Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เสื้อยืดเป็นสัญญะของ Self Expression มีตัวอย่างเกิดเป็นคดีโต้แย้งอยู่หลายกรณี เช่นสาวผิวดำในสหรัฐที่ใส่เสื้อยืดพิมพ์คำว่า “Lesbian.com” แล้วถูกยามในสำนักงานประกันสังคมไล่ออกจากสำนักงานด้วยข้อหาแต่งกายไม่เหมาะสม เหตุเกิดเมื่อสิงหาคม ค.ศ.2008 และสาวคนนั้นก็ได้ทำการฟ้องกลับ พร้อมๆ กับการถกเถียงตามมาว่าข้อความสนับสนุนความเป็นเพศที่สามของเธออาจไม่ถูกรังเกียจกีดกันรุนแรงมากนัก หากว่าผู้สวมใส่นั้นมิใช่ชาวผิวสีในอีกคดีหนึ่ง? [1]

นี่เป็นตัวอย่างว่าพลังของสัญญะบนเสื้อยืดนั้นสามารถสั่นสะเทือนความรู้สึกผู้เห็น แม้จะเป็นศิลปะบนร่างกายของคนอื่นก็ตาม บุคคลแห่งปีของไทยน่าจะเป็น "เสื้อแดง" ผู้เขียนหมายถึง "เสื้อ" จริงๆ ของคนเสื้อแดง เพราะดูเหมือนมันจะมีอำนาจเขย่าประสาทคนไปได้ต่างๆ แล้วแต่ทิศทางของรสนิยมทางการเมืองของผู้มอง เพราะนอกเหนือไปจากความแดงอันน่าตกใจของมัน สิ่งที่ "เสื้อ" ทำคือ Self Expression ที่บรรจุอยู่ในนั้น... ไม่ใช่เพียงสิ่งที่สกรีนอยู่บนเสื้อ แต่รวมถึงความหมายของการหยิบมันขึ้นมาสวมใส่ในวันอาทิตย์ด้วยเช่นกัน


ภาพจาก http://www.bant-shirts.com/all.htm และเสื้อยืดที่วางขายที่ราชประสงค์ กทม.
 

สเตตัสบนวอลล์ในเฟซบุ๊กก็เป็น Self Expression อีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อโลกมีพื้นที่ใหม่ที่เรียกว่า ออนไลน์ บนพื้นที่กึ่งส่วนตัว-กึ่งสาธารณะนี้ยังมิวายเป็นคดี เมื่อ Self Expression ของปัจเจกถูกนำออกมาเผยแพร่กันในที่สาธารณะเช่นในกรณีมารค์วี11 และกรณีความแตกของดาราคู่ต่างๆ

ผลงานของ Philippe Starck ที่ชื่อ Unhex Nani Nani ในโตเกียว เคยเป็นกรณีวิพากษ์วิจารณ์แก่ชาวญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1989 Philippe Starck ตอบในบทสัมภาษณ์หนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เขาทำงานออกแบบจากการนอนกลางวันและการตื่นขึ้นมาเล่น ที่นักออกแบบอย่างเขาได้สนุกกับมัน เมื่อนึกถึงญี่ปุ่น มันคือภาพของก็อดซิลล่า-สัตว์ประหลาดยักษ์ที่ยืนถล่มเมืองระเบิดกระจายท่ามกลางอาคารทันสมัยรอบตัว แบบที่เห็นในทีวีในหนังยอดมนุษย์สุดฮิตต่างๆ ในช่วงทศวรรษ 1970-80 และ Nani Nani คือเสียงร้องเวลาที่ชาวญี่ปุ่นเจอผี เขาเดาว่าชาวญี่ปุ่นจะร้องคำนี้ออกมาเมื่อเจอเข้ากับตึกที่เขาออกแบบ เราอาจเชื่อมโยงไปได้ว่ามันคือ “ภาพ” ของเมืองญี่ปุ่น (urban landscape) ในจินตภาพของชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่มีต่อญี่ปุ่น แล้วเขาก็จะสร้างสัตว์ร้ายสักตัวมอบให้เมืองนี้เพื่อเล่นสนุกกับเมืองและผู้คน ซึ่งก็ได้ผลตอบรับเป็นการเล่นด้วยโจษจันกันไปทั่วเมือง หลายคนที่เกลียดและงงๆ กับมันเช่นเดียวกับอาคารอีกหลังที่ชื่อ Asahi Beer Hall [1990] ที่ภายหลังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแนะนำ ปรากฏอยู่บนโบชัวร์ท่องเที่ยวโตเกียวแทบทุกเล่ม เขาสรุปในตอนท้ายว่า สังคมเป็นเหมือนองคาพยพที่มีชีวิตที่เติบโตได้ ทำความสะอาดตัวเองได้ อะไรที่สังคมไม่ต้องการจะถูกทำให้หายไปเอง ดังนั้นคุณจึงสามารถผิดพลาดและเสี่ยงได้ [2] สังคมรู้จักตัดสินใจเอาเองที่จะเลือกรับหรือไม่รับอะไรในที่สุด เขาแค่ทำหน้าที่ของนักออกแบบนำเสนอสิ่งที่คิดออกมาเท่านั้นเอง สิ่งที่แย่ที่สุดคือถ้าผู้คนไม่มีปฏิกิริยาใดๆ กับมัน ไม่มีใครพูดถึงมัน และมันก็จะตายไปจากความรับรู้ หรือไม่เคยได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม


Nani Nani


Asahi Beer Hall

ในที่นี้ตึก Nani Nani จึงเป็น Self Expression ของ Philippe Starck และเขากำลังถามเราว่า Self Expression ในบทบาทของพลเมืองแบบนักออกแบบ เขาต้องรับผิดชอบต่อความงามที่เป็นสมบัติของสังคมคนเดียวหรือ? ในเมื่อเขาแค่ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่อความนึกคิดของตัวเองเท่าที่พลเมืองขี้เกียจๆ คนหนึ่งอย่างเขาจะกระทำได้ เขาสะเพร่าหรือไม่? ปฏิกิริยาจากสังคมไม่ได้หมายถึงเลวร้ายไปเสียทั้งหมด การมีอยู่ของงานศิลปะหรือตัวความคิดก็ด้วยมันสร้างการถกเถียงโจษจัน? สังคมที่ดีไม่ใช่ของสูงที่แปดเปื้อนไม่ได้ แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวุฒิภาวะพอ ที่ควรได้ทดลองเลือกใช้ชีวิตตามใจปรารถนาใช่หรือไม่?

มันคงไม่มีเส้นแบ่งเรื่องความเหมาะสมอย่างเด็ดขาดในหลายกรณี ถ้าเราเชื่อแบบ Starck เราก็ต้องให้เวลาสังคมนวดความคิดตัวเองจนกว่าจะกลั่นมันออกมา หลายครั้งมีการสูญเสียจนสร้างตำนานฮีโร่ต่างๆ แต่คำถามก็ยังไม่ใช่ว่าสังคมควรจะเลือกปิดสิ่งใดเปิดสิ่งใด บนความกลัวที่จะ "เสี่ยง" ใช้ชีวิต (ใครคือสังคม?) แต่ปัจเจกมีสิทธิในการเลือกเสี่ยงนั้นๆ เองหรือไม่ เพราะถ้าไม่ ก็ไม่มีใครสมควรกล่าวอ้างได้ว่า เหมาะสม-ไม่เหมาะสมต่อสังคมไทย (ถ้าเชื่ออย่างที่เรียกคำฮิตๆ ว่า "ทุกภาคส่วน" คือความหมายของการเป็นสังคมไทย) ถ้าเรายังไม่ได้ใช้ผัสสะจะรับรู้ได้ไง เมื่อเรายกความงามให้เป็นสมบัติของสังคม เราแต่ละคนควรต้องเลือกได้เองว่าอยากได้ความงามแบบใด จะมีความเห็นร่วมหรือไม่ อาจไม่สำคัญเท่ากับได้เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตผ่านการถกเถียงใคร่ครวญเป็นพันๆ ครั้งบ้าง เล่นสนุกบ้างตะหาก นั่นคือชีวิตและการเติบโต

มีคำกล่าวที่ว่า ความงามเกิดจากความพอใจ นั่นหมายความว่าความงามเป็นคำตอบแบบอัตตวิสัยของใครของมันและก็เป็นสิ่งสัมพัทธ์เพราะขึ้นอยู่กับว่าความงามนั้นเป็นของใครและในเวลาใด ในหลายกรณีที่เราเฮละโลด่วนให้คำตอบสรรพสิ่งกันแบบสัมบูรณ์กับคำถามทางปรัชญาที่คำตอบเป็นสัมพัทธ์ เช่นเรื่อง ดี-สวย-สร้างสรรค์ตามการชี้นำของปราชญ์ ที่เฝ้าผลิตรสนิยมเชิงเดี่ยวต่อคำถามทางปรัชญาและสุนทรียศาสตร์วนกลับเข้าไปในระบบคุณค่า เคยสงสัยไหมว่า เหตุใดศิลปินไทยยุคหนึ่งต้องตั้งชื่อผลงานให้เกี่ยวกับพุทธๆ ธรรมๆ เข้าไว้ ทั้งๆ ที่หลายๆ ภาพไม่มีความจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับชื่อภาพอันคับแคบแบบนั้นเลย?

Self Expression นั้นเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มันเห็นได้คิดได้ จึงมีความคิดเห็นแล้วก็ปล่อยออกมา ไม่ว่ามันจะถูกแบนทับกันไปมาซ้อนกันเป็นศีลธรรมกี่ชั้นก็ตาม ผู้คนก็ยังแสดงความเห็นกันอยู่ทุกวัน แม้ว่าผู้เขียนจะไม่แปลมันออกมาเป็นภาษาไทย (เพราะนึกหาคำเหมาะสมไม่ออก) ก็ใช่ว่ามันจะเป็นคุณสมบัติเฉพาะของชาวตะวันตกแต่อย่างใด สิ่งที่ต่างคือสังคมไทยไม่ได้โตแบบผ่านการหักล้างปรัชญาอำนาจนิยมมาสู่มนุษยนิยม เรื่อยไปถึง Existentialism, Modernism, Post modernism และอีกหลาย –ism ในโลกตะวันตก ที่ผู้พลิกผันความคิดแห่งยุคสมัยหลังๆ เหล่านั้นมักจะเป็นเพียงมนุษย์นักคิดสักคน ไม่ต้องเป็นพระราชาหรือปราชญ์อาวุโสเสมอไป แต่สังคมไทยมีวิธีให้ค่าและทัศนคติต่อ Self Expression ขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคมของผู้แสดงออกยิ่งกว่าตัว "ความคิด" กล่าวได้ว่า Self Expression แบบไทยๆ ของสามัญชน ติดกับดักเขาวงกต เช่นอาวุโสเอย ผู้ใหญ่ผู้น้อยเอย กาลเทศะ(ของฉัน)เอย ความรักเอย ม.112เอย ล่าสุดคือศีลธรรมเรต "ห" และ สสส.ที่สุขภาพไม่ค่อยดีเสียจนต้องมานั่งสวดมนต์ตอนปีใหม่เนื่องจากไม่มีเหล้ากินเอย จนคลี่คลายมาเป็น "วัฒนธรรมการกระซิบ" ที่รวมไปถึงการควบคุมทางสังคม ให้บุคคลต้องกระมิดกระเมี้ยนแอบทำกิจกรรมทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นอาชญากรรมใดๆ

ดูเหมือนว่าเรามีบรรยากาศทางสังคมที่ส่งเสริมให้เรากระซิบและพูดความคิดที่แท้จริงของตัวเองกันลับหลังอย่างช่วยไม่ได้ แม้แต่คำขวัญวันเด็กอย่าง “รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ” ก็ยังมีน้ำเสียงไปในทาง "สั่งสอน" ให้เด็กมีความระแวดระวังอย่างยิ่ง กว่าจะแสดงอะไรออกมาสักอย่างนั้นพึงต้องคิดถึงสามชั้น...ทำไมเด็กไทยจะยังต้องคิดมากขนาดนั้น จะเหลืออะไรให้ใคร่ครวญอีกในเมื่อมีศีลธรรมเรต "ห" กรองไว้ให้หมดแล้ว? อีกนัยยะหนึ่งมันบอกเราว่าผู้มอบคำขวัญนั้นมีความหวาดกลัว “การคิด” เป็นวาระแห่งชาติ เชื่อว่า "การคิด" นั้นพึงผลิตออกมาอย่างระวังมิฉะนั้นจะสร้างปัญหา หรือคนคิดคำขวัญนั้นหมกมุ่นอยู่กับเรื่อง "การคิด"ของคนในสังคมและการควบคุมมัน เนื่องจากทัศนคติต่อ "การคิด" ในทางลบนั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นความเห็นทางการเมืองหรือการแสดงออกทางศิลปะ สังคมที่มีทัศนคติกลัว "การคิด" ของมนุษย์แบบนี้ก็จะหาเรื่องมีคดีกับ Self Expression ไม่รู้จบ ตั้งแต่เรื่อง รองเท้าแตะ เวบไซต์ วัตถุแตกแยก ส้วม หนังเกย์ ไปจนถึงเหล้าปีใหม่....

แม้แต่ต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงจำนวนเป็นหมื่นเมื่อวันที่19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ดูเหมือนจะเป็นตลาดนัดการแสดงออกมากกว่าเพราะไม่ได้มีการปราศัยทางการเมืองใดๆ บนถนนราชประสงค์นั้นเต็มไปด้วย Self Expression ของปัจเจกหลากหลายรูปแบบและอารมณ์ กระจายออกเป็นกลุ่มๆ ใช้เรื่องราวของตัวเองเป็นแกนการแสดงออก มันเป็น Self Expression ที่แหกคอกวัฒนธรรมการกระซิบไม่น้อย เช่นกลุ่มพลงแหล่การเมืองบนรถกระบะ 3-4 กลุ่ม ที่เรียกเสียงเฮได้ดังสุด (มันคือ Street performance แบบเดียวกับที่บางคนอุตส่าห์ไปนำเข้ามาจากประเทศอื่นนั่นแหละ) พี่สาวและลูกสาวผู้เสียชีวิตออกมาขอรับบริจาคด้วยตัวเองด้วยอุปกรณ์เก้าอี้หนึ่งตัว กล่องหนึ่งใบกับรูปถ่ายพ่อของเธอ ที่เล่าว่ามาเองไม่ผ่านองค์กรช่วยเหลือใดๆ กลุ่มเทียนสีแดงที่จุดแล้วปักเป็นวงเป็นหย่อมๆ กลางถนนให้เราอ่านความหมาย มันเป็นการพูดด้วยสัญญะมากมายอัดแน่นกันอยู่บนถนน คนเหล่านี้พูดด้วยวิธีการที่ต่างกันแต่พลังของมันมาจากความคับข้องใจที่ถูกทำให้ไม่มีตัวตน จึงออกมาร่วมกันพูดในสิ่งที่แทบจะเป็นเรื่องเดียวกันหมด ว่าเขามีตัวตน ถูกทำร้ายจริง มีเรื่องจะเล่า มีความคิดที่จะพูด และออกมาแสดงตัวกันบนถนน

....ที่สำคัญคือเขาไม่ต้องการกระซิบกันอีกต่อไปแล้วและมันจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เพราะสังคมเลือกปิดช่องทางทำให้เขาแทบจะเหลือทางเดียว....การแสดงตัวตนเป็นๆ กันบนถนน .... ผู้เขียนขอยอมรับแบบอายๆ ว่า มีก้อนจุกคอหอยตื้อๆ ตลอดการเดินเบียดไปตามถนน ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักใครตรงนั้นเลย เพลงก็ไม่ได้เศร้า และไม่ได้มีใครเล่าเรื่อง build อารมณ์กรอกหู แต่ก็เห็นมีหลายคนที่เดินป้ายน้ำตาไปเงียบๆ มีความรู้สึกที่เข้มข้นเหลือเชื่อในปรากฏการณ์นี้ แต่ก็ไม่มีรายงานข่าวทีวีหรือมีน้อยมากในสื่อหลัก เพราะยังติดกับดักไม่กล้าพูดออกมาดังๆ ในเรื่องที่ถูกตัดสินแล้วว่าควรเป็นเสียงกระซิบ...

Wikileaks ก็อาจทำสิ่งที่คล้ายกันกับที่ Philippe Starck โยนสัตว์ประหลาดลงไปในโตเกียว ต่างกันที่สังคมไทยยังมีวุฒิภาวะไม่พอมันจึงจมลงไปในคลื่นของเสียงกระซิบ...

วัฒนธรรมการกระซิบที่ดังกระหึ่มขึ้นทุกที ณ ก่อนการขึ้นปี พ.ศ.ใหม่นี้ สังคมไทยจึงต้องทำเป็นหูดับไม่ได้ยินเสีย เพื่อรักษาความเป็นเสียงกระซิบของมันต่อไป

จึงขอฝากกล่าว “สวัสดีปีใหม่” เบาๆ ไปยังท่านเหล่านั้น...

[1] http://www.banshirts.com/t-shirts/lesbiancom-t-shirt-gets-woman-banned-from-social-security-office เวบไซต์รวมข่าวเกี่ยวกับการแบน และการถกเถียงอันเนื่องมาจากสัญญะต่างๆ บนเสื้อยืด

[2] “Starck Speaks” Harvard Design Magazine,1997 http://books.google.com/books?id=5yCMgL1IkqIC&pg=PA34&lpg=PA34&dq=Starck+Speaks+Harvard+Design+Magazine+1997&source=bl&ots=3JRUqu8ZLP&sig=2VENZmUiyR_QsiQVo3ECKZ5NQqw#v=onepage&q&f=false

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net