The Social Network กับความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อต้นเดือนธันวาคม มีภาพยนตร์ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งได้เข้าฉายในบ้านเรา นั่นก็คือภาพยนตร์เรื่อง “The Social Network” ที่มีเนื้อหาเกือบทั้งหมดอิงอยู่กับเรื่องราว “ชีวิตจริง” ของ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง “FACEBOOK”

เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธนะครับว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา facebook เป็นเวบไซด์อันหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงและความสนใจมากที่สุดทั้งในสังคมไทย และอาจรวมถึงสังคมจำนวนมากในโลก โดยประเด็นการพูดถึงเจ้า facebook นี้ดูจะมีตั้งแต่เรื่องส่วนตัวหรือการ “gossip” เนื้อหาสาระที่ปรากฏในหน้าเวบไซด์อันมีลักษณะเป็น “Social Network” จนถึงประเด็นผลกระทบที่ facebook มีแต่สภาพความสัมพันธ์ในสังคม ดังจะเห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ตีพิมพ์ข้อมูลที่ว่า (การใช้) facebook เป็นต้นเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดการหย่าร้างในสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีรายงานจำนวนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะและเวลาการใช้ facebook ของคนชาติต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคมของแต่ละชาติ

ในมุมหนึ่งของข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ นั้นจึงดูราวกับว่า facebook เป็นต้นเหตุอันหนึ่งที่อาจทำให้เกิดปัญหาสังคม ครอบครัว รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจอันสืบเนื่องมาจากการใช้เวลาทำงานส่วนใหญ่ไปกับการเล่น facebook อันไม่เกิดประโยชน์แห่งการผลิตทางเศรษฐกิจ จนทำให้หลายบริษัทมีกฎหรือวางมาตรการห้ามพนักงานเล่น facebook ในเวลาทำงานกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากจะเชิญชวนให้ท่านทั้งหลายหันมามอง facebook ในอีกมุมมองหนึ่ง อันอาจมิใช่การตัดสินว่าดี/ไม่ดี มี/ไม่มีประโยชน์ หรือถูก/ผิด หากแต่เป็นการมองในแง่ของส่วนหนึ่งแห่ง “ยุคสมัย” หรือในฐานะ “เทคโนโลยี” อันหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ในสังคม “จริง” เฉกเช่นเดียวกับ แบบแผนทางเศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟ รถยนต์ ไฟฟ้า นาฬิกา หรือโทรทัศน์ ที่ต่างล้วนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคม และประสบกับแรงต้านมากบ้างน้อยบ้างมาแล้วทั้งสิ้น

ความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางสังคมที่สำคัญอันเนื่องมาจากการปรากฏตัวของ facebook หรือเวบไซด์จำพวก Social Network ก็คือการเปิดพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ขึ้น (อย่างที่หลายคนคงทราบกันดี) บนโลกออนไลน์หรือโลกเสมือนจริง โดยการพัฒนาเทคโนโลยีตลอด 10 ปีแห่งยุคอินเตอร์เน็ตดูจะทำให้ facebook สามารถกระทำการไม่แต่เพียงการตอบโต้ระหว่าง “เจ้าของ” กับ “ผู้เยี่ยมชม” เท่านั้น หากแต่ผู้ใช้ยังสามารถสร้าง application จำนวนหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่นสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วย อาทิ แบบสอบถาม กลุ่มสังคม หรือการจัดงาน (Event) ต่าง ๆ

และเมื่อมีลักษณะเป็นพื้นที่ออนไลน์หรือพื้นที่เสมือนจริง ผู้ใช้งานจึงสามารถ “เข้าถึง” facebook ได้ทุกพื้นที่ (ที่ระบบอินเตอร์เน็ตเข้าถึง) ผ่านคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานออนไลน์ ในแง่นี้จึงดูจะทำให้เกิดผลสำคัญประการหนึ่ง คือ การกลับมาพบเจอ (กันอีกครั้ง) ของบรรดา “เพื่อน” หรือ “คนรู้จัก” ในโลกจริง ที่ห่างหายไปนานแสนนาน ซึ่งเราจะไม่พบเหตุการณ์นี้เลยในโลกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่เพื่อนซึ่งมิได้ติดต่อก็จะหายหน้ากันไปเลย ในขณะที่เพื่อนใน facebook แม้จะมิได้ติดต่อแต่อย่างน้อยก็ยังรู้ถึงความเคลื่อนไหวและช่องทางในการติดต่อ

นอกจากการกลับมาพบเจอกับบรรดา “เพื่อนเก่า” แล้ว ในอีกมุมหนึ่ง facebook ดูจะทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นไปอย่างแนบแน่นและรวดเร็วขึ้นอีกเช่นกัน การติดต่อพูดคุยผ่านโลกออนไลน์ รวมถึงการติดต่อผ่านโลก “จริง” ที่สามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและวงกว้าง – การนัดสังสรรค์ระหว่างเพื่อนสามารถบอกกล่าวในโลกออนไลน์ได้ในวงกว้างและมีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีก่อนหน้านี้

ในทางเดียวกัน โลกเสมือนจริงที่ facebook สร้างขึ้น ยังได้นำไปสู่การสร้าง “กลุ่มความสนใจ” จำนวนหนึ่งขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้คลั่งไคล้นักร้อง/ศิลปิน (ที่มีสมาชิกจากหลายมุมของโลก) กลุ่มช่วยเหลือสังคม กลุ่มผู้สนในด้านอาหารและการกิน และกลุ่มผู้สนใจทางด้านหนังสือ เป็นต้น (นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สนใจทางการเมืองด้วย หากแต่ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้) โดยกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ดูจะมิได้ดำรงอยู่แต่บนโลกออนไลน์เท่านั้น สมาชิกหรือคนในกลุ่มเหล่านี้ยังได้มาพบปะสังสรรค์กันในโลกจริงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น หนุ่มน้อยผู้ศรัทธาในการกินอาหารอร่อยคนหนึ่งได้เป็นตัวตั้งในการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายผู้รักการกินอาหารอร่อยขึ้นและได้จัด “ทริป” การกินอยู่เนือง ๆ โดยแต่ละทริปก็จะมีผู้ที่เข้าร่วมทั้งโดยรู้จักและไม่รู้จักกันมาก่อน อันทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมบนโลกจริงขึ้นใหม่จากทริปการกินที่มีจุดเริ่มในโลกออนไลน์ หรือในกลุ่มผู้สนใจในการช่วยเหลือสังคมก็ได้มีการนัดแนะกันไปทำงานเพื่อสังคมต่าง ๆ นานากันอยู่เนือง ๆ

ในแง่นี้จึงไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่า facebook (และอาจรวมถึงเวบไซด์ Social Network อื่นๆ ด้วยนั้น) เป็นเครื่องมือหรือกลไกสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดรูปแบบหรือเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ ๆ บนโลกแห่งความเป็นจริง โลกออนไลน์ที่ดูเหมือนจะทำให้คนเป็นปัจเจกชนเก็บตัวอยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งได้สร้างกลุ่ม (ความสนใจ) ทางสังคมอันหลากหลายขึ้นมานับไม่ถ้วน ลักษณะหรือสภาพที่ราวกับเป็นไปด้วยกันมิได้นี้ดูจะตรงกับสิ่งที่นักคิดฝรั่งคนหนึ่งเรียกว่า “Rhizome” อันเป็นสภาวะแห่งโลกสมัยใหม่หรือโลกแห่งยุคเทคโนโลยีที่ผู้คนมีลักษณะคล้าย “จุด” ที่เชื่อมโยงกับ “จุดอื่น ๆ” (สามารถมีได้มากกว่าหนึ่ง) ผ่านความสนใจที่อยู่นอกเหนือขอบเขตทางกายภาพของชุมชนหรือสังคม

นี่คือ ยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เราอาจจะต้องยอมรับและมองในฐานะปรากฏการหนึ่งหรือเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะยินดี ชื่นชอบ หรือไม่ก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท