ทรัพย์ฯ ง่ายนิดเดียว นี่คือปัญหาว่าทำไมถึงไม่ทำ


เต็มสิบ ให้คะแนนรัฐบาลในการดำเนินการเรื่องนี้เท่าไร

ถ้าเราไม่ได้มองตัวคนนะ มองในแง่การสร้างกลไก รัฐบาลนี้สร้างกลไกแบบนี้ ซึ่งรัฐบาลอื่นไม่เคยให้กลไกแบบนี้เลย ให้คะแนน 8 ในแง่วิธีคิดและการสร้างกลไก ไม่มองเรื่องตัวคนนะ กลไกแบบตัดผ่ากลางระบบราชการ ด้วยการลัดตรงไปที่ปัญหา ราชการเป็นแค่เครื่องมือ


จุดที่ต้องคอยจับตามองคืออะไร

การดำเนินการระยะยาว ในแง่ของกลไกไปได้ แต่การทำให้กลไกนี้ต่อเนื่องคือปัญหาข้อห่วงกังวล อันที่สอง รัฐบาลยิงตรงกับปัญหา แล้วล้มล้างระบบสังคมในพื้นที่แบบนี้ งานที่หายไปคืองานเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่มี กลายมาเป็นรัฐบาลต้องเป็นพระเอกตลอดเวลา นี่เป็นปัญหาใหญ่ คือกอร์ปศักดิ์ลงมาอย่างเดียว ไม่สร้างระบบสังคมให้เข้มแข็ง แง่สร้างการระดมความคิด ประชุมสัมมนาผลักดันความเข้มแข็ง สร้างเครื่องไม้เครื่องมือไปสู่การทำให้ชุมชนตรวจสอบด้วยตัวเองต่อไปได้ งานสร้างความเข้มแข็งสังคมหายไป เป็นงานที่ยิงตรงกับปัญหามากกว่า
 

สิ่งที่ต้องทำ คือภาคส่วนไหนต้องเข้ามา
ภาคประชาชน มีความรู้ต้องเติมยอดให้เขา ภาคราชการต้องยอมรับความจริงว่าอุตสาหกรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่ กนอ. สาธารณสุข ขาดความรู้ ทักษะ ต้องเติมเต็มเรื่องพวกนี้ให้เขาให้ได้ และก็ต้องให้มาทำงานในเชิงบูรณาการด้วยกัน รวมถึงภาคส่วนสื่อมวลชนเองบางทีก็ไม่รู้ ทุกองคาพยพของสังคมต้องมาร่วมกัน พยายามจัดระบบ หาองค์กรจัดการทางสังคมเด่ง ๆ มาจัดทำระบบให้เกิดการ สังคมคู่ขนานและตรวจสอบซึ่งกันและกัน

พูดอย่างนั้น เหมือนเราชอบการ short cut สู่ปัญหา แต่ก็เรียกร้องให้มันไม่ short cut ในที ขัดแย้งกันหรือเปล่า
อืมม ก็ใช่ กลไกแบบนี้มันต้องมีสำหรับปัญหาที่คาราคาซัง ไม่ใช่ทุกปัญหา แต่ระบบที่จะทำให้ปัญหาคาราคาซังมันคลี่คลายหลังจากคลี่คลายแล้วต้องทำเรื่องสังคมไปด้วย สังคมก็จะกำกับ ต่อไปเวลาเกิดปัญหาแบบนี้ เขารู้แล้วว่าต้องใช้การแก้ปัญหาอย่างไร กลไกแบบนี้จะเป็นตลอดปีตลอดชาติไม่ได้

วีธีที่ทำอยู่ห้ามเลือดได้ แต่ไม่ได้รักษาโรค
ใช่ แต่ต้องสร้างพวกนี้ออกมา ให้นำไปสู่การรักษาโรคได้ด้วย คือมันจะเป็นกลไกแบบอัศวินขี่ม้าขาว แต่อัศวินขี่ม้าขาวมันตายเร็วไง มันต้องสร้างอัศวินม้าดำไว้บ้าง (หัวเราะ) นั่นคือจุดหนึ่งที่อยากฝากรัฐบาลชุดนี้ พวกพี่ก็พยายามสร้างขบวนสังคมให้เขาอยู่ พยายามคิดโครงการ คิดแผน รวมถึงองค์กรที่เราคิดว่าจะมาช่วยสร้างระบบสังคมที่เข้มแข็งในพื้นที่นี้ได้ งั้นต่อไปสังคมที่นี่จะไม่ใช่สังคมแบบอยากได้อะไรเดี๋ยวพ่อให้ลูก มันต้องเป็นสังคมแบบอยากได้อะไร พ่อจะช่วยแนะแนวให้ แล้วลูกไปช่วยกันผลักดันทำให้ได้นะ ต่อไปจะเป็นอย่างนี้

เท่าที่ deal มาคิดว่ารัฐบาลนี้จริงใจไหม หมายถึงที่เขาตัดสินใจทำแบบนี้
เรามองไม่ออกว่าเขาจริงใจหรือไม่จริงใจ แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่เขาทำภายใต้เงื่อนไข เรามองบริบทเทียบเคียงการแก้ปัญหา เรามองว่าประชาชนได้ประโยชน์ ฉะนั้นจริงใจมันมากับเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ไม่จริงใจก็มากับเรื่องการเมือง

ฟังเหมือนไม่สนใจว่าจะทำด้วยเหตุผลอะไร
ไม่สน เพราะเรามองว่าให้ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า แน่ ๆ ก็คือเรื่องการเมืองแน่นอน แต่เป็นการเมืองที่ตอบกับปัญหาประชาชน เราไม่ว่ากัน ในบริบทนี้นะ แต่ถ้ามองบริบทปฏิรูปประเทศไทยก็อีกแบบหนึ่ง นี่มองบริบทแค่แก้ปัญหามาบตาพุด มองแคบเลยนะ ไม่มองกว้าง คือทำแล้วคุณได้ประโยชน์เงื่อนไขทางการเมืองก็เรื่องของคุณ แต่ที่สำคัญคือประชาชนได้ประโยชน์ แต่ถ้ามองเงื่อนไขปฏิรูป ใช่กลไกนี้ไม่ได้ แต่ทำไงได้ละ ถ้าเรามัวแต่จะปฏิรูป แต่ชาวบ้านเราต้องใช้น้ำที่กินจากบ่อตื้นทุกวัน เราก็ไม่ไหว กินสารปนเปื้อนทุกวันก็ไม่ไหว ต้องเอาหลายมุมมาประกอบ ปัญหามาบตาพุด

อีกเรื่องที่ประชาชนได้จากรัฐบาลชุดนี้ก็คือเรื่องการจ่ายคืนภาษี เพราะตอนนี้รัฐบาลก็ช่วยกันรณรงค์ภาษีระยอง ภาษีกลับคืนสู่จังหวัด อีกเรื่องที่ได้ก็คือภาษีสิ่งแวดล้อม แต่ต้องผลักดัน แต่ที่แน่ ๆ ก็คือรัฐบาลชุดนี้กล้าอนุมัติออกร่างมาตรการทางการคลัง เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ออกมติ ครม. ไปแล้วกำลังส่งเรื่องไปกฤษฎีกาและจะส่งเข้าสภาต่อไป ซึ่งเรามองว่าเป็นรัฐบาลแรกที่กล้า รัฐบาลอื่นคิดมาเป็นสิบปีละแต่ไม่กล้า นี่เสนอเป็นมติ ครม. พอกฎหมายออกในนาม ครม. ถ้าเกิดไม่ผ่านสภา ครม.ต้องลาออกนะครับ เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นจุดที่ท้าทายสำหรับเขาเหมือนกันที่กล้าออกเป็นมติเสนอในนาม ครม. อย่างไรก็ตามกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง อาจไม่ใช่เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ก็ได้ อาจเป็นเครื่องมือทางอื่นก็ได้ เพราะมันต้องมีกรรมาธิการ มีการแปรญัตติไง แต่ที่แน่ ๆ หลักการอนุมัติมันไม่เพี้ยนไง เอาตามที่อาจารย์มิ่งสรรเสนอเลย มันไม่เพี้ยนไง ส่วนจะไปยำตอนหลังก็ค่อยว่ากัน แต่ก็ยังดีกว่าชุดอื่นนะ ชุดอื่นมันไม่กล้าเลยน่ะ แขวนไว้เลยอ่ะ มันหาว่าไปละเมิดผู้ประกอบการ อ้างอย่างนั้น นี่ไม่ได้ชมรัฐบาลชุดนี้นะ แต่มองเปรียบเทียบรัฐต่อรัฐที่ผ่านมา

ท่าทีหน่วยงานในท้องถิ่นเป็นอย่างไร
ยังเป็นปัญหาอยู่ เขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ เรียนตรง ๆ เลย มันเป็นสาระสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งยังไม่มี คิดว่าหนึ่งคือเขามองไม่เห็นความสำคัญ อันที่สองคือเขารู้สึกว่าเป็นปัญหาเฉย ๆ แต่ไม่ได้เอามาเป็นจุดสำคัญของเทศบาลของท้องถิ่น ทั้งส่วนจังหวัดและเทศบาล

ส่วนใหญ่ท้องถิ่นก็แค่ขยับตามรัฐบาล เข้าใจว่าอาจเพราะพอเขาถูกแวดล้อม ด้วยทุนขนาดใหญ่ ทำให้สามารถคิดได้แค่นั้น ต้องรัฐบาลสั่งอะไรมาก็ทำ ไม่ได้เริ่มที่ตัวเขาเอง นี่เป็นปัญหาหลายสมัยแล้ว ก็คงเหมือนที่อื่น ๆ แต่ที่อื่น ๆ ไม่ได้เป็นพื้นที่โรงงานขนาดใหญ่ที่รัฐส่งเสริมให้มีการลงทุนไง

ผู้ว่าฯ คนนี้มาใหม่ มาได้ไม่กี่เดือน คนเก่าเกษียณ ที่ผ่านมาผู้ว่าระยองมีดีไม่กี่คน

ท่าทีภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร
เขายอมรับที่จะปฏิบัติตาม แต่ละโรงต้องมาเสนอแผนงานจากนั้นต้องให้แล้วเสร็จภายใน 20 พ.ค. 54 รวม 48 โรงทั้งระยอง IRPC มาบตาพุด ทั้งระยอง ปลวกแดงด้วย ที่มีนัยทำได้ เขาวัดมาแล้วโรงงานที่มีนัยทำได้คือ 48 โรง ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ต้องทำให้เสร็จ ปลูกต้นไม้แล้วสามเรือนยอด ให้แล้วเสร็จใน 20 พ.ค. ขั้นต่ำ 2 เมตร 1.5 เมตรและ 0.5 เมตร เวลาทำเสร็จ ต้นไม้จะมีลักษณะสามเรือนยอดในระดับที่ไม่เท่ากัน ทุกโรงต้องทำในรั้วโรงงานทุกด้านรอบ ๆ ส่วนใหญ่มีที่อยู่แล้วแต่เอาไปทำที่จอดรถไง แล้วก็ปลูกหญ้า สนามหญ้า นี่อันที่หนึ่งนะ

อันที่สองหลังจากที่โรงงานที่ไม่ได้ระยะ ไม่มีที่พอก็ใช้เทคโนโลยีอื่น อย่างที่กรมโรงงานเสนอก็มีการลดความเร็วลม คือสรุปทำให้ชาวบ้านได้รับมลพิษน้อยลงแทนที่จะได้รับเต็ม ๆ 100% ก็ลดลงเหลือ 20-30% ช่วยลดเหตุรำคาญให้น้อยลง นี่ไม่ใช่การป้องกันนะ เป็นการเยียวยานะ (หัวเราะ) ต้องเรียกว่าแนวเยียวยาประชาชน ไม่ใช่แนวป้องกัน ลดกลิ่น เสียง VOC แทนที่จะถึงจมูกชาวบ้านโดยตรงก็กรองชั้นหนึ่งก่อน

วิธีการคือให้ชุมชนมาช่วยดู ถ้าตายขึ้นมาก็ดี จะได้เห็นว่าโรงไหนเป็นอย่างไร ทีนี้มันจะประจานตัวเองไปในตัว ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรป้องกัน

หลังจากนั้นเริ่มปีใหม่ต้องเอาที่เหลือทั้งหมดในระยอง ที่ไม่มีที่ ระยะตามที่วิชาการ ไม่ถึงห้าเมตร ต้องไปคิดว่าจะต้องทำอย่างไร บางคนก็เสนอ กำลังหาแนวทางอยู่ เฉลี่ยแล้วถ้าทำตามที่คุณกอร์ปศักดิ์หรือมติกรรมการสี่ฝ่ายเสนอ หนึ่งโรงงานต้องใช้เม็ดเงิน 6-7 ล้านบาท ที่ปตท.เสนอ นี่โรงงานเล็ก ๆ นะ ไม่ใช่แบบนิคม IRPC ที่ต้องมากกว่านั้น นี่เฉพาะค่าลงทุนอย่างเดียว ไม่รวมการบริหารจัดการ บำรุงรักษา

มองในแง่การเปลี่ยนแปลงคือว่า เริ่มเห็นความสำคัญของเสียงประชาชนมากขึ้น ที่เราเห็น ยอมแก้อะไรบางอย่างมากขึ้น เช่นตัวแนวท่อ ข้อต่อที่ชอบรั่ว ขยับมาขยะ เมื่อก่อนไม่มีใครเชื่อว่า หนึ่งประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ สองคือหัวเราะเยาะว่าจะไปฟ้องร้องนั้น เป็นไปไม่ได้ ตอนนี้ก็เริ่มเห็นอานิสงส์ภาคประชาชนว่าหากไม่ทำจะได้รับผลอย่างไร อย่างที่ควรทำแล้วไม่ทำ ดอกเบี้ยผ่อนชำระเป็นไง ปตท.กู้มา 20,000 ล้านบาท มีผลทันที ทำสัญญาแล้วก็ต้องส่งของตามกำหนด พอทำไม่ได้ ล่าช้าไปห้าเดือน 76 โรง เฉลี่ยโรงละประมาณ 2,000 ล้าน เสียหายไปแล้ว

ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมฯก็ตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างเราต่างหาก เป็นกรรมการร่วม สอท.กับภาคเอกชน โดยมีประธานสอท. เป็นประธาน ก็ประชุมเพื่อบอกว่าเขาจะปรับปรุงอะไรในส่วนของเขาให้เราติดตาม ถามเราเห็นด้วยกับที่เขาเสนอหรือเปล่า เขาแค่วาง outline ในการทำงาน มีประธานสอท. และ CEO โรงงาน เสนอแผนลดและขจัดมลพิษของเขา นี่คือ outline นะครับยังไม่สรุป จะเอาแผนฯเขามากางให้เราดู พอทำไปถึงไหนแล้วก็จะพาไปดู เขาคิดของเขาแล้วให้เราดู ที่ผ่านมาพูดถึงชาวบ้านเขาก็เลือกใช้ชาวบ้านของเขาไง คราวนี้นอกจากเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเขาแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ด้วย ชาวบ้านวิเคราะห์ไม่เป็น

CEO ที่มาก็มีของปูน ปตท BLCP มองในแง่การก้าวข้ามความขัดแย้งก็ไปได้อีกระดับหนึ่ง เมื่อก่อนต้องไปหน้าโรงงานถึงจะ ได้คุยกัน นี่คุยกันก่อนเลย เพิ่งตั้งหลัง ๆ นี่เอง แล้วก็มีคณะกรรมการสี่ฝ่าย คือเราเปลี่ยนสองระบบไง คือรัฐบาลปรับปรุง สองคือเปลี่ยนวิธีคิดอุตสาหกรรม แล้วหยิบข้อเสนอคณะกรรมการสี่ฝ่ายมาทำด้วย

ถึงตอนนี้กังวลเรื่องอะไรมากที่สุด
เรื่องการปฏิบัติให้เป็นจริงใน ระยะเวลาที่เหมาะสม เป็นเรื่องใหญ่ เราต้องการกินข้าว คือหิววันนี้ รอไปกินพรุ่งนี้ไม่ได้ ทั้งกลยุทธเปลี่ยนรัฐ เปลี่ยนอุตสาหกรรม ถ้าเกิดไม่ได้ผลเป็นรูปธรรมเมื่อไร อาจทำให้ปัญหากลับมาเหมือนเดิม

ในบรรดาภาคส่วนทั้งหมด ใครเป็นปัญหามากที่สุด เปลี่ยนยากที่สุด
รัฐฟันธงเลย ทุกส่วนขึ้นกับรัฐ อย่างเรื่องโครงการรุนแรงเสนอไปรัฐก็ไม่เอา

แสดงว่าถึงที่สุดทั้งสามส่วนยังไม่โอเค ที่จะทบทวนทิศทางใหญ่การพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเปล่า
ถูกต้อง คืออาจทบทวนแต่ว่าทบทวนในมติที่จะลงทุนต่อ แต่ไม่ใช่ทบทวนพิจารณาการลงทุนที่ ไม่ให้ซ้ำแบบเดิม ทบทวนว่าจะไปต่อได้อย่างไร ระยะยาวก็จะมีปัญหา ไม่แค่มาบตาพุด ที่อื่นที่มีการลงทุนแบบนี้ด้วย ปัญหาอุปสรรคสำคัญที่สุดอยู่ที่รัฐกับเอกชน รัฐเป็นปัจจัยที่หนึ่ง เอกชนปัจจัยที่สอง คือถ้าเขาบอกจะลงทุน ต้องศึกษาอีไอเอก่อน สอง ต้องศึกษา carrying capacity ก่อน สาม ต้องทำ HIA จบ เอาอย่างนี้ไหมล่ะ

สภาพัฒน์ก็คือรัฐ เขาวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาคือวางแผนแล้วรัฐบาลจะหยิบมาทำหรือ ไม่ทำก็ได้ เขาบอกให้พัฒนาคนไม่เห็นคนพัฒนาเลย

ยุทธศาสตร์การทำงานของเครือข่ายในสถานการณ์แบบนี้เป็นอย่างไร
ต้องประชาชนเข้มแข็ง สร้างความรู้ และก็เชื่อมโยงเครือข่าย เราคงใช้ยุทธศาสตร์นี้ยุทธศาสตร์เดียว

ธันวาคมปีหน้า ถ้าขอได้ อยากให้มาบตาพุดเป็นอย่างไร

หนึ่ง มี protection strip
สอง มีแนวกันชน buffer zone
สาม มีผลการศึกษา carrying capacity ก่อนในแง่ของ Sox กับ NOx
สี่ มีการทำตาม EIA และ HIA รวมถึงคณะกรรมการอิสระฯ
ห้า ให้มีรูปธรรมในแง่แผนลดและขจัดมลพิษ ที่คาดหวังก็คือมลพิษมี % ลดลงอย่างไร วัดได้อย่างไร เช่นขยะอุตสาหกรรมเหลือแค่ 3% เราคงไม่หวังให้เป็น 0% หรอก ในทางปฏิบัติ

มีการศึกษาภาพรวม คนป่วยให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เช่นถ้าพบว่าเป็นมะเร็ง ทางรัฐต้องจัดการส่งไปรักษาอย่างถูกต้อง ใม่ใช่ว่าไปหาหมอเอาเองอย่างปัจจุบัน แค่นี้ก่อน

อีกเรื่อง การคืนภาษีสู่พื้นที่ จากการพัฒนาจัดการภาษีจะอยู่ในรูปแบบไหน เข้าใจว่า ธ.ค. ปีหน้า น่าจะได้รูปแบบการจัดการ ภาษีที่คืนมา จัดการให้เป็นประโยชน์

 

////////////////////////////

ติดตามความเคลื่อนไหวสำหรับคนทำข่าวมาบตาพุดได้ที่
ห้องข่าวสิทธิ www.thainhf.org/rightpressroom
ห้องข่าวออนไลน์ สำหรับคนทำข่าวประเด็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net