Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวการพบศพทารกนับพันถูกทำแท้ง ตลอดจน "ความจริง" อันหลากหลาย และ "เรื่องเล่า" อันมากมายในสื่อยุคปัจจุบัน

ทำให้บางคนวิตกกังวลถึงภาวะสังคมเสื่อมศีลธรรม และสื่อเสื่อมมาตรฐานจริยธรรมหรือบรรทัดฐานวารสารศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการขาด "หลักยึดเหนี่ยว" สัมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว

แต่หากไม่มองโลกแบบ "เซลส์ (วู) แมนขายวิกฤต" จนเกินไป และไม่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นกลียุค เราก็อาจได้ค้นพบโอกาสท่ามกลางวิกฤตดังกล่าว

ในเมื่อสังคมสมัยใหม่เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมซับซ้อน ผู้คนมีโอกาสเข้าถึง "ความรู้" และมีช่องทางในการสื่อสารและแสดงความเห็นของตนเองเพิ่มมากขึ้น

การปะทะกันของ "ความจริง" หลายชุด และ "เรื่องเล่า" หลากมุม ตลอดจนภาวะไร้ "สัจจะ" สูงสุดเพียงหนึ่งเดียว จึงย่อมเกิดขึ้นตามมา

เราไม่จำเป็นต้องหวาดกลัวว่าภาวะเช่นนี้จะส่งผลให้ "หลักยึดเหนี่ยว" ที่เราเคยยึดถือต้องเสื่อมทรุดลง เพราะสิ่งต่างๆ ล้วนหลีกเลี่ยงภาวะอนิจจังไปไม่พ้น

สิ่งที่พวกเราต้องทำก็คือ การเปิดโอกาสให้ผู้คนในสังคมไทยได้รู้จักแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ถกเถียงร่วมกัน ในภาวะแตกต่างหลากหลายที่ถือกำเนิดขึ้น

เพื่อพวกเราจะได้เสาะแสวงหากฎกติกาอันยืดหยุ่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ เราไม่ควรหวั่นวิตกว่าภาวะเช่นนั้น  จะนำไปสู่การบังเกิดขึ้นของ  ศาสดาออนไลน์ หรือ กลุ่มล่าแม่มด ที่มีแนวคิดฮาร์ดคอร์ เพราะแต่ไหนแต่ไรมา คนกลุ่มดังกล่าวก็มิใช่เสียงส่วนใหญ่ของทั้งสังคมออนไลน์และออฟไลน์อยู่แล้ว

ในทางกลับกัน การไม่หมกมุ่นอยู่กับหลักการใดหลักการหนึ่ง หรือ "ความจริง" หนึ่งเดียว เสียอีก ที่อาจส่งผลดีบางประการตามมา

อย่างน้อย เราคงไม่ต้องลงมือเข่นฆ่าใคร เนื่องจากเขาได้ล่วงละเมิด "ความจริง" ที่เรายึดถือว่าเป็นหลักการสูงสุด

เพราะต้องไม่ลืมว่า หลักยึดเหนี่ยวทางศีลธรรม-จริยธรรมบางอย่าง ก็อาจมิได้มีหน้าที่สร้างความปรองดองทางสังคมเท่านั้น แต่หลักการดังกล่าวยังสามารถฆ่าคนที่เห็นต่างได้ด้วย

นอกจากเปิดพื้นที่ให้ "ความจริง" หรือ "เรื่องเล่า" อันหลากหลายแล้ว หากเราพบเห็นแนวโน้มว่ารัฐมีแนวโน้มจะควบคุมจำกัดเสรีภาพของสื่อทุกชนิด และสถาปนา "ความจริง" หนึ่งเดียว เพื่อกำจัดความเห็นต่างจากรัฐบาล

เรายิ่งต้องตั้งคำถามและพยายามขัดขวางไม่ให้แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นจริง มิใช่คอยตั้งข้อสังเกตและจับตาดูอยู่ห่างๆ

ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะตื่นตระหนกตกใจเกินเหตุ หรือโหยหาอดีตอันไม่อาจย้อนคืน เราจึงควรค่อยๆ เรียนรู้ร่วมกัน ถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

สังคมไทยที่ไม่มีฉันทามติในเรื่องใด เรื่องหนึ่ง แม้เพียงเรื่องเดียว อีกต่อไป

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอีกอย่างก็ได้แก่ การคิดแทนคนอื่น

เราไม่ต้องคิดแทนปรมาจารย์ผู้ล่วงลับว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรยามเผชิญสภาพการณ์เช่นนี้ เพราะคนต่างยุคสมัยล้วนพานพบสถานการณ์และปัญหาที่แตกต่างกัน คนต่างรุ่นจึงต้องคิดค้นหาหนทางแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยวิถีทางของตนเอง

เราไม่ต้องดีใจแทนคนที่ตายไปแล้ว ว่าจะได้ไม่ต้องเห็นภาวะโกลาหลเช่นนี้ เพราะพวกเขาอาจมีมุมมองที่แตกต่างจากเรา

เช่น พวกเขาอาจเสียใจ ที่ไม่ได้อยู่เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยก็เป็นได้

ดังนั้น สิ่งสำคัญประการสุดท้าย จึงได้แก่ กรุณาอย่าทำแท้ง "ความเปลี่ยนแปลง" ที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย

 

ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net