Skip to main content
sharethis

สื่อรัฐบาลพม่าเตือนซูจีและฝ่ายค้านหากจัดประชุมปางโหลงครั้งใหม่จะถือเป็นการเคลื่อนไหวต้านโรดแมพ 7 ขั้นสู่ ปชต. ของรัฐบาล ด้านสำนักข่าวชินหัวของจีนรายงานตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลพม่าว่า มีผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งพม่า ครั้งแรกในรอบ 20 ปี เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ราว 76 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าสามในสี่ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

รบ.พม่าเตือน ฝ่ายค้านจัดประชุมปางโหลงรอบใหม่ส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

รัฐบาลพม่าเริ่มส่งสัญญาณเตือนผ่านสื่อของตัวเองไปยัง นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีและกลุ่มฝ่ายค้านเป็นครั้งแรกว่า การจัดประชุมปางโหลง(หรือป๋างโหลง) ครั้งที่ 2 ขึ้น เป็นการเคลื่อนไหวที่จะทำให้เสี่ยงต่อการขัดแย้งกับ
รัฐบาลทหารพม่า และจะนำมาซึ่งผลร้ายมากกว่าผลดี

หนังสือพิมพ์ภาษาพม่าชื่อ “Myanmar Ahlin” ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลพม่า เผยแพร่บทความเมื่อวันพุธ (8 พ.ย.) ที่ผ่านมาว่า การที่นางซูจีและกลุ่มฝ่ายค้านมีความพยายามที่จะฟื้นฟูและจัดการประชุมปางโหลงครั้งใหม่ขึ้นนั้น เป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านแผนโรดแมพ 7 ขั้นตอนสู่ประชาธิปไตยของพม่า ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ พร้อมทั้งเตือนว่า การจัดประชุมปางโหลงจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี

การปกครองแบบรัฐสภาที่รัฐบาลพยายามจัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งนั้น ถือเป็นแนวทางที่จะเสริมสร้างความสามัคคีในชาติ แต่หากกลุ่มฝ่ายค้านเลือกที่จะยึดตามแนวทางอุดมการณ์ของตัวเองโดยไม่สนใจแนว ทางที่รัฐบาลพม่าเห็นว่าดีที่สุดแล้วล่ะก็ กลุ่มฝ่ายค้านควรจะรับทราบเอาไว้ว่า การประชุมปางโหลงครั้งที่สองจะนำมาซึ่งผลร้ายมากกว่าผลดีต่อประเทศชาติสื่อพม่าระบุว่า

ในบทความยังเตือนว่า หากไม่มีกองทัพพม่า การประชุมปางโหลง จะถูกจัดการโดยกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลพม่าและไม่เห็นด้วยกับแผนโรดแมพ 7 ขั้นตอนสู่ประชาธิปไตยของรัฐบาลพม่า ด้านกลุ่มผู้นำชนกลุ่มน้อยได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีความคิดที่จะขับกองทัพพม่าออกไปจากขั้นตอนการประชุมสัญญาปางโหลง

จิตวิญญาณของสัญญาปางโหลงคือ เพื่อบรรลุถึงความเป็นเอกภาพของคนในชาติ และมันจะไม่ประสบความสำเร็จได้ หากไม่มีกองทัพพม่าร่วมด้วย นับตั้งแต่ครั้งแรกที่เราหารือกันที่จะจัดการประชุมปางโหลงครั้งที่ 2 เราไม่เคยพูดว่า เราจะกีดกันไม่ให้กองทัพเข้าร่วมในขั้นตอนด้วย บทความที่ตีพิพม์ในหนังสือพิมพ์ Myanmar Ahlin ต้องการที่จะบิดเบือนสารของเราพู ซิน เซียน ทาง โฆษกจากกลุ่มสหภาพพันธมิตรกลุ่มชาติพันธุ์ (United Nationalities Alliance) กล่าวแสดงความคิดเห็นในวันเดียวกัน

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า หากนางซูจีและกลุ่มฝ่ายค้านยังพยายามที่จะจัดการประชุมปางโหลงครั้งที่ 2 ต่อไป อาจถูกทางการพม่ากวาดล้างและจับกุมตัวเข้าคุก เช่นเดียวกับนางซูจีที่เสี่ยงจะถูกกักบริเวณอีกครั้ง

ทั้งนี้ การประชุมปางโหลงเกิดขึ้น เนื่องจากนายพลอองซาน บิดาของนางอองซาน ซูจี ได้ร้องขอให้ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่ตกอยู่ใต้อาณานิคมของอังกฤษเช่นเดียวกับพม่า หันมาร่วมมือและเข้าร่วมกับพม่าเพื่อเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ และต่อมาในวันที่ 12 ก.พ. 1947 (2490) บรรดาเจ้าฟ้าไทใหญ่ นายพลอองซาน บิดาของนางอองซาน ซูจี และผู้นำชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆได้เห็นพ้องและลงนามร่วมกัน ยกเว้นกลุ่มกะเหรี่ยงและคะยาห์ จึงเกิดสัญญาปางโหลงขึ้น

นายพลอองซานได้รับปากกับผู้นำชนกลุ่มน้อยว่า ชนกลุ่มน้อยต่างๆที่ร่วมลงนามในสัญญาป๋างโหลงจะสามารถแยกตัวเป็นอิสระได้ใน ภายหลัง แต่เหตุการณ์ทุกอย่างกลับพริกผัน หลังนายพลอองซานและผู้นำชนกลุ่มน้อยถูกลอบสังหาร และนายพลเนวินยึดอำนาจในปี 1962 (2505)

และภายหลัง ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ต้องการปกครองโดยกองทัพพม่าได้เข้าป่าจับปืนต่อสู้กับกองทัพพม่าจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นสงคราม ความขัดแย้งที่ไม่รู้จักสิ้นสุด ด้านนางซูจีเคยเรียกร้องหลายครั้งให้รัฐบาลทหารพม่าหันหน้ามาเจรจาด้วยแนว ทางสันติทั้งกับกลุ่มฝ่ายค้าน ชนกลุ่มน้อย เพื่อแก้วิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ แต่ก็ไม่มีท่าทีใดๆจาก
รัฐบาลทหาร (ที่มา
Irrawaddy 8 พ.ย.53)

พม่าอ้างมีผู้ไปใช้สิทธิ์กว่า 76 เปอร์เซ็นต์

สำนักข่าวชินหัวของจีนรายงานตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลพม่าว่า มีผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งพม่าครั้งแรกในรอบ 20 ปี เมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา ราว 76 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าสามในสี่ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง โดยมีผู้ไปใช้สิทธิ์ราว 22.18 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 18 ปี ขึ้นไปทั้งหมด 29 ล้านคน ตรงกันข้ามกับสำนักข่าวพม่านอกประเทศที่รายงานว่า มีผู้ไปเลือกตั้งบางตา เพราะไม่อยากสนับสนุนรัฐบาล โดยทางการพม่ายังอ้างอีกว่า มีผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์และงดออกเสียงเพียง 4.5 ล้านคน

ทั้งนี้ มีผู้สมัครทั้งหมด 3, 069 คน จาก 37 พรรค ลงชิงชัยเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยมีผู้สมัครเพียง 1,148 คน ที่ได้เลือกให้นั่งในสภาและคาดว่า รัฐบาลพม่าชุดใหม่จะสามารถเปิดสภาได้ในราวเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ด้านพรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (The Union Solidarity and Development Party - USDP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของรัฐบาลทหารพม่าอ้างว่า ได้ที่นั่งในสภาทั้งหมดคิดเป็น 76 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่มีรายงานทั่วประเทศว่า ทางการพม่าใช้วิธีซื้อเสียง ใช้ผลประโยชน์หลอกล่อ และการบังคับประชาชนลงคะแนนเสียงให้กับทางพรรคของรัฐบาล มีรายงานเช่นกันว่า เหตุที่พรรคของรัฐบาลชนะการเลือกตั้งในหลายพื้นที่นั้น เป็นเพราะไปบังคับชาวบ้านให้ลงคะแนนเสียงล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว รวมทั้งยังใช้วิธีทุตริตคดโกงในรูปแบบอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ที่นั่งในสภาจำนวน 1,148 ที่นั่งจะตกเป็นของผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งที่มาจากพรรครัฐบาล พรรคอิสระและพรรคของกลุ่มฝ่ายค้าน แต่ยังมีที่นั่งอีก 370 ที่นั่ง ที่ถูกสงวนไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งถูกแต่งตั้งโดยนายพลอาวุโสตานฉ่วย โดยไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง ตัวเลขทหารเป็นจำนวนมากที่จะปรากฏตัวในสภาพม่า จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า การเลือกตั้งพม่าที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่ชอบธรรม และจัดขึ้นเพื่อต่ออายุให้กับรัฐบาลทหารพม่าเท่านั้น         

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบทความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์http://twitter.com/salweenpost

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net