กรรมการสิทธิฯลงตรวจ ‘โนนป่าก่อ’ ผู้ว่าฯรับแผนรองรับชาวบ้านออกจากป่าไม่พร้อม

คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในกรรมการสิทธิฯ ลงตรวจสอบกรณีจังหวัดมุกดาหารออกคำสั่งให้ชาวบ้านโนนป่าก่ออพยพออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ผู้ว่าฯ รับแผนรองรับยังไม่พร้อมจริง กรณีคุกคามชาวบ้านจะไม่เกิดอีก

24 พ.ย.53 คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีจังหวัดมุกดาหารออกคำสั่งให้ชาวบ้านโนนป่าก่อ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร อพยพออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน หลังจากได้รับจดหมายร้องเรียนจากชาวบ้าน
นายจำรัส สุวรรณวงษ์ ตัวแทนชาวบ้านโนนป่าก่อได้แจ้งแก่คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดินว่า นับแต่พื้นที่บริเวณดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน เมื่อปีพ.ศ. 2533  ทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทางจังหวัดมุกดาหารได้มีความพยายามที่จะโยกย้ายชาวบ้านโนนป่าก่อออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯหลายครั้ง แม้ว่าบ้านโนนป่าก่อจะตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2496 ก่อนหน้าการประกาศเขตฯ ก็ตาม  โดยที่ผ่านมาการอพยพชาวบ้านอยู่บนฐานของความสมัครใจ แต่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 นี้ ทางจังหวัดมุกดาหารได้มีคำสั่งให้ชาวบ้านโนนป่าก่อย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่รองรับที่จัดไว้บริเวณบ้านด่านช้าง อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  หากไม่ยินยอมโยกย้ายจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
จำรัสกล่าวเพิ่มเติมว่า บริเวณพื้นที่รองรับที่บ้านด่านช้างนั้นไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพ ชาวบ้านโนนป่าก่อซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่ในพื้นที่อีก 24 ครอบครัว จึงร้องเรียนว่าหากจำเป็นต้องย้ายออกจากพื้นที่เดิมจริงๆ ก็ขอให้มีการจัดพื้นที่รองรับที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตและสามารถที่จะเลี้ยงชีพได้ดีเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างทางจังหวัดกับทางชาวบ้าน เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 ทางจังหวัดมุกดาหารได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน กองอาสารักษาดินแดน (อส.) จำนวนรวมประมาณ 300 คน เข้าไปชี้แจงและชักจูงให้ชาวบ้านอพยพไปพื้นที่รองรับ และได้จัด อส.ผลัดเปลี่ยนมาประจำอยู่ที่หมู่บ้านครั้งละ 10-20 นาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ชาวบ้านให้ข้อมูลแก่อนุกรรมการฯ ว่านอกจาก อส.ซึ่งติดอาวุธปืนยาวจะเดินตรวจตราหมู่บ้านเป็นประจำแล้ว ยังได้ข่มขู่ชาวบ้านหลายครั้งว่า จะใช้กำลังเข้ารื้อถอนบ้านเรือนและทำร้ายร่างกาย  อีกทั้งยังมีการเก็บพืชผักผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกไว้ไปกินโดยไม่ขออนุญาต รวมทั้งมีการทำลายสายยางที่ชาวบ้านใช้สูบน้ำออกจากนาอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน อส.ได้เข้ามาตั้งแคมป์พักแรมในบริเวณโรงเรียนและบริเวณวัดโนนป่าก่อ โดยได้ตั้งวิทยุสื่อสารไว้ในโรงเรียนซึ่งเป็นศาลาโล่ง  และมีการใช้วิทยุส่งเสียงดังแม้ในระหว่างมีการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังได้เข้าไปพักในศาลาวัด ทำให้หลวงพ่อที่วัดต้องออกไปกางกลดจำวัดที่เถียงนานอกหมู่บ้าน
“เราไม่อยากให้ทางจังหวัดเอาโครงการพระราชดำริมาข่มขู่ชาวบ้าน  ผมเชื่อว่า ถ้าเป็นโครงการพระราชดำริจะต้องทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่นี่เป็นการทำให้ชาวบ้านลำบาก” ตัวแทนชาวโนนป่าก่อสรุป
หลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านโนนป่าก่อ คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดินได้เดินทางไปยังบ้านด่านช้าง ซึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่รองรับการอพยพ และพบว่าชาวบ้านที่อพยพลงมาได้รับจัดสรรที่ดินครัวเรือนละ 3 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกบ้านหลังเล็กๆ 2 งาน และเป็นพื้นที่การเกษตรอีก 2.5 ไร่ และไม่มีการจัดสรรพื้นที่ให้ครอบครัวที่ไม่ได้รับการสำรวจรายชื่อโดยทางจังหวัดเมื่อปี 2549 อีก 20 กว่าครอบครัว
แม้พื้นที่รองรับจะไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรเลี้ยงชีพ ชาวบ้านหลายคนได้แจ้งแก่คณะกรรมการสิทธิฯ ว่า “จำยอม” ตัดสินใจย้ายลงมาด้วยความกลัวว่าจะถูกทางการจับดำเนินคดี 
ปัจจุบันบริเวณบ้านด่านช้างประสบปัญหาน้ำขาดแคลน น้ำไหลบ้างหยุดบ้าง ทำให้ไม่ค่อยพอกิน ชาวบ้านต้องไปตักน้ำจากบ้านแก่งนางที่อยู่ใกล้เคียงมาใช้  พืชผักที่ปลูกไว้ประสบความเสียหาย
นายคำลน อินไชยา หนึ่งในชาวบ้านที่ย้ายออกมาเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2553 กล่าวว่า จะรอดูความช่วยเหลือจากทางการ ซึ่งแจ้งกับชาวบ้านว่าจะมีโครงการพัฒนาอาชีพหลังการอพยพต่อเนื่องไปอีกสามปี หากไม่สามารถอยู่ทำกินได้ก็คงจะกลับไปทำกินที่เดิม “เพราะถ้าอยู่อย่างนี้เราก็อยู่ไม่ได้”
จากนั้น คณะอนุกรรมการป่าไม้-ที่ดิน ได้เดินทางเข้าประชุมร่วมกับหน่วยราชการที่รับผิดชอบโครงการฯ ที่ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ในวันที่ 25 พ.ย. เพื่อรับฟังคำชี้แจง และพิจารณาหาทางดำเนินการโดย ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวบ้านโนนป่าก่อประมาณ 20 คนได้เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดมุกดาหารเพื่อเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการฯ และร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิฯ  แต่เมื่อจะเข้าประชุม ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ อส. ซึ่งทางจังหวัดจัดวางกำลัง ไว้บริเวณหน้าห้องประชุม และทางขึ้นศาลากลางกว่า 30 นาย ไม่ให้ชาวบ้านและผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องผ่านเข้าออก โดยอ้างเหตุผลว่าห้องประชุมมีขนาดเล็ก และอ้างความสงบเรียบร้อยของการประชุม ซึ่งเป็นประเด็นทางการเมือง  หลังจากทางกรรมการสิทธิฯ เข้าเจรจา ชาวบ้านโนนป่าก่อจึงได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุมด้วยเพียงสามคน ส่วนที่เหลือต้องนั่งรออยู่นอกอาคารศาลากลาง
สำหรับการประชุมที่ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ทางจังหวัดได้ชี้แจงต่ออนุกรรมการป่าไม้ที่ดินในประเด็นวัตถุประสงค์ของโครงการอพยพราษฎรออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน และความพร้อมในการจัดเตรียมพื้นที่รองรับ 
เมื่อจังหวัดชี้แจงเสร็จ ทางอนุกรรมการฯ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องหลักประกันในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎรที่อพยพออกมาแล้ว เนื่องจากมีบทเรียนของการอพยพราษฎรเมื่อปี 2543 ซึ่งผ่านมา 10 ปี ราษฎรก็ยังไม่มีความมั่นคงในชีวิต ไม่มีสิทธิในที่ทำกิน ข้อมูลของทางจังหวัดเองก็ระบุว่า ราษฎรอยู่ไม่ได้ต้องกลับไปอยู่บ้านเดิมถึง 10 ครอบครัว จากที่อพยพออกมา 14 ครอบครัว
นอกจากนี้ ยังตั้งข้อสังเกตในเรื่องการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการจัดทำโครงการฯ เนื่องจากมีข้อพิพาทในเรื่องแผนงานในการอพยพซึ่งไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน ทั้งในเรื่องแนวคิด การจัดการ และพื้นที่รองรับ, การปฏิบัติตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 ซึ่งกำหนดให้กรมป่าไม้สำรวจพื้นที่ที่มีการครอบครองให้ชัดเจน และขึ้นทะเบียนผู้ครอบครอง   ตลอดจนประเด็นการข่มขู่คุกคามที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลักดันให้ราษฎรอพยพออกจากพื้นที่
จากนั้น ทางจังหวัดได้ชี้แจงในประเด็นต่างๆ ในประเด็นหลักประกัน ผวจ.ยืนยันว่าจะมีแผนพัฒนาต่อเนื่อง 3 ปี แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นแผนชัดเจน เมื่อแผนเสร็จจะเชิญชาวบ้านมาร่วมพิจารณา ถ้าเห็นด้วยก็อพยพออกมา ถ้าไม่เห็นด้วยก็สามารถจับเข่าคุยกันได้ 
ส่วนการสำรวจและกันแนวเขตพื้นที่ป่าตามมติ 30 มิ.ย.41 ป่าไม้จังหวัดอ้างว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากชาวบ้านไม่นำชี้ที่ดิน ซึ่งทางอนุฯ แย้งว่าในพื้นที่พิพาทอื่นๆ จะกันแนวเขตป่าออกจากพื้นที่ทำกินทั้งหมดก่อน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีราษฎรนำชี้ ประเด็นนี้มีความเห็นขัดแย้งกัน ทางอนุฯ จะกลับไปดูรายละเอียดของมติอีกครั้ง และอาจต้องเชิญป่าไม้ไปคุยที่กรุงเทพฯ
ในประเด็นการข่มขู่คุกคามให้ชาวบ้านอพยพออกมา ซึ่งมีการร้องเรียนจากชาวบ้าน ทางป้องกันจังหวัดชี้แจงว่า เป็นการลงไปประชาสัมพันธ์เท่านั้น ไม่มีเจตนาข่มขู่คุกคาม การถือปืนก็เป็นเพียงการลาดตระเวน เก็บข้อมูลการทำการเกษตร การเก็บผลผลิตก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าของซึ่งย้ายออกไปพื้นที่รองรับแล้ว การไปตั้งหน่วยปฏิบัติงานที่โรงเรียนก็เนื่องจากเห็นว่าไม่มีคนอยู่   ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ยืนยันว่าการวางกำลัง อส.มีเหตุผลเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ถ้าจังหวัดเจตนาจะข่มขู่คุกคามที่รุนแรง สามารถทำได้มากกว่านี้มาก แต่ก็ยอมรับว่าต่อจากนี้ไปจะกำชับให้ อส.ปฏิบัติหน้าที่ให้รอบคอบ ถ้ามีการข่มขู่คุกคามให้แจ้งมา ทางจังหวัดจะดำเนินคดี ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการป่าไม้ที่ดิน ไม่ติดใจเรื่องการคุกคาม เนื่องจากผู้ว่าฯ รับปากว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก
นายดำเนิน อุทโท ตัวแทนชาวบ้านได้ลุกขึ้นให้ความเห็นว่า วัตถุประสงค์ในการอพยพโยกย้ายราษฎรเน้นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าจะให้ความสำคัญกับคนซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคล ชาวโนนป่าก่อที่อยู่อาศัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ไม่ได้ทำลายป่าไม้ ชาวบ้านมีประเพณีที่จะช่วยกันดูแล อนุรักษ์ป่า เช่น การบวชป่า เรื่องนี้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ รู้ดี เนื่องจากมีการออกสำรวจพื้นที่ทุกปี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท