เดวิด สเตร็คฟัส:ยุทธศาสตร์ “สองมาตรฐาน” และ “ไม่เอานิรโทษกรรม” ของ นปช.

หมายเหตุผู้แปล บทความนี้แปลจากต้นฉบับชื่อ The United Front for Democracy against Dictatorship’s strategy on ‘double standards’ : a grand gesture to history ,justice and accountability โดยเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ Bangkok, May 2010: Perspectives on a Divided Thailand ที่กำลังจัดพิมพ์โดย Institute of Southeast Asian Studies (Singapore), Aekapol Chongvilaivan, Michael J. Montesano, and Pavin Chachavalpongpun เป็นบรรณาธิการ ในการแปลผู้แปลได้ตัดเชิงอรรถและตัดทอนข้อความบางส่วน อีกทั้งเรียบเรียงข้อความในบางช่วงให้เข้าใจง่ายขึ้น หากมีความผิดพลาดย่อมเป็นความรับผิดชอบของผู้แปล อนึ่ง ผู้แปลเห็นว่าบทความนี้เสนอข้อถกเถียงที่น่าสนใจต่อกรณีการตัดสินใจของแกนนำ นปช. เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม โดยเพิ่มเงื่อนไขให้นายสุเทพเข้าสู่ขั้นตอนกฎหมายในการรับทราบข้อกล่าวหา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสลายการชุมนุม ซึ่งได้มีการถกเถียงกันในหมู่คนเสื้อแดงว่าการตัดสินใจของแกนนำในครั้งนั้นสมควรหรือไม่ ผู้แปลเห็นว่าประเด็นนี้ควรจะมีการถกเถียงเพื่อสรุปบทเรียนอย่างจริงจัง และเห็นว่าบทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการถกเถียงในประเด็นนี้ต่อไป

 

วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 อาจเป็นวันที่มีนัยสำคัญมากที่สุดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์กฎหมายไทย เพราะมันเป็นวันที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) แสดงออกข้อเรียกร้องที่น่าสนใจยิ่งของเขา: ไม่เอานิรโทษกรรม เพราะนิรโทษกรรมจะให้อภัยให้ผู้ใช้ความรุนแรง  หนึ่งเดือนก่อนนั้นในวันที่ 10 เม.ย. เมื่อผู้ชุมนุมของ นปช.ที่พวกแกนนำยืนยันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีแต่สองมือเปล่าเสียชีวิตไป 21 คน โดยกองทัพทหาร   นปช. ตัดสินใจอย่างชัดเจนในทันทีโดยการ: ยอมที่จะถูกจำคุกในคดีก่อการร้าย แลกกับการที่ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ รองนายกรัฐมนตรีสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องขึ้นศาลในฐานะเป็นผู้ต้องหาฆาตกรรม

เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยปรากฏในประวัติศาสตร์ไทย มีเพียงครั้งหนึ่งที่ ส.ส.หนุ่ม ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรที่เกิดขึ้นมาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแต่ได้ถูกคว่ำลงด้วยอำนาจของกองทัพ ได้ลุกขึ้นทวงถามความยุติธรรมและความจริง เขาคืออุทัย พิมพ์ใจชน เขาและเพื่อนอีกสองคนถูกตัดสินให้ถูกจำคุก 10 ปี จากถ้อยคำซึ่งถือว่าเป็นการท้าทายอำนาจผู้ปกครอง และคงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าการลุกขึ้นท้าทายอำนาจของพวกเขา ได้นำมาสู่เหตุการณ์สำคัญภายหลังจากนั้น 15 เดือน นั่นคือการลุกขึ้นสู้ของมวลชนเพื่อขับไล่เผด็จการในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 

10 พฤษภาคม เป็นวันที่ทำให้การต่อสู้เพื่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และการเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ ได้ยกระดับกลายเป็นการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคมไทย

10 พฤษภาคม คือวันครบรอบ 1 เดือนของเหตุการณ์สังหารโหดโดยรัฐบาล ที่ทำให้ผู้ชุมนุมของ นปช.ที่พวกเขายืนยันว่าคือผู้บริสุทธิ์ที่มีมือเปล่าเสียชีวิตไป 21 คน การตามหาความรับผิดชอบกลายเป็นจุดหมายของการชุมนุม เหตุการณ์ 10 เมษายนได้เปลี่ยนทิศทางใหม่ของการเรียกร้องการเลือกตั้งไปสู่การตามหาความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อการตายที่เกิดขึ้น ค่ำคืนวันที่ 10 พฤษภาคมที่ราชประสงค์ได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของการต่อสู้ หนึ่งในแกนนำ นปช.กล่าวว่า “ความยุติธรรมสำหรับผู้ตาย 20 กว่าคน คือสิ่งที่สำคัญที่สุด  ” ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ประกาศ “ในขณะนี้การยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ถือเป็นเรื่องเล็กมาก” เมื่อมีคำถามต่อแกนนำอีกคนหนึ่งคือ จตุพร พรหมพันธุ์ ว่าการชุมนุมของ นปช. ควรจะหยุดลงแล้วใช่หรือไม่ เขาตอบว่า “ไม่มีทาง ถ้ารัฐบาลไม่รับผิดชอบต่อการตายครั้งนี้ สำหรับหรับผมขอตายดีกว่า”

ในคืนนั้น ภายหลังจากที่ นปช. ได้รับข้อเสนออย่างไม่มีเงื่อนไขต่อการปรองดองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีข้อสรุปมาแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า  เงื่อนไขใหม่จาก นปช. กลับถูกประกาศขึ้น ประการแรก การปรองดองต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการยุติการปิดกั้นสัญญาณ PTV (หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องปิดสัญญาณของ ASTV ด้วย) พวกเขาเสนอว่า สื่อทุกชนิดต้องถูกควบคุมด้วย มาตรฐานเดียวกัน

เงื่อนไขที่สองซึ่งนับว่ามีนัยสำคัญสูงทางประวัติศาสตร์การต่อสู้คือ การเสนอว่าจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือพวกเขาเอง รูปธรรมของเงื่อนไขนี้เห็นได้ชัดเจนจากการเรียกร้องต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบต่อการใช้กำลังเมื่อวันที่ 10 เมษายน ให้นายสุเทพแสดงความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ ตามข้อเรียกร้องจำนวนมากของญาติผู้สูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ นายสุเทพต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีในข้อหาผู้สั่งการฆ่าและทำให้มีผู้บาดเจ็บ

แกนนำ นปช. เสนอว่า นายสุเทพ ต้องถูกปฏิบัติเหมือนผู้ต้องหาคนอื่นๆ คือการไปรับฟังข้อกล่าวหากับตำรวจในฐานะผู้ต้องหา และการเข้าสู่ขั้นตอนการประกันตัวเพื่อสู้คดี แม้จะทราบว่าภาพที่ พวกเขาอยากจะเห็นเป็นไปได้ยากยิ่ง สำหรับผู้มีอำนาจในสังคมไทย และยากยิ่งสำหรับนายสุเทพผู้มีท่าที่แข็งกร้าวมาโดยตลอด แต่นั้นก็เป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อแลกกับการยุติการชุมนุม

คำถามก็คือ ทำไม นปช. จึงยอมแลกการต่อสู้ที่ทำมา 2 เดือน กับการที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีตามกฎหมายตามปกติอย่างไม่มีข้อยกเว้น ? นี่คือผลของความขัดแย้งหรือความสับสนในหมู่แกนนำเองใช่หรือไม่? หรือว่านี่คือจุดสูงสุดของการต่อสู่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้ผู้มีอำนาจสูงสุดก็ไม่ควรจะได้รับการละเว้นภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ?ข้อเสนอของผู้เขียนก็คือ เหตุการณ์วันที่ 10 พฤษภาคม คือการยกระดับการต่อสู้ครั้งสำคัญของ นปช. และขณะเดียวกันก็คือการจัดวางรัฐบาลที่มีที่มาไม่ชอบธรรม ให้อยู่ในตำแหน่งผู้สิ้นอำนาจปกครองและจะต้องถูกไต่สวนอย่างถึงที่สุด

 

การยกระดับสู่ยุทธศาสตร์ “สองมาตรฐาน”

ภายหลังเหตุการณ์ 10 เมษายน การต่อสู้ของ นปช.ได้ค่อยๆยกระดับสู่การต่อสู้เรื่องสองมาตรฐาน ที่แสดงออกใน 2 ด้าน ด้านหนึ่ง คือการกระทำเลียนแบบเพื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) ด้านหนึ่ง คือ การจุดประเด็นเรื่องนิรโทษกรรม

กลางเดือนเมษายน แม้เป้าหมายการเรียกร้องให้ยุบสภายังคงอยู่ แต่ประเด็นสองมาตรฐานมีความสำคัญมากขึ้น แกนนำ นปช. มีความชัดเจนว่าปัญหาสองมาตรฐานแสดงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ในการนี้แกนนำได้ จงใจกระทำการเลียนแบบ พธม.ที่ได้กระทำไว้ในปี 2551 แต่พวกเขาได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างที่พวกเขาได้รับการปฏิบัติเมื่อเปรียบเทียบกับ พธม. ดังที่แกนนำได้แสดงความเห็นหลายต่อหลายครั้งในช่วงนั้น
 

การชุมนุมของ นปช. กระทบเศรษฐกิจและละเมิดสิทธิผู้อื่น...???

ถูกต้อง...!!! พวกเขาไม่ปฏิเสธในข้อนี้ แต่ได้ชี้ให้เห็นว่า การกระทำของพวกเขาเทียบไม่ได้เลยกับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ พธม. เคยทำไว้ ดังที่สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการว่า การชุมนุมของ นปช. หากเป็นไปจนถึงช่วงปลายเดือนพฤษภาคม (แม้ต่อมาจะรวมกรณีความสูญเสียจากเพลิงไหม้ในวันสลายการชุมนุมแล้วก็ตาม) น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ของความเสียหายจำนวน 2.9 แสนล้านบาท ที่ พธม.ก่อขึ้นในปี 2551 สิ่งที่แตกต่างกันคือ รัฐบาลประชาธิปัตย์ในปี 2551 แทบจะไม่ได้ให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากการก่อกรรมของ พธม. แต่ในช่วงที่การชุมนุมของ นปช.ยังไม่จบลงนั้นรัฐบาลได้มีทั้งการลดหย่อนภาษีและการให้เงินกู้แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม และหลังจากเหตุการณ์ชุมนุมผ่านไปรัฐบาลก็ยิ่งกระตือรือร้นช่วยเหลือภาคธุรกิจผู้ได้รับผลกระทบอย่างออกหน้าออกตา


ผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ละเมิดกฎหมาย..???

ใช่...!!!  นปช.ยอมรับว่าการชุมนุมที่ราชประสงค์ผิดกฎหมาย แต่พวกเขายืนยันว่ามีสิทธิจะทำผิดกฎหมายเท่าๆกับที่ พธม. มีในปี 2551 โดยในครั้งนั้นศาลแพ่งได้มีคำสั่งในสองประเด็น หนึ่งมีคำสั่งศาลให้ผู้ชุมนุมออกจากหน้าทำเนียบรัฐบาลในกรณีการชุมนุมเมื่อเดือนสิงหาคม สองให้ผู้ชุมนุมออกจากสนามบินสุวรรณภูมิในเหตุการณ์ยึดสนามบินเมื่อเดือนธันวาคม ทั้งสองกรณี พธม.ดื้อแพ่ง ในขณะที่ฝ่ายตุลาการในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ไม่มีความจริงจังที่จะเอาผิดย้อนหลัง

สำหรับ นปช. พวกเขาร้องเรียนศาลปกครองให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ประกาศโดยรัฐบาลนับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2553 หลังจากนั้น ในช่วงหนึ่ง นปช. ได้เรียกร้อง ต่อศาลเพื่อให้มีการคุ้มครองชั่วคราวต่อการชุมนุมที่ราชประสงค์ เพื่อคัดค้านความพยายามใช้กำลังสลายการชุมนุมของรัฐบาล แต่ความพยายามทั้งหมดของ นปช. ต่างจาก พธม. คือล้มเหลว
 

แกนนำ นปช. เป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายและละเมิดกฎหมายอาญาขั้นร้ายแรง...???

จริง...!!! แต่ก็ไม่ต่างกับแกนนำ พธม. ที่ต้องคดีอาญากรณีขัดขวางการบินและเป็นผู้ก่อการร้ายในการยึดสนามบินสุวรรณภูมิ ในกรณีของ พธม. พวกเขาได้อุทธรณ์ทุกข้อกล่าวหาเพื่อปฏิเสธอำนาจรัฐบาล ในกรณีการยึดทำเนียบรัฐบาล เบื้องแรกแกนนำถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ก่อการกบฏ” แต่ต่อมาในเดือนตุลาคม 2551 ศาลได้เพิกถอนคดีก่อการกบฏ เดือนพฤศจิกายน 2551 ข้อหาของ9แกนนำเปลี่ยนเป็น “การชุมนุมผิดกฎหมายและก่อความไม่สงบ” หลังจากนั้นกรมอัยการยังอ้างว่ายังไม่แน่ใจว่าสามารถแจ้งข้อกล่าวหาต่อ 9 แกนนำได้หรือไม่ ในขณะที่ทนายความของ พธม. ก็ขอเลื่อนการรับฟังข้อกล่าวหาได้ โดยอ้างว่าลูกความมีภารกิจที่ต่างจังหวัด และขอให้หาหลักฐานเพิ่มเติมประกอบการฟ้องของตำรวจ ความเป็นสองมาตรฐานได้แสดงออกอย่างชัดแจ้งต่อมาอีก เมื่อ พธม. ขอผลัดการรับฟังข้อกล่าวหาได้ต่อเนื่องถึง 9 ครั้ง จาก 23 เมษายน จนถึง 16 มิถุนายน ไม่น่าประหลาดใจที่จะพบว่าพรรคเพื่อไทยได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตแห่งชาติ ให้แสดงท่าต่อกรณีที่ตำรวจผัดผ่อนที่จะเรียกจำเลยเข้ารับฟังข้อกล่าวหา และแม้ว่าหลังจากนั้นจะมีการแจ้งข้อหาต่อแกนนำ126 คน แต่ก็พบว่าทั้งหมดได้รับการประกันตัว มีสองคนถูกคุมตัวในเวลาสั้นๆและถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับ นปช. มวลชนของ นปช. ที่ตกเป็นผู้ต้องหาถูกปฏิเสธการประกันตัว คำฟ้อง และคำตัดสินสำหรับพวกเขาเป็นไปอย่างเคร่งครัด ในช่วงก่อนที่เหตุการณ์จะถึงจุดเดือด ประมาณปลายเดือนเมษายน มวลชน นปช. 11 คน ถูกพิพากษาจำคุก 15 วัน ด้วยข้อหากีดขวางการจราจร ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม อีกสำหรับ 27 คนถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน ในข้อหามีส่วนร่วม ในการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ในวันที่ 18 เมษายน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) นำเสนอประเด็น “การสืบสวนกระบวนการก่อการร้ายของคนเสื้อแดง” ซึ่งนำไปสู่การอนุมัติงบประมาณก้อนโตของ ครม. ในวันที่ 2 พฤษภาคมเพื่อภารกิจของ DSI

นปช. แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของพวกเขาชัดเจน เพื่อเน้นให้เห็นการถูกเลือกปฏิบัติ นปช. ทำหลายๆอย่างที่พันธมิตรเคยทำมาก่อนในปี 2551 ต่างกันแต่ว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรที่เสียหายเท่ากับที่ พธม. ได้ทำไว้ แกนนำ นปช. ตระหนักว่าเมื่อการชุมนุมยุติลงพวกเขาก็จะต้องเดินหน้าเข้าคุก พวกเขาอาจเลือกหนทางนิรโทษกรรมให้ตัวเอง แต่พวกเขากลับเลือกจะใช้ยุทธศาสตร์ 2 มาตรฐานเป็นแนวทางการต่อสู้ จตุพรได้กล่าวไว้ดังที่สื่อมวลชนรายงานว่าเขา “อยากถามสังคมว่าหากอยากเห็นคดีของ นปช. ถูกปฏิบัติอย่างเร่งรัดเป็นคดีพิเศษ ถ้าเช่นนั้น หมายความว่ากรณีของ พธม. ก็ต้องถูกดำเนินการในทำนองเดียวกันใช่หรือไม่”
 

การนิรโทษกรรม

หนทางเดียวที่แกนนำ นปช. จะบรรลุเป้าหมายการต่อสู้ในประเด็นสองมาตรฐานก็คือ พวกเขาต้องปฏิเสธการนิรโทษกรรม ซึ่งพวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นก้าวย่างที่สำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนการประชาชนไทย ในขณะที่ขบวนการเคลื่อนไหวชเลียทหาร สนับสนุนรัฐประหาร ของกลุ่มปฏิกิริยาอย่าง พธม. ไม่มีความชอบธรรมพอที่อ้างความสืบเนื่องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต อย่างเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และ พฤษภาคม 2535 แต่สำหรับ นปช. เหตุการณ์เหล่านั้นกับเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 เป็นเรื่องเดียวกัน

การปฏิเสธการนิรโทษกรรมของ นปช. มีเหตุผลที่ชัดเจน การนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือล้างความผิดของคณะรัฐประหารที่เป็นมรดกสืบทอดมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ในกรณีการรัฐประหารที่ไม่มีการหลั่งเลือด การนิรโทษกรรมคือเครื่องมือชำระมลทินเพื่อสร้างความบริสุทธิ์แก่ผู้ยึดอำนาจ แต่ในกรณีที่มีการสูญเสียเลือดเนื้ออย่างในปี 2519 และปี 2535 การนิรโทษกรรมเป็นมากกว่าการให้อภัยกัน แต่เป็นการเว้นโทษแก่กันอย่างเป็นทางการโดยมีกฎหมายรองรับ ในแง่นี้การนิรโทษกรรมจึงมีความหมายวิปริตที่หมายถึง การให้อภัยโดยผู้ตกเป็นเหยื่อ และกลายเป็นการหลงลืมความจริงและความยุติธรรม การนิรโทษกรรมเป็นกฎหมาย แต่ก็ไม่มีนักกฎหมายคนใดในประวัติศาสตร์ไทยคิดล้มล้างมัน ผลก็คือนักรัฐประหารคนใดๆก็ไม่ต้องกลัวที่จะก่อการหรือทำให้เกิดการนองเลือด กล่าวในอีกนัยหนึ่ง การนิรโทษกรรมก็คือการทำให้สังคมไม่มีความทรงจำใดๆหรือเป็นโรคความจำเสื่อมต่อการละเมิดประชาธิปไตย

หลังเหตุการณ์ 10 เมษายน  นปช. แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ต้องการให้เหตุการณ์นี้ถูกลืมไปอย่างไม่มีความหมาย และกลายเป็นว่าผู้มีอำนาจสามารถหยิบยื่นความตายให้แก่พลเมืองอย่างไม่ต้องรับผิดชอบ นปช. ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ยอมรับการนิรโทษกรรมใดๆ ดังที่ณัฐวุฒิ กล่าวในวันที่ 21 เมษายน ปฏิเสธการหยั่งเสียงว่าจะให้มีการนิรโทษกรรมของวุฒิสมาชิกบางคน เขากล่าวว่า “การนิรโทษกรรมจะมีเพื่อสิ่งใด ในเมื่อเพื่อนผม 20 กว่าคนสูญเสียไปในการต่อสู้กับรัฐบาล”

ในช่วงต้นของเดือนพฤษภาคม นายอภิสิทธิ์มีท่าทีราวกับจะบอกว่า นปช. ต้องการให้มีการนิรโทษกรรม แต่บางขณะนายกรัฐมนตรีก็ให้ข่าวปฏิเสธข่าวลือที่ว่าจะมีการนิรโทษกรรม ขณะที่หนังสือพิมพ์รายงานว่าการเจรจาตามแผนปรองดองระหว่างรัฐบาลกับ นปช. มีข้อติดขัดอยู่ที่เรื่องการนิรโทษกรรมที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

แต่ข้อเท็จจริง อย่างน้อยก็ต่อการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แกนนำ นปช.ปฏิเสธเรื่องนิรโทษกรรมอยางแข็งขัน 4 พฤษภาคม วีระ มุสิกะพงษ์ กล่าวว่าแกนนำ นปช. ต้องการสู้คดีก่อการร้ายและล้มล้างสถาบัน 10 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์บางกอกโพสท์รายงานข่าว “แกนนำ นปช. ไม่ต้องการนิรโทษกรรม” แต่ยืนยันที่จะให้ “กฎหมายถูกนำมาปฏิบัติอย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน” จวบจน 15 มิถุนายน แม้นายกฯอภิสิทธิ์จะได้เปรยเรื่องการนิรโทษกรรมขึ้นมาอีก ในครั้งนั้นจตุพรก็ออกมาแถลงว่า “การนิรโทษกรรมเหมือนกับเอากุ้งฝอยมาแลกปลาใหญ่ กุ้งฝอยคือผู้กระทำผิดอย่างพวกเรา แต่ปลาใหญ่คือรัฐบาล ผู้เกี่ยวข้องกับการบงการฆ่าผู้ชุมนุมเสื้อแดง”

ผู้เขียนได้เคยนำเสนอมาก่อนว่า ระบบศาลไทยได้ให้มรดกในการให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารของกองทัพ การตัดสินเพื่อเข้าข้างผู้ยึดอำนาจมักจะอ้างถึง “สถานการณ์ที่ไม่ปกติ” ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศที่ “มีสภาวะยกเว้น” ที่รัฐอาจใช้อำนาจอย่างเป็นกรณีพิเศษได้ราวกับเป็นเรื่องปกติ

ที่ผ่านมาระบบยุติธรรมของไทยไม่เคยมีบทบาทมากนักในการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ตรงกันข้ามภายหลังรัฐประหารแต่ละครั้ง ศาลกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายบริหาร ประจักษ์พยานที่ชัดเจนของข้อกล่าวหานี้อาจเห็นได้จากกรณีคดียึดทรัพย์อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ภายหลังจากมีคำตัดสินของศาล นายสิทธิศักดิ์ วนาชกิจ โฆษกสำนักงานผู้พิพากษา แถลงว่าศาลไม่ได้มีอคติ และคำพิพากษาไม่ได้มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า ดังที่มีข้อวิจารณ์กัน และเขาได้สารภาพถึงธรรมชาติของระบบกฎหมายไทย ซึ่งน่าประหลาดใจยิ่งว่า

......พวกเขากล่าวว่า ศาลมักจะยอมรับ (กฎหมายที่สร้างโดยคณะรัฐประหาร) (ทั้งที่ตามหลักการที่ถูกต้อง) ศาลควรจะใช้กฎหมายที่ผ่านสภาเท่านั้น ในข้อนี้ผมอยากจะชี้ว่านับตั้งแต่ปี 2516 ถึงปัจจุบัน การรัฐประหารแต่ละครั้งได้รับการอุ้มชูมาโดยตลอด หลังจากยึดอำนาจ ผู้ก่อการรัฐประหารจะตรากฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับพวกตน ในรูปของประกาศคณะปฏิวัติ ซึ่งก็ยังปรากฏสืบเนื่องมาในกฎหมายอาญาและกฎหมายต่างๆ ในการทำงานศาลปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ หากกฎหมายที่มีอยู่ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์ ศาลก็ทำหน้าที่ตีความและบังคับใช้อย่างเท่าเทียมแก่ทุกบุคคล ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกล่าวหากระทำการสองมาตรฐาน

การรัฐประหารไม่เพียงบ่อนทำลายระบบกฎหมาย แต่มันก็มักจะทำให้ทัศนะต่อการรัฐประหารผิดเพี้ยนไปด้วย ทว่าอุทัย พิมพ์ใจชน ในปี 2515 ได้ลุกขึ้นมาปฏิเสธความไม่แจ่มชัดอันนี้ ขณะที่คณะผู้ยึดอำนาจไม่เรียกสิ่งที่ตนเองทำว่าคือการรัฐประหาร แต่อุทัยยืนยันว่านั่นคือการรัฐประหารอย่างแท้จริง  สำหรับนายอภิสิทธิ์ที่ได้แสดงท่าทีดูดีว่าจะรักษา “การปกครองโดยกฎหมาย” แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ต้องการจะรับผิดชอบ “ข้อหาก่อการร้าย” สำหรับคนเสื้อแดงกลับเป็นการยัดเยียดที่แทบไม่มีหลักฐานใดๆยืนยัน  แต่สำหรับความล่าช้าของคดีความของ พธม. กลับบอกว่าเขาไม่มีอำนาจก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม  นายอภิสิทธิ์ไม่มีทางที่จะแก้ตัวต่อการทำตัวเป็นเครื่องมือของ พธม. ตามคำเรียกร้องของโฆษก พธม. ซึ่งเป็นโรคความจำเสื่อมเฉพาะบางกรณี ได้เสนอให้รัฐบาลใช้กำลังขั้นเด็ดขาดสลายการชุมนุมของพวกผู้ก่อการร้าย โดยไม่ลืมกล่าวอ้างถึงวีรกรรมของพวกเขาที่ยึดสนามบินเมื่อปี 2551 ว่า “พธม. จะปกป้องบ้านเมืองจนถึงที่สุด พวกเราชุมนุมโดยสงบโดยไม่ได้ทำลายหรือสร้างความวุ่นวายให้แก่ผู้ใดทั้งสิ้น” จุดจบของ “สองมาตรฐาน” ?

ข้อเปรียบเทียบการชุมนุมระหว่าง พธม. กับ นปช. เป็นตัวอย่างสมบูรณ์แบบที่แสดงให้เห็น การเมืองแบบไทยๆที่เต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติและความลำเอียง ซึ่งหมายถึงการที่ฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ไม่ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งเมื่อทำเรื่องเดียวกันกลับกลายเป็นอาชญากรรม พธม.ต้องการให้ นปช. ถูกปราบปราม แต่สำหรับการกระทำแบบเดียวกันพวกเขากลับยืนยันว่าทำไปด้วยเจตนาดีอันบริสุทธิ์ กลุ่มก่อการรัฐประหาร 2549 ต้องการฟื้นฟูนิติรัฐ แต่พวกเขาปฏิเสธการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อต่อสู้กับข้อกล่าวหาล้มล้างรัฐบาล

นี่คือเหตุผลที่ชัดเจนว่าทำไมการยืนยันไม่รับการนิรโทษกรรมของ นปช. จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย แกนนำ นปช. ยินดีรับผิดชอบต่อการชุมนุมที่ผ่านมาโดยพร้อมที่จะเอาตัวเข้าแลกในการเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การตายในเดือนเมษายนและพฤษภาคมไม่กลายเป็นเรื่องโมฆะ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า 10 พฤษภาคม 2553 คือการท้าทายครั้งสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งตำรวจ อัยการ และศาล ถูกผลักมาอยู่ในจุดที่พวกเขาจะต้องพิสูจน์ตัวเอง

การดำเนินคดีของ นปช. เมื่อเปรียบเทียบกับคดีของ พธม. , อภิสิทธิ์ และสุเทพ จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้สังคมไทยและชาวโลกรู้ว่า ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของไทย ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน หรือจะได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน การปฏิเสธการนิรโทษกรรมของแกนนำ นปช. แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาเลือกคือ หนทางสู่ความจริง ความยุติธรรม และการรับผิดชอบ ดังนั้นไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับการตัดสินใจของแกนนำหรือไม่ อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะยอมรับว่าพวกเขาได้เสนอสาระสำคัญของการต่อสู้ที่สมควรจะได้รับความชื่นชม และสิ่งนี้คือสิ่งคือสิ่งที่ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาล เพื่อสืบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ควรจะสำเหนียกไว้ในใจ แทนที่จะประกาศว่าการสืบสวนหาข้อเท็จจริง มีเป้าหมายเพื่อการให้อภัย มากกว่าการหาคนผิดและการรับผิดชอบ เพราะเมื่อไม่มีความยุติธรรมก็ไม่มีทางที่ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้

ผู้เขียนได้เริ่มต้นบทความนี้ด้วยการอ้างว่า 10 พฤษภาคม คือหลักหมายใหม่บนเส้นทางของกฎหมายไทย ดังที่อุทัย พิมพ์ใจชน ถูกจำคุกในยุคของเขา ณัฐวุฒิ จตุพร และแกนนำคนอื่นๆคงมีชะตากรรมไม่ต่างกัน 10 พฤษภาคม (และการตายของวีรชน 10 เมษายน) จะเป็นหลักหมายสำคัญหากสังคมไทยจะตระหนักถึงคุณค่าของมัน บางที่ความผิดพลาดที่สำคัญของแกนนำ นปช. คือการประเมินผิดไปว่า คงไม่มีสังคมใดที่ทนได้กับการที่กองทัพได้ออกมาเข่นฆ่าประชาชนมือเปล่าของตนเองตายกว่า 20 ศพ แน่นอนใครๆก็ควรจะคิดว่ารัฐบาลใดๆในโลกก็ตามจะสูญเสียความชอบธรรมในการครองอำนาจต่อการตายในค่ำคืนด้วยน้ำมือของรัฐ  แต่กลับตาลปัตร เช้าวันรุ่งขึ้นกรุงเทพกลับให้ความสนใจต่อ “ชายชุดดำ” จากนั้นความตายของ นปช. ก็ดูเหมือนไม่ได้ขึ้นจริง และการฆาตกรรมที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นระหว่าง 14 ถึง 19 พฤษภาคม ดูเหมือนจะไม่ใช่การสูญเสียชีวิตเพื่อนมนุษย์อีกต่อไป และแน่นอนนายสุเทพ แสดงความเห็นในทำนองว่าการตายเกิดขึ้นจากความต้องการของคนบางกลุ่ม และเขาก็ชี้ว่ามันมีความเชื่อมโยงกับครอบครัวของทักษิณที่อยู่หลังฉาก

“สองมาตรฐาน” ตามที่กล่าวมานี้ ในอีกด้านหนึ่งก็คือการละเว้นโทษในหลายๆกรณีที่ผ่านมา ด้วยจุดยืนของการคัดค้านสองมาตรฐานและการละเว้นโทษ สังคมไทยยังมีโอกาสแม้ว่าจะน้อยนิด ที่จะสร้างความยุติธรรมและธรรมเนียมของการรับผิดชอบให้เกิดขึ้น และหากการต่อสู้ที่แกนนำ นปช.ได้เริ่มขึ้นยังคงเป็นสิ่งสำคัญ สังคมไทยอาจจะได้มีการชำระประวัติศาสตร์กันใหม่ นับตั้งแต่เหตุการณ์ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535 , การรัฐประหาร 2549 ไม่เว้นแม้แต่เหตุการณ์ตากใบและสงครามกับยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ

แกนนำ นปช. ได้แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่จะเอาชีวิตของตนเองเข้าแลกเพื่อหยุดยั้งกฎหมายสองมาตรฐานที่ครอบงำสังคมไทยนับเนื่องมาจากรัฐประหาร 2549 ต่อจากนี้ไปก็ขึ้นอยู่กับสังคมไทยว่าจะตอบสนองการสูญเสียชีวิตของวีรชนด้วยการต่อสู้ให้ความยุติธรรมได้เกิดขึ้น หรือจะยอมให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นถูกกลบเกลื่อนและสุมเอาไว้ด้วยความคับแค้นของผู้สูญเสีย และเป็นอีกครั้งที่ฉุดสังคมไทยให้จมอยู่กับบาดแผลในประวัติศาสตร์แห่งความหลงลืม.

 

 

หมายเหตุ:จากบทความเดิมชื่อ  ยุทธศาสตร์ “สองมาตรฐาน” และ “ไม่เอานิรโทษกรรม” ของ นปช.: ก้าวสำคัญสู่หน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ ความยุติธรรม และความรับผิดชอบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท