สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 29 พ.ย. - 5 ธ.ค. 2553

ชี้ปลายปีแรงงานไทยเตรียมอดโบนัส

29 พ.ย. 53 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงว่า ภาวะสังคมไทยไตรมาส ปี 53 พบว่าการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.8% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสในการทำงานและสร้างรายได้ดีขึ้น ขณะที่อัตราว่างงานเฉลี่ยลดลง 0.9% โดยมีผู้ว่างงาน 341,000 คน โดยลดลงจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อนที่มีอัตราว่างงาน 1.2% สอดคล้องกับจำนวนผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานที่ลดลงเหลือ 124,037 คน

นางสุวรรณี กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามต้องจับตาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน ในระยะสั้นคือผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อรายได้แรงงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนประกอบหลัก ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใช้แรงงานสูง ทั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอ รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนัง อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารสำเร็จรูปและสินค้าเกษตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง ต่อรายได้ของแรงงานจากการลดโบนัส หรือไม่ปรับขึ้นเงินเดือนในช่วงปลายปี เนื่องจากผลตอบแทนจากการประกอบการที่ลดลง ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินบาทยังทำให้รายได้ในรูปเงินบาทของแรงงานไทย ที่ส่งกลับจากต่างประเทศลดลง 1,161 ล้านบาท

นางสุวรรณี กล่าวด้วยว่า จากจำนวนผู้สมัครงานที่ลดลง 21.6% เร็วกว่าตำแหน่งว่างงานที่ลดลง 2.9% ในไตรมาสที่ 3 ทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งจากการสำรวจของความต้องการแรงงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีประมาณ 616,194 ล้านบาท หรือ 20% ในอีก 5 ปี (54-58) พบว่ายังมีความต้องการแรงงานมากถึง 248,862 คน โดยต้องการมากในแรงงานระดับ ม.3-ม.6 จำนวน 131,628 คน ระดับปวช. 37,829 คน ปวส. 51,813 คน และปริญญาตรี 27,591 คน.

(เดลินิวส์, 29-11-2553)

ตั้งศูนย์กวาดล้างต่างด้าวผิดกฎหมาย เน้น 2 กลุ่มเสี่ยงกว่า 5 แสนคน กำชับยึดหลักสิทธิมนุษยชน

29 พ.ย. 53 - นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวระหว่างเป็นประธานในการประชุมและมอบนโยบายแนวทางปฏิบัติงานคณะทำงาน ตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าว ว่า แนวทางการปฏิบัติงานจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างจัดหางานจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมการปกครอง กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และสำนักงานสืบสวนคดีพิเศษ ภายใต้ชื่อว่า "ศูนย์ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงาน และกระบวนการค้ามนุษย์" (ศป.รต.) โดยมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งจะแบ่งการทำงานออกเป็น 5 เขต ได้แก่ เขตกรุงเทพและปริมณฑล ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยให้ตัวแทนจัดหางานจังหวัดในแต่ละเขต ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ ซึ่งคณะทำงานจะต้องแจ้งผลการปฏิบัติงานทุกๆ 15 วัน ต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงาน

"ศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจจับ แรงงานต่างด้าวที่อยู่อย่างผิดกฎหมายใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไปขึ้นทะเบียนกับกรมการปกครอง แต่ไม่มาขอใบอนุญาตทำงาน และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ แต่ไม่มาต่อใบอนุญาต จำนวนรวมทั้งสิ้น 509,864 คน นอกจากนี้ ยังมอบให้ศูนย์ฯ กวดขัน จับกุมขยายผลไปยังนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ทั้งที่นำแรงงานต่างด้าวเข้ามา และที่นำคนไทยไปทำงานต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การทำงานดังกล่าวจะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด อย่าให้ภาพปรากฏออกมาในลักษณะของการใช้ความรุนแรง เนื่องจากอาจกระทบกระเทือนกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้"นายจีรศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นายเดชา พฤกษ์รัตนรักษ์ จัดหางานจังหวัดนครปฐม หัวหน้าชุดปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีแรงงานต่างด้าวลักลอบทำงานและกระบวนการค้ามนุษย์ เขต 2 (ภาคกลาง) กล่าวว่า การทำงานในรูปแบบใหม่น่าจะเป็นระบบและคล่องตัวมากขึ้น

(แนวหน้า, 29-11-2553)

บ.แม็กซิสประกาศเครื่องจักรเสียสั่งหยุดงาน 7 วันระหว่างเจรจา

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 สหภาพแรงงาน แม็กซิส ประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกจำนวนกว่า 1,600 คน(หญิงประมาณ 400 คน )ได้ยื่นข้อเรียกต่อบริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล(ไทยแลนด์)จำกัด โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมดจำนวน  20 ข้อโดยมีข้อเรียกร้องสำคัญๆ ดังนี้

1.ให้บริษัทจ่ายโบนัส110*250+20,000 (เงินบวกให้สำหรับสมาชิก)

2. ให้บริษัทปรับเงินขึ้น 8%+อายุงานปีละ 300ค่ากะ 55/วัน

3. ขอให้ช่วยจ่ายค่าบ้าน 900/เดือน ค่าข้าว 35/25 เบี้ยขยันขั้นบันได 700-800-900 ให้จัดวันละพักร้อนเพิ่มจากเดิม 1-3=6,3-6=8,6 ปีขึ้นไป 10วัน และสามารถสะสมวันลาได้ไม่เกิน 12 วัน 5. ขอให้บริษัทจัดค่ารถ 900/ เดือน และจัดให้มีวันกิจกรรม 1วัน/ปี โดยเช้าจัดกีฬาเย็นกินเลี้ยง และบริษัทสนับสนุนรถรับส่ง งบประมาณขอวันเสาร์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ รวมทั้ง 6. ขอให้บริษัท ฯ ทำประกันอุบัติเหตุให้กับพนักงาน และจ่ายค่าชดเชยให้สำหรับพนักงานที่เสียชีวิตทุกกรณีคนละ 50,000 บาท

7. ให้บริษัทปรับพนักงานผ่านการทดลองงาน 119 วันปรับค่าจ้างให้เป็นรายเดือน และขอให้บริษัท ฯจ่ายค่าเทคนิคให้กับพนักงานที่ไม่ได้รับเบี้ยการผลิต 1ปี=500, 2=1000, 3=1,500, 4=2,000 ต่อเดือน

8. ขอให้บริษัทช่วยจัดที่ทำการสหภาพแรงงาน 1 ห้อง พร้อมทั้งให้มีกรรมการอยู่ประจำห้องโดยไม่หักค่าแรงและโอทีขอให้กรรมการลา สัมมนากับองค์กรภายนอกโดยบริษัทไม่หักค่าแรงและสวัสดิการใดๆ เป็นการช่วยเหลือให้ปรึกษาสมาชิก พนักงานทุกคนที่ต้องการ และเพื่อความสะดวกต่อการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัทกับทางสหภาพแรงงานในการ ประสานงานติดตามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาความเจริญขององค์กร

9. ให้เพิ่มของขวัญให้กับพนักงานดีเด่นประจำปี1=2,000, 2=3,000, 4=5,000,5ปีขึ้นไป 6,000 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพนักงานที่มุ่งหมั่นทุ่มเททำงานให้กับบริษัท และขอให้บริษัทหักค่าบำรุงสมาชิกสหภาพแรงงานฯหักณ.ที่จ่ายโดยผ่านบัญชีสหภาพ แรงงานเพิ่มวันหยุดประจำปีให้กับพนักงานอย่างละ 2 วัน(ปีใหม่+สงกรานต์)

โดยมีการนัดเจราครั้งแรกในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 เวลา 08.30 น. เช้าตรู่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 เวลาประมาณ 05.00 น.หลังจากพนักงานกะดึกเลิกงานตามเวลาปกติบริษัทได้ปิดประตูรั้วโรงงานและ ประกาศห้ามพนักงานทุกคนเข้าทำงาน อ้างเหตุเครื่องจักรเสียหายต้อง ซ่อมบำรุงจึงประกาศปิดงานเป็นเวลา 7 วัน

พนักงานกะดึกรายหนึ่งกล่าวว่าเมื่อคืนเราก็ทำงานปกติ เหมือนที่เคยทำงานทุกวัน แต่เวลาเลิกงานตอนตีห้าบริษัทก็ประกาศว่าจะหยุดงาน 7 วัน โดยอ้างเหตุเครื่องจักรเสีย พนักงานทุกคนก็งงเครื่องจักรเสียได้อย่างไรเมื่อเรายังทำงานกันได้ดีๆอยู่ เลย

พนักงานกะเช้ารายหนึ่งกล่าวเสริมว่าผมก็เดินทางมาทำงานปกติมาถึงโรงงานตอนเช้า(เวลา 07.00 น.) ก็แปลกใจทำไมเพื่อนมานั่งอยู่หน้าโรงงาน พอไปถามเพื่อนจึงรู้ว่าบริษัทประกาศปิดงาน โดยอ้างว่าเครื่องเสีย ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า เครื่องจักรจะเสียจนต้องให้พนักงานหยุดงานยาวขนาดนี้ด้วยหรือ อีกทั้งบริษัทเอาใครก็ไม่รู้สวมเครื่องแบบสีดำมายื่นเฝ้าหน้าประตู ทั้งที่ไม่ใช่พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ของบริษัท

ที่บริเวณหน้าบริษัทในช่วงเช้าเต็ม ไปด้วยความโกลาหล สับสนของพนักงานทั้งหมด จนคณะกรรมการสหภาพแรงงานเดินทางมาถึงจึงได้มีการชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้น พร้อมทั้งให้พนักงานทุกคนอยู่ในความสงบเรียบร้อย และจะมีการเจราข้อเรียกร้องตามปกติ

ในวันเดียวกัน (25 พ.ย.) ขณะที่ตัวแทนลูกจ้างกำลังเจราจาตัวแทนบริษัท บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล(ไทยแลนด์) จำกัด ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อสหภาพแรงงาน แม็กซิส ประเทศไทย โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมดจำนวน  3 ข้อดังนี้ 1. เปลี่ยนแปลงการทำงาน จาก 2กะเป็น 3 กะ 2. เปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายเบี้ยการผลิต โดยยกเลิกมาเป็นรูปแบบมาตรฐานการทำงาน ตามวิธีการมาตรฐานทั่วไป 3. ขอให้ข้อตกลงในการเจรจาในปี 2553 นี้ มีผล 36 เดือน ในขณะที่ตัวแทนการเจรจากำลังเจรจาอยู่นั้น พนักงานทั้งหมดต่างเฝ้ารอผลการเจรจาอย่างใจจดใจจ่อ โดยหวังว่าผลการเจรจาจะเป็นไปด้วยดี

เวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนเจรจาได้ออกมาชี้แจงต่อตอนหนึ่งว่าขณะนี้บริษัทได้ทำการยื่นข้อเรียกร้องขอสวัสดิการคืนจากสหภาพแรงงาน พร้อมกับประกาศให้หยุดงานอีก 7 วันโดยบอกว่าเครื่องจักรเสียต้องซ้อมแซม และยังไม่พร้อมเจรจากับสหภาพแรงาน หากไม่มีการเจรจาข้อเรียกร้องของบริษัทที่ยื่นต่อสหภาพแรงงานก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 3 ข้อ คือเปลี่ยนแปลงการทำงานจากเดิม 2 กะ เพิ่มเป็น 3 กะ พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงระบบการจ่ายเบี้ยการผลิต ยกเลิกรูปแบบมาตรฐานการทำงาน และให้ทำข้อตกลง 36 เดือน หากถามว่าสหภาพแรงงานต้องมีอะไรคืนให้นายจ้างคงไม่มี เพราะสวัสดิการเดิมก็ไม่มีอะไรมากพอที่จะคืนให้กับบริษัทฯ จากความทุ่มเททำงานเพื่อให้บริษัทมีผลกำไรจำนวนมาก แต่บริษัทกลับมายื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างนั้นไม่ชอบธรรม อย่างแน่นอน

หนึ่งให้กรรมการสหภาพแรงงานยังกล่าว อีกว่าถ้าบริษัทให้สวัสดิการและค่าจ้างที่ดีคงไม่มีพนักงานคนใดที่จะมาเรียกร้อง ขอปรับ หรือเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างอีก การชุมนุมครั้งนี้เป็นเพราะบริษัทประกาศปิดโรงงาน และพนักงานไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะเช้ามาก็จะมีรถรับส่งไปรับมาทำงานแต่ วันนี้ไม่มีรถ แต่ทุกคนก็มาที่บริษัทเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น คงไม่มีใครออกมานั่งข้างโรงงานที่ร้อนก็ร้อนหิวก็หิว เหนื่อยก็เหนื่อยอย่างนี้หากไม่มีความจำเป็น

บริษัท แม็กซิส อินเตอร์เนชั่นแนล(ไทยแลนด์)จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อีสต์เทิร์น ซีบอร์ด ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง บนเนื้อที่กว่า 600 ไร่ มีพนักงานกว่า 2,700 คน (พนักงานเหมาค่าแรงประมาณ 300 คน พนักงานชาวกัมพูชาประมาณ 300 คน) ผลิตยางรถยนต์ ยี่ห้อ MAXXIS ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีกำลังการผลิตกว่า 30,000 เส้นต่อวัน

(นักสื่อสารแรงงาน, 29-11-2553)

นักวิชาการแนะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มคุณภาพแรงงาน

29 พ.ย. 53 – นายสมชัย  จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2553 ในหัวข้อการจัดหาทรัพยากรทางการเงินรองรับระบบสวัสดิการว่า ทิศทางในการปรับปรุงระบบสวัสดิการพื้นฐาน เพื่อดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงนั้น ควรต้องทำการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ด้วยการทบทวนสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุนเพราะปัจจุบันมีการสูญเสีย รายได้ผ่านบีโอไอนับแสนล้านบาท

นายสมชัย กล่าวว่า ควรมีการปรับอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้นมากกว่าปัจจุบัน เนื่องจากไทยมีภาษีมูลเพิ่มในระดับต่ำและเหลือเพียง 2-3 ประเทศในโลกเท่านั้น และเห็นว่าระดับปัจจุบันยังควรปรับเพิ่มได้อีก นอกจากนี้ยังควรปรับระบบการจัดเก็บภาษีทางด้านทรัพย์สินให้ขยายฐานมากขึ้น เพราะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการ อยู่นั้น มองว่าไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอแต่เป็นเพียงการเพิ่มฐานรายได้ให้กับ รัฐบาลเท่านั้น จึงต้องมียุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการ มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเห็นว่าโครงสร้างภาษีรายได้ของรัฐบาลมีความเปราะบาง จึงเห็นว่าสัดส่วนรายได้ควรเพิ่มจากร้อยละ 17-18  มาเป็นร้อยละ 21 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หลังวิกฤติเศรษฐกิจ รายได้ของแรงงานทุกกลุ่มลดลง และยังเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก โดยในปี 2552 ค่าจ้างแรงงานของกลุ่มมหาวิทยาลัยสูงกว่าในปี 2529 ประมาณร้อยละ 123 สูงกว่าค่าจ้างในระดับประถมการศึกษาร้อยละ 113 ทำให้ความเหลื่อมล้ำของกลุ่มมหาวิทยาลัยและกลุ่มมัธยมปลายน่าเป็นห่วงมาก ขึ้น ขณะที่ความต้องการแรงงานสูงขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อ เนื่องหลายปี ดังนั้นเพื่อให้แรงงานมีค่าจ้างสูงขึ้นต้องพัฒนาคุณภาพแรงงานให้ตรงกับความ ต้องการของตลาด ด้วยการอุดหนุนค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยให้เป็นแบบถ้วนหน้า เพราะความต้องการแรงงานระดับอุดมศึกษามีมากขึ้น

(สำนักข่าวไทย, 29-11-2553)

สมัชชาสหภาพแรงงานซัด "นายกฯ" เบี้ยวเพิ่มค่าข้างขั้นต่ำเข้าทางเพื่อไทยลั่นเพิ่มให้เป็น 300 บาท

ตัวแทนสมัชชาสหภาพแรงงาน นำโดยนายจีรวัฒน์ โพนเวียง ผู้ประสานงานสมัชชาสหภาพแรงงาน เข้ายื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรมว.คลังนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในฐานะอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ดำเนินการช่วยเหลือการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงาน ที่พรรคเพื่อไทย วันที่ 30 พฤศจิกายน

นายจีรวัฒน์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำทั้งระบบเท่ากันทั่วประเทศเป็น 250 บาทต่อวัน แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบต่อมติอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองค่าจ้างเคาะปรับค่า จ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 11 บาทต่อวันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 โดยกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ในอัตรา 215 บาทต่อวันแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา และตามที่สมัชชาผู้ใช้แรงงานได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคมใน 3 ประเด็น คือ

 1.ขอให้รัฐบาลเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เป็น 250 บาทตามสัญญา 2.เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิม 6 ปีเป็น 12 ปี ให้มีการคลอดบุตรฟรีและเงินช่วยเหลือขณะตั้งครรภ์และคลอดบุตรเหมาจ่ายเป็น เงิน 12,000 บาท และ3.ให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรงเพราะก่อ ให้เกิดปัญหาเลือกปฏิบัติ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงขอให้พรรคเพี่อไทยผลักดันช่วยเหลือ

"อยากให้นายกรัฐมนตรีคำนึงถึง จริยธรรมและความรับผิดชอบต่อคำพูด อย่าลืมว่าก่อนพูดเราเป็นนาย แต่เมื่อพูดออกไปแล้วคำพูดเป็นนายเรา สิ่งที่ผู้ใช้แรงงานเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญา นายกรัฐมนตรียังมีเวลาถึงวันที่ 1 มกราคม 2554 ไปแก้ไขค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 250 บาทต่อวันตามที่สัญญาไว้ ถ้าทำไม่ได้ พรรคเพื่อไทยพร้อมดำเนินการแทนและจะเพิ่มให้เป็น 300 บาทต่อวันแต่วิธีการยังไม่เปิดเผยเพราะกลัวถูกลอก"

(มติชน, 30-11-2553)

ชี้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนส่งคนต่างด้าวกลับฯ ตามระยะทางยังทำไม่ได้

30 พ.ย.- นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน  กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าว กลับออกไปนอกราชอาณาจักรว่า การประชุมวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ และรับมือการต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าว ที่จะหมดอายุลง ในช่วงเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จำนวนกว่า 600,000 คน โดยได้มีการเตรียมระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในจัดเก็บข้อมูลแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ ซึ่งมีอัตราการจัดเก็บต่างกัน คือกัมพูชา จำนวน 2,100 บาท พม่า และลาว จำนวน 2,400 บาท คาดว่าในปี 2554 จะสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนได้มากกว่า 1,200 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่ทางสภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอให้จัดเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ตามระยะทางนั้น ขณะนี้คงยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากได้ประกาศเป็นกฎกระทรวงไปแล้ว จึงต้องดำเนินการตามระเบียบนี้ไปก่อน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมวันนี้ได้รับทราบผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยในการตรวจจับ และผลักดันแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายกลับประเทศ โดยเฉพาะกองทัพไทยที่สกัดกั้นไม่ให้แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศได้กว่า ร้อยละ 22 ของการหลบหนีเข้าเมืองในปีที่ผ่านมา จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 20

(สำนักข่าวไทย, 30-11-2553)

"มาร์ค" บอกรอ 9 ธ.ค. สรุปตัวเลขขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

1 ธ.ค. 53 - ที่ทำเนียบรัฐบาล  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสมัชชาสหภาพแรงงาน แสดงความไม่พอใจที่นายกรัฐมนตรี ไม่ทำตามสัญญาว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศให้เป็น 250 บาทต่อวัน เพราะกลับให้คณะกรรมการค่าจ้างปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตรา 215 บาทต่อวัน ว่า ที่ผ่านมา เราพยายามให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุดในเรื่องของค่าแรง แต่เนื่องจากเป็นระบบไตรภาคี ซึ่งมีหลักคือเรามอบนโยบายให้ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลให้มีการปรับเพิ่มในลักษณะที่ เหมาะสม ซึ่งตนบอกแล้วว่าที่ผ่านมามีการเพิ่มค่าแรงค่อนข้างน้อย ประมาณ 2-3 บาทต่อวัน ดังนั้นปีนี้จึงควรเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่าขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นวันที่ 9 ธ.ค.นี้

เมื่อถามว่าสมัชชาดังกล่าวไม่พอใจ ที่จะมีการขึ้นค่าแรงแค่ 11 บาทต่อวัน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มันมีการพิจารณาหลายด้าน และนอกจากเรื่องของการขึ้นค่าแรงแล้ว ยังมีเรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคม อีกทั้งจะมีการหารืออย่างต่อเนื่องต่อไป

(ข่าวสด, 1-12-2553)

หอการค้าไม่ห่วงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

1 ธ.ค. 53 - นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวถึง กรณีที่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะมีการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ อีก 10-11บาททั่วประเทศ ในต้นปี 2554 ว่า ภาคเอกชนไม่เป็นห่วงการปรับขึ้นค่าแรงงานดังกล่าว หากมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้นควบคุมกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า และเชื่อว่าคณะกรรมการไตรภาคี คงมีการศึกษาผลดีและผลเสีย จากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจ พร้อมดำเนินการตาม ทั้งนี้ มองว่าการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับขึ้นราคาสินค้า

ขณะที่ทางด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน และเงินเดือนข้าราชการในปีหน้า จะไม่มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ โดยเชื่อว่า รัฐบาลจะดูแลให้อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในกรอบร้อยละ 3 ได้

(ไอเอ็นเอ็น, 1-12-2553)

เร่งตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพิ่มค่าจ้าง 10%

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเรื่อง "ทิศทางคุณวุฒิวิชาชีพแรงงานไทยสู่สากล" พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "นโยบายรัฐบาลกับทิศทางคุณวุฒิวิชาชีพแรงงานไทย" โดยกล่าวว่า รัฐบาลจับมือกับคณะกรรมการร่วมสถาบันภาคเอกชน 3 สถาบัน คือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ผลักดันการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ของกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานไทยประสบกับปัญหาการถูกกีดกันการเข้าทำงานจาก มาตรการที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษีในตลาดต่างประเทศ อีกทั้งไทยประสบกับปัญหาการว่างงาน การขาดแคลนแรงงาน ควบคู่กับปัญหาการขาดการเชื่อมโยงตลาดภาคแรงงานกับการศึกษาในประเทศ ซึ่งรัฐบาลเห็นควรต้องเร่งรัดการพัฒนาแรงงานที่มีคุณภาพแทนการใช้แรงงานราคา ถูก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรม โดยขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

นางสาวนริศ รา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพจะเป็นองค์กรมหาชนในการการันตีคุณภาพของแรงงานสาย วิชาชีพ โดยนำร่องในการรับรองแรงงานสาขากลุ่มอิเล็คทรอนิกส์ ช่างซ่อม แม่พิมพ์ ยานยนต์และไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมในกลุ่มเหล่านี้ ขาดแรงงานสายวิชาชีพรวม 2 แสนคน ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยนักศึกษาสายวิชาชีพ จะต้องผ่านการรับรองของสถาบันนี้ ซึ่งจะมีหลักสูตรอบรมทักษะ ความรู้ควบคู่ ตั้งเป้าเพิ่มค่าจ้างให้แรงงานในสายวิชาชีพอีก 10 เปอร์เซ็นต์ คาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้ต้นปีหน้า

ด้านตัวแทนภาคเอกชน 3 สถาบัน ก็ขานรับการจัดตั้งสถาบันนี้ แม้ว่าจะต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่เชื่อว่าจะส่งผลต่อผลผลิตทางอุตสาหกรรมให้มากขึ้น และจะลดต้นทุนได้ในที่สุด พร้อมกับเห็นด้วยกับแนวทางการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 10-11 บาททั่วประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะเชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานที่มีฝีมือเข้ามาทำงานมากขึ้น เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งขณะนี้มีแรงงานในส่วนของธุรกิจนำ เที่ยวทั้งสิ้น 5 แสนคน แต่มีแรงงานสายวิชาชีพไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่มีความต้องการสูง โดยเฉพาะตำแหน่งรับจองตั๋ว และการบริการ โดยขณะนี้ขาดแรงงานสายวิชาชีพไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนคน หรือครึ่งหนึ่งของแรงงานในกลุ่มทั้งหมด

(ครอบครัวข่าว, 1-12-2553)

"บ.กู๊ดเยียร์-สหภาพ" บรรลุข้อตกลง เปิดงาน 2 ธ.ค. นี้

บริษัท กู๊ดเยียร์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่าตามที่ บริษัท กู๊ดเยียร์ฯได้เจรจาแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้าง กับสหภาพแรงงานคนทำยางแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชาพนักงานกู๊ดเยียร์ประเทศไทย จนเกิดการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานทั้งสองแห่งและการใช้สิทธิปิดงานของ บริษัท นั้น

บริษัทและสหภาพแรงงานทั้งสองแห่ง สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้างได้เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 โดยมีการตกลงในประเด็นต่างๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทนของพนักงานรายชั่งโมง การขยายชั่วโมงร่วมกิจกรรมของอนุกรรมการสหภาพแรงงาน การปรับปรุงชุดพนักงาน การให้เงินสมนาคุณการให้ค่ารักษาพยาบาล การให้เงินเกษียณอายุ การแยกข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานออกจากข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง

นอกจากการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลง สภาพการจ้างดังกล่าว บริษัทและสหภาพแรงงานทั้งสองแห่ง ได้ตกลงกันในเรื่องอื่นๆ เช่น การให้อุปกรณ์สำนักงานเพื่อใช้ในการฝึกอบรม การให้เงินสนับสนุนกิจกรรมของสหภาพแรงงานและการให้เงินกู้ฉุกเฉิน ข้อตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม2553 จากการประเมินของบริษัท โดยภาพรวมแล้วข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ เงินเดือนและสวัสดิการเพิ่มขึ้นประมาณ 3% โดยบริษัทจะสามารถดำเนินงานการผลิตได้ตามปกติในวันที่ 2 ธันวาคม 2553

(ประชาชาติธุรกิจ, 1-12-2553)

ลูกจ้างและนายจ้างเห็นด้วยปรับค่าแรงตามคุณวุฒิและคุณภาพแรงงาน

1 ธ.ค. 53 - นายสมพงศ์ นครศรี ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา ทิศทางคุณวุฒิวิชีพแรงงานไทยว่า องค์ประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมคือ สินค้าต้องมีคุณภาพ ราคาสินค้าเหมาะสม และต้องส่งมอบสินค้าให้ทันตามกำหนด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของผู้ประกอบการ

นายสมพงศ์ กล่าวว่า แรงงานที่ร่วมอยู่ในขนวนการดังกล่าวต้องทำให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด เป็นแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ มีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน การมีคุณวุฒิทางวิชาชีพจึงมีความสำคัญ จึงอยากให้การกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการกำหนดและคิดค่า จ้างให้กับแรงงานแต่ละประเภท แต่ยอมรับว่าปัจจุบัน หากผู้ประกอบการไม่ยอมปรับเพิ่มค่าแรงให้เหมาะสม กรณีเป็นงานประเภทเดียวกัน แรงงานก็จะหนีไปทำงานกับผู้ประกอบการรายอื่น จึงไม่สามารถกดขี่แรงงานได้เหมือนเดิมแล้ว อีกทั้งเห็นว่าขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้เริ่มมีปัญหาขาดแคลนแรงงานนับแสนคน ขณะที่กลุ่มอาชีวะผลิตนักศึกษาจบใหม่ได้เพียง 50,000 คน จึงยังต้องการแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยายนต์และชิ้นส่วน กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มแม่พิมพ์ เห็นว่าแรงงานที่มีคุณภาพจะมีความต้องการมากในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมขณะนี้ ส่วนการปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเสนอให้ปรับ เพิ่มจาก 206 บาทต่อวัน เพิ่มเป็น 216 บาทต่อวันนั้น ต้องมีการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีวันที่ 9 ธันวาคมนี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่า มีโรงงานอีกจำนวนมาก แม้แรงงานจะทำงานกับบริษัทมานาน 5-8 ปี ก็ยังคิดค่าแรงขั้นต่ำไม่ยอมปรับเพิ่มค่าแรงให้ เพราะมองว่ามีแรงงานจบใหม่แล้วเข้าไปทำงาน มีประสบการณ์ มีความรู้ ย่อมส่งผลต่อคุณภาพสินค้าและการทำงาน จึงเสนอให้ผู้ประกอบการผูกติดการคิดค่าแรงกับคุณภาพฝีมือแรงงานให้สอดคล้อง กัน หากดำเนินการให้คู่ขนานกันไปก็จะไม่มีการเรียกร้องปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ กันทุกปี และเห็นด้วยกับการเสนอตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อให้เป็นองค์กรออกใบรับรองมาตรฐานแรงงาน ช่วยในการพัฒนาคุณภาพแรงานให้มีคุณภาพโดยภาคเอกชนดำเนินการ

(สำนักข่าวไทย, 1-12-2553)

ผู้บริหารให้สหภาพกู๊ดเยียร์ กลับเข้าทำงานแล้ว

2 ธ.ค. 53 - ที่โรงงานบริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย)จำกัด มหาชน อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นาย ธานินทร์ ใจสมุทร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มาร่วมกับนาย ริชาร์ด เฟลมมิ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทกู๊ดเยียร์ภาคพื้นอาเชียน และนาง เวนดี้ แรดกี้ ผู้อำนวนการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ได้ร่วมกันทำข้อตกลงในการลดปัญหาข้อพิพาทขัดแย้งปัญหาแรงงานระหว่างนายจ้าง กับลูกจ้าง ซึ่งได้เกิดปัญหาการหยุดงานมาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.53 ซึ่งได้มีการยื่นข้อเสนอเรียกร้องสวัสดิการในการทำงาน ซึ่งในการเจรจาได้ตกลงกันได้โดยให้สหภาพแรงงานกลับเข้าทำงานตามปกติได้ ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.53 เป็นต้นไป

นาย ธานินทร์ ใจสมุทร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวต่อว่า เนื่องจากในระหว่างเดือนพ.ย.ถึงเดือน ม.ค.ของปีถัดไป สถานการณ์ด้านแรงงานสัมพันธ์จะมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องเงินโบนัสและการสิ้น สุดของข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในบางสถานประกอบการที่ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมีความเห็นต่อการ ปรับเปลี่ยนข้อตกลงสภาพการจ้างไปในทิศทางต่างกันและขาดการสื่อสารที่ดีต่อ กัน อาจจะก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้ง-ข้อพิพาทแรงงานได้

ดังนั้นทางกระทรวงแรงงานจึงขอประชา สัมพันธ์ให้สถานประกอบการ ลูกจ้าง รวมถึงเครือข่ายแรงงาน หากมีปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับสวัสดิการและคุ้มครองแรนงงานในเรื่องต่างๆ กระทรวงแรงงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานโทรสายด่วนได้แรงงาน 1546.

(เนชั่นทันข่าว, 2-12-2553)

สหภาพ ขสมก.เล็งชุมนุมจี้รัฐแก้ปัญหารถเมล์ไม่พอ

2 ธ.ค. 53 - นายวีระพงศ์ วงแหวน เลขาธิการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ[ขสมก.] เปิดเผยว่า  ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้  คณะกรรมการบริหารขสมก.จะประชุมด่วน เพื่อขอมติในการขอเปิดประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อชี้แจงให้สมาชิกและพนักงานขสมก.รับทราบเกี่ยวกับปัญหารถเมล์ที่มีให้ บริการไม่เพียงพอ ทำให้รายได้ของขสมก.ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับที่ผ่านมา ได้ขอเข้าพบนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟู ขสมก. แต่ปรากฏว่า ไม่เคยได้พบ และติดภารกิจเรื่อยมา ดังนั้น สหภาพขสมก.จะขอมติคณะกรรมการฯเพื่อ เปิดประชุมใหญ่และจะเคลื่อนไหวในการผลักดัน และเร่งรัดการแก้ไขปัญหารถเมล์ไม่เพียงพอด้วย

(โพสต์ทูเดย์, 2-12-2553)

สหภาพแรงงาน-บ.บีเอ็มดับเบิลยูประเทศไทย เจรจา 3 ครั้งไม่คืบ ยื่นพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ย 7 ธ.ค.

เมื่อวันที 2 ธ.ค. 53 ที่ผ่านมา นายสมเจตน์ น้อยมณี ประธาน สหภาพแรงงาน บีเอ็มดับเบิลยู ประเทศไทย ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกสหภาพแรงงานและพนักงาน บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ที่นิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ถึงการเจรจาข้อเรียกร้องปี พ.ศ. 2553 ไม่คืบหน้าหลังจากได้มีการเจรจากันมา 3 ครั้ง

โดยการเจรจาครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 53 ครั้งที่สองในวันที่ 30 พ.ย. 53 และครั้งที่สามในวันที่ 1 ธ.ค. 53  โดยวันที่ 1 ธ.ค. 53 ที่ผ่านมานั้น ทางสหภาพแรงงานได้ตอบตกลงข้อเสนอของผู้บริหารบริษัทที่จะให้ยื่นหนังสือ พิพาท และในวันที่ 2 ธ.ค. 53 เวลา 9.00 น. เลขาธิการสหภาพได้นำหนังสือพิพาทแรงงานไปยื่นที่ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดระยอง โดยมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยในวันอังคารที่ 7 ธันวาคม 2553 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานจังหวัดระยอง

จากข้อมูลของสหภาพแรงงาน แจ้งว่าผลประกอบการของบริษัทมียอดขายมากกว่า ปี พ.ศ. 2552 (100 เปอร์เซ็นต์) และกำไรเพิ่มขึ้น สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมากที่สุดในรอบ 10 ปี พนักงานให้ความร่วมมือผลิตอย่างเต็มที่ เปิด OT ตลอดรวมทั้งในวันเสาร์ เพื่อทำให้บริษัทมีสินค้าส่งลูกค้าได้ แต่บริษัทตอบว่าไม่มี (budget) เพียงพอสำหรับข้อเรียกร้อง

นายกฯแจงแนวแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบตั้งแต่วินมอเตอร์ไซค์ยันคนกลางคืน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 3 ธ.ค.นายกรณ์ จาติวณิช รมว.คลัง นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะทำงานแรงงานนอกระบบและ เศรษฐกิจนอกระบบ เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาปากท้องระดับรากหญ้าเพื่อลดความเหลื่อมล้ำใน สังคม โดยใช้เวลาเข้าพบนานประมาณ 1 ชั่วโมง

 นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ในส่วนการพิจารณาเรื่องค่าครองชีพนั้น ในวันที่ 7 ธ.ค. จะไปที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ที่ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติการของคณะทำงาน ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นการเสนอข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด

 “วันนี้คุยกันตั้งแต่ วินมอเตอร์ไซด์ แท็กซี่ หาบเร่-แผงลอยก็จะเพิ่มจุดผ่อนผัน คนทำงานกลางคืน คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และในเรื่องค่าครองชีพก็คุยตั้งแต่เรื่องไข่ ไก่ หมู น้ำมัน LPG ค่าไฟฟ้านายกฯ กล่าว

 ส่วนวิธีการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้ จ่ายสำหรับวินมอเตอร์ไซและแทกซี่นั้น นายกฯ กล่าวว่า ยังมีรายละเอียดที่ต้องทำอีกเยอะ แต่ส่วนของวินมอเตอร์ไซต้องเริ่มต้นจากปัญหาในส่วนที่ยังมีส่วนที่ยังไม่ได้ จดทะเบียนสามารถเข้ามาจดทะเบียนได้ ส่วนหาบเร่จะเพิ่มจุดผ่อนผันและปรับการทำงานให้ดี และเปิดทางเลือกเรื่องประกันสังคม ถ้าหากการสมทบเงินตามมาตรา 40 ของประกันสังคมที่ครอบคลุมสิทธิทั้งหมดราคาแพงเกินไป ก็ยากให้เปิดทางเลือกว่าให้สมทบเงินน้อยกว่านั้น แต่ไม่เอาสิทธิบางตัว เช่น เรื่องชราภาพ และให้ใชสิทธิชราภาพผ่านกองทุนเงินออม โดยในวันที่ 7 ธ.ค.จะไปเยี่ยม แต่จะปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 17 ธ.ค.

 นายกฯ ยังระบุเจาะจงถึงกลุ่มหาบเร่แผงลอยในเรื่องของจุดผ่อนผันว่า จุดผ่อนผันนั้นมีตัวเลขอยู่ กำลังไปไล่ดูอีกครั้ง ซึ่งน่าจะมีมากกว่า 2,000 จุดซึ่งกำลังตรวจสอบรายชื่อ แต่ที่ตนให้นโยบายเพิ่มคือเริ่มมีการศึกษาจากกทม. ก่อน แต่จะมีการศึกษาทั่วประเทศไม่ใช่แค่กทม. ทั้งนี้บางเรื่องหากได้ข้อสรุปในวันที่ 17 ธ.ค.ก็ทำได้เลย สำหรับ ไก่ ไข่ หมู จะได้เป็นครั้งแรกที่เราวิเคราะห์โครงสร้างของต้นทุนมาได้ ว่าปัญหาที่มีความรู้สึกว่ามันแพงมันอยู่ที่ไหน และมีอะไรที่เราทำได้บ้าง รวมถึงที่ผ่านมากลไกที่เรามีอยู่ ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้า เพราะฉะนั้นข้อเสนอตรงนี้จะเข้ามา และจะให้ไปดูเรื่องค่าครองชีพที่เป็นระบบ เพราะที่ผ่านมาเราจะมีมาตรการเฉพาะหน้าเท่านั้น

 นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้เสนอ หลักคิดว่า ต่อไปนี้ ก๊าซธรรมชาติเป็นของคนไทย ดังนั้นก๊าซครัวเรือนจะต้องขายคนไทยได้ในราคาที่เราเห็นว่าเหมาะสม ไม่จำเป็นต้องอิงกับตลาด และข้อมูลที่เสนอมาก็ยังยืนยันอยู่ว่าถ้าเราบริหารให้ดี เราสามารถตรึงราคาก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือนได้ โดยสามารถลดการอุดหนุนจากรัฐได้ด้วย และจะนำประโยชน์จากการอุดหนุนดังกล่าวไปลดราคาน้ำมัน

 “เราจะแยกว่าก๊าซที่เรานำมาใช้ชาว บ้านใช้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และก๊าซที่ใช้ในทางการผลิตก็ให้จ่ายในราคาตลาด ถ้าทำอย่างนี้ก็จะสามารถได้ตามเป้าหมายคือก๊าซสำหรับประชาชนจะสามารถตรึง ราคาได้ โดยรัฐไม่ต้องเสียเงินภาษีอากรหรือเงินกองทุนน้ำมันเข้าไปอุดหนุนก็เข้าไปลด ราคาน้ำมันได้ ส่วนภาคขนส่งกำลังดูตัวเลขอยู่ แต่คิดว่าน่าจะอยู่ที่ภาคครัวเรือนได้ ที่จริงก๊าซ LPG เราตรึงอยู่ และที่ผ่านมาจะมีแรงกดดันจากหน่วยงานตลอดว่าจะต้องปล่อย แต่วันนี้เราได้ข้อสรุปคือมันไม่มีความจำเป็นเลย มันตรึงได้ และลดภาระของรัฐบาลและประชาชนที่ใช้น้ำมันได้ด้วยนายกฯ กล่าว

(คมชัดลึก, 3-12-2553)

กระทรวงแรงงานเร่งตั้งศูนย์เศรษฐกิจการจ้างงาน

3 ธ.ค. 53 - นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากระทรวงแรง งาน ว่า ที่ประชุมได้เสนอให้กระทรวงแรงงานดำเนินการปรับบทบาทข้อมูลด้านแรงงานให้ ชัดเจนและหากลยุทธ์ใหม่ เพื่อพัฒนาแผนของกระทรวงให้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการวางแผนงานที่ดี ภารกิจของกระทรวงเลยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางในการเสนอเรื่องภาวะเศรษฐกิจด้านแรงงานงาน เพราะยังขาดบุคลากรที่จะมาวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่าควรตั้งสำนักงานเศรษฐกิจแรงงานขึ้นมา  เพื่อช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น เนื่องจากแรงงานเป็นตัวแปรที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ


ทั้งนี้สำนักเศรษฐกิจแรงงานก็จะ เป็นตัวแปรที่สำคัญในการวิเคราะห์อัตราค่าจ้าง รวมทั้งทราบถึงความต้องการจ้างงาน ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และสภาวะการทำงานของลูกจ้างด้วย อย่างไรก็ตาม หน่วยงานดังกล่าวจะจัดตั้งเป็นหน่วยงานภายในก่อนเสนอสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาระบบราชการ (กพร.) และขอจัดตั้งเพิ่มเติมในวันที่ 31 ม.ค. 54 ก่อนจะมีการนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)

(แนวหน้า, 3-12-2553)

กมธ.แรงงานนัดถกเหยื่อลิเบีย ถกนายหน้าฟ้อง 1 ล้านแลกถอนคดี

3 ธ.ค. 53 - ปัญหาความเดือดร้อนของแรงงานไทยที่ไปตกระกำลำบากในประเทศลิเบียโดยนายหน้า บริษัท จัดหางานเงินและทองพัฒนา จำกัด ส่งต่อไปทำงานก่อสร้างกับนายจ้าง บริษัทแรนฮิลล์ (RANHILL) กว่า1,400 ชีวิตยังไม่ได้รับการช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับและได้รับเงินเดือนค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาตามสัญญา ขณะเดียวกัน บริษัทจัดหางานเงินและทองฯ ยังได้ฟ้องร้องแรงงานทั้งคดีแพ่งและอาญาเรียกค่าเสียหายรายละ 1 ล้านบาท หลังร้องเรียนปัญหากรณีนี้กับคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ตามข่าวที่นำเสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 2 ธ.ค.53 นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า น่าสงสารแรงงานไทยที่ยากจนต่อสู้ชีวิตไปทำงานที่ลิเบียแต่กลับไปตกระกำลำบาก แล้วดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ไม่ยอมให้บริษัทนายจ้างเอารัดเอาเปรียบและร้องทุกข์มายังกรรมาธิการแรงงาน แต่ถูกบริษัทจัดหางานเงินและทองฯฟ้องร้องแก้เกี้ยว ไม่อยากให้ออกมาเคลื่อนไหวโจมตีบริษัทในทางลบ

"กรณีที่ฟ้องร้องแรงงานแล้วนำคำฟ้อง และประกาศไปติดที่ลิเบียข่มขู่แรงงานที่เข้าชื่อร้องทุกข์อีก 562 คน ให้ถอนชื่อจากการร้องทุกข์ ไม่เช่นนั้นจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญาเรียกค่าเสียหาย 1 ล้านบาทนั้น ขอให้แรงงานกรณีนี้ได้นำเอกสารหลักฐานมายื่นให้ตนสอบสวนหรือไม่ขอให้มาพบคณะ กรรมาธิการแรงงานได้ โดยจะมีการประชุมกันวันพุธที่ 8 ธ.ค.นี้ เพื่อให้ปากคำข้อเท็จจริงและกรรมาธิการจะได้เรียกบริษัทจัดหางานเงินและทองฯ กับเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มาสอบสวนต่อไป" นายสถาพร กล่าว

ประธานกรรมาธิการแรงงาน ระบุด้วยว่าตนรู้สึกเอือมระอากับพฤติกรรมของกระทรวงแรงงานว่า กรณีความเดือดร้อนของแรงงานไทยในลิเบียนั้น ทางกรรมาธิการแรงงานได้มีมติที่จะส่งทีมเฉพาะกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมการ จัดหางาน กงสุลกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยที่ลิเบียว่า ลำบากยากเข็ญ เงินเดือนค่าจ้างได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยและต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไร ทางราชการจึงจะเข้าไปช่วยเหลือได้

"กรรมาธิการแรงงานมีมติและให้เจ้า หน้าที่ติดต่อกระทรวงแรงงานไปเป็นเดือนแล้วป่านนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลยว่าตกลงจะจัดทีมเฉพาะกิจไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ลิเบียเมื่อไหร่ ทราบตอนแรกว่าจะมีโครงการจัดคณะไปดูแลทุกข์สุขของแรงงานไทยในประเทศแถบตะวัน ออกกลางเช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซีเรีย จึงได้พ่วงโปรมแกรมไปลิเบียด้วย แต่ปรากฏว่าอยู่ๆ ถูกยกเลิกไปเฉยแล้วเงียบหายไปเลยไม่รู้ว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงานรับทราบหรือสนใจไยดีชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในลิเบียหรือ เปล่า" นายสถาพรกล่าวว่า ขอตำหนิกระทรวงแรงงานที่ไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่แรงงานไทย ซึ่งความจริงเมื่อได้รับการร้องเรียนต้องเดินทางไปดูข้อเท็จจริงกับตาตัวเอง โดยหากให้ดีนำสื่อมวลชน และแรงงานที่ร้องเรียนไปด้วยจะได้เห็นกันจะจะ ไม่ใช่ว่าทำเหมือนรู้เห็นเป็นใจรักษาผลประโยชน์ของบริษัทนายหน้าที่สูบเลือด สูบเนื้อแรงงานจนๆ จากค่าหัวคิวและเบี้ยวเงินเดือนค่าจ้างอีกต่างหาก

(สยามรัฐ, 3-12-2553)

แฉขาดแรงงานระดับกลางรุนแรง

3 ธ.ค. 53 - ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมเรื่อง "การพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ และวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ" โดยนายถาวร ชลัษเฐียรรองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันความต้องการแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ มีจำนวนมากเช่น ความต้องการแรงงานใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก มีจำนวนประมาณ 1.29 ล้านคนและในปี พ.ศ.2558 จะมีความต้องการแรงงานประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งจะต้องมีการผลิตนักศึกษาในสายวิชาชีพออกมาให้เพียงพอ ในขณะเดียวกัน การผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาตรีควรจะต้องปรับลดลงเนื่องจากในปัจจุบันความ ต้องการแรงงานที่จบระดับปริญญาตรีในตลาดแรงงานมีรวมประมาณ 11% เท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีมากมายกว่า 200 สถาบัน และล่าสุด ทางรัฐบาลก็ยังมีนโยบายที่จะจัดตั้ง 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งหากทิศทางการศึกษายังผลิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรีออกมามากเช่นนี้ สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะได้อะไร เพราะทุกวันนี้บัณฑิตที่เรียนจบระดับปริญญาตรีเข้าไปทำงานในสถานประกอบการ หลายๆ แห่งจะต้องลดวุฒิการศึกษามาทำงานระดับวุฒิการศึกษาที่ต่ำกว่า เนื่องจากไม่มีทางเลือกเพราะงานที่เท่ากับวุฒิไม่มี อย่างไรก็ตาม ตนเสนอว่าในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีควรจะเน้นสายวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีมากกว่าสายสังคมที่ผลิตกันออกมามากจนเกินไปแล้ว

"โดยสภาพการณ์ทุกวันนี้ผู้ที่เรียน จบสายวิชาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ประมาณ 75% จะเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี และมีเพียง 25% จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จึงทำให้เกิดสภาพความขาดแคลนแรงงานในระดับกลางรุนแรงมากนอกจากนี้ หลายสถานประกอบการยังต้องสูญเสียแรงงานฝีมือดีๆ ไปจำนวนมากด้วยเพราะคนเหล่านี้ต้องการออกไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรี" นายถาวรกล่าว

ด้านนางศิริพรรณ ชุมนุม ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิใน สกศ. กล่าวว่า จากการทำวิจัยเรื่องการพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualification Framework)และวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาตินั้น จะต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หลักๆ อาทิ การให้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติเป็นข้อกำหนดแห่งชาติในการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาความร่วมมือเชิงรุกกับกลุ่มอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการกลุ่มวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับขอบเขตความรู้ ทักษะ และการประยุกต์ใช้ความรู้  เป็นต้น

(มติชน, 4-12-2553)

สหภาพ ขสมก.ขู่ชุมนุมหลัง 14 ธ.ค. จี้จัดหารถโดยสารเอ็นจีวีใหม่มาทดแทนรถโดยสารเก่า

4 ธ.ค. 53 - นายสนาน บุญงอก ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เปิดเผยว่า จากการที่ขสมก.ได้ยื่นหนังสือไปยังรัฐบาล เรียกร้องให้จัดหารถโดยสารเอ็นจีวีใหม่มาทดแทนรถโดยสารเก่า 700 คันที่ปลดระวางและเสียหาย เนื่องจากขาดรายได้วันละ 3-3.5 ล้านบาท ทำให้ขสมก.มีภาระการขาดทุนมากขึ้น และกระทบต่อการให้บริการประชาชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้รับความชัดเจนจากรัฐบาล ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ธ.ค. คณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานขสมก. จะเข้าพบนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดสรุปแนวทางแก้ไขปัญหา และหากยังไม่ได้รับความชัดเจน จะเตรียมรวบรวมสมาชิกสหภาพกว่า 5,000 คน เพื่อเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาต่อไป


(ข่าวสด, 4-12-2553)

จับพี่น้องขนแรงงานเขมรลอบส่งเข้ามาทำงานที่ กทม.

4 ธ.ค.53 - พ.ต.อ.มานัด ศรีวงษา ผกก.ตม.สระแก้ว ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุม นายจรรณพร แสนกล้า อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 117 หมู่ 8 ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และ น.ส.จำเนียร แสนกล้า อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 124 หมู่ 10 บ้านคลองแผง ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ผู้ต้องหาแอบลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย

พ.ต.อ.มานัด เปิดเผยรายละเอียดว่า เจ้าหน้า ที่ตำรวจสืบทราบว่าบ้านของ น.ส.จำเนียร ใช้เป็นแหล่งพักพิงและซุกซ่อนแรงงานเถื่อนชาวเขมร เพื่อส่งไปขายแรงงานต่อใน กทม. จึงสั่งการให้ พ.ต.ท.เบญจพล รอดสวาสดิ์ รอง ผกก.ตม.สระแก้ว พ.ต.ท.สมศักดิ์ เจียมกรกต สว.ตม.วัชรสิทธิ์ ภัทรโยธินอมร และ ร.ต.อ.ไพเราะ พุ่มคำ รอง สว.ตม.สระแก้ว สนธิกำลังกับ จนท.ตร.สภ.ทัพไทย อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว บุกเข้าตรวจค้นและจับกุม ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบภายในบ้านพบมีนายจรรณพรเป็นคนดูต้นทาง โดยมีชาวกัมพูชา จำนวน 13 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 6 คน พร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าจำนวนหลายใบหลบซ่อนตัวอยู่ภายในบ้าน จากการตรวจสอบไม่พบเอกสารการเดินทางแต่อย่างใด ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจค้นบ้านอยู่นั้นได้มี น.ส.จำเนียร ซึ่งเป็นพี่สาวของนายจรรณพรเดินเข้ามาภายในบ้าน และแสดงตัวเป็นเจ้าของบ้าน จนท.จึงควบคุมตัวคนทั้งหมดไว้

จากการสอบสวนเบื้องต้น น.ส.จำเนียร ให้การรับสารภาพว่า ตนเป็นพี่สาวของนายจรรณพร และได้ร่วมกันลักลอบนำแรงงานต่างด้าวชาวเขมรเข้ามาซุกซ่อนและพักพิงไว้ภายใน บ้านเพื่อรอให้นายทุนนำรถยนต์มารับแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไปทำงานใน กทม.และปริมณฑล โดยจะได้เงินค่าตอบแทนหัวละ 1,200 บาท จากนั้นจะนำเงินที่ได้มาแบ่งกัน ซึ่งทำมาแล้วหลายครั้ง และจากการสอบสวนแรงงานชาวกัมพูชา ทั้งหมดให้การรับสารภาพว่า กลุ่มของพวกตนได้เสียเงินค่าหัวคนละ 3,000-3,500 บาท ให้กับนายหน้าชาวเขมรเพื่อนำพวกตนเข้ามาทำงานในประเทศไทย จากนั้นนายหน้าชาวเขมรจะพาข้ามชายแดนมายังฝั่งไทย โดยให้พักที่บ้านหลังนี้เพื่อรอนายหน้าฝั่งไทยนำรถยนต์มารับไปทำงานใน กทม. และที่จังหวัดอื่นๆ ต่ออีกทอดหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อ ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

(บ้านเมือง, 5-12-2553)

สังศิตแจงแรงงานนอกระบบเริ่มต้นจ่าย 100-280 บ.รับสวัสดิการ

5 ธ.ค. 53 - นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะทำงานแรงงานนอกระบบและเศรษฐกิจนอกระบบ ให้สัมภาษณ์ถึงรายละเอียดของการจัดทำระบบสวัสดิการสังคมในส่วนของแรงงานนอก ระบบว่า สิ่งที่น่าสนใจคือส่วนของระบบประกันสังคมที่จะมีแรงงานนอกระบบได้ประโยชน์ จากการที่เขาจะได้เข้ามาใช้สิทธิประกันสังคมทั้งประเทศกว่า 24 ล้านคน โดยจะเป็นกลุ่มคนหลากหลายสาขาอาชีพอย่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่ามีทั้งวินมอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ พ่อค้า แม่ค้าหาบเร่แผงลอย คนเก็บขยะ รวมไปถึงอาชีพที่มีรายได้ไม่แน่นอนทั้งหลายก็จะสามารถเข้าระบบประกันสังคม ครั้งนี้ได้ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมีการประกาศให้คนไทยทราบรายละเอียดในวันที่ 7 ธ.ค. นี้

โดยอัตราการเก็บเงินเข้าประกัน สังคมของแรงงานนอกระบบก็จะเก็บในอัตราที่ต่ำ กว่าพนักงานบริษัทที่ต้องจ่าย 400 กว่าบาท แต่กลุ่มที่เรากำลังทำจะเริ่มต้นจ่ายเพียงเดือน 100-280 บาทเท่านั้น แต่สิทธิบางตัวก็จะหายไปเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามรายละเอียดทั้งหมดจะมีการแถลงในวันที่ 7 ธ.ค.นี้นายสังศิต กล่าว

เมื่อถามถึงกลุ่มประชาชนที่เคยอยู่ ในระบบประกันสังคมแต่ขาดส่งเงินเข้าระบบ ตามมาตรา 39 ของพรบ.ประกันสังคมที่มีกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศที่ต้องไปใช้สิทธิของ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่อยากจะกลับเข้ามาในระบบจะครอบคลุมถึงด้วยหรือไม่ นายสังศิต กล่าวว่า ประเด็นนี้ยังไม่มีการพูดถึงกัน แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่คิดว่าน่าจะให้ครอบคลุมถึง เพราะถือว่าเป็นแรงงานนอกระบบเช่นเดียวกัน

(เนชั่นทันข่าว, 5-12-2553)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท