Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.53 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมฟ้าหลวง โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิฯ และประธานอนุกรรมการฯ ได้จัดเวทีรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริง และสื่อสารต่อสาธารณะ กรณีการปักหมุดรังวัดขอบเขตแผนที่คำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานี ซึ่งดำเนินการโดย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในช่วงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้มีข้อร้องเรียนถึงขั้นตอนการดำเนินการว่าหน่วยงานรัฐได้ละเมิดสิทธิชุมชน เนื่องจากมิได้มีการประชุมชี้แจง และประชาคมถามความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ จึงถือว่าเป็นการดำเนินการปักหมุดรังวัด ที่ไม่มีความชอบธรรมและขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการดำเนินการของ กพร. ได้นำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกของชาวบ้านระหว่างฝ่ายสนับสนุน กับฝ่ายคัดค้านการดำเนินโครงการเหมืองโปแตซ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงร้องเรียนเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดเวทีภายในวันนี้ว่า ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ จำนวนกว่า 200 คน ได้พร้อมใจกันเดินทางไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยมีหน่วยงาน/องค์กรราชการส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการเหมืองแร่โปแตซ เข้าร่วม ซึ่งนอกจากผู้แทนจาก กพร. และผู้แทนอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว ก็ยังมีข้าราชการอำเภอประจักษ์ฯ,เจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้แทนการรถไฟ, ผู้แทนอบต. 4 ตำบลในพื้นที่ (ได้แก่ ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และต.นาม่วง ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม) , ฯลฯ รวมทั้งมีตัวแทนจากสถาบันวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชมมาเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 300 คน

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่พบผู้แทนข้าราชการในจังหวัดอุดรธานี และบริษัทเอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี) ซึ่งเป็นบริษัทที่ยื่นคำขอประทานบัตรดำเนินโครงการเข้าร่วมชี้แจง โดยทางคณะกรรมการสิทธิฯ ก็ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้ออกหนังสือเชิญทั้งจังหวัดและบริษัทฯ แล้วเพื่อให้มาชี้แจง

ขณะเดียวกันกลับพบว่านายทวี เรืองปราชญ์ ผู้จัดการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์ของ บริษัทเอพีพีซี ได้เกณฑ์ชาวบ้านกลุ่มสนับสนุน จำนวนกว่า 50 คน มาก่อกวนอยู่ด้านนอกห้องประชุม และส่งตัวแทนประมาณ 10 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์ในเวที จึงทำให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ไม่พอใจและเกิดการทะเลาะโต้เถียงกันขึ้น แต่ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรง โดยนพ.นิรันดร์ ได้ขอความร่วมมือจากทั้งสองฝ่ายให้อยู่ในอาการสงบ

โดยนายชาติ หงษ์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้กล่าวถึงการดำเนินการปักหมุดรังวัด เมื่อ วันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า เจ้าหน้าที่ กพร. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ในส่วนการประชาคม หรือการรับฟังความคิดเห็นนั้น มิได้มีระเบียบปฏิบัติที่จะต้องกำหนดให้รับฟังความคิดเห็นก่อนการรังวัดเขตคำขอประทานบัตร ไม่ว่าจะเป็นคำขอประทานบัตรตามปกติ คำขอประทานบัตรเข้าข่ายโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง หรือคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน แต่สำหรับกรณีคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดิน กรณีเหมืองโปแตซจังหวัดอุดรฯ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชานในพื้นที่ทราบแล้ว และล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ทางกรมฯ ได้มีการจัดประชุมชี้แจงขั้นตอนการขอประทานบัตรและรังวัดคำขอประทานบัตรเหมืองใต้ดินไปแล้ว จึงถือว่าการปักหมุดดังกล่าวเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์

ด้านผู้แทนจากส่วนราชการในพื้นที่ทั้ง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม, ผู้แทนจากการรถไฟ และผู้แทนจาก อบต. 4 ตำบล ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าส่วนราชการในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นกับการปักหมุดรังวัดในครั้งนี้แต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมด กพร.ส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการเอง

โดยนายประจักษ์ อุดชาชน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสามพาด กล่าวว่า ตนได้รับหนังสือจาก กพร.เชิญให้เข้าร่วมรับฟังในเวทีวันที่ 29 ต.ค. ในเช้าวันเดียวกันนั่นเอง ซึ่งเห็นว่ามันมีความสำคัญกับพี่น้องในชุมชนจึงเข้าร่วมเวที และในวันถัดมาที่มีการปักหมุดรังวัดตนไม่ทราบ เพราะไม่ได้มีการแจ้งมาถึง อบต. แต่รู้เรื่องได้จากการเห็นชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ออกมาคัดค้านการปักหมุดดังกล่าว ตนจึงคอยช่วยดูแลเรื่องน้ำดื่ม และห้องสุขาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้าน

ด้าน นางมณี บุญรอด รองประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้กล่าวถึง การดำเนินการปักหมุดรังวัด ของเจ้าหน้าที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ในช่วงที่ผ่านมาว่า การปักหมุด รังวัด ของ กพร. ไม่มีความชอบธรรม เพราะว่าไม่ได้มีการลงมาชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ สิ่งที่ กพร. ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาฯ ที่ผ่านมานั้น เป็นเพียงการจัดเวทีประชาสัมพันธ์เพียงเท่านั้น โดยมีการใช้เงินเกณฑ์ชาวบ้านไปร่วมเวทีให้เสร็จสิ้นพอเป็นพิธีกรรมแล้วก็ลงมารังวัดเลย แล้วสิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งในพื้นที่ที่เกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

 “สำหรับเวทีในวันนี้ ดิฉันรู้สึกแปลกใจและกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ผู้แทนจากจังหวัดโดยเฉพาะผู้ว่าฯ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการดำเนินการปักหมุดรังวัดไม่ได้เข้าร่วมชี้แจง และบริษัทก็ไม่ได้เข้ามาชี้แจงข้อกังขาแก่ชาวบ้าน ทั้งๆ ที่ขั้นตอนของการรังวัดเป็นขั้นตอนเริ่มแรกที่สำคัญของการดำเนินโครงการเหมืองโปแตซ แต่บริษัทก็ไม่ใส่ใจต่อการมีส่วนร่วม แล้วต่อไปถ้าหากบริษัทจะดำเนินโครงการเหมืองโปแตซจะรับผิดชอบ และสร้างความเชื่อใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างไร” นางมณี กล่าว

ในส่วนของนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้าน สิทธิชุมชน และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้กล่าวถึงการจัดเวทีในวันนี้ว่า หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในกรณีการปักหมุดรังวัดเหมืองแร่โปแตซจังหวัดอุดรธานีว่าไม่มีความชอบธรรม โดยบทบาทของคณะกรรมการสิทธิฯ จึงได้ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยในวันนี้เป็นการเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้ามาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง แล้วคณะกรรมการสิทธิจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปเพื่อนำไปสู่การสรุปเป็นความเห็นและข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิฯ อีกทั้งเวทีในวันนี้ยังเป็นการเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงสู่สาธารณะให้รับรู้ถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น

นายแพทย์นิรันดร์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “อยากให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ยึดหลัก ของกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน และหลักสิทธิชุมชน ตามมาตรา 66 และ 67 เพราะเป็นหลักพื้นฐาน ซึ่งชาวบ้านสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและตัดสินใจต่อการดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือเอกชน และเรื่องของความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าหากเกิดขึ้นมาแล้วก็ยากที่จะเยียวยาดังที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยในขณะนี้” นายแพทย์นิรันดร์กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net