Skip to main content
sharethis
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 24 – 25 ธ.ค.นี้ จะมีการจัดเวทีสาธารณะ “2 ทศวรรษปากมูน บนเส้นทาง การต่อสู้ของคนหาปลา สู่การปลดปล่อยอิสรภาพให้แม่น้ำมูน” ที่ห้องประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี และที่แก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อเป็นการระดมแนวทางการพัฒนาแม่น้ำมูนอย่างบูรณาการ สำหรับนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเขื่อนปากมูลในอนาคต
 
 
จากสถานการณ์ปิด-เปิดเขื่อนปากมูลครั้งล่าสุด การประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้น เมื่อวันที่ 4 พ.ย.53 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ด้วยการเปิดเขื่อนถาวรและฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับการกำหนดกลไกการแก้ไขปัญหาขึ้นมาใหม่ คือ คณะอนุกรรมการเปิดเขื่อน และอนุกรรมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ แต่เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2553 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ทำการปิดเขื่อนปากมูลทั้งแปดบาน ทำให้ในวันเดียวกันนั้น สมัชชาคนจนออกแถลงการณ์ "ปฏิบัติการเพื่อรักษาอิสรภาพของแม่น้ำมูน ครั้งที่ 2" หยุดพฤติกรรมสองมาตรฐาน ในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนปากมูล
 
แถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 17 ก.ค.2550 ทันที โดยมติดังกล่าวระบุให้มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารจัดการน้ำ ที่มีผู้ว่าราชการอุบลราชธานีเป็นประธาน และให้มีอำนาจในการพิจารณาเปิดปิดประตูเขื่อน ตามสภาพธรรมชาติและความเป็นจริง และเน้นการมีส่วนร่วม อีกทั้งมีข้อเรียกร้องให้เรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ภายใน 3 วัน และให้รัฐบาลดำเนินการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเปิดเขื่อน และคณะอนุกรรมการจ่ายค่าชดเชย ภายใน 3 วัน โดยในระหว่างนั้นได้มีการรวมตัวรอคำตอบ ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดอุบล ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.เป็นต้นมา 
 
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา เขื่อนปากมูลได้ยกบานประตูขึ้น จนขณะนี้ระดับน้ำได้เข้าสู่สภาพปกติแล้ว แต่บานประตูก็ยกขึ้นในระดับปริ่มน้ำ ดังนั้นจึงพอเรียกได้ว่า ระดับน้ำด้านเขื่อนกับท้ายเขื่อนเท่ากันแล้ว เพียงแต่ประตูที่ถูกยกขึ้นนั้น ไม่ยกให้สุดบาน ซึ่งชาวบ้านกำลังประเมินสถานการณ์ เพื่อกำหนดท่าทีเรื่องนี้อีกครั้ง
 
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจน
"ปฏิบัติการเพื่อรักษาอิสรภาพของแม่น้ำมูน ครั้งที่ ๒"
หยุดพฤติกรรมสองมาตรฐาน
 
 
เป็นเวลากว่า ๒๐ ปี แล้ว ที่เขื่อนปากมูลได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำมูน ที่สำคัญเขื่อนปากมูลได้ทำให้ปลาขนาดใหญ่และจำนวนมากหายไปจากแม่น้ำมูน ขณะที่กระแสไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนปากมูลก็ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก
 
ที่ผ่านมาได้มีข้อสรุปและแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเขื่อนปากมูลมาแล้วหลายครั้ง เช่นการศึกษาของ ม.อุบลฯ เมื่อปี ๒๕๒๕ ที่เสนอให้เปิดเขื่อนปากมูลถาวร แต่รัฐบาลทักษิณกลับตัดสินใจให้เขื่อนปากมูล เปิดประตูปีละ ๔ เดือน ปิด ๘ เดือน อันเป็นการตัดสินใจที่บิดเบือนข้อมูล
 
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาจ่ายเงินให้กับแม่ไฮ ที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน และในวันดังกล่าวชาวบ้านได้ยื่นข้อเรียกให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้ และต่อมา ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลขึ้น และคณะกรรมการชุดดังกล่าว ก็ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า ๑ ปี ซึ่งในการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ด้วยการเปิดเขื่อนถาวรและฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกับการกำหนดกลไกการแก้ไขปัญหาขึ้นมาใหม่ คือ คณะอนุกรรมการเปิดเขื่อน และอนุกรรมการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมที่ไร้ข้อโต้แย้ง ซึ่งไม่เคยมีในประวัติศาสตร์การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล (การไฟฟ้าฯและตัวแทนจังหวัดอุบลฯที่เป็นกรรมการและอยู่ในที่ประชุมด้วยก็ไม่ได้โต้แย้ง)
 
แต่วันนี้ (๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๓) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เจ้าของเขื่อนปากมูลกลับทำการปิดเขื่อนปากมูลทั้งแปดบาน ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนชาวบ้านเก็บกู้เครื่องมือหาปลาไม่ทัน และที่สำคัญการปิดเขื่อนครั้งนี้ เป็นการดำเนินการที่ท้าทายอำนาจการบริหารงานของรัฐบาล หรือเป็นการดำเนินการแบบสองมาตรฐาน ด้านหนึ่งแสร้งจริงใจตั้งกรรมการจัดประชุมกรรมการและมีมติแต่ไม่ปฏิบัติ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็หาโอกาสสมคบคิดเพื่อหักหลังชาวบ้าน
 
พวกเราเครือข่ายขบวนการประชาชนไม่อาจยอมจำนนต่อพฤติกรรมสองมาตรฐานนี้ได้ พวกเราขอประณามการตัดสินใจปิดเขื่อนปากมูลในครั้งนี้ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ ดังนี้
 
๑.         ยกเลิกมติ ครม. วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ทันที
๒.         ให้เรียกประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ภายใน ๓ วัน
๓.         ให้รัฐบาลดำเนินการแต่งตั้ง คณะอนุกรรมการเปิดเขื่อน และคณะอนุกรรมการจ่ายค่าชดเชย ภายใน ๓ วัน
 
ระหว่างนี้ พวกเราจะรอคำตอบที่เป็นรูปธรรมอย่างสันติ ที่ศาลากลางจังหวัดอุบล ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ เป็นต้นไป
 
ด้วยจิตคารวะ
๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๓
 
 
สมัชชาคนจน(สคจ.)
เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.)
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.)
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)
เครือข่ายสลัม ๔ ภาค
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)
ศูนย์กฎหมายและสิทธิชุมชนพื้นที่อันดามัน
กลุ่มเพื่อนประชาชน (Fop)
กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด
คณะทำงานคดีคนจน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net