Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้การอนุรักษ์สัตว์ป่าไทยอิงกระแสโลกจนขาดอิสรภาพในการริเริ่มอนุรักษ์อย่างแท้จริง แนะก้าวต่อไป การคุ้มครองสัตว์ป่าควรส่งเสริมการอนุรักษ์จากปัญหาภายในประเทศควบคู่ไปกับแนวทางสากล ระบุ “นักอนุรักษ์” มีความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพน้อยลง เสนอภาครัฐ ใจกว้าง “เปิดพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ” เพื่อให้เกิดการบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายอย่างแท้จริง พร้อมเร่งสร้างคน -องค์ความรู้ด้านสัตว์ป่า ให้ทันกับสถานการณ์การอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เปลี่ยนแปลงไป

วันที่ 26 ธันวาคมนี้ จะก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 ของการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ได้มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2503 และประเทศไทยได้ถือเอาวันที่ 26 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ” เพื่อกระตุ้นเตือนประชาชนให้มีจิตสำนึกรัก หวงแหน และช่วยกันปกป้องทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ทั้งนี้ในส่วนของนักวิชาการไทย รศ.ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ผู้คร่ำหวอดในวงการวิจัยด้านสัตว์ป่าเป็นเวลากว่า 30 ปี ได้ออกมาให้มุมมองและข้อเสนอแนะถึงทิศทางการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าว่า หากย้อนไปในอดีต ในช่วง 30 ปีแรกของการอนุรักษ์ ประเทศไทยมีประวัติการอนุรักษ์ที่ดีมาก แต่ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าแม้เราจะมีเขตอนุรักษ์จำนวนมาก แต่การอนุรักษ์ หรือ ระบบการจัดการเพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าในประเทศไทยเองก็ยังคงมีปัญหาอยู่มาก

“ที่ผ่านมาการจัดการดูแล อนุรักษ์สัตว์ป่าและเขตอนุรักษ์ ยังต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญจากต่างประเทศ รวมถึงการรณรงค์ส่วนใหญ่ที่มักจะอิงการรณรงค์ตามกระแสโลก ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องดีที่ทำให้ประเทศไทยได้รับเงินทุนจากนานาชาติเพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือสัตว์ป่า แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยก็ขาดความเป็นอิสระในการริเริ่ม ส่งเสริม ให้มีการดำเนินโครงการ กิจกรรม การรณรงค์ หรือบทบาทเฉพาะด้านการอนุรักษ์จากประเด็นโจทย์ปัญหาภายในของเราเองไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับการช่วยเหลือ คุ้มครองสัตว์ป่า ก็ควรมีการขยายไปยังกลุ่มสัตว์ชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มสัตว์ใหญ่ เช่น ช้าง และ เสือ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะสถานการณ์สัตว์ป่าในปัจจุบันนั้นมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์มากขึ้นเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น วัวแดง ชะนีมือขาวสายพันธุ์คาร์เพนเตอร์ทางภาคเหนือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด เช่น แมลงปอ หิ่งห้อย และปูน้ำจืดหลายชนิด เป็นต้น

อีกทั้งภาครัฐควรให้ความสนใจการอนุรักษ์สัตว์ป่ามากขึ้น รวมทั้งมีการกระจายการสนับสนุนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตอนุรักษ์ขนาดเล็กที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ให้สามารถดึงจุดเด่นของตัวเองขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะใช้แนวทางการส่งเสริมให้มีการเปิดเป็นพื้นที่พิเศษ ให้ชุมชนท้องถิ่น และผู้ที่มีความรู้ความสนใจจากหลายๆ ภาคส่วน เข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เพื่อให้มีการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ ในส่วนของการศึกษาการวิจัยสัตว์ป่านั้น รศ.ดร.สมโภชน์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าที่จะผันตัวมาทำงานด้านการอนุรักษ์อย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำงานลำบาก อีกทั้งเส้นทางอาชีพยังไม่เปิดกว้าง รวมทั้งเส้นทางความก้าวหน้าก็ไม่ชัดเจน และเป็นที่น่าเสียดายว่า การขยายตัวขององค์ความรู้ทางด้านสัตว์ป่าในปัจจุบันยังไม่สามารถตามทันปัญหาที่เปลี่ยนแปลงได้

“ปัจจุบันคนที่มาทำเรื่องสัตว์ป่ามีความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพน้อยลง ทั้งที่ประเทศไทยต่อสู้เรื่องนี้มานาน น่าจะพัฒนาได้มากกว่านี้ ยิ่งไปกว่านั้นคนอื่นๆ ที่มีความรู้ มีความสนใจจะเข้าไปช่วย ก็ยังติดตัวบทกฎหมายบางประการที่ยังไม่เอื้อมากนัก ซึ่งหากภาครัฐปรับเปลี่ยนและเปิดกว้างให้หลายฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ก็อาจจะช่วยได้พอสมควร” รศ.ดร.สมโภชน์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ดี แม้การดำเนินงานคุ้มครองสัตว์ป่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา อาจจะไม่ประสบผลความสำเร็จเป็นสัดส่วนกับเวลาที่ดำเนินการมากนัก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่น่ายินดีคือในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าคนไทยนั้นมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีการขยายตัวในเรื่องของการอนุรักษ์สูงมาก แต่เป้าหมายและช่องทางที่จะเปิดโอกาสให้พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมยังไม่ชัดเจน

ดังนั้นโดยส่วนตัวคิดว่าหากภาครัฐเปิดพื้นที่การอนุรักษ์พิเศษบางพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นและคนที่ต้องการเข้าสู่วงการอนุรักษ์อย่างจริงจัง มีพื้นที่ในการริเริ่มดำเนินงานด้านการอนุรักษ์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์แบบ มากกว่าการทำกิจกรรมเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ก็จะช่วยให้กลุ่มคนที่มีจิตอาสาในการอนุรักษ์สัตว์ป่าเหล่านี้กลายเป็นพลังสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดกระแสการอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นจากการริเริ่มของประเทศไทยเองโดยธรรมชาติ ที่มีประสิทธิผลมากกว่าที่เป็นอยู่

“อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นในอนาคตอีกประการ คือ ขณะนี้เราพบว่าพื้นที่เกษตรกรรม ที่เคยเป็นต้นเหตุปัญหาการรุกรานพื้นที่ป่าไม้และสัตว์ป่าลดลงนั้น เริ่มมีสัตว์ป่าหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น เช่น เสือปลา กระทิง ช้าง นกไอ้งั่ว ตะกอง หรือแม้แต่โลมาอิรวดีในพื้นที่ประมง เป็นต้น ซึ่งต่อไปหากมีการส่งเสริม เช่น อาจชูธงว่าพื้นที่เกษตรกรรมหรือเขตประมงในบริเวณนั้นๆ มีศักยภาพในการอนุรักษ์สัตว์ป่าบางชนิด ก็อาจจะดึงความสนใจ และกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์ของชาวบ้านหรือคนในพื้นที่โดยรอบได้มากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการศึกษาถึงแนวทางการอยู่ร่วมกันของชาวบ้านและสัตว์ป่าได้อย่างยั่งยืน” นักชีววิทยาด้านสัตว์ป่า กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net