Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
  
 
เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกโครมทั่วทุกตำบลไปทั้งประเทศ เมื่อนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามอนุมัติปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการขึ้นค่าตอบแทนฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งอยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2554 แต่กลับถูกติดดิสเบรกจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยให้นำเสนออีกครั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 ธันวาคม นี้
 
หากดูข้อเท็จจริงจะเห็นว่า ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น    7,853 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 75 แห่ง เทศบาล 2,006 แห่ง แยกเป็นเทศบาลนคร 23 แห่ง เทศบาลเมือง 142 แห่ง เทศบาลตำบล 1,841 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,770 แห่ง และรูปแบบพิเศษคือกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา 2 แห่ง
 
กระทรวงการคลังได้ประมาณการรายได้รัฐบาล เพื่อใช้ในการกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 ประมาณการรายรับ2,070,000 ล้านบาท เป็นรายได้สุทธิ 1,650,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นรายได้จากกรมสรรพากร 1,305,600 ล้านบาท กรมสรรพสามิต 387,100 ล้านบาท กรมศุลกากร 88,400 ล้านบาทรัฐวิสาหกิจ 84,400 ล้านบาท หน่วยงานอื่น 93,000 ล้านบาท ซึ่งต้องหักคืนภาษีของกรมสรรพากร และจัดสรรรายได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 308,500 ล้านบาท
 
รายได้ขององค์กรปกครองท้องถิ่นหากรวมรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองอีกกว่า 29,500 ล้านบาท นับว่าท้องถิ่นมีภาระรับผิดชอบบริหารงบประมาณในการพัฒนาประเทศเพื่อให้บริการสาธารณะอย่างมหาศาล อีกทั้งมีพื้นที่บริการกระจายครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ถือเป็นองค์กรมีบทบาทในการสร้างความเจริญรุดหน้าเป็นมือไม้สำคัญของรัฐบาล
 
สำหรับค่าตอบแทนของผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ว่าฯ กทม.ได้รับค่าตอบแทน 104,330 บาท นายกพัทยาได้รับ 66,280 บาท นายก อบจ.ได้รับ 66,280 บาท นายกเทศมนตรีชั้นรายได้ 300 ล้าน(สูงสุด) ได้รับ 66,280 บาท ขณะที่นายก อบต. ชั้นรายได้ 50 ล้านบาท (สูงสุด) ได้รับเพียง 13,200 บาท ยิ่งถ้ากล่าวถึงค่าตอบแทนรายเดือนของนายก อบต.ที่มีรายได้ต่ำสุดจะได้รับเพียงแค่ 7,900 บาท เท่านั้น
 
สมาชิกสภากรุงเทพฯ (ส.ก.) ได้รับค่าตอบแทนรายเดือน 41,000 บาท สมาชิกสภาเขต กทม. (ส.ข.)ได้รับ 10,070 บาท สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้รับ 16,200 บาท สมาชิกสภาพัทยาได้รับ 16,200 บาท แต่สมาชิกสภา อบต. ชั้นรายได้เกิน 50 ล้าน (สูงสุด) ได้รับเพียง 6,600 บาทเท่านั้น
                                                                                                                                   
องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผลมาจากแนวคิดหลักการกระจายอำนาจเป็นการสนับสนุนการปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตย เพราะยึดถือเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ โดยให้ประชาชนมีอิสระตามสมควรในการดำเนินงานปกครอง และจัดทำบริการสาธารณะต่างๆ ได้
 
องค์การบริหารส่วนตำบลมีหน้าที่พัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การอาชีพ สาธารณูปโภคต่าง ๆ การจัดทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งจารีตประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นฯ ตามเจตนาของประชาชนในท้องถิ่น สนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง เพราะเป็นองค์กรฐานรากที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
 
ที่สำคัญนับแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา กระทรวง กรม ราชการส่วนกลางและภูมิภาคได้ถ่ายโอนภารกิจกว่า 250 ภารกิจให้ อบต.ดำเนินการ แต่ อบต.ได้ปรับปรุงค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2547 หลังจากนั้นไม่มีการปรับปรุงอีก เลย เงินที่ใช้ในการปรับปรุงค่าตอบแทนก็เป็นเงินของ อบต.เอง
 
องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลมีบทบาทภาระหน้าที่เหมือนกันและอยู่ระนาบเดียวกัน แต่ค่าตอบแทนของผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต.ต่ำกว่าเทศบาล ประมาณ 200-300 %
 
องค์การบริหารส่วนตำบลกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำงาน เป็นคู่ขนานในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ราษฏรในพื้นที่เดียวกัน พ.ศ.2552-2553 กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้รับการปรับค่าตอบแทน 100 %
อีกทั้งมีวาระดำรงตำแหน่งถึงอายุ 60 ปี กอปรกับหากมีการปรับค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อมสมาชิก อบต. เพราะที่ผ่านมาหากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ใดครบวาระมักมีสมาชิกสภา อบต.ลาออก เพื่อไปลงสมัครเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะได้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า
 
เมื่อพูดถึงค่าตอบแทนของผู้อาสามาทำงานเป็นผู้แทนชาวบ้าน บางฝ่ายอาจโต้แย้งว่าทำไมต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ น่าจะเป็นเรื่องจิตอาสาเป็นสำคัญ ในฐานะที่ผู้เขียนคลุกคลีกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมา 10 กว่าปี มีความเห็นว่าเรื่องจิตอาสาเป็นปัจจัยหลักก็จริงอยู่ แต่ต้องคำนึงว่าทุกคนที่จะทำงานดูแลปกครองรับผิดชอบผู้คนในท้องถิ่นอย่างเต็มที่ได้ ย่อมต้องมีความพร้อมในการดูแลเรื่อง กิน ยา ผ้า บ้าน สำหรับครอบครัวของตนเป็นประการแรก
 
อีกทั้งหากรัฐต้องการส่งเสริมให้คนดีมีบทบาทในการปกครองบ้านเมือง ก็ต้องมีปัจจัยหนุนเอื้อให้เขาพออยู่พอกิน โดยไม่ต้องไปแสวงหาลาภอันไม่พึงได้ ซึ่งนับเป็นอันตรายต่อการกระจายอำนาจอย่างที่เป็นห่วงกัน
 
เมื่อผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต. มีสวัสดิการประคองตนอยู่ได้ เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในครอบครัวตนและภาษีสังคม เพราะพวกเขาก็ถูกจำกัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพเช่นเดียวกับนักการเมืองระดับชาติ ถึงตอนนั้นคนดี ๆ ทั้งที่เป็นชาวบ้านธรรมดา ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เกษียณอายุราชการ คนในท้องถิ่นจะอาสามาทำงานเพื่อท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ทำให้การบริหารท้องถิ่นเป็นไปด้วยความโปร่งใส การปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องตามความต้องการของคนในท้องถิ่น โดยมีประชาชนในท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง นี่จึงเป็นผลดีของการปรับค่าตอบแทน
 
มองกันว่าการขึ้นค่าตอบแทน อบต. ครั้งนี้ หากเป็นไปโดยสะดวกโยธิน เสียงแซ่ซ้องพร้อมดอกไม้ช่อโตผูกโบว์สีน้ำเงินจาก อบต. ย่อมทุ่มไปที่พรรคภูมิใจไทยอย่างไร้ข้อกังขา อีกทั้งยังหมิ่นแหม่ต่อการกระทบฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่ขยับปักธงตอกเสาเข็มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เนื่องเพราะมหาดไทยยุคนี้เมินที่จะขยิบตาเหลือบดูสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.)
 
ยิ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาว่าค่าตอบแทน ส.ก.และ ส.ข. ก็มีข้อเสนอให้ขึ้นมานานแล้ว แต่ ครม.สมัยนั้นบอกว่าถ้าขึ้นแล้วจะกระทบกับเทศบาลและ อบต.เลยไม่ได้ขึ้น ดังนั้น เมื่อมีการขึ้นให้ อบต. ครม.จึงถามว่าแล้วไปดูให้ ส.ก. ส.ข. และเทศบาลต่างๆ หรือยัง เพราะเราถือหลักการว่าทำอะไรต้องยึดโยงกันหมด ยิ่งทำให้ภาพต่างๆ ที่ขมุกขมัวร่วม 3 วันกระจ่ายชัดขึ้น นี่ยังไม่รวมกระแสข่าวการแลกกับสมาร์ทการ์ดที่ผู้คนตั้งข้อกังขาก่อนหน้านี้
 
การขึ้นค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิก อบต. ที่ถูกเบรกครั้งนี้ บ้างมองว่าเป็นการแย่งกันหาเสียง ในแง่การช่วงชิงความนิยมทางการเมือง แต่หากหันมองในด้านโครงสร้างและความเหมาะสมกับบทบาทการทำงานของ อบต. แล้ว เชื่อว่าทุกฝ่ายย่อมเห็นพร้องกับการปรับค่าตอบแทนครั้งนี้
 
การออกมาท้วงติงของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ลงนามอนุมัติขึ้นค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกสภา อบต. ครั้งนี้ เชื่อว่าคงได้ข้อสรุปด้วยการเจรจาต่อรองสักเล็กน้อย แล้วจะลงเอยด้วยการกอดคอจูบปากเร่งนโยบายประชานิยมอย่างเต็มสูบไปด้วยกัน ยิ่งนายกรัฐมนตรีโปรยยาหอมจะขึ้นเงินเดือนประมุข 3 สถาบันและ ส.ส.-ส.ว. ยิ่งมองเห็นภาพชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น
 
จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ไม่มีนักการเมืองและพรรคการเมืองใดอยากมีเรื่องกับองค์กรสององค์กร คือพระกับ อบต. ทะเลาะกับพระดังทุกรายแล้วก็ดับทุกคน ทะเลาะกับ อบต.มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง ที่สำคัญอันที่เจ๊ามักจะกลับมาเจ๊งภายหลัง ฉะนั้น เรื่องนี้ น่าจะสมประโยชน์ “มีแต่ได้กับได้” ทั้งนักการเมือง พรรคการเมือง สำหรับประสิทธิภาพการทำงานในเบื้องหน้าท้าทายให้จับตากันอีกที
 
ภาพการปีนเกลียวช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พรรคประชาธิปัตย์ทำทีเงื้อง่าราคาแพง เนื่องเพราะต้องการสำแดงอะไรสักหน่อย เท่านั้นแหละ
 
เจื่อผมเต๊อะ...!
 
 
 
ค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ใหม่)*

ผู้ดำรงตำแหน่ง
ค่าตอบแทนรายเดือน
เงินฯประจำตำแหน่ง
 
ค่าตอบแทนพิเศษ
นายก อบต.(รายได้เกิน 50 ล้าน)
นายก อบต.(รายได้เกิน 25-50 ล้าน)
นายก อบต.(รายได้เกิน 10-25 ล้าน)
นายก อบต.(รายได้เกิน 5-10 ล้าน)
นายก อบต.(รายได้ไม่เกิน 5 ล้าน)
 18,400 บาท
 17,600 บาท
 17,000 บาท
 16,400 บาท
 15, 800 บาท
 2,000 บาท
 1,900 บาท
 1,750 บาท
 1,600 บาท
 1,450 บาท
 2,000 บาท
 1,900 บาท
 1,750 บาท
 1,600 บาท
 1,450 บาท
รองนายกฯ (รายได้เกิน 50 ล้าน)
รองนายกฯ(รายได้เกิน 25-50 ล้าน)
รองนายกฯ(รายได้เกิน 10-25 ล้าน)
รองนายกฯ(รายได้เกิน 5-10 ล้าน)
รองนายกฯ(รายได้ไม่เกิน 5 ล้าน)
 10,120 บาท
 9,680 บาท
 9,350 บาท
 9,020 บาท
 8,690 บาท
 1,000 บาท
 950 บาท
 880 บาท
 800 บาท
 730 บาท
 1,000 บาท
 950 บาท
 880 บาท
 800 บาท
 730 บาท
ประธานสภาฯ(รายได้เกิน 50 ล้าน)
ประธานสภาฯ(รายได้เกิน 25-50 ล้าน)
ประธานสภาฯ(รายได้เกิน 10-25ล้าน)
ประธานสภาฯ(รายได้เกิน 5-10ล้าน)
ประธานสภาฯ(รายได้ไม่เกิน 5 ล้าน)
 10,120 บาท
 9,680 บาท
 9,350 บาท
 9,020 บาท
 8,690 บาท
-
-
-
-
-
-
-
-
-
-
รองประธานสภาฯ(รายได้เกิน 50 ล้าน)
รองประธานสภาฯ(รายได้เกิน 25-50 ล้าน)
รองประธานสภาฯ(รายได้เกิน 10-25 ล้าน)
รองประธานสภาฯ(รายได้เกิน 5-10ล้าน)
รองประธานสภาฯ(รายได้ไม่เกิน 5 ล้าน)
 8,280 บาท
 7,920 บาท
 7,650 บาท
 7,380 บาท
 7,110 บาท
-
-
-
-
-
--
-
-
-
-
สมาชิก อบต., เลขาฯนายก และเลขาฯ สภา(รายได้เกิน 50 ล้าน)
สมาชิก อบต., เลขาฯนายก และเลขาฯ สภา(รายได้เกิน 25-50 ล้าน)
สมาชิก อบต., เลขาฯนายก และเลขาฯ สภา(รายได้เกิน 10-25 ล้าน)
สมาชิก อบต., เลขาฯนายก และเลขาฯ สภา(รายได้เกิน 5-10 ล้าน)
สมาชิก อบต., เลขาฯนายก และเลขาฯ สภา(รายได้ไม่เกิน 5 ล้าน)
 6,600 บาท
 
 6,300 บาท
 
 6,000 บาท
 
 5,740 บาท
 
 5,530 บาท
-
 
-
 
-
 
-
 
-
-
 
-
 
-
 
-
 
-
 
*ที่มา ปรับปรุงจากบัญชีอัตราเงินค่าตอบแทนฯ แนบท้ายระเบียบกระทรวงมหาดไทย
 รายได้หมายถึง รายได้ตลอดปีงบประมาณไม่รวมเงินกู้และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net