กระบวนการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศไทยจะหายไปหากร่วมมืออย่างจริงจัง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

บทความโดย “สมพงศ์ สระแก้ว” ซึ่งเสนอว่านับตั้งแต่ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2551 แต่ผ่านมาแล้ว 2 ปี การแก้ปัญหากลับไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง

วันนี้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับปี พุทธศักราช 2551 อีกทั้งมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่าสิบฉบับ มีกลไกความร่วมมือในระดับนานาชาติ ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และในระดับจังหวัด รวมถึงมีหน่วยงานและภาคีภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ มีการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้มีขีดความสามารถ ทักษะความรู้ความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือเหยื่อ หรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การณรงค์เสริมสร้างความตระหนักในปัญหาร่วมกันรวมไปถึงมาตรการการกดดันจากประเทศคู่ค้าขายจากต่างประเทศด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากประมง อาหารแช่เยือกแข็ง อาทิ การส่งออกกุ้ง เป็นต้น

แต่ที่ผ่านมากว่า 2 ปี การแก้ไขปัญหากลับไม่สามารถดำเนินการได้อย่างจริงจัง กระบวนการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้เสียหายเต็มไปด้วยความยากลำบาก หากผู้เสียหายที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า ลาว และกัมพูชา ยิ่งไม่สามารถเข้าถึงการแก้ไขป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของผู้ประกอบการ หรือ นายหน้าค้ามนุษย์ได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือการหาผลประโยชน์ร่วมของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนกับกระบวนการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน กฎหมายที่มีอยู่ก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาอาจวิเคราะห์ได้ว่า รัฐบาลไทยยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว การประชาสัมพันธ์รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์แก่สาธารณชนก็ทำอย่างเต็มที่ การจัดอบรมแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาการค้ามนุษย์มีความสลับซับซ้อนเปลี่ยนรูปแบบหลากหลายการเข้าถึงการแก้ไขปัญหา จึงขึ้นอยู่กับตัวบุคคลในแต่ละหน่วยงานว่าจะทำงานอย่างจริงจัง จริงใจ โปร่งใสหรือไม่ ส่วนการทำงานที่ตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขปัญหาจึงเป็นเพียงบางหน่วยงานเท่านั้น ส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปมีบทบาทร่วมการแก้ไขปัญหาก็ไม่สามารถดำเนินการอย่างครอบคลุม เนื่องจากเป็นหน่วยที่เข้าไปเสริม หรือสนับสนุนกลไกความร่วมมือ เป็นหน่วยที่ทำงานเชิงรุกเข้าถึงผู้ประสบปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมร่วมบูรณาการทำงานกับภาครัฐอย่างเต็มที่ แต่ก็เป็นเพียงความพยายามที่จะเข้าไปผลักดันกลไกภาครัฐให้ทำงานอย่างเป็นมรรคเป็นผลเท่านั้น โดยเฉพาะการผลักดันให้กลไกระดับชาติ ระดับจังหวัดที่เป็นศูนย์ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับเป็นการทำงานเชิงรุกไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กรพัฒนาเอกชนจะสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากมีความคล่องตัวสูง บางกรณีที่ประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือ และจับกุมผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ ก็ได้แต่มุ่งหวังว่ากลไกทางด้านกฎหมายที่จะนำไปบังคับใช้เป็นบทบาทโดยตรงของรัฐที่จะต้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองเยียวยา นำคนผิดมาลงโทษอย่างจัง เพราะในหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างที่คาดว่าจะเป็น บางครั้งเกิดความทดท้อใจ ตั้งคำถามถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการจับกุมผู้กระทำผิด หนำซ้ำยังถูกมองว่าเป็นตัวปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถือว่าเป็นหนึ่งในปรัชญาความคิดของคนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนที่มุ่งหวังถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ประกอบกับการถูกรายล้อมด้วยประเทศคู่ค้าที่เข้ามากำกับตรวจสอบ เฝ้ามองดูอย่างใกล้ชิด ยิ่งต้องแสดงออกอย่างจริงจัง ไม่ต้องอำพรางซ่อนเร้นปัญหาไว้ บางหน่วยงานของรัฐพยายามที่จะบอกว่าประเทศไทยไม่มีปัญหาด้านการค้ามนุษย์ ไม่รุนแรง ยิ่งหากเป็นแรงงานเด็กแล้ว ไม่มีหรอก ไม่เห็นปรากฏการณ์มากนัก หากมีก็เป็นส่วนน้อย การมีส่วนน้อยนี้แหละ ต่างประเทศนำมาโจมตีเรา มาคว่ำบาตร (Boycott หรือบอยคอต) สินค้าเรา หากแต่มองว่ามันเป็นเพียงปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากมาเป็นประเด็นแทน แต่ไม่มีใครที่พูดถึงประเด็นการที่แรงงานถูกละเมิดสิทธิฯ และการค้ามนุษย์ ที่เกิดขึ้นเสมอเหมือนว่าไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น จึงมองว่าหากปัญหาที่พบเห็นไม่ได้ถูกแก้ไข ยิ่งจะรังแต่ความเรื้อรังของปัญหาการค้ามนุษย์ที่แก้ไม่ตกเสียที

ตัวอย่าง จังหวัดสมุทรสาครยังเป็นดินแดนที่การละเมิดสิทธิแรงงานพอควรในมิติต่างๆ อย่างแยบยล และมีรูปแบบการแสวงหาประโยชน์อย่างมากมาย ซับซ้อน ซ่อนรูปอย่างไม่รู้ตัว และคุ้นชิน และบางกรณีมีการกระทำที่เข้าข่ายการกระทำค้ามนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุดเพราะมองไม่เห็นด้วยสายตา เพราะยังมีปรากฏผู้มาร้องเรียนที่ศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาแรงงานและคดีความของ LPN อยู่เป็นประจำ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เนื่องจากสมุทรสาครเป็นเมืองแหล่งขุดทองที่ใครหลายๆ คนต้องการที่จะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในหลายๆ รูปแบบ เห็นได้จากการเข้าช่วยเหลือแรงงานจากกระบวนการค้ามนุษย์ที่ผ่านมานั้นกว่าร้อยละ 80 แรงงานที่ถูกหลอกเข้ามาตกเป็นเหยื่อนั้น นายหน้าจะใช้การล่อลวงซึ่งปลายทางอยู่ที่มหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร อีกทั้งการเข้ามาทำงานในพื้นที่นั้นแรงงานมีตัวเลือกของงานที่มากมายอีกทั้งรายได้จากค่าแรงขั้นต่ำนั้นสูงมากกว่าหลายๆ จังหวัดในแถบชายแดนไทยพม่า ลาว และกัมพูชา

ดังนั้น จึงเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้แรงงานหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก แล้วแรงงานข้ามชาติเข้ามาได้อย่างไร? แน่นอนว่าในพื้นที่สมุทรสาครก็จะมีกลุ่มนายหน้ามากมายหลากหลายบริการพร้อมให้เลือกใช้งาน ส่วนหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากปัจจัยความต้องการใช้แรงงานของนายจ้างแล้วนั้น การแสวงหาประโยชน์ของนายหน้าคืออีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิ และการค้ามนุษย์ในพื้นที่ โดยรูปแบบการละเมิดนั้นส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการที่รับงานมาทำ รับเหมาช่วงงาน ในสถานประกอบกิจการขนาดเล็ก หรือล้ง หรือภาคประมงทะเล

ตัวอย่างเช่น กรณีนายหน้าค้าแรงงาน นายหน้าค้ามนุษย์จะจัดหานำพาแรงงานเข้ามาซึ่งจะมีทั้งที่ถูกกฎหมาย และที่ผิดกฎหมาย ก่อนเข้าควบคุมแรงงาน โดยให้ทำงานใช้หนี้ ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องชดใช้เท่าไหร่ หรือสิ้นสุดเมื่อไหร่ แรงงานหลายคนที่ต้องทนทรมานกับการทำงานใช้หนี้ ซึ่งแต่ละวันจะไม่สามารถทราบได้ว่าตนเองนั้นมีรายได้จากการทำงานมากน้อยเพียงใด มีหน้าที่เพียงทำงานใช้หนี้เท่านั้น นายหน้าจะควบคุมแรงงานเหล่านี้ทั้งจากการยึดเอกสาร การข่มขู่ด้วยวาจา การกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้แรงงานนั้นขาดซึ่งสิทธิเสรีภาพ นายหน้า (ทั้งไทย และต่างด้าว) ในพื้นที่สมุทรสาครบางคนจะมีการส่งต่อผลประโยชน์ให้กับผู้มีอิทธิพล หรือเจ้าหน้าที่รัฐบางคนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตน หรือนายหน้าส่วนหนึ่งคือผู้รู้จัก คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่รัฐบางคน

การละเมิดจึงกลับกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ส่วนหนึ่งของแรงงานที่ถูกละเมิดนั้น แก้ปัญหาโดยการชี้แนะแนวทางที่จะคุ้มกันมิให้ถูกส่งกลับ จึงจำต้อง ยินยอมแต่โดยดีโดยการจ่ายบ้ายเบี้ยรายทางให้เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วย บางคนที่ฉ้อฉล คุกคาม รีดไถ ตามที่ท่านชัชวาล สุขสมจิตร์ กล่าวในที่ประชุมปัญหาการค้ามนุษย์เสมอๆ ซึ่งเป็นวิธีการอาศัย มุ่งคุกคามทางด้านเศรษฐกิจของแรงงานที่อ้างกฎเกณฑ์ต่างๆ นานา ถึงความผิดในราชอาณาจักรไทย หากมองอีกด้านหนึ่งการจ่ายเงินของแรงงานให้บุคคลที่เจตนาตั้งใจละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน นั้นคือการดิ้นรนหาหนทางรอดในการมีชีวิตอยู่ การมีสิทธิตามเอกสารทางราชการ หรือการพิสูจน์สัญชาติไม่ช่วยให้แรงงานมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น แรงงานหลายคนถูกละเมิดสิทธิทั้งที่มีสิทธิ สุดท้ายอะไรคือคำตอบ...... ถามหัวใจแห่งความเป็นธรรม และความเป็นมนุษย์ของท่านดู....และถามรัฐว่า เราจะจัดการกับคนของรัฐบางที่ บางคนอย่างไร

หันกลับมาดูรูปแบบการค้ามนุษย์ในสมุทรสาครอีกครั้ง กระบวนการนายหน้ามีการป้องกัน และหลบเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานั้นภาพการนำเสนอข่าว และสื่อจากการค้ามนุษย์ในพื้นที่ไม่ได้ช่วยให้สมุทรสาครหาทางแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม หากแต่จะนำเสนอตัวเลขทางเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ที่สวยงาม โดยปล่อยให้การละเมิดสิทธิในพื้นที่มีต่อไปโดยปราศจากการแก้ไขปัญหาเรียกได้ว่ามีการมาตรวจทีหนึ่งก็จัดฉากทีหนึ่ง แต่ปัญหาที่จะถูกพูดถึงนั้นกลับเป็นเรื่องการขาดแคลนแรงงาน แรงงานไม่พอ ทั้งที่มีแรงงานทั้งถูกและผิดมากมายหลายแสนคนในพื้นที่ แทนที่จะจัดการในพื้นที่ให้จบก็จุดประเด็นการนำแรงงาน การขาดแคลนแรงงาน ต้องมีการเปิดจดทะเบียนเสรี หรือตลอดปี แต่ไม่มีการพูดถึงจำนวนแรงงานที่ลดลงจากการขึ้นทะเบียน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการกดขี่ของนายจ้าง และนายหน้าส่งผลให้แรงงานไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้

ซึ่งทางออกคือการกลับลงสู่ใต้ดินคือหลบหนีเพื่อหางานใหม่ที่มีรายได้ดีกว่า สวัสดิการดีกว่า โดยยอมทิ้งเอกสารที่ตนต้องทำงานใช้หนี้นายจ้างแต่นายจ้างยึดไว้ให้เสียเปล่าไป ส่วนหนึ่งของนายหน้าที่ค้ามนุษย์ เนื่องจากการที่นายจ้างต้องการแรงงานแต่แรงงานนั้นไม่มีเข้ามาสู่สายกำลังการผลิต  ก็ต้องใช้บริการของกระบวนการนายหน้าแทน โดยนายหน้าจะไปจัดหาโดยการชักชวนจากประเทศต้นทาง โดยให้เหตุผลรายได้ดีก่อนที่จะนำเข้าสู่พื้นที่ แรงงานส่วนหนึ่งต้องถูกพลัดพรากจากครอบครัว และคนรัก โดยถูกส่งไปตามแหล่งงานต่างๆที่มีการ Order แรงงานจะต้องทนกับสภาพการทำงานที่หนัก แต่ไม่ทราบว่าตนเองนั้นมีรายได้จากการทำงานมากน้อยอย่างไร มีหน้าที่เพียงการใช้หนี้สินจากการหลบหนีเข้าเมือง แรงงานหลายคนถูกส่งตัวไปขายเพื่อให้ทำงานตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่สมุทรสาครนั้นปัจจุบันยังมีการละเมิดจากการค้ามนุษย์อยู่

จากข้อมูลของศูนย์ LPN LC ทราบว่ายังมีแรงงานที่แจ้งเบาะแสและร้องขอความช่วยเหลือเข้ามา ซึ่งมีทั้งที่เป็นแรงงานไทย และที่เป็นแรงงานข้ามชาติ โดยพบว่าปัจจุบันแรงงานชาวกัมพูชาได้ร้องขอความช่วยเหลือเข้ามามากขึ้น ทั้งนี้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากเบาะแสที่แจ้งเข้ามานั้นไม่ทราบชัดเจนว่าแรงงานอยู่ที่ใด ทราบเพียงว่าอยู่ที่สมุทรสาคร หรือลงเรือแล้วไม่ทราบว่าเรือมีปลายทางที่ใด

การค้ามนุษย์จะยังไม่หมดไปจากสมุทรสาคร หากแต่ปัญหาจะถูกหมักหมม และยากที่จะเยียวยา เนื่องจากไม่มีการดำเนินการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และการบังคับใช้แรงงานเพื่อใช้หนี้กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ มิใช่เพียงการทำงานใช้หนี้ แต่การรับได้ซึ่งการนำคนเข้ามาต่างหากที่เป็นปัญหา ดังนั้นสมุทรสาครและประเทศไทยจะต้องหันมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และจริงใจต่อสถานการณ์การค้ามนุษย์ มุ่งเน้นการอยู่ร่วมและไม่เอาเปรียบเมื่อนั้นสถานการณ์การด้ามนุษย์ก็จะหมดไป ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาว่าหรือตรวจสอบ หากคิดเองเป็นก็ไม่ต้องให้ใครมาว่า ใช่ไหม.... การส่งเสียงให้ดังทำให้จริง น่าจะยุติ หรือบรรเทาปัญหาการค้ามนุษย์ได้ในอนาคต...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท