Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ปัญหาเงินฝืดและความตกต่ำของเศรษฐกิจญี่ปุ่นใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาได้กลายเป็นกรณีศึกษาในวงกว้าง เนื่องจากระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเป็นระบบผสมระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม ผู้สนับสนุนระบบสังคมนิยมจึงมักชี้ถึงข้อบกพร่องด้านทุนนิยม ส่วนผู้สนับสนุนระบบทุนนิยมมักชี้ถึงข้อบกพร่องด้านสังคมนิยม ดังนั้นประเด็นสำคัญคือการทำความเข้าใจปัญหาด้านต่างๆของญี่ปุ่นที่มาจากทั้งทุนนิยมและสังคมนิยม
 
 
ปัญหาด้านสังคมนิยมของญี่ปุ่น
1. ตลาดแรงงานญี่ปุ่นมีลักษณะรวมศูนย์คล้ายระบบราชการ
 
ตลาดแรงงานญี่ปุ่นวิวัฒนาการมาจากระบบซามุไรที่มีต้นสังกัดเดียวจนตาย พนักงานบริษัทและข้าราชการทำงานในองค์กรเดียวตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยจนถึงเกษียณ ตลาดงานญี่ปุนจึงคล้ายระบบข้าราชการ บริษัทและหน่วยราชการไม่คาดหวังให้มหาวิทยาลัยสร้างทักษะอาชีพ เพราะทุกบริษัทและหน่วยราชการมีการฝึกทักษะวิชาชีพคล้ายกับซามุไรในอดีตที่ได้รับการฝึกฝนโดยต้นสังกัด มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นเป็นศูนย์รวมแรงงานมากกว่าเป็นที่ฝีกทักษะอาชีพ
 
กล่าวคือ บริษัทและหน่วยราชการจ้างงานผ่านเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้องตามสถาบันการศึกษา เมื่อนักศึกษาเรียนจบก็เข้าระบบบริษัทและสร้างอัตลักษณ์จากต้นสังกัดเหมือนซามุไรในอดีต นักศึกษาญี่ปุ่นจึงขยันเรียนจนเข้ามหาวิทยาลัยได้เท่านั้น เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยนักศึกษาใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อสร้างเครือข่ายผ่านรุ่นพี่เพื่อเข้าทำงานในบริษัทที่ต้องการ นักศึกษาสายวิทย์สร้างเครือข่ายผ่านทั้งระบบชมรมและรุ่นพี่ในแล็บ ส่วนนักศึกษาสายศิลป์สร้างเครือข่ายผ่านทั้งระบบชมรมและรุ่นพี่ในกลุ่มสัมมนา
 
 
ส่วนซามุไรไม่มีสังกัดที่เรียกว่าโรนินก็วิวัฒนาการเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่มีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลาย เช่น คนขับรถบรรทุก แรงงานก่อสร้าง ชาวประมง ฯลฯ เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นใช้นโยบายผู้อพยพแบบปิดและไม่นำเข้าแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานไร้ฝีมือจึงมีรายได้ดี ก่อนที่เศรษฐกิจจะตกต่ำแรงงานไร้ฝีมือมีรายได้เทียบเท่าแรงงานมีฝืมือที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร ในแง่บวกนโยบายผู้อพยพแบบปิดทำให้ญี่ปุ่นมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันพอๆกับประเทศสแกนดิเนเวีย ในแง่ลบนโยบายนี้ส่งเสริมแนวคิดชาตินิยมซึ่งเป็นจุดอ่อนของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
 
 
เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำบริษัทก็ปลดพนักงานออก พนักงานที่โดนปลดส่วนมากหางานบริษัทใหม่ได้ยากและกลายเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำให้เกิดปัญหาด้านอัตลักษณ์ รู้สึกอับอายที่กลายเป็นแรงงานไร้สังกัดจนฆ่าตัวตาย ปัญหานี้สาหัสกว่าประเทศตะวันตกเพราะคนตะวันตกไม่ทำงานองค์กรเดียวตลอดชีวิตและไม่ผูกอัตลักษณ์ของตนไว้กับต้นสังกัดหรือสถาบันการศึกษาเท่าคนตะวันออก
 
แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯก็ย้ายต้นสังกัดกันเป็นปกติ มหาเศรษฐีชาวตะวันตกหลายคนตั้งบริษัทตั้งแต่ยังไม่จบปริญญาตรี นอกจากนี้การฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นมีปัจจัยด้านวัฒนธรรมเป็นพื้นฐาน ซามุไรที่ฆ่าตัวตายในอดีตได้รับการยกย่องว่ามีเกียรติยศกว่ามีชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้ในอนาคต นักบินคามิกาเซ่ที่ดับเครื่องชนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คือฮีโร่ ปัจจัยด้านวัฒนธรรมส่งเสริมให้คนญี่ปุ่นเห็นความตายโรแมนติกกว่าคนตะวันตกซึ่งมีแนวคิดด้านปัจเจกชนมากกว่า
 
 
2. แรงงานญี่ปุ่นแลกนวัตกรรมและเวลาสำหรับครอบครัวกับสวัสดิการ

ผลตอบแทนจากนวัตกรรมในญี่ปุ่นเป็นขององค์กร เพื่อแลกเปลี่ยนกันบริษัทตอบแทนพนักงานด้วยสวัสดิการทั้งก่อนเกษียณและหลังเกษียณ แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีสวัสดิการด้านสุขภาพและบำนาญ บริษัทก็มีสวัสดิการต่างหาก สวัสดิการเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้แรงงานญี่ปุ่นสละเวลาสำหรับครอบครัวเพื่ออุทิศตนให้บริษัท
 
 
บริษัทญี่ปุ่นให้เงินบำเหน็จตอนเกษียณและให้สวัสดิการหลังเกษียณอายุคล้ายระบบราชการไทย เช่น พนักงานบริษัทรถไฟได้ใช้รถไฟฟรีหรือได้ลดราคาตลอดชีพ สวัสดิการก่อนเกษียณก็มีต่างๆนานา เช่น สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยในรูปบ้านพักของบริษัท เงินสนับสนุนค่าเช่าบ้าน เงินช่วยผ่อนชำระสินเชื่อเพื่ออยู่อาศัย สวัสดิการด้านคมนาคมในรูปเงินสนับสนุนค่าเดินทาง สวัสดิการด้านการศึกษาในรูปทุนศึกษาต่อต่างประเทศ สวัสดิการด้านการศึกษาของบุตรธิดา สวัสดิการบ้านพักต่างอากาศในรีสอร์ททั่วประเทศ ฯลฯ ในด้านบวก สวัสดิการบริษัทร่วมกับสวัสดิการรักษาพยาบาลของรัฐทำให้ญี่ปุ่นมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมพอๆกับประเทศสแกนดิเนเวีย ในด้านลบทำให้ไม่มีแรงจูงใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพราะผลตอบแทนจากนวัตกรรมโดนจัดสรรเป็นสวัสดิการทั้งองค์กร
 
 
เนื่องจากตลาดแรงงานญี่ปุ่นคล้ายระบบราชการ พนักงานบริษัทญี่ปุ่นจึงไม่มีทางเลือกนอกองค์กร กว่าจะได้เป็นผู้บริหารก็ต้องทำงานล่วงเวลา เลิกงานก็ต้องไปสังสรรค์ตามร้านอาหารและผับ ไม่ว่าจะเป็นการสังสรรค์กันเองหรือสังสรรค์กับลูกค้า ดังนั้นพนักงานบริษัทอายุต่ำกว่า 35 ปีจึงพักผ่อนไม่พอ ต้องกลับบ้านดึกและตื่นเช้า วันหยุดก็อาจต้องทำงานหรือเดินทางเพื่อธุรกิจ ปัญหานี้ทำให้ประชากรในวัยเจริญพันธุ์ไม่สามารถสร้างครอบครัวได้สะดวก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเติบโตของประชากรลดลง
 
ในทางกลับกัน แรงงานมีฝีมือในระบบทุนนิยมถือว่านวัตกรรมเป็นทรัพย์สินทางปัญญา มีการแบ่งกำไรกันระหว่างผู้สร้างนวัตกรรมและองค์กร ทั้งในมหาวิทยาลัยและในภาคเอกชน ไม่ว่าจะแบ่งด้วยการแบ่งลิขสิทธิ์ แบ่งหุ้น หรือต่อรองด้านเงื่อนไขและชั่วโมงทำงานเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นปัจจัยให้อัตราการเติบโตของประชากรไม่ตกต่ำ แม้ว่าอัตราการหย่าร้างของคนอเมริกันจะสูงขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯเป็นประเทศที่อัตราการเติบโตของประชากรสูงที่สุดในบรรดาประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก
 
3. รัฐราชการและระบบอาวุโสไม่สนับสนุนการแข่งขันภายในประเทศ
 
รัฐบาลญี่ปุ่นพัฒนาประเทศด้วยการแทรกแซงกลไกตลาดด้วยนโยบายอุตสาหกรรม กล่าวคือ รัฐบาลใช้ระบบภาษีสนับสนุนการขยายตัวของบริษัทใหญ่เพื่อแข่งขันกับประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกในตลาดโลก แม้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้ผ่านการปฏิรูปที่ดินและระบบภาษี กลุ่มธุรกิจใหญ่ในญี่ปุ่นยังมีอำนาจตลาดผ่านเครือข่ายที่เรียกว่า“เคเรตซึ” เคเรตซึต่างๆกำหนดเงื่อนไขตลาดร่วมกับข้าราชการซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก มีหน่วยราชการที่วางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ และมีธนาคารของรัฐที่ส่งเสริมการส่งออกและพัฒนาอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยรัฐข้าราชการ
 
 
ในด้านการบริหารองค์กร องค์กรญี่ปุ่นทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนใช้ระบบอาวุโสโดยให้ผลตอบแทนตามอายุ ระบบนี้มีรากฐานจากการจ้างงานผ่านเครือข่ายรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบันการศึกษา และเป็นระบบที่ไม่สนับสนุนทักษะด้านการแข่งขัน การแข่งขันข้ามรุ่นเสมือนเป็นอาชญากรรมในองค์กร ระบบอาวุโสดังกล่าวส่งเสริมเพียงการแข่งขันระหว่างองค์กรและการแข่งขันระหว่างประเทศเท่านั้น ปัจจัยนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนญี่ปุ่นที่มีทักษะด้านการแข่งขันเลือกที่จะใช้ชีวิตในประเทศตะวันตกและไม่กลับไปทำงานที่ญี่ปุ่น
 
 
ปัญหาด้านทุนนิยมของญี่ปุ่น
 
1. การเคลื่อนย้ายทุนของบริษัทญี่ปุ่นและภาวะฟองสบู่หลังการปรับค่าเงินเยนในปี 2528
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นพึ่งพาตลาดสหรัฐฯมาตลอด แม้ญี่ปุ่นโดนสหรัฐฯทำหมันอุตสาหกรรมอาวุธด้วยรัฐธรรมนูญที่จำกัดอำนาจทหาร สงครามเกาหลีทำให้ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ก่อนสงครามโลกครั้งที่
 
2 ญี่ปุ่นก็เป็นมหาอำนาจในเอเชียที่มีเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอยู่แล้ว หลังสงครามเกาหลีญี่ปุ่นก็พัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อตีตลาดตะวันตกมากขึ้น
 
 
จุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญสำหรับญี่ปุ่นคือการปรับค่าเงินเยนในปี 2528 การปรับค่าเงินเยนครั้งนั้นเป็นข้อตกลงกับประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกเพื่อแก้ปัญหาดุลการค้า ญี่ปุ่นยอมปรับค่าเงินเยนให้แข็งขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนกับการปกป้องตลาดในประเทศ โดยเฉพาะตลาดสินค้าเกษตร การขายปลีกและบริการด้านการเงิน (การตัดสินใจของญี่ปุ่นต่างกับจีนในปัจจุบัน จีนไม่ยอมปรับค่าเงินหยวนอย่างรวดเร็วแต่ยอมเปิดตลาดในประเทศมากขึ้น)
 
 
เมื่อเงินเยนแข็งขึ้นผู้ส่งออกก็ขยายฐานการผลิตไปประเทศที่ค่าแรงต่ำเพื่อชดเชยการเสียเปรียบจากค่าเงินเยน แนวโน้มดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่ครึ่งหลังของสงครามเวียดนามซึ่งเป็นยุคที่เงินเยนปรับค่าให้แข็งขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนการเคลื่อนย้ายทุนดังกล่าวผ่านธนาคารของรัฐ และด้วยการต่อรองกับรัฐบาลต่างชาติเพื่อสิทธิพิเศษด้านการลงทุน เช่น การยกเว้นภาษี ฯลฯ การขยายฐานการผลิตในต่างประเทศขยายตัวเป็นวงกว้างหลังการปรับค่าเงินเยนในปี 2528
 
 
ส่วนผู้บริโภคญี่ปุ่นก็เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศทั่วโลกและนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย คนตะวันตกเริ่มสะพรึงกลัวว่าคนญี่ปุ่นจะเป็นมหาอำนาจ กรุงโตเกียวกลายเป็นเมืองที่ค่าครองชีพแพงติดอันดับโลกเพราะเงินเยนแข็งขึ้นและเพราะภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับที่ญี่ปุ่นเริ่มแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่สำคัญคือการแปรรูปกิจการรถไฟ และการแปรรูปองค์การโทรศัพท์ การเอาหุ้นรัฐวิสาหกิจเข้าตลาดหุ้นในยุคนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมภาวะฟองสบู่ ภาวะฟองสบู่ได้ก่อปัญหาหนี้เสียจนเกิดวิกฤตการเงินในปี 2534 ในที่สุด
 
 
ตอนที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับเงินเยนให้แข็งขึ้นอีกในปี 2528 และสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตในต่างประเทศนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่าประเทศปลายทางจะกลายเป็นตลาดทดแทนตลาดสหรัฐฯ และไม่ได้พยายามพัฒนาฐานผู้บริโภคในประเทศอย่างจริงจัง เพราะการพัฒนาฐานผู้บริโภคในประเทศจะทำให้สถานะ”ประเทศเจ้าหนี้”สั่นคลอน ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศเจ้าหนี้เพราะคนญี่ปุ่นมีอัตราการออมสูง เงินออมเป็นแหล่งทุนญี่ปุ่นผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ และทำให้ญี่ปุ่นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯในมูลค่ามหาศาล ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมากที่สุดในโลกจนถึงเมื่อ 2 ปีนี้ที่แล้วที่จีนเพิ่งแซงญี่ปุ่น
 
 
รัฐบาลญี่ปุ่นบรรเทาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำด้วยมาตรการกระตุ้นทางการคลังและใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ มาตรการกระตุ้นทางการคลังทำให้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะต่อผลผลิตประชาชาติมากที่สุดในโลก แต่หนี้สาธารณะญี่ปุ่นเป็นหนี้ในประเทศ กล่าวคือผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีสัญชาติญี่ปุ่น เมื่อรวมทรัพย์สินในภาคเอกชนแล้วญี่ปุ่นยังเป็นประเทศเจ้าหนี้ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าจีนหรือเยอรมัน ด้วยเหตุนี้ไม่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะมีหนี้สาธารณะแค่ไหนญี่ปุ่นก็ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมจากไอเอ็มเอฟแบบไอร์แลนด์ที่หนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศ
 
 
อย่างไรก็ดี หนี้สาธารณะมีผลกระทบต่อพลเมืองตรงที่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต่อต้านความพยายามของธนาคารกลางที่จะขึ้นดอกเบี้ย เพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล ทั้งๆที่การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยให้ผู้บริโภคมีรายได้จากเงินออมมากขึ้นและจะช่วยกระตุ้นฐานการบริโภคในประเทศ นอกจากรัฐบาลญี่ปุ่นผู้ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยต่ำคือกลุ่มทุนและธนาคารญี่ปุ่น เพราะดอกเบี้ยต่ำทำให้ธนาคารญี่ปุ่นและกลุ่มทุนญี่ปุ่นขยายกิจการในต่างประเทศได้สะดวก
 
 
2. รัฐบาลญี่ปุ่นไม่พยายามปฎิรูปกฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างจริงจัง
 
จนถึงไม่กี่ปีก่อนวิกฤตการเงิน บริษัทและหน่วยราชการญี่ปุ่นยังใช้ระบบ “สัปดาห์ละ 6 วัน” กล่าวคือ วันเสาร์ยังเป็นวันทำงาน แม้ว่าสหภาพแรงงานของญี่ปุ่นมีการต่อรองค่าจ้างกับผู้บริหารทุกปี มีการเรียกร้องให้ลดชั่วโมงการทำงานและให้วันเสาร์เป็นวันหยุดซึ่งได้รับการตอบสนองในที่สุด แต่สหภาพแรงงานไม่ต้องการปฎิรูปตลาดแรงงานให้มีความคล่องตัวในการย้ายงาน สหภาพแรงงานพึงพอใจกับโครงสร้างตลาดงานแบบรวมศูนย์ กล่าวคือ มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งรวมศูนย์ของแรงงานใหม่และสหภาพแรงงานเป็นแหล่งรวมศูนย์ของแรงงานเก่า
 
 
ในทางการเมือง แม้ว่าญี่ปุ่นใช้ระบบประชาธิปไตยรัฐสภาที่มีกษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ แต่ญี่ปุ่นต่างกับอังกฤษตรงที่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมมาเกือบ 50 ปี นักการเมืองระดับสูงในพรรคดังกล่าวสืบเชื้อสายมาจากข้าราชการระดับสูงในอดีต กฏหมายแรงงานในญี่ปุ่นจึงสะท้อนให้เห็นแนวคิดด้านอนุรักษ์นิยมที่จัดวางให้ข้าราชการเป็นผู้นำนโยบายพัฒนาประเทศมากกว่าแรงจูงใจในตลาดแรงงาน
 
 
3. แรงงานญี่ปุ่นมีความชาตินิยมสูงและส่วนใหญ่พูดได้แต่ภาษาญี่ปุ่น
 
 
การแปรรูปรัฐวิสาหกิจญี่ปุ่นผ่านตลาดหุ้นในยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นหวังว่าจะพัฒนากรุงโตเกียวให้เป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชียตะวันออกแทนฮ่องกง และหวังว่าญี่ปุ่นจะกลายเป็นผู้นำในด้านวัฒนธรรมและด้านการศึกษาด้วย
 
 
จุดอ่อนของวิสัยทัศน์ด้านนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นคือแนวคิดชาตินิยม กล่าวคือญี่ปุ่นต้องการให้ภาษาญี่ปุ่นกลายเป็นภาษาสากล รัฐบาลญี่ปุ่นให้ทุนการศึกษากับนักเรียนทั่วโลกทั้งจากประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเงื่อนไขนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อศึกษาในระบบการศึกษาเดียวกับคนญี่ปุ่น นโยบายดังกล่าวมีจุดมุ่งหลายทั้งเพื่อสร้างแรงงานให้บริษัทญี่ปุ่น และเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่เป็นมิตรกับญี่ปุ่นในเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจและด้านการเมืองระหว่างประเทศ
 
 
แม้ว่านโยบายทุนการศึกษาจะช่วยขยายฐานแรงงานที่พูดภาษาญี่ปุ่น ญี่ปุ่นไม่สามารถเอาชนะกระแสตลาดโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักได้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดสินค้า การบริการ ธุรกิจการซื้อขายทรัพย์สินและธุรกรรมระหว่างประเทศ แต่แรงงานญี่ปุ่นส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่องแคล่วจึงกลายเป็นปัจจัยเชิงลบต่อการพัฒนากรุงโตเกียวให้เป็นศูนย์กลางการเงิน
 
 
แม้ว่าตลาดหุ้นที่กรุงโตเกียวจะมีมูลค่ามาก บทบาทของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินของเอเชียตะวันออกมีแต่จะสำคัญมากขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน จีนเข้าใจความสำคัญของฮ่องกงจึงใช้ระบบตลาดเสรีในฮ่องกงหลังจากที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้ กล่าวคือ จีนคงอำนาจธนาคารกลางที่ฮ่องกงเอาไว้ และแยกเงินฮ่องกงออกจากเงินหยวนของจีนแผ่นดินใหญ่ และเปิดกว้างให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าออกฮ่องกงอย่างเสรี
ญี่ปุ่นในปัจจุบัน
 
 
แม้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ปัญหาความยากจนในญี่ปุ่นชัดเจนขึ้น แต่ญี่ปุ่นก็ยังเป็น“สวิสเซอร์แลนด์ของเอเชีย” ในสายตาคนตะวันตกญี่ปุ่นยังเป็นประเทศเจ้าหนี้ที่สำคัญ มีระบบสาธารณูปโภคที่ดี อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ดี และอัตราอาชญากรรมต่ำกว่ามาตรฐานสากล นโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีความสำคัญต่อตลาดทุนโลกทัดเทียมกับธนาคารกลางจีน ธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางยุโรป แม้จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่นก็ยังเป็นอันดับ 3 ซึ่งไม่ใช่อันดับต่ำ รายได้ต่อหัวประชากรญี่ปุ่นก็สูงกว่าจีนหลายเท่าตัว ปัญหาการกระจายรายได้ในจีนก็สาหัสกว่าญี่ปุ่นมากมาย ปัญหาความยากจนในญีปุ่นก็คนละเกรดกับปัญหาความยากจนในไทย สถานบริการทางเพศและอุตสาหกรรมหนังโป๊ในญี่ปุ่นมีมาตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ใช่ว่าความยากจนทำให้คนญี่ปุ่นหันมายึดอาชีพบริการทางเพศหรือดาวโป๊
 
 
รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะปัจจัยที่ทำให้ประชากรลดลง แต่การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะแรงต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทั้งในระบบการเมืองและในระบบราชการ การสนับสนุนให้ประชากรมีบุตรมากขึ้นเป็นนโยบายระยะยาวและต้องใช้เวลา อาทิ ต้องปฎิรูปกฎหมายแรงงาน ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้หญิงสร้างสมดุลในการทำงานและชีวิตครอบครัว ฯลฯ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงพยายามแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการลดแนวคิดด้านชาตินิยม
 
 
ปัจจุบันสถาบันการศึกษาในญี่ปุ่นแม้กระทั่งสถาบันอนุรักษ์นิยมเก่าแก่อย่างมหาวิทยาลัยโตเกียวเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษและว่าจ้างอาจารย์จากต่างประเทศ รัฐบาลปฎิรูปกฎหมายผู้อพยพเพื่อให้สัญชาติญี่ปุ่นแก่แรงงานมีฝีมือ พยายามสร้างแรงจูงใจให้แรงงานมีฝีมืออพยพไปญี่ปุ่น นำเข้าพยาบาลจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเพื่อเตรียมรับมือกับภาระการดูแลคนชรา แต่นโยบายผู้อพยพของญี่ปุ่นยังมีข้อจำกัดตรงทีว่าญี่ปุ่นไม่ให้สิทธิผู้อพยพพาบุพการีและพี่น้องอพยพไปญี่ปุ่น ซึ่งต่างกับนโยบายผู้อพยพของสหรัฐฯและแคนาดา
 
 
คนญี่ปุ่นรุ่นเก่ามักกังวลว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีอุดมการณ์ชาตินิยม และกลัวว่าคนรุ่นใหม่จะรับภาระดูแลคนชราไม่ได้ ทั้งๆที่อุดมการณ์ชาตินิยมเป็นอุปสรรคต่อการปฎิรูปประเทศให้เข้ากับผู้อพยพที่รัฐบาลญี่ปุ่นชักชวนให้เข้ามาทดแทนแรงงานในประเทศ ถ้าญี่ปุ่นก้าวไม่พ้นความชาตินิยม ก็ยากที่จะดึงดูดแรงงานมีฝีมือให้อพยพไปญี่ปุ่นในระดับเดียวกันกับประเทศตะวันตก แม้ว่าการปฏิรูปกฎหมายผู้อพยพท้าท้ายอุดมการณ์ชาตินิยมซึ่งรัฐราชการใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างชาติ การปฎิรูปกฎหมายผู้อพยพมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้
 

-----------------
กานดา นาคน้อย จบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาสแตนฟอร์ด ด้วยทุนของมหาวิทยาสแตนฟอร์ดและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Hitotsubashi ในญี่ปุ่น ปริญญาโทเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียวโดยทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาช่วงสั้นๆให้กับธนาคารโลกและIMF ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Purdue ในสหรัฐอเมริกา
 
 
เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนออนไลน์ วันที่ 12 ธ.ค.53

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net