Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ชื่อบทความเดิม 

"10 ธันวาคม : วันสิทธิมนุษยชนสากลและวันรัฐธรรมนูญไทย
ปล่อยนักโทษการเมือง หยุดกระบวนการรัฐประหาร
คืนประชาธิปไตยให้ประชาชน  คืนความเป็นคนให้เท่าเทียมกัน"

 

นับตั้งแต่มีการปฏิวัติ ปี 2475 จาก "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์" มาสู่ “ระบอบประชาธิปไตย” รัฐไทยได้กำหนดให้วันที่  10 ธันวาคม  ของทุกปี ถือเป็น “วันรัฐธรรมนูญ”  ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะที่รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายการปกครองสูงสุดของประเทศ และกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นการสะท้อนความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคมไทย แต่อย่างใดก็ตามรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่อมีการรัฐประหารเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา คณะรัฐประหารชุดนี้ได้ดำเนินการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และคณะรัฐประหารชุดนี้ได้มีกระบวนการร่างและสร้างรัฐธรรมนูญ 50 ขึ้นมาแทนซึ่งรัฐธรรมนูญ 50 นี้ และได้ให้อำนาจกับอำนาจนอกระบอบการเมืองที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย อำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยจึงหวนคืนสู่สังคมการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง 

รากเหง้าของการรัฐประหารในครั้งนั้น ยังได้นำพาสังคมไทยสู่ความขัดแย้งที่ลุกลามขยายใหญ่มากที่สุดในประวัติศาสตร์สังคมไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะเหตุการณ์การล้อมปราบสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดงผู้เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หุ่นเชิดของระบอบอำมาตย์ ดำเนินการยุบสภา เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนตามหลักการทั่วไปของระบอบประชาธิปไตย

แต่รัฐอำมาตย์อภิสิทธิ์ชน กลับก่อ "อาชญากรรมแห่งรัฐ" ขึ้น โดยได้ใช้อำนาจเหี้ยมโหดอำมหิตเข่นฆ่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ไม่ต่างจากเหตุการณ์การล้อมปราบนักศึกษา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519  ณ  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โศกนาฎกรรมทางการเมืองในครั้งนี้ จึงซ้ำรอยประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปราบปรามสังหารหมู่ประชาชนคนเสื้อแดง  มีผู้สูญเสียชีวิต 91 คน และผู้บาดเจ็บสองพันกว่าคน  รัฐอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนยังได้ดำเนินการกระชับอำนาจนิยมเผด็จการมากยิ่งขึ้น  โดยมีการจับกุมแกนนำคนเสื้อแดงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉุกเฉินเร่งด่วน  มีการกดทับเสรีภาพของสื่อสารมวลชนโดยการปิดเว็บไซต์  วิทยุชุมชน สื่อโทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ทีมีความคิดเห็นต่างจากรัฐอำมาตย์อภิสิทธิ์ชน  

000

ในอีกแง่หนึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  สิ้นสุดลงเป็นต้นมา ผู้นำประเทศต่างๆ ได้ตระหนักว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดสันติภาพแลความเจริญก้าวหน้าขึ้นในโลก  จึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น เพื่อเป็นองค์การโลกที่จะคุ้มครองมนุษยชาติให้ได้รับความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน สมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 และมีมติประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันสิทธิมนุษยชน”  (Human Rights Day)

ขณะที่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า  เกิดมาจากการที่สังคมไทยมีการพัฒนาที่ไม่สมดุล ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความเสมอภาคและไม่มีความเป็นธรรม  รากเหง้าส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการขาดอำนาจต่อรองของพลังชนชั้นล่าง ตลอดทั้งสังคมไทยที่ไม่เป็นสังคมประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็น  รวมถึงการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยมักหยุดชะงักจากอำนาจอำมาตยาธิปไตยโดยคณะรัฐประหารทั้งเปิดเผยและซ่อนรูปอยู่เสมอด้วยเช่นกัน  

ในอีกด้านหนึ่ง องค์กรสิทธิมนุษยชนไทยส่วนใหญ่ กลับมีส่วนในการเคลื่อนไหวให้ท้ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนการรัฐประหารทั้งทางตรงและทางอ้อม  เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  หรือบุคคลที่ได้รับการยอมรับสร้างภาพให้สังคมไทยว่าเป็น "ราษฎรอาวุโส" "นักวิชาการ"  "เอ็นจีโอ"  "สื่อมวลชน" บางส่วนบางองค์กร กลับสนับสนุนวิธีการแบบอำนาจนิยม   ซึ่งเป็นการทำลายการพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้แล้วท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประชาชนคนเสื้อแดงผู้รักในระบอบประชาธิปไตยกับผู้ได้อำนาจจากระบอบอำมาตยาธิปไตย รัฐบาลอภิสิทธิ์หุ่นเชิดของระบอบอำมาตย์ยังใช้กลยุทธ์ให้เครือข่ายอำมาตย์ของพวกเขาดำเนินการปฏิบัติการณ์ “ปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีอานันท์ ปันยารชุณ และประเวศ วะสี   เป็นผู้นำ และใช้กลไกเครือข่ายขุนนางเอ็นจีโอ   เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐอำมาตย์อภิสิทธิ์ชน และเบี่ยงเบนประเด็นการถามหา “ใครฆ่าประชาชน ? ใครสั่งฆ่าประชาชน ?  ใครต้องรับผิดชอบ? ใครต้องถูกลงโทษ ?” จากประชาชนคนเสื้อแดง หรือเป็น  การปฏิรูปบนกองศพของวีรชนไพร่แดง นั่นเอง

กล่าวได้ว่า ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรี สิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อต้องสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในสังคม  ที่สำคัญแยกไม่ออกจากการที่สังคมการเมืองต้องมีพื้นที่ประชาธิปไตยมิใช่เผด็จการอำมาตยาธิปไตยหรืออำนาจนิยม   ดังนั้น  ผู้ปกครองต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน  ประชาชนตรวจสอบถ่วงดุลย์  ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ   มีส่วนร่วมด้านต่างๆ   และวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองได้  

ที่สำคัญ การแก้ไขปัญหาด้านสิทธิ์มนุษยชนในสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันนั้น  รัฐต้องดำเนินการปล่อยนักโทษการเมืองโดยเร่งด่วน   เนื่องจากพวกเขามิใช่อาชญากรแต่อย่างใด  พวกเขาเป็นเพียงผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐบาลเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย

รัฐต้องยกเลิกพรก.ฉุกเฉิน ยุติการปิดกั้นสื่อ  หยุดข่มขู่คุกคามประชาชน คืนเสรีภาพให้สื่อ  ให้ประชาชนในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากรัฐได้ ตลอดทั้งยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ฯ ซึ่งความต่างทางความคิดย่อมเป็นเรื่องทีสร้างสรรค์ในสังคมประชาธิปไตย ไม่เหมือนกับระบอบอำนาจนิยมเผด็จการที่ผู้ปกครองเท่านั้นผูกขาดความคิดเห็น

นอกจากนี้แล้ว ต้องร่วมมือกันผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550  โดยใช้กระบวนการร่างเช่นเดียวกับกระบวนการร่างรัฐะรรนูญรัฐธรรมนูญ 40  โดยมีเป้าหมาย เพื่อ "หยุดอำนาจระบอบอำมาตยาธิปไตย สร้างอำนาจระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งจะนำสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาคในทุกด้านของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน  ต้องผลักดันให้มีการดำเนินการปฏิรูปกองทัพ เพื่อไม่ให้กองทัพแทรกแซงทางการเมือง เพื่อไม่ให้กองทัพกระทำรัฐประหาร  กองทัพจึงต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย และกระบวนการพัฒนากองทัพต้องมีการจัดสรรอำนาจและบังคับบัญชาที่เป็นประชาธิปไตย เหมือนอารยะประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย  ตลอดทั้งไม่ให้องคมนตรีแทรกแซงการเมืองด้วยเช่นกัน  

ด้านกระบวนการยุติธรรมต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กฎหมายต้องมีความเป็นธรรม ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมายต้องไม่มีสองมาตรฐาน หรือนิติรัฐต้องมีนิติธรรมอยู่ในตัวมันเอง  ตลอดทั้งต้องมีการใช้ระบบลูกขุน เหมือนอารยประเทศ  และเพื่อไม่ให้ศาลผูกขาดอำนาจอย่างที่เป็นอยู่

ท้ายสุด นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องไม่กระทำการบิดเบี้ยวบิดเบือนหรือหาเหตุไม่ยุบสภาโดย ไม่ยอมคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน  เพื่อแก้ไขรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งทั้งปวง   เพื่อเคารพสิทธิ์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนเท่าเทียมกันในการเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศตามหลักการประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา ซึ่งทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเหมือนกันไม่ว่าคนจนหรือคนรวย ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย  ไม่ว่าคนพิการหรือคนไม่พิการ ไม่ว่าผู้ดีหรือไพร่ ฯลฯ และระบอบประชาธิปไตยรัฐสภานั้น ก็มีวาระในการเลือกตั้งที่แน่นอน  การยุบสภาจึงเป็นหนทางนำสังคมไทยสู่ความปรองดองที่แท้จริงได้  ตลอดทั้งรัฐประหาร หรือการเสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาติ  ก็มิใช่ทางออกที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย

และพรรคการเมืองไหนมีเสียงข้างมาก ย่อมมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล โดยที่ทหารอำนาจนอกระบบต้องไม่แทรกแซงเหมือนเช่นที่ผ่านมา

ปล่อยนักโทษการเมือง   หยุดกระบวนการรัฐประหาร

จงคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน  คืนความเป็นคนให้เท่าเทียมกัน เสียที
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net