Skip to main content
sharethis

9 ธ.ค. 2553 - เว็บไซต์ โครงการณ์รณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign) รายงานว่า ที่กระทรวงแรงงาน นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 18 เพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2554 ภายหลังการประชุม 2 ชั่วโมง จากนั้น นายสมเกียรติ กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2554 ทั่วประเทศในอัตรา 8-17  บาท

โดยพิจารณาจากตัวเลขค่าจ้างที่แต่ละจังหวัดเสนอมาเป็นหลัก พร้อมกับดูในเรื่องของภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง รวมทั้งพิจารณาถึงการจ่ายชดเชยอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าขั้นต่ำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ส่วนต่างของค่าจ้างบางจังหวัดสูงถึง 70-80 บาท ดังนั้นการพิจารณาปรับครั้งนี้ จึงได้ดูเป็นรายภาคเรียงกัน อย่างไรก็ตาม การจ่ายชดเชยในส่วนของค่าจ้างที่มีส่วนต่างไม่สามารถปรับในครั้งเดียวได้ เพราะจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและนายจ้าง จึงต้องดำเนินการปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใน 5 ปี

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบนี้ เพื่อต้องการรักษาอำนาจการซื้อของผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนพัฒนาฝีมือแรงงานที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ในแต่ละวันอย่างมีคุณภาพ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นต่ำสุด 8 บาท มี 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา จาก 151 บาท เป็น 159 บาท, ศรีสะเกษ 152 บาท เป็น 160 บาท, อำนาจเจริญ 155 บาท เป็น 163 บาท, นครสวรรค์ จาก 158 บาท เป็น 166 บาท, เพชรบูรณ์ 158 บาท เป็น 166 บาท, อุทัยธานี 160 บาท เป็น 168 บาท และประจวบคีรีขันธ์ 164 บาท เป็น 172 บาท

ปรับขึ้นในอัตรา 9 บาท 24 จังหวัด ได้แก่ น่าน จาก 152 บาท เป็น 161 บาท, ตาก จาก 153 บาท เป็น 162 บาท, สุรินทร์ 153 บาท เป็น 162 บาท, มหาสารคาม 154 บาท เป็น 163 บาท, นครพนม 155 บาท เป็น 164 บาท, ชัยภูมิ ลำปาง หนองบัวลำภู จาก 156 บาท เป็น 165 บาท, เชียงราย บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ยโสธร สกลนคร จาก 157 บาท เป็น 166 บาท, ชัยนาท สุพรรณบุรี จาก 158 บาท เป็น 167 บาท, ตราด ลำพูน จาก 160 บาท เป็น 169 บาท, สมุทรสงคราม จาก 163 บาท เป็น 172 บาท, อ่างทอง 165 บาท เป็น 174 บาท, เชียงใหม่ 171 บาท เป็น 180 บาท, พระนครศรีอยุธยา 181 บาท เป็น 190 บาท, สระบุรี 184 บาท เป็น 193 บาท, สมุทรปราการ 206 บาท เป็น 215 บาท และกรุงเทพมหานคร 206 บาท เป็น 215 บาท

ปรับขึ้น 10 บาท 16 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ จาก 153 บาท เป็น 163 บาท, มุกดาหาร 155 บาท เป็น 165 บาท, กาฬสินธุ์ ขอนแก่น 157 บาท เป็น 167 บาท, กำแพงเพชร 158 บาท เป็น 168 บาท, หนองคาย 159 บาท เป็น 169 บาท, นครนายก 160 บาท เป็น 170 บาท, เลย สระแก้ว 163 บาท เป็น 173 บาท, นครราชสีมา 173 บาท เป็น 183 บาท, นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรสาคร จาก 205 บาท เป็น 215 บาท

ปรับขึ้น 11 บาท 6 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี 159 บาท เป็น 170 บาท, นราธิวาส อุบลราชธานี 160 บาท เป็น 171 บาท, สิงห์บุรี 165 บาท เป็น 176 บาท, เพชรบุรี 168 บาท เป็น 179 บาท, ระยอง 178 บาท เป็น 189 บาท

ปรับขึ้น 12 บาท 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ พิจิตร จาก 151 เป็น 163 บาท, สุโขทัย 153 บาท เป็น 165 บาท, อุดรธานี 159 บาท เป็น 171 บาท, ยะลา 160 เป็น 172 บาท, จันทบุรี 167 บาท เป็น 179 บาท, กาญจนบุรี 169 บาท เป็น 181 บาท, ลพบุรี 170 บาท เป็น 182 บาท, ระนอง 173 บาท เป็น 185 บาท, ชลบุรี 184 บาท เป็น 196 บาท

ปรับขึ้น 13 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 159 บาท เป็น 172 บาท, ชุมพร 160 บาท เป็น 173 บาท, ตรัง 162 บาท เป็น 175 บาท, ราชบุรี 167 บาท เป็น 180 บาท, พังงา 173 บาท เป็น 186 บาท, ฉะเชิงเทรา 180 บาท เป็น 193 บาท, ปราจีนบุรี 170 บาท เป็น 183 บาท

ปรับขึ้น 14 บาท มี 3  จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สตูล 159 บาท เป็น 173 บาท, กระบี่ 170 บาท เป็น 184 บาท

ปรับขึ้น 15 บาท มี 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 159 บาท เป็น 174 บาท, สงขลา 161 บาท เป็น 176 บาท

และปรับขึ้น 17 บาท มี 1 จังหวัด คือภูเก็ต 204 บาท เป็น 221 บาท

“สาเหตุที่จังหวัดภูเก็ตได้รับการ ปรับขึ้นสูงสุด เพราะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ที่มีค่าครองชีพสูง ซึ่งเดิมอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอปรับขึ้น 11 บาท แต่บอร์ดค่าจ้างกลางได้บวกค่าคุณภาพชีวิต ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจอีก 6 บาท รวมเป็น 17 บาท ทั้งนี้จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม มีลูกจ้างที่จะได้รับการปรับค่าจ้างครั้งนี้จำนวน 2 ล้านคน เป็นเม็ดเงิน 6,918 ล้านบาท เมื่อรวมกับแรงงานต่างด้าวอีกประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ เป็นเงิน 7,700 ล้านบาท เมื่อรวมแล้วจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น 14,900 ล้านบาท” นายสมเกียรติ กล่าว

ด้าน นายปัณณพงษ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกปี มักจะมีข้อถกเถียงกันมาก แต่ปีนี้เป็นปีที่การขึ้นค่าจ้างไม่เกินความคาดหมาย เพราะมีการพูดคุยมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ตัวเลขที่ปรับขึ้นอยู่ในอัตราประมาณนี้

“อย่างไรก็ตาม ที่มีการพูดกันว่าการขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ ปรับไม่ถึง 250 บาทต่อวัน ตามที่นายกฯ เคยพูดไว้ ผมในฐานะที่เป็นภาคเอกชน ก็บอกได้เลยว่า อัตราที่ปรับขึ้น 8-17 บาท เป็นตัวเลขที่นายจ้างสามารถจ่ายได้แค่นี้ เต็มที่แล้ว เพราะการขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ ส่งผลกระทบกับนายจ้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากค่าจ้างฐานล่างได้มีการขยับ ก็จะทำให้ค่าจ้างในระดับบนต้องปรับขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่ายังไม่มากพอ ส่วนที่เกินก็ให้รัฐบาลเอามาเสริมให้เต็ม ตามที่ประกาศไว้ ให้ถือว่าเป็นสวัสดิการสำหรับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งก็เหมือนกับการที่รัฐบาลปรับเงินเดือนให้กับลูกจ้างรัฐ” นายปัณณพงษ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกัน ที่ด้านข้างกระทรวงแรงงานช่วงเช้าที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มผู้ใช้แรงงาน มารวมตัวชุมนุมประมาณกว่า 100 คน เพื่อกดดันให้บอร์ดค่าจ้าง พิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10 บาททั่วประเทศ ตามที่องค์กรแรงงานฯ เคยยื่นข้อเรียกร้องไว้

โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มารับหนังสือด้วยตนเอง และภายหลังจากที่ทราบผลว่า บอร์ดค่าจ้างมีมติปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 8-17 บาท

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมถือว่าพอใจกับผลที่ออกมา อย่างไรก็ตาม อยากให้ทางคณะกรรมการค่าจ้างกลับไปทบทวนจังหวัดที่ได้รับการปรับขึ้นน้อย กว่า 10 บาท ทั้งหมด 31 จังหวัด เพราะค่าคุณภาพชีวิตยังต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่มาก ซึ่งทางองค์การแรงงานฯ จะยื่นหนังสือถึงปลัดกระทรวงฯ ให้ปรับขึ้นค่าแรงเพิ่มเติมในจังหวัดเหล่านี้ ในวันที่ 12 ธ.ค. 2553 รวมทั้งขอให้ชี้แจงเหตุผลกรณีปรับขึ้นค่าจ้างให้จังหวัดภูเก็ตถึง 17 บาท ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวที่ได้รับการปรับขึ้นสูงที่สุด

ที่มา
โครงการณ์รณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai Labour Campaign)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net