รายงาน: เอฟทีเอไทย-อียู โอกาสหรือความเสี่ยง

 
งวดเข้ามาทุกทีกับประเด็นการทำข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หรือ อียู ซึ่งเป็นคู่ค้าและผู้ลงทุนรายสำคัญในประเทศไทย
 
ไม่กดดันก็เหมือนกดดัน เพราะอียูยักษ์ใหญ่เริ่มปรับตัวอย่างสำคัญ ดังที่ นายเดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูต หัวหน้าสำนักงานคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรป ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อกลางเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาว่า ตามแผน 5 ปี (2553-2558) อียูจะเน้นการทำเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ ควบคู่กับการผลักดันการเจรจาการค้าแบบพหุภาคีในเวทีองค์การการค้าโลก หรือ ดับบลิวทีโอ และจะเน้นเจรจาการค้ากับประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างกว้างขวาง โดยได้เริ่มเจรจากับสิงคโปร์ไปแล้ว จะเจรจารอบสุดท้ายกับอินเดียสิ้นเดือนหน้า ก่อนที่จะเริ่มเจรจากับมาเลเซียในเดือนนี้ และวางแผนจะเจรจากับเวียดนามในอนาคตอันใกล้ รวมไปถึงจะลดเงื่อนไขสำหรับประเทศด้อยพัฒนากว่าและเป็นคู่แข่งกับไทยในบางอุตสาหกรรม เช่น กัมพูชาและลาวทำให้ส่งออกเข้าตลาดอียูได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น
 
สำหรับไทย จักรชัย โฉมทองดี จากโครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา (โฟกัส)กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งแต่ต้นปี ให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเรื่องการทำเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนส่วนต่างๆ รวมถึงภาคประชาสังคมที่ได้เข้าร่วมกระบวนการ"ทางการ" ของรัฐเป็นครั้งแรก คณะกรรมการดังกล่าวจัดรับฟังความคิดเห็น 20 ครั้งทั่วประเทศ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคส่วนต่างๆ
 
จนรายงานสรุปการรับฟังความเห็นเสร็จสมบูรณ์เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่อส่งให้ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์จากค่ายภูมิใจไทยแล้ว เรื่องก็เงียบหายดองเค็มจนปัจจุบัน ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์จากค่ายประชาธิปัตย์ กลับดำเนินการรับฟังความคิดเห็นใหม่โดยไม่ผ่านคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้น และนำข้อสรุปพร้อมทั้ง "กรอบการเจรจา" เตรียมส่งกลับครม. ในคราวเดียวกัน ทั้งที่กรอบการเจรจานั้นควรสังเคราะห์จากผลการรับฟังความคิดเห็น
 
ผลสรุปที่ได้จากการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นชุดใหญ่ชุดแรก ที่สำคัญ คือ มีสินค้าพิเศษที่ต้องพิจารณาต่างหากไม่รวมอยู่ในรายการสินค้าปกติในข้อตกลง ได้แก่ สุรา ยาสูบ และยารักษาโรค
(รายละเอียดการสรุปการรับฟังความคิดเห็นดูในไฟล์แนบ)
 
ในงานสัมมนาสาธารณะ “ความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป: โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับไทยและอาเซียน” มีนักวิชาการและภาคประชาสังคมจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก โดยนำเสนอความวิตกกังวลในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ความหลากหลายทางชีวภาพ ภาคการเงิน ภาคบริการ ไม่แตกต่างกับเอฟทีเอฉบับสหรัฐอเมริกา และอาจร้ายยิ่งกว่าเพราะท่าทีที่อ่อนโยนกว่าของสหภาพยุโรป
 
สำหรับกรณีของไทยนั้น ประเด็นเกี่ยวกับการลดภาษีสุราเป็นประเด็นสำคัญ เพราะยุโรปส่งออกสุรามายังประเทศไทยติดอันดับต้นโดยไทยมีกำแพงภาษีค่อนข้างสูง การลดภาษีผ่านเอฟทีเอจึงทำให้เครือข่ายงดเหล้าและองค์กรที่ทำงานด้านนี้ผนึกกำลังค้านกันเสียงแข็ง เนื่องจากนอกเหนือจาแนวโน้มการนำเข้าเหล้านอกจะมากขึ้นแล้ว เอฟทีเอยังมีผลให้รัฐไม่สามารถผลิตนโยบายใดๆ เกี่ยวกับการงด ลด เลิก เหล้าออกมาได้อีก เนื่องจากอาจจัดให้เป็นการกีดกันทางการค้า
 
ขณะที่เรื่องยารักษาโรคนั้น เกี่ยวพันกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งในเอฟทีเอของชาติมหาอำนาจมักสร้างเงื่อนไขให้คู่เจรจาต้องปฏิบัติตามเรื่องนี้เกินกว่ามาตรฐานทั่วไปขององค์การการค้าโลก ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาพัฒนาการวิจัยยาได้ยากลำบาก ยามีราคาแพงเพราะการผูกขาดที่แน่นหนามากขึ้น และไม่สามารถใช้มาตรการจำเป็นอื่นๆ ที่เป็นข้อยืดหยุ่นได้ อีกทั้งยังบังคับให้คู่เจรจาต้องเป็นภาคีในสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต สิทธิบัตรการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งภาคประชาสังคมไม่เห็นด้วยเนื่องจากกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย และจะเปิดช่องให้ทุนหรือประเทศขนาดใหญ่สามารถเป็นเจ้าของพันธุกรรมต่างๆ ในประเทศไทยได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท