สังคมไทยกับคน (ที่ถูกทำให้) ผิดปกติทางศีลธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข่าวการพบศพเด็กที่เสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หรือการทำแท้ง ที่วัดไผ่เงินจำนวนมากกว่าสองพันศพ[i] สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนในสังคมไทยเป็นอย่างมากหรืออาจจะมากที่สุด การพบหลักฐานของการกระทำที่ "ผิดศีลธรรม" มากถึงขั้นหลักพันนั้น มันไปกระตุ้นต่อมพุทธศาสนิกชนอย่างรุนแรงจนฉุดไม่อยู่ และทำให้การทำแท้งที่เคยผ่านตามาในหน้าหนังสือพิมพ์รายวันอาจจะดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับคนไทยในขณะนี้ 

กระแสของการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนา กระแสเกี่ยวกับการไม่คุมกำเนิดของเด็กวัยรุ่น “ใจแตก” ที่เชื่อกันว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการทำแท้งมากที่สุด รวมถึงกระแสของการออกกฎหมายอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถตัดสินใจที่จะทำแท้งได้โดยมีกฎหมายรองรับจึงเริ่มต้นขึ้นราวกับน้ำไหลบ่า 

ความคิดเห็นกลุ่มหนึ่งคัดค้านกฎหมายนี้อย่างถึงที่สุด โดยอ้างว่าจะยิ่งทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันเพิ่มมากขึ้นในหมู่วัยรุ่น เพราะโอกาสที่จะสามารถยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงปรารถนานั้นสามารถทำได้ง่ายดายกว่าเดิม ในขณะที่ความเห็นอีกกลุ่มกลับโต้แย้งว่าเป็นสิทธิของผู้หญิงที่สามารถจะมีเหนือร่างกายของตัวเธอเอง มากกว่าที่จะให้สังคมมาเป็นผู้ตัดสินใจให้ 

จะอย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องของศีลธรรมในด้านเพศก็ได้ถูกจุดขึ้นมาในสังคมไทยอีกครั้ง ไม่เพียงแต่พุ่งเป้าไปที่ผู้หญิง แต่ได้รวมไปถึงกลุ่มเพศที่สาม ที่ในขณะนี้ข้อมูลล่าสุดออกมาว่าจำนวนของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีมีสัดส่วนของกลุ่มเพศที่สามเป็นจำนวนมากที่สุด[ii] สืบเนื่องมาจากการไม่ป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยเป็นสาเหตุหลัก ประเด็นในเรื่องที่ว่าเพศที่สามได้ทำให้สภาวะของการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้นในสังคมไทยจึงได้ "ถูกจุด" ขึ้นมาพร้อมกับกระแสของการทำแท้งโดยผู้หญิงที่ "ขาดจริยธรรม" และ "ความเป็นแม่" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแล้วสภาวะเสี่ยงที่จะติดเชื้อดังกล่าวอาจจะมาจากกลุ่มคนรักร่วมเพศ หรือกลุ่มคนรักต่างเพศได้เท่ากัน แต่จากมุมมองของคนปกติแล้ว กลุ่มชายรักชายก็ดูจะเป็นเพศผิดธรรมชาติที่ส่งผลต่อสังคมทั้งทางจริยธรรมและสุขอนามัย จนต้องกลายมาเป็นกลุ่มคนที่สังคมจะต้องช่วยกันจัดการให้เข้ารูปเข้ารอยอย่างแข็งขัน 

อีกกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องเพศที่กำลังเป็นหัวข้อความสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเรียกร้องให้ทบทวนการจัดการความรู้ให้กับนักเรียนในเรื่องของเพศศึกษา บางความเห็นเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาให้เหมาะสมกับโลกที่ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีอย่างเต็มตัว เพราะไม่ว่าอย่างไร ประเทศไทยคงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงจากกระแสวัฒนธรรมตะวันตกที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทำให้เด็กวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น จึงไม่อาจที่จะทำให้เด็กจำกัดการเรียนรู้ในเรื่องของเพศได้อีกต่อไป หรือบางความเห็นก็ได้เสนอให้สถาบันครอบครัวและโรงเรียนเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำความเข้าใจด้านเพศศึกษาให้กับเด็กนักเรียนที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไปข้างหน้า เพราะสถาบันเหล่านี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับกลุ่มวัยรุ่นทั้งสิ้น 

ทั้งหมดทั้งสามกรณีที่เอ่ยมานั้น ล้วนเป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาศีลธรรมและเรื่องของคนที่ผิดปกติ (สำหรับสายตาของคนในสังคมไทยส่วนใหญ่) ทั้งสิ้น ภาพของเมืองไทยที่เต็มไปด้วยวัดวาอาราม สถานที่สำคัญทางศาสนาและมีประเพณีที่ยืนยาวงดงามเป็นที่น่ายกย่องไปทั่วโลก ในขณะนี้กลับกลายเป็นเมืองที่มีอัตราการทำแท้งเพิ่มขึ้นจากอดีตอย่างรวดเร็ว เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยเพศที่สามอันเป็นต้นเหตุของโรคร้ายที่ไม่อาจจะรักษาให้หายขาด อันเนื่องมาจากการขาดความรู้หรืออะไรก็ตามที่ทำให้ปราศจากการป้องกันตัวเอง เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการ (คิดว่า) ขาดความรู้ทางเพศศึกษาในหมู่เด็กนักเรียนจะทำให้เกิดปัญหาทางสังคม ศีลธรรมและทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศชาติดูย่ำแย่ 

เรามองเห็นอะไรบางอย่างในกรณีเหล่านี้หรือไม่? 

ในขณะที่ประชาชนจากประเทศโลกเสรีทั้งหลายทั่วโลกก้าวไกลไปถึงเรื่องของสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การฟ้องร้องเนื่องจากการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล การฟ้องร้องบริษัทหรือโรงงานที่เข้ามามีผลกระทบต่อมลพิษต่างๆในชีวิตของพวกเขา การเดินขบวนหรือถือป้ายแสดงเจตนาความเชื่อมั่นของพวกเขาที่มีต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างเต็มเปี่ยม หรือแม้แต่กรณีของหญิงชาวเสปน ที่ในขณะนี้ได้ยื่นจดทะเบียนเป็นเจ้าของดวงอาทิตย์กับเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นไปแล้วเรียบร้อย เพราะเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าตนเองมีสิทธิที่จะกระทำเรื่องดังกล่าวได้ แต่ในทางกลับกัน ประเทศไทยยังคงสาละวนอยู่กับการรักษาภาพลักษณ์ความเป็นเมืองพุทธที่เต็มไปด้วยศีลธรรมของตนเอง 

ผู้หญิง เพศที่สาม และเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มคนที่แทบจะไร้อำนาจในการต่อรองทั้งพื้นที่ทางการเมืองและพื้นที่ทางสังคมของไทยอยู่เสมอมา สำหรับผู้หญิง วาทกรรมที่ว่าผู้หญิงที่ดีควรจะเป็นแม่ เป็นภรรยาที่ดีนั้นทำให้พวกเธอไม่อาจจะกระดิกตัวไปจากบ่วงที่รัดแน่นจากสังคมได้เลย เพียงทำตัวฉีกกรอบที่ว่านี้ ก็จะพบกับการดูถูกจากคนในสังคมทันที หรืออาจจะถึงขั้นถูกประณาม อย่างที่กลุ่ม "เด็กวัยรุ่นใจแตกที่ทำแท้ง" กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ในกรณีของเพศที่สาม การถูกกีดกันไม่ให้ใช้พื้นที่สาธารณะของจังหวัดเชียงใหม่จัดการรื่นเริงในกลุ่มของตนเอง เพียงเท่านี้ก็คงจะยืนยันได้เป็นอย่างดี ว่าในสังคมไทยนั้น พื้นที่ที่จะยืนของพวกเขามีน้อยเหลือเกิน (นั่นไม่นับรวมกับพื้นที่ในภาพยนตร์ที่จัดวางพวกเขาให้อยู่ในสภาพตัวตลกหรืออะไรก็ตามที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่เอาไว้ประดับฉากเท่านั้น เพราะถ้าหากเป็นได้มากกว่านี้ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง Insect in the backyard คงไม่ถูกห้ามฉายอันเนื่องมาจากขัดต่อศีลธรรมอันดีงามอย่างแน่นอน) และสำหรับกลุ่มเด็กนักเรียนนั้น แม้ว่าพวกเขาจะมีพลังต่อการแสดงเจตจำนงในการเข้าเรียนต่อทางด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัยมากเพียงใด จนสามารถกดดันให้กระทรวงศึกษาธิการสามารถยอมทำตามข้อตกลงได้มาหลายต่อหลายครั้ง แต่สำหรับการเข้ามาเกี่ยวพันในทางการเมืองและสังคมก็เป็นสิ่งที่ดูจะไกลเกินเอื้อมเหลือเกิน เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจจะได้เห็นแล้วว่าเรื่องของทรงผมนักเรียนที่ถูกต่อต้านกันมาหลายปีนั้นสำเร็จลงโดยการยินยอมจากรัฐบาลในท้ายที่สุด หรือกรณีของการต่อต้านไม่ให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบโดยเหล่านิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนทั้งสามกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีลักษณะร่วมกันไปเสียทั้งหมด เราจึงยังสามารถเห็นผู้หญิงที่ดีพร้อมสำหรับเป็นตัวอย่างในสังคม เช่น ตำแหน่งแม่ดีเด่นแห่งชาติ หรือจะเป็น ชาย/หญิงเพศที่สามที่สามารถทำประโยชน์ให้กับวงการต่างๆ และเด็กนักเรียนที่สามารถคว้ารางวัลการแข่งขันวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์โอลิมปิคหรือสร้างความภูมิใจให้กับสังคมได้อยู่เสมอมา และในขณะเดียวกัน เราก็ยังสามารถพบเห็นบางสิ่งบางอย่างที่หมิ่นเหม่ต่อคำถามทางศีลธรรมอยู่เสมอจากคนกลุ่มอื่นในสังคม แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกเพ่งเล็งหรือจัดว่าเป็นกลุ่มผิดปกติที่ควรจะถูกจัดระเบียบให้เรียบร้อยแต่อย่างใด 

ในเมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะแบ่งแยกได้อย่างไร ว่าใครเป็นผู้ที่แปลกแยกจากสังคม และใครกันที่ควรจะเป็นผู้ถือตราชั่งแห่งความปกติและความเป็นคนไทยที่สมบูรณ์? 

บางทีเราควรจะเลิกใช้คำว่า "ศีลธรรม" มาเป็นข้ออ้างบอกว่าจะทำให้ประเทศพัฒนาไปอย่างน่าภาคภูมิใจ เพราะคำประเภทนี้เป็นเรื่องที่ยากจะจำกัดความอย่างยิ่ง เราไม่อาจจะบอกได้เลยว่าใครคือผู้ที่มีศีลธรรมเหนือกว่าใคร หรือใครควรจะเป็นผู้ที่ถูกขัดเกลาให้มีคุณธรรมจริยธรรมเท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม 

มิเช่นนั้นไม่กลายเป็นว่า ผู้ที่เปรียบตนเองเป็นผู้มีศีลธรรมสูง ก็คือผู้ที่สามารถควบคุมทุกคนได้อย่างนั้นหรือ? 

การทำเช่นนี้เปรียบเสมือนการทำให้คนกลุ่มหนึ่งไร้อำนาจในการต่อรองทางสังคมลดลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ความผิดปกติ” ของพวกเขา ทำให้ในท้ายที่สุดแล้ว วิธีการเดียวที่จะทำให้สังคมยอมรับก็คือการทำให้ตัวเองไม่แปลกแยก และการไม่แปลกแยกในความหมายของรัฐก็คือเป็นประชาชนที่ว่าง่าย ไม่สร้างปัญหาให้กับสังคม การใช้คำว่า “น่าวิตก” กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงอาจจะมีนัยยะที่สำคัญว่ารัฐกำลังวิตกจริงๆว่า ทั้งสามกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้งทั้งๆที่ผิดกฎหมาย กลุ่มคนรักร่วมเพศ และเด็กนักเรียนที่ริจะลองมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรนั้น กำลังอยู่ในพื้นที่นอกเหนืออำนาจที่รัฐจะเข้าไปควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการตัดสินใจเหนือร่างกายตัวเอง สิทธิที่จะมีเพศสัมพันธ์ในแบบที่สังคมเห็นว่าไม่ใช่เรื่องปกติ ทั้งหมดนี้เป็นการท้าทายอำนาจของรัฐอย่างยิ่งและทำให้รัฐเริ่มหมดบทบาทหน้าที่ที่จะควบคุมคนในสังคมให้เป็นไปในทิศทางที่ต้องการ 

ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์อันสลับซับซ้อนที่ผู้มีอำนาจใช้ควบคุมสังคมไทยอยู่ในขณะนี้ การท้าทายจากประชาชนจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าพึงปรารถนาอย่างที่สุด เราจึงจะเห็นมาตรการการป้องกันทุกวิถีทางที่จะทำให้คนที่อยู่ในพื้นที่นอกอำนาจรัฐในขณะนี้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ไม่ต่างอะไรจากเรื่องทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ รัฐบาลพยายามจะ “ประนีประนอม” “รอมชอม” “ป้องกัน” ไม่ว่าจะเพื่อบ้านเมืองหรือเพื่อใครก็ตาม แต่นั่นเป็นสิ่งที่เราควรจะตั้งคำถามต่อเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง เพราะการที่คนกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์ที่จะชี้นิ้วไปยังคนกลุ่มใดก็ได้ บอกว่าพวกเขานั้นผิดปกติและควรจะถูกจัดการอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ตนเองกลับเป็นผู้ลอยตัวเหนือจากกฎเกณฑ์ทั้งมวล ภายใต้คำพูดที่ว่า "เป็นคนมีศีลธรรม" นั่นไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นในสังคมใดก็ตาม 

ในขณะที่โลกกำลังก้าวไปไกลเรื่องของสิทธิและเสรีภาพ แต่คนไทยกลับเลือกที่จะเอ่ยอ้างว่าความเป็นไทยนั้นไม่เหมือนชาติใดในโลก และเราควรจะรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ แต่เราก็เลือกที่จะกดขี่และสร้างให้คนกลุ่มที่ไร้อำนาจในการต่อรองเป็นเป้าหมายในการโจมตีของเรา จนหลงลืมไปว่าเรากำลังโยนความผิดบาปไปให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมโดยใช้ความมีศีลธรรมของตนเองกดทับไม่ให้คนกลุ่มอื่นได้มีสิทธิเหนือตัวของตัวเองหรือไม่? 

รัฐประหารแบบไทยๆ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประเพณีวัฒนธรรม ศีลธรรม พุทธศาสนาของไทย ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นเอกลักษณ์ของไทยที่สามารถเอ่ยอ้างต่อเวทีโลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ  

แต่หากเราจะลองนึกย้อนกลับมา ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นประเทศไทยในอีกมุมหนึ่ง 

มุมที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยก ประณาม และกดทับ ต่อผู้ที่ "ไม่ปกติ" ในสังคม โดยใช้คำว่า "ศีลธรรม" เป็นข้ออ้าง! 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท