Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หมายเหตุ: เรื่องราวการรับมือภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่และการเผชิญหน้ากับพายุดีเปรสชั่นของ 4 โรงพยาบาลในสงขลาโดยแพทย์ในพื้นที่ "ประชาไท" นำเสนอโดยแบ่งเป็นสามตอน

เรียบเรียงโดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา

ภาค 4: เมื่อพายุดีเปรสชั่นกระหน่ำสทิงพระ
อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ภูมิประเทศติดทะเลทั้งสองด้าน ทิศตะวันออกติดฝั่งอ่าวไทย และทิศตะวันตกติดทะเลสาบสงขลา

ปัจจุบันสทิงพระเป็นเมืองแห่งหลังคาหลากสี หากคุณผ่านอำเภอสทิงพระ วันนี้คุณจะเห็นภาพหลังคาที่ไม่มีเหมือนเมืองใดในโลกนี้ หลังคาบ้านของประชาชน สถานที่ราชการ บ้านพัก โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ก็มีหลังคาหลากสี สีแดงบ้าง สีเขียว สีแดงสลับขาว กระเบื้องดินสลับกับสังกะสี ต้นไม้ล้มระเนระนาด เสาไฟฟ้าโค่นล้ม เกิดอะไรขึ้นกับเมืองนี้

1 พฤศจิกายน 2553 เป็นวันที่ชาวอำเภอสทิงพระไม่เคยลืมคงจะเป็นเรื่องเล่าขานถึงอานุภาพแห่งพายุดีเปรสชั่นให้กับลูกหลานอย่างไม่มีวันลืม

คืนแห่งความหฤโหดเริ่มขึ้นเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนว่าจะเกิดพายุดีเปรสชั่นบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ข่าวออกมาเป็นระยะว่าจะเกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่อนิจจา.....ครึ่งชั่วโมงก่อนเกิด ถึงได้รับรู้ว่าพายุได้เปลี่ยนทิศทาง ใจกลางพายุหมุนด้วยความแรง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาเข้าที่อำเภอสทิงพระ

ชาวบ้านที่ได้รับฟังข่าวสารทางวิทยุ อบต./เทศบาล แจ้งเตือนประชาชนออกเสียงตามสายบางแห่งที่ได้รับข่าวสาร ว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้ริมทะเลให้อพยพมาอยู่ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสทิงพระ ผลปรากฎว่า ชาวบ้านเชื่อน้อยมากก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านดังเดิม ความรู้สึกว่าพายุมันก็เกิดบ่อยที่สทิงพระ ก็ไม่เห็นเป็นอะไร

เวลา 23.40น. ชาวสทิงพระต้องตื่นตระหนกสุดขีด.....เสียงอะไรดังหวี๊ดๆๆๆๆๆๆๆ เสียงสูงมากปนด้วยเสียงวู้ๆๆๆๆๆๆๆๆ ...ตามด้วยลมกรรโชกอย่างรุนแรง ฝนตกอย่างหนักหน่วง มองไปบนท้องฟ้ามีแสงสีแดง พายุหมุนเป็นเกลียว เป็นจุดๆ เสียงพายุเหมือนมัจจุราชร้ายที่โกรธใครมา หอบเอาหลังคาชาวบ้านที่อยู่ริมทะเลทั้ง 2 ข้าง ออกไปทิ้งนอกบ้าน

ชาวบ้านที่คูขุดบอกว่าพายุหอบหลังคาเขาไปบนท้องฟ้า เปิดบ้านเขาออกมา ตามด้วยน้ำจากทะเลสาบสงขลาที่พายุหอบเอามาฝากสูงประมาณ 5 เมตร ผสมด้วยโคลนสีดำจากท้องทะเลลึก.. ปลา กุ้ง นกกระยาง ถาโถมใส่ตัวบ้าน บ้านที่ยกพื้นสูง พังครืนลงมา เขากับแม่ลอยคอ กระเด็นออกจากบ้าน ลอยไปติดอยู่กับ กอต้นลำพู น้ำไหลเชี่ยว ทั้งหนาวเหน็บตามตัว มีแผล เป็นรอยขีดข่วน เลือดไหลออกมาจนหยุดไหลเอง ตัวซีดเย็น สงสารแม่เหลือเกิน พายุสงบจึงพาแม่มาขออาศัยอยู่ที่วัด เสื้อผ้าเปลี่ยนก็ไม่มี ทุกอย่างหายไปกับพายุหมดแล้ว ต้องใช้จีวรพระห่มตัว

นายขนบอายุ 35ปี คือผู้ป่วย Home ward ที่ใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ ทีมพยาบาลลงไปดูแลที่บ้าน ขนบเล่าให้เราฟังว่า เมื่อพายุเกิด มันได้พัดบ้านของเขาที่มุงด้วยจาก หลังคาเปิดออกไป ฝนเทกระหน่ำลงมาบนตัวเขา บ้านเอนลง เอนลง หลังคาหลุดออกไปทีละอัน สองอัน เขานอนอยู่คนเดียว อัมพาต ท่อนล่างหนีไปไหนก็ไม่ได้ ทั้งกลัวทั้งตกใจ..พอตั้งสติได้เขาได้โทรศัพท์ไปบอกพี่ชายให้มาช่วย แต่อนิจจาพอพี่ชายมาถึงบ้านและหลังคาก็พังมาทับตัวเขากับพี่ชาย ไปไหนไม่ได้ ตะโกนให้ใครช่วยก็ไม่มี ฟ้าก็คำราม ฟ้าผ่าตลอดเวลา ฝนตกหนัก ลมพัดแรง

ไฟดับ โทรศัพท์ก็เปียกน้ำสัญญาณก็ถูกตัด ใครเล่าจะได้ยิน ในเมื่อทุกคนต้องประสบชะตากรรมแห่งความโหดร้ายด้วยกัน ทั้งเขาและพี่ชายก็มีแผลเลือดก็ไหลอยู่ตลอด ตะเกียกตะกายลากถูกันออกจากบ้านที่พัง ไปอาศัยที่โรงเคี่ยวน้ำตาล พอประทังชีวิตไปได้อย่างทรมาน

ทุกคนประสบชตากรรมเหมือนกัน เจ้าหน้าที่ของเรา โรงพยาบาลเองก็ไม่แตกต่างจากชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ของเราหลายคน บ้านพังทั้งหลัง หลังคาถูกยกไปทิ้งไว้ไกลจากบ้านเป็น 10 เมตร หม้อหุ้งข้าว เครื่องซักผ้าก็พังหมด ถูกพายุหมุนเข้าบ้าน เสื้อผ้าก็ไม่มีใส่ เช่นพี่สิริพงศ์ ลูกจ้างโรงพยาบาลทำหน้าที่ซักฟอก ออกมาขอความช่วยเหลือในตอนเช้าที่โรงพยาบาลว่าไปช่วยแม่ของเขาที บ้านเขาพังหมดแล้ว หลังคาพังหมด น้ำฝนเทลงมาจากชั้นบนที่ไม่มีหลังคา ลงมาบนเตียงแม่ มิหนำซ้ำน้ำก็ยังท่วมมาจากด้านล่างจนถึงเตียงนอนแม่ที่พิการอายุ 85 ปี ช่วยเอารถไปรับแม่มาขออาศัยที่โรงพยาบาล สภาพที่ไปถึง คุณยายตัวเปียกชุ่มหนาวสั่น ญาติต้องเอาร่มนั่งกางอยู่ทั้งคืน มันช่างโหดร้ายอะไรเช่นนี้

โรงพยาบาลสทิงพระก็พังเช่นกัน บ้านพักก็พัง แรงพายุหมุนได้หอบเอาหลังคา ลานเอนกประสงค์หลังโรงพยาบาล หอบไปทิ้งไว้ที่บนหลังคาห้องฉุกเฉิน สนามหญ้า และถนนใหญ่หน้าโรงพยาบาล เป็นผลดีที่ทำให้หลังคาห้องฉุกเฉิน ไม่ถูกลมพัดพังไปด้วย หลังคา OPD เพดานพังลงมา อุปกรณ์ข้าวของใช้ถูกพายุหมุนกระจัดกระจาย เหมือนเศษขยะ

น้ำเจิ่งนองโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ช่วยกันทำความสะอาด พวกเราที่อยู่เวรเป็นห่วงชาวบ้าน พ่อแม่พี่น้องที่อยู่ข้างนอก รวมถึงญาติๆ เป็นอย่างไรกันบ้าง คนที่มาผลัดเวรดึกก็มาไม่ได้ เจ้าหน้าที่และพยาบาลก็ต้องอยู่เวรบ่ายต่อเวรดึกโดยไม่ได้พัก

พายุเกิดเวลาประมาณ 23.40 น. หมุนทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้าอยู่ประมาณ 1 ชั่วโมงเสียงพายุหมุนเหมือนเสียงกรีดร้อง...ฝนตกหนักอย่างบ้าคลั่ง เสียงลม แรงพายุหมุนแรงมาก ถอนต้นไม้ที่อายุเป็นร้อยๆ ปี ขนาดใหญ่แค่ไหนก็ล้ม บ้านหลายพันหลังพังเสียหายเกือบหมดทั้งอำเภอ เสาไฟฟ้าล้มลงตั้งแต่ใกล้โรงพยาบาลไปถึงหน้าอำเภอ ประมาณ 30 ต้น ต้นไม้โค่นล้ม ขวางทางหลัก ไฟฟ้าดับทั้งหมด

หลังพายุผ่านไป เงียบ เงียบจริงๆ เงียบจนน่ากลัว เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น*****

ประมาณตี 2 เศษ โรงพยาบาลของเราก็ต้องทำภารกิจหนักอีกครั้ง ผู้ป่วยหลายสิบรายเริ่มทยอยเข้ามา ทุกคนมาในสภาพที่เปียกโชก เลือดไหล มีบาดแผลรอยขีดข่วน แผลถูกของมีคมบาด กระเบื้องตกใส่ หลังคาทับ ต้นไม้ตกใส่ รถชนต้นไม้ พวกเราทีมสาธารณสุขมาช่วยกันเย็บแผลให้การดูแลรักษาประชาชนจนถึงเช้าโดยไม่ได้เปลี่ยนเวร ผู้ป่วยที่อุบัติเหตุรถชนต้นไม้ อาการหนัก ต้องช่วยชีวิต ใส่ ET tube มีอาการทางสมองต้องส่งไป รพ.สงขลา หรือ รพ.มอ. ก็ไปไม่ได้ ในเมื่อหาดใหญ่ก็น้ำท่วมเหมือนกัน ช่วยกันดูแลผู้ป่วยจนถึงเช้าถึงจะ Refer ไปโรงพยาบาลที่จังหวัดสุราษฎ์ธานีได้

รุ่งเช้าข้าพเจ้าขับรถออกจากโรงพยาบาลเพื่อไปดูความเสียหาย ก็ได้พบกับคุณหมอนครินทร์ ฉิมตระกูลประดับ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสทิงพระ ที่ขับรถออกไปดูสถานที่ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ผอ.บอกว่า ไปได้ไม่ไกลต้นไม้เสาไฟฟ้าขวางทางอยู่ ใจกลางพายุน่าจะอยู่ที่ตำบลกระดังงา เพราะต้นไม้ไม่ล้มแต่ถูกบิดขาดออกไปจากแรงหมุนเป็นวงกลม มองออกไปพบชาวบ้านช่วยกันตัดต้นไม้บริเวณถนนสายหลักพื่อให้รถสามารถผ่านได้ แต่ในตรอก/ซอยเข้าไปไม่ได้ บนถนนมีแต่เศษกระเบื้อง กิ่งไม้

ผอ.กลับไปบ้านพักเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ กางเกงขาสั้น เสื้อยืดสีขาว มานำทีมเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานได้ เพียงฝ่ายละไม่กี่คน เริ่มจากทำความสะอาดจุดบริการผู้ป่วย บริเวณหน้า OPD ตัดต้นไม้ที่ขวางถนนโรงพยาบาล หลังจากไปหากระเบื้องมามุงหลังคาบ้านพัก ให้เจ้าหน้าที่นอนได้ มีเสื้อผ้าใส่ทำงาน แต่พอไปถึงร้านกระเบื้องก็พบกับชาวบ้านที่ไปรอซื้อกระเบื้อง คิวยาวมากๆ ชาวบ้านรอคิวซื้อกระเบื้องอยู่ประมาณ 300 คนรถจอดเต็มยาว 2 ข้างถนน จะไปแย่งกับชาวบ้านก็กระไรอยู่ ก็เลยให้คนขับรถไปซื้อที่อำเภอระโนด ได้กระเบื้องมาช่วยกันซ่อมบ้านพักและโรงพยาบาล แต่ก็ทำเองไม่ได้ พี่ทีมช่างขึ้นไปซ่อมแต่ด้วยไม่ใช่ผู้ชำนาญด้านหลังคา เลยพลัดตกจากหลังคา

แต่บุญยังช่วย พี่ช่างคว้าไม้คานหลังคาห้อยต่องแต่ง ทุกคนตกใจมาก หากตกลงมาไม่ตายก็พิการแน่ๆ ผอ.เลยบอกหยุดก่อนรอตามช่างในหมู่บ้านมาซ่อม แต่คิวช่างก็ยาวมาก บ้านช่างก็พังเหมือนกัน

ผอ.เรียกทีมกรรมการบริหารโรงพยาบาลประชุมทีมนำ เพื่อวางแผนการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มารับบริการที่โรงพยาบาลไม่ได้ ผู้ป่วยเบาหวาน/ความดันโลหิตสูง ก็ไม่ได้มารับยาตามกำหนดนัด ผู้ป่วยของเราเป็นอย่างไรกันบ้าง ตำบลไหนลำบากมากที่สุด ติตต่อเจ้าหน้าที่ต่างๆ ก็ไม่ได้ น้ำมันที่ใส่เครื่องปั่นไฟสำรองก็ใช้ไปเกือบหมดแล้ว การประชุมวางแผนงานก็เริ่มขึ้น

สาธารณสุขอำเภอเข้ามาช่วยหาน้ำมันสำรองเพราะหากโรงพยาบาลไม่มีไฟฟ้าทุกอย่างก็สะดุดหมด ผู้ป่วยมาคลอด ผู้ป่วยหนักระบบออกซิเจนก็ใช้การไม่ได้ น้ำมันไม่มีเลยในอำเภอสทิงพระ เพราะปั้มก็ต้องใช้ไฟฟ้าในการดูดจ่าย พอไม่มีไฟฟ้าก็ไม่สามารถเติมน้ำมันได้ ปั๊มน้ำมันก็เสียหายแต่ยังโชคดีที่ได้ไปซื้อที่ปั๊มน้ำมันหลอดของชาวบ้าน การไฟฟ้าก็เข้ามาบอกว่าจะรีบต่อไฟฟ้าให้โรงพยาบาลแต่เสาไฟฟ้าล้มก่อนถึงโรงพยาบาล 30 ต้น ก็คงต้องรอ

เช้าวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 หลังจากที่เราซ่อมโรงพยาบาลไปมากแล้ว พร้อมให้บริการประชุมทีมตามแผนการช่วยเหลือ ร่วมกับทีมสถานีอนามัย ชาวบ้านสะท้อนให้ฟังว่าไม่เห็นมีใครมาช่วยเราเลย ไม่มีใครรู้เลยว่าชาวสทิงพระลำบากแค่ไหน ก็โทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ ไฟฟ้าไม่มี พวกเรานอนอยู่ในความมืดมา 3 คืนแล้ว ข้าวปลาอาหารก็แบ่งกัน เสื้อผ้าก็แบ่งกัน แต่หลังคาก็ไม่มี กระเบื้องก็ไม่มีที่ซื้อ หมอมีผ้ายางที่เป็นป้ายไวนิลเหลืออยู่บ้างไหม เอามาคลุมหลังคาให้บ้านลุงที ข้าพเจ้าเสนอแนะกับผู้นำชุมชนว่าคงต้องสะท้อนให้โลกรับรู้บ้างว่าเราลำบากกันแค่ไหน หลังจากนั้นผู้นำชุมชุมชนขับรถไปโทรศัพท์ในเมือง โทรหาสื่อวิทยุจึงได้มีเสียงสะท้อนออกมาว่าชาวสทิงพระประสบกับวาตภัยอย่างร้ายแรง ต้องไปอาศัยอยู่ที่วัด

ชาวสทิงพรขอขอบคุณนักข่าวทุกท่านที่ช่วยกระจายข่าว ว่าชาวสทิงพระต้องการกระเบื้องกับหลังคาแค่ไหน โดยเฉพาะนักข่าวคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา จากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่ลงมาทำข่าวถึงสทิงพระมาดูความลำบากของพี่น้องชาวสทิงพระด้วยตัวเอง หลังสื่อกระจายเผยแพร่ออกไป ความช่วยเหลือหลายๆ หน่วยงานก็เข้ามาช่วยเหลือประชาชน กระเบื้องหลังคาก็หลั่งไหลมายังสทิงพระ โรงพยาบาลต่างๆ ก็เข้ามาช่วยเหลือ

โรงพยาบาลและทีมงานสาธารณสุขของเราช่วยชาวบ้านเต็มที่ แผนการดำเนินการของทีม นอกจาการการบำบัดรักษาผู้บาดเจ็บและผู้เจ็บป่วยในสถานบริการ ก็ได้ออกหน่วยบริการหน่วยเคลื่อนที่ ออกตรวจสุขภาพในพื้นที่ครอบคลุมทุกตำบล ตั้งแต่วันที่ 4 – 16 พ.ย. 53 รวม 18 ครั้ง มีผู้มารับบริการจำนวน 1,803 ราย

ยังมีการเยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรังทุกรายโดยพยาบาลประจำบ้านและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เยี่ยมผู้ที่บ้านพังทั้งหลังทุกคนพร้อมประเมินสุขภาพจิต พบเครียดมาส่งต่อให้กับทีมงานสุขภาพจิต จัดทำทะเบียนผู้ที่ต้องการช่วยเหลือ จากการประเมินภาวะสุขถาพจิตและภาวะเครียด พบผู้ป่วยวิตกกังวลสูงจำนวน 40 คน มีผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าที่ต้องดูแลต่อเนื่อง จำนวน 2 ราย

นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เช่น บริการชาร์ตแบตเตอรี่โทรศัพท์ ไฟฉาย,โคมไฟ,กล้องถ่ายรูป ตั้งแต่วันที่ 3 – 5 พ.ย. 53 จำนวน 369 ราย เพราะไฟฟ้าดับทั่วทั้งอำเภอ (ตั้งแต่วันที่ 2 – 10 พ.ย. 53: บางหมู่บ้านไฟฟ้าดับถึง 10 วัน) ทำให้ไม่สามารถใช้อุปกรณ์สื่อสาร/ อุปกรณ์อิเลกโทรนิคที่จำเป็นได้

โรงพยาบาลยังเป็นศูนย์รับบริจาคเสื้อผ้าจากผู้มีจิตศรัทธาจำนวน 12 ราย นำมาแจกจ่ายต่อให้แก่ประชาชนผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลสทิงพระ รวมถึงได้นำไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก มีเครือข่ายสนับสนุนเงินมาช่วยชาวบ้านด้วยจำนวน 12,000 บาท

เจ้าหน้าที่ต่างช่วยกันคนละมือ มีการให้ความรู้เสียงตามสายใน รพ.เรื่องการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม การจัดบอร์ดให้ความรู้เรื่องการป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม การแจกเอกสาร/คู่มือ “สาธารณสุขห่วงใยอยากให้คนไทยปลอดภัยในช่วงน้ำท่วม” ซึ่งได้รับจากกระทรวงสาธารณสุข การจัดรายการเสียงตามสายร่วมกับพยาบาลที่รับผิดชอบด้านสุขภาพจิต

บทเรียนจาก Depreession ที่เกิดที่สทิงพระครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเสียหาย ต่อร่างกาย ทรัพย์สิน ที่อยู่อาศัย หลังคาบ้านของเรามีสีสันที่หลากหลาย สีเขียว สีแดงสีขาว กระเบื้องดินสลับกับสังกะสี ฯลฯ ขอให้มีหลังคากันแดดกันฝน...... ชาวบ้านหลายคนที่หมดหวังกับชีวิต หวาดกลัว เพียงแค่เห็นลมพัดหรือฝนตกก็มีอาการกลัว นอนไม่หลับ คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีถึงจะกลับมาเหมือนเดิม


ก้าวสู้การจัดการพิบัติภัยในอนาคต

ถึงวันนี้คงไม่มีใครไว้วางใจสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติได้อีกต่อไป รวมทั้งอุบัติภัยหรือสาธารณภัยในเมืองไทยด้วย ความไม่แน่นอนคือสิ่งที่ต้องยอมรับและเรียนรู้ เพื่อเตรียมมาตรการรับมือในอนาคต

การมีช่องทางกระจายข้อมูลข่าวสาร ที่ต้องพัฒนาจนสามารถวิเคราะห์ข้อมูล สร้างเป็นสัญญาณเตือนภัยเร่งด่วนแก่ประชาชนได้ ทุกหน่วยบริการต้องมีแผนรับสถานการณ์อุทกภัยและอุบัติภัยอื่นๆ ควรมีการจัดทำแผน, คู่มือ, การสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ และสาธารณะ การซ้อมแผนร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ การเตรียมความพร้อมอื่นๆ เช่น การจัดหาเครื่องมือ, ยานพาหนะ ฯลฯ โรงพยาบาลชุมชนควรมีเรือท้องแบนที่ปลอดภัย เสื้อชูชีพ เพื่อใช้ในการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งสามารถใช้เงินบำรุงจัดหาได้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องเรียนรู้เรื่อง “การตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข” (Public Health Emergency Response)

แผนการส่งต่อในสถานการณ์วิกฤตก็ควรปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องประสานแนวราบกับสถานีอนามัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย คนชรา คนพิการ ออกจากจุดน้ำท่วม ต้องพึ่งพาอาศัยรถและกำลังคนของหน่วยทหาร หรือเรือกู้ภัยและยานพาหนะของหน่วยงานอื่น

หากจะต้องสร้างสถานบริการสาธารณสุขใหม่ ควรเลือกสถานที่ที่ปลอดภัย ควรตั้งอยู่ในที่ดอน ไม่ควรใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น แม่น้ำลำคลอง มีระบบระบายน้ำเป็นอย่างดี มีระบบสำรองไฟฟ้าและประปาที่เพียงพอ โรงไฟฟ้าสำรองต้องยกให้สูงเพียงพอ ต้องมีระบบการสื่อสารหลายช่องทาง ทั้งวิทยุ โทรศัพท์ โทรศัพท์ไร้สาย เป็นต้น

ยังอีกมากมายการจัดการภัยพิบัติที่ต้องลงมือทำ บทเรียนวันนี้ไม่ควรสูญเปล่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

/////////

 

ขอขอบคุณ
นักเขียนผู้เขียนจากประสบการณ์จริง ที่เขียนเรื่องมาปะติดปะต่อจนเป็นบทความชิ้นนี้
- นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา
- นายแพทย์ธาดา ทัศนกุล กุมารแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ธรรมวิริยะกุล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- นายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จังหวัดนครราชสีมา
- คุณสุรีย์ พีพะระพรรณ พยาบาลหอผู้ป่วยใน โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- ศิริลักษณ์ ช่วงมี พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลสิงพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา
- นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net