Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000)  Juan  Enriquez ได้เขียนไว้ในหนังสือ “As the Future Catches You”    ไว้ว่า “ภาษาที่ทรงพลัง...และมีแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของศตวรรษนี้กำลังจะเป็นภาษาของพันธุศาสตร์  คนที่ยังอ่านภาษานี้ไม่ออก จะไม่เข้าใจแรงผลักที่ทำให้เกิดความแตกต่างครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของพวกเขา (The dominant language…and economic driver of this century is going to be GENETICS.  Those who remain illiterate in this language won’t  understand the force making the biggest difference in their lives) ”

เมื่อประมาณกลางศตวรรตที่18 Gregor Mendel ชาวออสเตรียได้ทำการศึกษาทดลองผสมพันธุ์ถั่ว โดยใช้สายพันธุ์ที่มีลักษณะแตกต่างกัน เขาพบว่า ลักษณะต่างๆสามารถถ่ายทอดสู่รุ่นลูกหลานได้ ผลงานของเขามิได้รับความสนใจจากนักวิชาการมากนัก จนกระทั่งมีผู้ค้นพบผลงานอันทรงคุณค่านี้ในศตวรรตที่ 20  อย่างไรก็ตาม ความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องยีนอย่างลึกซึ้งยังมีอีกมากอาทิ ทำไมเมล็ดถั่วจึงงอกและเจริญเติบโตเป็นต้นถั่ว และอะไรอยู่เบื้องหลังการควบคุมและแสดงออกของลักษณะต่างๆที่สามารถถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ เป็นต้น 

ในศตวรรตต่อๆ มา เมื่อมีความก้าวหน้าทางวิชาการพันธุศาสตร์ในระดับโมเลกุล ได้ช่วยคลี่คลายปมปัญหาค้างคาต่างๆได้มากขึ้น  ทำให้รู้ว่าในเมล็ดถั่วแต่ละเมล็ดของเมนเดลนั้น  มีเส้นสายของดีเอ็นเอ (DNA—deoxyribonucleic acid) เป็นตัวบงการอยู่เบื้องหลัง  มวลดีเอ็นเอของแต่ละชนิดพันธุ์เป็นแหล่งข้อมูลของยีนที่ควบคุมลักษณะต่างๆ และทำหน้าที่เป็นแผนที่นำทางในการเจริญเติบโตของถั่ว กำหนดการแสดงออกของลักษณะต่างๆ  ดังนั้นเมล็ดถั่วจึงไม่มีทางงอกและเจรฺญเติบโตเป็นต้นพืชชนิดอื่นได้เลย

ความลี้ลับเหล่านี้ชัดเจนขึ้นในปี พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) เมื่อ James Watson และ Francis Crick ค้นพบโครงสร้างของดีเอ็นเอ ว่ามีลักษณะเป็นเส้นคู่บิดเกลียวอยู่ (double helix)  บนเส้นดีเอ็นเอ มีเบส (bases)  อยู่สี่ ตัวคือ A (adenine) , T (thymine), C (cytosine) และ  G (guanine) เรียงรายกันอยู่  ในตอนหลังพบว่าสิ่งมีชีวิตแต่ละรูปนาม มีลำดับการเรียงตัวของเบสที่แตกต่างกัน  ทำให้สิ่งมีชีวิตแต่ละรูปนามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งมีประโยชน์มากในเชิงการตรวจสอบสิ่งมีชีวิต

จากความรู้พื้นฐานดังกล่าว ทำให้นักวิจัยเริ่มคิดเสาะหาข้อมูลเชิงลึกในสิ่งมีชีวิต ทั้งของ จุลินทรีย์ พืช สัตว์รวมทั้งมนุษย์ ทั้งนี้เพราะรู้ว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีโครงสร้างดีเอ็นเอแตกต่างกัน มีจำนวนยีนแตกต่างกัน การค้นหายีนจึงเกิดขึ้น โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วย คือ เทคโนโลยีชีวภาพก้าวหน้า (advanced biotechnology) และเทคโนโลยีอิเล็กโทรนิคคอมพิวเตอร์  การศึกษาวิจัยดังกล่าวรู้กันว่าเป็นการ “เปิดตำราชีวิต หรือ open book of life”

ข้าวเป็นพืชอาหารสำคัญอย่างหนึ่งของโลก ซึ่งยังมีปัญหาการผลิตและปัญหาคุณภาพอยู่นักวิชาการจึงได้ร่วมกันดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยค้นหายีนในข้าว อันจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ครั้งสำคัญที่นำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ   “โครงการวิจัยจีโนมข้าวนานาชาติ (International Rice Genome Sequencing Program--IRGSP) จึงได้เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1997)  ประเทศผู้นำการศึกษาวิจัยนี้มี 10 ประเทศ นำโดยประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2543 (ค.ศ. 2000)

ประเทศไทยในระยะแรกยังไม่มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการ  แต่ด้วยความมุ่งมั่นของคณะทำงานในเรื่องนี้ ซึ่งริเริ่มขึ้นภายใต้การสนับสนุนของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ทำให้ไทยสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ในปีถัดมา

ก่อนการเข้าร่วมโครงการ ศูนย์ไบโอเทค ได้สนับสนุนให้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดล เดินทางไปร่วมประชุมวิชาการจีโนมของกุ้งที่เมืองแมสสาชูเซท สหรัฐอเมริกา และตระเวณดูงานตามห้องปฏิบัติการชั้นนำของสหรัฐหลายแห่ง ทำให้สามารถตัดสินใจที่จะดำเนินงานโครงการศึกษาวิจัยจีโนมข้าวได้  มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนมข้าวขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน ในระยะแรกได้รับงบประมาณดำเนินการจากศูนย์

ไบโอเทค และต่อมาได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลงวดแรกเป็นเงิน 10 ล้านบาท ซึ่งต้องขอขอบพระคุณ ฯพณฯ บุญชู  โรจนเสถียร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ที่ช่วยผลักดันให้ได้รับงบประมาณผ่านการแปรญัติ  และที่สำคัญยิ่ง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานเงินก้นถุงจำนวน 2 ล้านบาท สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาจีโนมข้าว ทำให้โครงการศึกษาวิจัยนี้ นำโดย รศ. ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตรและคณะ สามารถดำเนินการต่อมาได้ด้วยดี  ในที่สุดได้รับการพัฒนาเป็น “หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว”   และได้ดำเนินงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันโภชนาการของมหาวิทยาลัยมหิดล มาโดยตลอด ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เพื่อพัฒนาเป็นอาหารเสริมสุขภาพ ป้องกันการเกิดโรค และอาจเป็นยารักษาโรคได้ด้วย  อาทิ พันธุ์ข้าวธาตุเหล็กสูง  ข้าวต้านโรคเบาหวาน และข้าวต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

ในการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งปฐมฤกษ์ ระหว่างวันที่ 15 – 17 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้องค์ความรู้จากผลงานวิจัยจีโนม การใช้เทคโนโลยีเพื่ออนาคต “ข้าวไทย”   ถึงเวลาหรือยังที่จะมีกองทุนข้าวเกิดขึ้นเช่นเดียวกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net