Skip to main content
sharethis

 

 
 
 
 
เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 53 เวลา 11.00 น. นักศึกษาร่วมกับภาคประชาสังคมไทย ร่วมแสดงศิลปะจัดวางด้วยแต่งกายเป็นผู้ลี้ภัยที่หน้ารัฐสภา ต่อมาเวลา 11.30 น. องค์กรเอกชนที่ทำงานประเด็นพม่าในพื้นที่อ.แม่สอดร่วมกับนักศึกษาและภาคประชาสังคมไทยได้เข้าพบคุณประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อรายงานสถานการณ์ลี้ภัยการสู้รบจากประเทศพม่าพร้อมทั้งยื่นจดหมายเพื่อขอให้รัฐบาลไทยให้การคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ประสบภัยจากสงครามและความขัดแย้งทางอาวุธ โดยยึดหลักปฏิบัติตามกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเเทศและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
 

จดหมายเปิดผนึก ถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
เรื่อง การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสงครามและความขัดแย้งทางอาวุธ
โดยยึดหลักปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
วันศุกร์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
 
ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปในประเทศพม่า กองพันที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธเพื่อประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army หรือ DKBA) เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญต่างๆ ในอำเภอเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า ทำให้เกิดการปะทะกับกองทัพของรัฐบาลพม่า (The State Peace and Development Council หรือ SPDC) ในเมืองเมียวดีและบ้านวาเล่ย์ รัฐกะเหรี่ยง ต่อมาวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ การสู้รบดังกล่าวเกิดขึ้นใกล้กับชายแดนไทย – พม่า ตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด และอำเภอพบพระ จังหวัดตาก นอกจากนี้ยังมีการปะทะระหว่าง SPDC กับ DKBA ในเมืองพญาตองซู รัฐมอญ ซึ่งอยู่ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ณ บ้านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 

การสู้รบในพื้นที่ดังกล่าวส่งผลให้ พลเรือนรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน อพยพหนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่าเข้ามาในประเทศไทย ในเช้าของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ซึ่งทางการไทยได้จัดพื้นที่ให้พักพิงชั่วคราวในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ส่วนองค์กรระหว่างประเทศและประชาชนไทยในพื้นที่ได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข ต่อมาเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่ไทยได้แจ้งกับผู้หนีภัยการสู้รบเป็นภาษาท้องถิ่นความว่า “ขณะนี้การสู้รบได้สงบแล้ว ทุกคนสามารถเดินทางกลับบ้านได้โดยปลอดภัย” และเริ่มส่งผู้หนีภัยการสู้รบกลับในเช้าวันดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผู้หนีภัยการสู้รบถูกส่งกลับไป ปรากฏว่าว่ายังมีการปะทะระหว่าง SPDC และ DKBA ในบางพื้นที่  และมีผู้หนีภัยการสู้รบส่วนหนึ่งเดินทางกลับเข้ามาหลบซ่อนตัวอยู่ในฝั่งไทยอีกครั้ง
 
ผู้หนีภัยการสู้รบให้เหตุผลในการกลับมาฝั่งไทยว่าพวกเขาไม่มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตในประเทศพม่า ทั้งนี้ มีรายงานที่จัดทำโดยองค์กรท้องถิ่นระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากการปะทะ และทหารพม่าได้บังคับใช้แรงงานชายให้เป็นลูกหาบ (อ่านในบทสัมภาษณ์ข้างท้าย) ผู้หนีภัยการสู้รบที่กลับเข้ามาในฝั่งไทยอีกครั้งต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะหากถูกทางการไทยพบจะถูกส่งตัวกลับไปฝั่งพม่าทันที โดยขณะนี้ องค์กรท้องถิ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและสาธารณสุข แก่ผู้ลี้ภัยกลุ่มเล็ก ๗ กลุ่ม จำนวนรวม ๒,๑๗๗ คนในอำเภอพบพระ และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
 
ปัจจุบันพลเรือนในอำเภอเมียวดี  รัฐกะเหรี่ยง และอำเภอพญาตองซู รัฐมอญ ยังไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพราะการสู้รบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวได้ยังไม่ยุติ  และนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบอื่น เช่น สิทธิความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การบังคับใช้แรงงานเป็นลูกหาบ และการข่มขืนทารุณกรรมทางเพศต่อพลเรือนกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้ยังคงมีพลเรือนบางส่วนที่หลบซ่อนอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย
 
ด้วยความห่วงใยต่อชะตากรรมของเพื่อนมนุษย์ และด้วยความตระหนักในการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน   องค์กรและบุคคลตามรายชื่อข้างท้าย จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านผู้ลี้ภัยได้ดำเนินการมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบดังนี้
 
๑.        ให้การคุ้มครองผู้หนีภัยการสู้รบที่หลบซ่อนอยู่ในประเทศไทยตามหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและหลักการด้านสิทธิมนุษยชนโดยจัดหาที่พักพิงชั่วคราว  และให้หลักประกันว่าการส่งกลับจะเกิดขึ้นตามมติร่วมของคณะทำงานประเมินสถานการณ์ซึ่งประกอบด้วยทางการไทย องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรท้องถิ่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ
๒.       เมื่อได้รับการแจ้งเตือนทางการทหารว่าจะเกิดสู้รบให้ประสานองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์และเตรียมการช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบ
๓.       ที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยการสู้รบต้องมีความปลอดภัยและมีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต มีถนนเข้าถึงสะดวก สามารถกันแดด ลม ฝนได้  มีห้องน้ำ มีน้ำใช้ และมีเครื่องกันหนาวเพียงพอต่อจำนวนคน โดยตลอดระยะที่อยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้จัดอาหารและน้ำดื่มแจกจ่ายให้อย่างเพียงพอ และควรเตรียมการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษแก่เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ
๔.       ในขั้นตอนการส่งกลับควรจัดสรรอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรคที่จำเป็นให้แก่ผู้หนีภัยการสู้รบในจำนวนเพียงพอสำหรับการเดินทางและการใช้ชีวิตในระยะแรก เนื่องจากผู้หนีภัยการสู้รบย่อมไม่สามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติในทันที
๕.       ในระยะยาว ควรจัดตั้งคณะทำงานด้านผู้ลี้ภัยที่ประกอบด้วยภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และองค์กรท้องถิ่น โดยการดำเนินการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยควรเป็นไปตามมติของคณะทำงาน
 
ขอแสดงความนับถือ
 
List of organizations and individuals (รายชื่อองค์กรและบุคคลแนบท้าย)
 
ASEAN Youth Movement
B with us (Burma with us)
Forum of Burma’s Community-Based Organizations (FCBOs)
Friends of Burma (เพื่อนพม่า)
Young Progressives for Social Democracy (ศูนย์ประสานงานเยาวชนสังคมนิยมประชาธิปไตย)
Youth Partnership for Human Rights
The Regional Center for Social Science and Sustainable Development (RCSD), Faculty of Social Science, Chiang Mai University (ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืนคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)
Towards Ecological Recovery and Regional Alliance: TERRA (โครงการฟื้นฟูนิเวศในอินโดจีนและพม่า)
Thai Action Committee for Democracy in Burma (คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า: กรพ.)
Democratic Movement for Welfare State
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช ภาคเหนือ)
 
ชนรดา นราวศินชัย
ปิริญญา ยังกองแก้ว
พงศพชร  อยู่สุข
แสงวรรณ ปาลี
ศิวรัฐ หาญพานิช
เอกรินทร์ ต่วนศิริ
อารยา สุวรรณคำ
สุพัตรา ธิมาคำ
จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว          เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ศิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์        นักศึกษาปริญญาโท โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
 
 

บทสัมภาษณ์ผู้หนีภัยการสู้รบฉบับเต็ม
 
ส่วนที่ 1: การสัมภาษณ์ไฟล์เสียง
 
การสัมภาษณ์คนที่ 1
สถานที่: หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:07.00 น.
ผู้ให้สัมภาษณ์: ซอ
 
ผู้สัมภาษณ์:คุณเคยได้ยินไหมว่าคุณจะถูกส่งกลับไปวันนี้และคุณเต็มใจที่จะกลับไปไหม?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ ถ้าคนส่วนใหญ่กลับ ฉันก็จำเป็นต้องกลับไปด้วย แต่สำหรับตอนนี้ฉันไม่แน่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัยถ้ามีการยิงขึ้นอีก ฉันไม่รู้จะไปที่ไหนอีกแล้ว
 
ผู้สัมภาษณ์: ที่ไหนที่คุณคิดว่าคุณจะไปถ้าทางการไทยไม่อนุญาตให้คุณอยู่ที่นี่อีกต่อไป?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ฉันต้องหาที่ที่จะมีความปลอดภัยมากกว่านี้และซ่อน เพราะฉันไม่กล้าที่จะไปยังหมู่บ้านของฉัน ฉันรู้สึกฉันอยากจะตายจริงๆเพราะการสู้รบนี้และความยากลำบากมากมาย ถ้าทหารเห็นพวกเรา พวกเขายิงเราโดยไม่ถามอะไรเลย ในขณะที่เราวิ่งหนี เราต้องทิ้งสัมภาระทุกอย่าง
 
การสัมภาษณ์คนที่ 2
สถานที่:หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:7 นาฬิกา
ผู้ให้สัมภาษณ์: นอ......
 
ผู้สัมภาษณ์: มันปลอดภัยสำหรับคุณที่จะกลับไปยังหมู่บ้านของคุณตอนนี้หรือเปล่า?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ยังไม่มีความมั่นคงในหมู่บ้านของเรา ยังคงมีกองกำลังและกลุ่มทหารมากมายที่วัดวาอาราม
ถ้ามันปลอดภัย พวกเราก็จะกลับไป แต่ตอนนี้ไม่ปลอดภัย พวกเราต้องคอยหวาดกลัวกระสุนและทหาร หลังจากพวกเราได้มาที่นี้ พวกเราได้ข่าวว่า ทหารของรัฐบาลพม่า ฆ่าข่มขืนเด็กผู้หญิงสองคน
 
 
 
 
 
ส่วนที่ 2: การสัมภาษณ์โดยวิดีทัศน์
 
การสัมภาษณ์คนที่ 1
สถานที่: หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:07.00 น.
ผู้ให้สัมภาษณ์:นอ…
อายุ:ประมาณ 30 ปี
ผู้สัมภาษณ์: คุณอยู่ที่ไหนและสถานการณ์ที่นั่นเป็นอย่างไรบ้าง
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ฉันอยู่ที่หมู่บ้านวาเล่ย์ฝั่งพม่า ฉันหนีมาฝั่งไทยเพราะการสู้รบ ลูกปืนครกได้ตกในหมู่บ้านเรา และชาวบ้านคนหนึ่งบาดเจ็บ เขาได้ถูกส่งไปโรงพยาบาล
 
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงหลบหนีมายังฝั่งไทย?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์ : คนจำนวนมากได้หนีไปบ้านวาเล่ย์ในฝั่งไทย เพราะเรากลัวลูกปืนครกและการสู้รบ เราได้ข่าวว่าทหารไทยยอมให้เราเข้ามาหลบภัย ฉันจึงมานี้
ครั้งสุดท้ายที่เราหนีมานี่ พวกเราได้รับอนุญาตให้อยุ่เพียงหนึ่งคืนและเราก็ถูกขอให้กลับไป แล้วเราก็อยู่ในหมู่บ้านพวกเราเพียงหนึ่งคืนและหนีมานี่อีก
 
ผู้สัมภาษณ์ : คุณเคยได้ยินไหมว่าคุณจะถูกส่งกลับไปวันนี้?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ตอนนี้ฉันเพิ่งจะรู้ว่าพวกเราจะถูกส่งกลับหรือไม่ก็ย้ายไปอีกที่หนึ่ง
 
ผู้สัมภาษณ์ : คุณอยากจะกลับไปไหม ? ถ้ามันปลอดภัยพอสำหรับคุณที่จะกลับ ?
 
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ฉันไม่กล้าที่จะกลับไปเพราะว่ากองกำลัง SPDC ยังคงปักหลักอยู่ที่หมู่บ้านของเรา ฉันไม่รู้ว่ามีทหาร SPDC กี่คน แต่พวกเขามีเยอะ ฉันนับไม่ได้
 
ฉันไม่กล้าที่จะกลับไป แต่ครั้งล่าสุดพวกเราถูกทหารไทยบอกว่า “ไป ไป ไป” และพวกเราก็ต้องกลับไปเพราะพวกเราก็กลัวเขาและเขาก็มีปืนอยู่ในมือ พวกเรากลับไปและคุณก็เห็นว่าเราก็ต้องกลับมาอีก ดังนั้นมันจะไม่มีความปลอดภัยเลยถ้าเรากลับไปอีก
 
 
 
การสัมภาษณ์คนที่ 2
สถานที่: หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:07.00 น.
ผู้ให้สัมภาษณ์: ซอ......
อายุ:ไม่ทราบอายุ
ผู้สัมภาษณ์ : คุณอยู่ที่ไหนและสถานการณ์ที่นั้นเป็นอย่างไรบ้าง?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์:พวกเราอยู่ในหมู่บ้านวาเล่ย์พวกเราเป็นชาวนา
 
ผู้สัมภาษณ์ : ทำไมถึงหลบหนีมายังฝั่งไทย?

ผู้ให้สัมภาษณ์ : เหตุผลที่เราหนีมาที่นี้เพราะว่ามีการสู้รบ มันเคยมีการสู้รบและพวกเราก็หนีมาที่นี่เช่นกัน ฉันคิดว่ามันจะมีการสู้รบอีกเพราะว่ากองกำลัง SPDC กำลังเพิ่มขึ้น และฉันคิดว่าพวกเขาอยู่ปักหลักเพื่อโจมตี มีประมาณ 2-3 พันกองกำลังของ SPDC กำลังมาและปฏิบัติการในที่ต่างๆ
 
ผู้สัมภาษณ์: คุณเคยได้ยินไหมว่าคุณจะถูกส่งกลับไปวันนี้และคุณเต็มใจที่จะกลับไปไหม?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ฉันไม่ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับการส่งพวกเรากลับไปวันนี้
 
ผู้สัมภาษณ์: คุณอยากจะกลับไปไหม? ถ้ามันปลอดภัยพอสำหรับคุณที่จะกลับ ?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: ถ้าพวกเราถูกขอให้กลับไป พวกเราคงต้องขอคิด ฉันอกยากจะรอดูสถานการณ์สัก 2-3 วันแล้วค่อยกลับไป ฉันไม่กล้าที่จะกลับไปตอนนี้เพราะถ้าเราไปกลับไปตอนนี้ สถานการณ์ยังไม่มั่นคงและพวกเราก็ต้องหนีอีก
แต่ถ้าพวกเราถูกบังคับให้ออกไปจากที่นี่ เราก็คงต้องเคลื่อนย้าย ฉันไม่รู้ว่าที่ไหนที่เราควรจะไป แต่เราต้องหาที่ที่จะซ่อน
 
 
  
 
การสัมภาษณ์คนที่ 3
สถานที่ : หมู่บ้านวาเล่ย์
เวลา:07.00 น.
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ซอ.....
อายุ:ไม่ทราบอายุ
ผู้สัมภาษณ์: คุณอยู่ที่ไหนและสถานการณ์ที่นั้นเป็นอย่างไรบ้าง
 
ผู้ให้สัมภาษณ์:ฉันอยู่ในหมู่บ้านวาเล่ย์ ฉันเป็นช่างไม้ ฉันถูกเกณฑ์ให้เป็นลูกหาบของทหาร SPDC โดยไม่ได้สมัครใจที่ Wa Li Khi และเหยียบกับระเบิดที่ Law Kaw
 
ผู้สัมภาษณ์: ทำไมถึงหลบหนีมายังฝั่งไทย?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: เหตุผลที่พวกเราหนีมานี้เพราะการสู้รบระหว่าง SPDC และ DKBA ลูกปืนใหญ่ได้ตกใกล้บ้านพวกเรา
 
ผู้สัมภาษณ์: คุณอยากจะกลับไปไหม? ถ้ามันปลอดภัยพอสำหรับคุณที่จะกลับ ?
 
ผู้ให้สัมภาษณ์: พวกเราไม่กล้าที่จะกลับไปตอนนี้ เพราะพวกเราไม่รู้สึกปลอดภัยในประเทศพม่า ครั้งล่าสุดหน่วยงานทหารไทยบังคับเราให้กลับไป พวกเขาไม่ให้เราอยู่ที่นี่ หลังจากการสู้รบเกิดขึ้นอีกครั้ง พวกเราก็กลับมาเป็นครั้งที่สอง พวกเราพบความยากลำบากมากมาย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net